ถ้าอยากดูหนังสักเรื่อง ทางเลือกของคุณคือที่ไหน?
ถ้าหากคำตอบส่วนใหญ่เป็นห้างฯ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะปัจจุบันโรงหนังแบบ Stand Alone ในเมืองไทยได้กลายเป็นของหายากไปแล้ว เหลือแต่โรงหนังเจ้าใหญ่ไม่กี่เจ้าในห้างสรรพสินค้า เป็นตัวชี้วัดว่าตัวเลือกในการดูหนังของคนไทยน้อยลงทุกวัน หากไม่มี Video Streaming จากต่างชาติเข้ามาโอกาสที่เราจะได้เปิดหูเปิดตาผ่านภาพยนตร์คงน้อยลงไปอีก
แม้โรงหนังเล็กๆ ทยอยปิดตัวลงไป เพราะสู้เจ้าใหญ่ไม่ไหว แต่เรื่องน่าดีใจของคนรักในปี 2021 คือเรามี Doc Club & Pub. เป็นทางเลือกในการดูหนังเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งที่ (และเป็นพื้นที่ที่ออกมาจากห้างฯ สักที)
เราจะพาไปพูดคุยกับอีกหนึ่งตัวจริงในวงการภาพยนตร์ไทย พี่หมู-สุภาพ หริมเทพาธิป ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารหนัง BIOSCOPE และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งค่ายจัดจำหน่ายหนังทางเลือก Documentary Club ถึงที่มาที่ไปของ Doc Club & Pub. โรงหนัง คาเฟ่ และพื้นที่รวมตัวแห่งใหม่ของคนรักหนัง ที่เขาอยากเห็นหนังเป็นตัวสร้างบทสนทนาในสังคม
เรานัดเจอกันที่ Doc Club & Pub. ในศาลาแดง 1 หลังจากคลายล็อกดาวน์ไม่กี่วัน ที่นี่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร Woof Pack ซึ่งตอนนี้ที่นี่ยังเปิดแบบ Soft Opening อยู่ แม้จะเปิดได้ 2 วันแต่มีลูกค้าแวะเวียนกันมาเรื่อยๆ หากเป็นสถานการณ์ปกติเราเชื่อว่าคงมีคนคิดถึงโรงหนังและนัดมาเจอกันที่นี่จำนวนไม่น้อย ติดแค่ตอนนี้เรายังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงภาพยนตร์ตามประกาศของรัฐ
จากนิตยสารสู่โรงหนัง
ย้อนกลับไปราว 10 กว่าปีที่แล้ว นิตยสารที่เปิดโลกการดูหนังของเราคือ BIOSCOPE นิตยสารเล่มนี้เปรียบเสมือนคลังภาพยนตร์จากทั่วโลก ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา และเปิดรับรสนิยมการดูหนังนอกกระแสจากต่างประเทศเป็นครั้งแรกตอนอายุราวๆ 16 ปีเท่านั้น
BIOSCOPE คือผลผลิตของ สุภาพ หริมเทพาธิป และ ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ นิตยสารภาพยนตร์ที่เริ่มทำหลังวิกฤติปี 40 ตีพิมพ์ครั้งแรกช่วงปี 2543 พี่หมูเล่าให้ฟังว่า ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซำ้ว่าจะขายได้ไหม จะมีคนอ่านหรือเปล่า รู้แค่ว่าเขาอยากอ่านนิตยสารแบบนี้จึงให้กำเนิด BIOSCOPE ขึ้นมา นิตยสารเล่มนี้เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ผลักดันให้เกิดวัฒนธรรมการดูภาพยนตร์ในประเทศไทย สร้างทางเลือกให้กับคนที่อยากดูหนังนอกกระแส และเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อหลายคนลุกขึ้นมาขับเคลื่อนวงการภาพยนตร์ไทยด้วยกัน
เราคุยกันเรื่องความทรงจำที่มีต่อ BIOSCOPE กันอย่างออกรส และถามถึงความฝันที่มีต่อโรงหนัง ที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มี Doc Club & Pub. ในที่สุด
“ที่นี่ไม่ใช่ที่แรกที่เราฉายหนัง การฉายหนังมันมีมาตั้งแต่เรามีออฟฟิศ BIOSCOPE ยุคเริ่มต้นเลยเราทำงานกันที่บ้าน แต่พอมีออฟฟิศเราก็อยากให้ทั้งกองบรรณาธิการ คนอ่าน หรือคนอื่นๆ ที่ชอบดูหนังได้มีพื้นที่ดูหนังร่วมกัน และพูดคุยแลกเปลี่ยนกันหลังจากดูหนังจบ เป็นความเชื่อของผมกับดาที่อยากมีพื้นที่ประมาณนี้ เพื่อหาอะไรมาเติมและเปิดโลกให้กองบรรณาธิการได้รู้เรื่องอื่นๆ นอกจากหนัง เราย้ายออฟฟิศกันมาหลายที่ ตั้งแต่ชิดลม ศรีอยุธยา รัชดาฯ ไปจนถึงโชคชัย 4 เราก็ฉายหนังที่ออฟฟิศกันมาตลอด”
พี่หมูบอกว่า ยุคที่เฟื่องฟูสุดๆ คือตอนอยู่ออฟฟิศที่รัชดาฯ เพราะมีคนร่วมฉายหนังกับ BIOSCOPE หลายคน โดยเฉพาะ Third Class Citizen ของเต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ กับ ต่อ-คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง จับมือกันฉายหนังทำกิจกรรมต่างๆ และเปิดพื้นที่ให้คนที่ชอบดูหนังมาแลกเปลี่ยนกัน แม้จะเป็นวงเล็กๆ แต่ก็เป็นมูฟเมนต์ที่ไม่ได้มีเยอะในไทย
