ขอทุนเรียนหมอ สำหรับคนฐานะยากจน - Urban Creature

เด็กต่างจังหวัดหลายๆ คนอาจจะเคยได้ยิน ‘ทุนเรียนดี แต่ยากจน’ ผ่านมา 20 ปี ทุนนี้ก็ยังคงอยู่ จนกลายเป็นสิ่งที่เด็กในประเทศนี้ต้องมาแย่งชิงกัน ทั้งๆ ที่เด็กทุกคนควรได้รับการศึกษาฟรี (ที่ฟรีจริงๆ) ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงระดับปริญญาตรีเหมือนในหลายประเทศ แต่ปัจจุบันประเทศไทยให้เด็กเรียนฟรีในโรงเรียนรัฐแค่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาปีที่ 3 ตามการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น

ทำให้ทุกปีช่วงเปิดภาคการศึกษาเราจะได้เห็นข่าวเด็กสอบติดคณะต่างๆ โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์แต่ไม่มีเงินเรียน อย่างกรณีนักเรียนหญิงอายุ 18 ปี ในจังหวัดกาฬสินธุ์สอบติดแพทย์ แต่ทางบ้านฐานะยากจน ทำให้ผู้ใจบุญและชาวเน็ตพร้อมใจโอนเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือจนได้เงินบริจาคกว่า 3.7 ล้านบาท

หลังจากมีข่าวออกไป เรื่องนี้ก็กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงกันอย่างหนัก หนึ่งในนั้นคือประเด็นที่ว่า “ทำไมประเทศนี้ให้ความสำคัญกับคนที่สอบติดแพทย์มากกว่าเด็กที่สอบติดคณะอื่นๆ” ไปจนถึง “คณะแพทย์ฯ มีทุนมากมายให้นักศึกษาที่มีฐานะยากจน” เมื่อสังคมตั้งคำถาม เราจึงพาทุกคนมาหาคำตอบว่าทำไมอาชีพหมอถึงถูกให้ความสำคัญในสังคมไทย และถ้าอยากเรียนแล้วไม่มีเงินจะเรียนได้ไหม

| ค่านิยมของคนรุ่นเก่า

“เก่งขนาดนี้ ทำไมไม่เรียนหมอ”
“เป็นหมอแล้วได้เงินดีนะ มีค่าตอบแทนสูง”
“หมอเป็นอาชีพมั่นคง ไม่ตกงาน”

ในปี 2500 ได้มีการสำรวจ ‘ค่านิยมในการประกอบอาชีพของเด็กไทยชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในเขตพระนครและเขตธนบุรี’ พบว่า ‘แพทย์’ คืออาชีพที่เด็กๆ ในยุคนั้นใฝ่ฝันอยากเป็นมากที่สุด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ รองลงมาก็ครู ทหาร ตำรวจ และเข้ารับราชการ เพราะเป็นอาชีพที่มั่นคง ไปจนถึงค่านิยมของพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญทำให้เด็กตัดสินใจเลือกอาชีพ

ผ่านมา 60 ปี ‘แพทย์’ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘หมอ’ ก็กลายเป็นหนึ่งอาชีพที่ได้รับการยกย่องและเคารพนับถืออย่างมากจากคนในสังคม ด้วยเป็นอาชีพที่ทำงานเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน มีเนื้อหาวิชาเรียนค่อนข้างยาก คนที่จะเป็นหมอจึงต้องเรียนหนักและได้รับการฝึกฝนอบรมมากเป็นพิเศษ ฉะนั้นค่านิยมที่ว่า “เรียนเก่งแล้วต้องเป็นหมอ” จึงถูกปลูกฝังและส่งต่อกันมาถึงปัจจุบัน กลายเป็นการสร้างมายาคติให้อาชีพหมอ รวมถึงอาชีพยอดนิยมเหล่านั้นพิเศษกว่าอาชีพอื่นๆ

และยิ่งประเทศไทยผลิตแพทย์ได้ไม่มากพอต่อความต้องการของคนในชาติ แพทย์ก็ยิ่งกลายเป็นอาชีพแรร์ไอเทมที่ทุกคนต้องการและให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นไปอีก นั่นจึงเป็นที่มาของการให้ทุนการศึกษากับคนที่เรียนแพทย์มากกว่าการเรียนในสาขาวิชาที่ต่างออกไป 

| หมอไทยจ่ายค่าเทอมเท่าไหร่

แพทย์ ในประเทศไทยมีการเปิดการเรียนการสอนทั้งหมด 23 ที่เป็นของภาครัฐ 21 แห่ง และอีก 2 แห่งเป็นของเอกชน โดยค่าเล่าเรียนของแต่ละสถานศึกษาก็แตกต่างกันออกไป เช่น

โรงเรียนผลิตแพทย์ที่เป็นของรัฐบาล

  • ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 30,000 บาท/เทอม
  • โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 30,000 บาท/เทอม
  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 34,000 บาท/เทอม 
  • วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า 24,000 บาท/เทอม
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 21,100 บาท/เทอม
  • มหาวิทยาลัยขอนแก่น 18,000 บาท/เทอม
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 40,000 บาท/เทอม 
  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 28,000 บาท/เทอม 

หรือโรงเรียนผลิตแพทย์ที่เป็นของเอกชน 

  • มหาวิทยาลัยรังสิต 275,000 บาท/เทอม
  • มหาวิทยาลัยสยาม 351,000/เทอม

| จ่ายไม่ไหว มีทุนอะไรบ้าง

จะเห็นว่าค่าเทอมของคณะแพทยศาสตร์ไม่แตกต่างจากคณะอื่นๆ เท่าไหร่นัก แต่รู้หรือไม่ค่าเทอมที่นักศึกษาแพทย์จ่ายไปเป็นแค่ส่วนน้อยนิดของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะแท้จริงแล้วเพื่อที่จะผลิตแพทย์ออกมาให้เพียงพอและบริการประชาชนอย่างทั่วถึง รัฐบาลสนับสนุนค่าเรียนต่างๆ ตกประมาณ 4 – 5 ล้านบาท / การผลิตแพทย์ 1 คน ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมาก 

ดังนั้น เมื่อจบมาแล้วนักศึกษาแพทย์ที่เรียนจากสถาบันของรัฐจึงต้องทำสัญญาใช้ทุนการศึกษาเป็นเวลา 3 ปีกับกระทรวงสาธารณสุข มิฉะนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 400,000 บาท และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านบาทโดยประมาณ

และนอกจากค่าเล่าเรียนที่รัฐบาลสนับสนุนแล้ว ก็มีทุนแพทย์ ODOD เป็นโครงการกระจายแพทย์หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน เป็นการร่วมมือกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ในแต่ละท้องที่ ซึ่งต้องใช้ทุนในโรงพยาบาลรัฐถึง 12 ปี โดยทุนนี้มีเงินสนับสนุนระหว่างเรียนในแต่ละเดือนจำนวน 5,000 บาท และค่าหอพักอีกจำนวน 3,000 บาท/เดือน แต่หากไม่ใช้ทุนต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 2 ล้านบาท

หรือทุนแพทย์ CPIRD โครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการเพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียนในชนบทได้ศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ แล้วกลับไปทำงานที่ภูมิลำเนาเดิม ซึ่งต้องใช้ทุนไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งหากปฏิบัติตามข้อตกลงไม่ได้จะต้องชดใช้เงินให้แก่กระทรวงสาธารณสุขตามที่กำหนด

และที่สำคัญ คณะแพทยศาสตร์แทบจะทุกมหาวิทยาลัยจะมีทุนลับให้นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษาไปขอ แต่เราจะต้องเข้าไปสอบถามกับทางอาจารย์เอง นอกจากนี้ยังกู้ยืมกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ ซึ่งให้ทั้งค่าเทอมและค่าครองชีพตลอดการศึกษาด้วย 

ฉะนั้นคำถามที่ว่าไม่มีเงินจะเรียนหมอได้ไหม เราเชื่อว่าถ้าทุกคนสอบติดแล้วได้เรียนต่อแน่นอน เพราะคณะแพทย์ ในแต่ละมหาวิทยาลัย มีทุนเพียงพอให้กับนักศึกษาที่มีฐานะยากจน

| ทุ่ม 9 หมื่นล้านบาท ผลิตแพทย์เพิ่ม

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีแพทย์ไม่พอเพียงต่อประชากร โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่แพทย์ออกจากระบบ และอีกสาเหตุคือแพทย์ไปกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง ทำให้แพทย์ในโรงพยาบาลรัฐขาดแคลน อ้างอิงข้อมูลจากแพทยสภา ณ เดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 66,301 คน แต่หากเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศแล้วจะพบว่า ไทยมีสัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์แค่ 0.8 คนต่อจำนวนคน 1,000 คนเท่านั้น! ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ควรจะมีบุคลากรในระบบสาธารณสุขอย่างน้อย 2.5 คน ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน เพื่อที่ประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างครอบคลุม และหมอเองก็ไม่ต้องรับภาระงานจนล้นมือมากจนเกินไป 

รัฐบาลจึงมีมติเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม 24,562 คน ภายในปี 2570 และตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรให้ถึง 1 : 1,200 คน ภายในปี 2576 และด้วยงบประมาณที่ใช้ผลิตนักศึกษาแพทย์แต่ละคนต้องใช้งบปีละ 300,000 บาท อีกทั้งยังมีค่าใช้อุปกรณ์ในการจัดการเรียนการสอน จำนวน 2 ล้านบาท/คน คณะรัฐมนตรีจึงอนุมัติงบผลิตบัณฑิตและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ เป็นเงินถึง 93,335.6 ล้านบาท

จากข้อมูลทั้งหมดทั้งมวลที่ตามหามานั้นเราได้คำตอบว่า คณะแพทย์ค่อนข้างมีช่องทางการขอทุนการศึกษาหลากหลายพอสมควร เมื่อสอบเข้าได้แล้วสามารถสอบถามอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อแนะนำและช่วยจัดหาทุนให้เราได้อีกทาง แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าโอกาสเหล่านี้เข้าถึงเด็กทุกคนและไม่แบ่งแยกลำดับความสำคัญตามคณะที่เรียน เพราะไม่ว่าจะคุณจะเป็นเกษตรกร ชาวประมง ทนายความ จิตรกร วิศวกร โปรแกรมเมอร์ ครู อาจารย์ หรือแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ขาย และอีกมากมาย ทุกอาชีพล้วนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ไม่สามารถขาดอาชีพใดอาชีพหนึ่งไปได้


Sources : 
Hfocus | https://bit.ly/3gocVJ8
ilaw | https://ilaw.or.th/node/4209
Milieu | https://bit.ly/3pJJmpR
RYT9 | https://bit.ly/3g3LRQI
TCIJ | https://bit.ly/3isEljN
Thai PBS | https://bit.ly/3gmwYI3
มติชน | https://bit.ly/3gnmtUL
สบพช. | https://bit.ly/350YzsW
เพจปั้นหมอ Academy | https://bit.ly/355L3EF
แพทยสภา | https://bit.ly/3pIssrO

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.