หลังจากที่เลิกทำ BIOSCOPE ความคิดในการอยากมีพื้นที่ฉายหนังก็ยังไม่เคยหายไปไหน จนกระทั่งทั้งคู่มาทำ Documentary Club ด้วยกัน ก็ยังคงอยากเห็นหนังเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้ต่อยอดไปสู่สิ่งต่างๆ ด้วยบทบาทที่เปลี่ยนจากงานนิตยสารมาเป็นผู้จัดจำหน่ายหนัง พี่หมูเล่าให้ฟังว่า Documentary Club มีโอกาสที่ได้นำพาหนังที่เขาเอาเข้ามาไปฉายในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับหนังอย่างต่อเนื่อง มีหลายครั้งที่มีการพูดคุยถึงการทำโรงหนังแต่ความฝันนั้นก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริงสักครั้งเพราะมีข้อจำกัดหลายอย่าง จนกระทั่งมีโอกาสได้เข้าไปฉายหนังที่ Warehouse 30 คอมมูนิตี้ย่านเจริญกรุง ที่ทำให้คนดูได้มีโอกาสเข้าถึงหนังนอกกระแสและสร้างบทสนทนากันได้ใกล้ชิดมากขึ้น
“พื้นที่ที่เราเคยฉายหนังและดูเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุดคือ Warehouse 30 เราได้เข้าไปทำเพราะคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค ชวนไป แต่ข้อจำกัดของการฉายหนังคือมันเป็นพื้นที่เปิด จึงมีแสงและเสียงเข้ามารบกวน ตอนยังไม่ทำก็สงสัยเหมือนกันว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร แต่พอได้ฉายหนัง ได้จัดกิจกรรม เราได้เห็นหนังและพื้นที่มันทำงานด้วยกัน เกิดรูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาที่เชื่อมต่อกับหนัง ค่อยๆ ปรับกันไป เราได้เห็นหนังมันทำงานกับคนดู เห็นคนที่มาเขาแฮปปี้ ถามว่าเราชอบไหม เราก็ชอบนะ แต่ก็ยังไม่ใช่อย่างที่เราคิด”
เมื่อไม่ได้ทำกับ Warehouse 30 แล้ว พี่หมูบอกว่าความคิดที่จะทำโรงหนังยังไม่เคยหายไปไหน เขาตระเวนดูสถานที่กันหลายครั้ง แต่ละที่ก็มีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ต่างกัน จนกระทั่ง Bangkok Screening Room ตัดสินใจจะปิดตัวลง จึงถึงเวลาของ Documentary Club ที่จะมีโรงหนังของตัวเองสักที
สตรีมมิงมา โรงหนังตาย?
การเข้ามาของสตรีมมิงทำให้ธุรกิจโรงหนังเจอผลกระทบโดยตรง เมื่อเจอวิกฤติโควิด-19 เข้าไปสตรีมมิงยิ่งเร่งให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์กำลังเปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
ไม่ว่าคุณจะเป็นคอหนังประเภทไหนก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคอนเทนต์ที่คุณกำลังตามหามีอยู่บนสตรีมมิงหมดแล้ว แม้แต่หนังเก่าที่เคยหาดูยากก็ถูกอัปโหลดขึ้นบนเว็บจนหมด เป็นยุคที่เราเข้าถึงภาพยนตร์ได้ง่ายที่สุดในประวัติศาสตร์ และในราคาที่เป็นมิตร
ในขณะที่แม้แต่โรงหนังขนาดใหญ่ยังกระทบหนัก อะไรคือสิ่งที่ทำให้ Documentary Club เชื่อว่าโรงหนังยังจำเป็นกับคนดูอยู่
“ผมมองว่า เราต้องคิดก่อนว่าเราดูเอาอะไร ถ้าเราดูเอาคอนเทนต์ เราดูที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ดูแล้วรู้เรื่องว่ามันคืออะไร แต่การดูที่เราอยากซึมซับบรรยากาศที่เกิดขึ้นในโรงหนัง ที่แต่ละรอบก็ไม่เหมือนกันเพราะมันขึ้นอยู่กับคนที่คุณดูร่วมกันด้วย
“สิ่งเหล่านี้จะทำปฏิกิริยาหรือทำให้เราซึมซับสิ่งที่ปรากฏบนจอทั้งภาพและเสียง รวมถึงบรรยากาศข้างนอกไปอีกแบบหนึ่งเลย คอนเทนต์ที่มันอยู่ในออนไลน์หลังจากดูจบแล้วเราอาจจะดูคอนเทนต์อื่นๆ ต่อเนื่องไปอีก
“ซึ่งสำหรับผมการดูหนังมันควรจะมีช่วงเวลาให้เราได้อุ้มความรู้สึกเอาไว้ประมาณหนึ่ง มีช่วงเวลาให้เราได้ระบายมันออกมาหลังดูจบ และรับมันเข้าจากคนอื่นๆ ที่ได้ดูพร้อมกับเรา ทำให้หนังได้ทำงานของมันต่อ ไม่ได้จบเมื่อเรากดปิด หรือจบที่เมื่อเราเดินออกจากโรงหนังมาเดินห้างฯ เลย”
เพราะเห็นความสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมภาพยนตร์ วิธีคิดในการออกแบบพื้นที่ด้านนอกของ Doc Club & Pub. ซึ่งปกติจะเป็นที่ซื้อป็อปคอร์นหน้าโรงหนัง และมีเก้าอี้ให้นั่งรอ จึงมีหน้าตาออกมาเป็นคาเฟ่ในธีมโรงหนัง และเปิดให้ลูกค้าเข้ามาใช้พื้นที่คาเฟ่ได้โดยที่ไม่ต้องมาดูหนังก็ได้
ภายในโซนนี้จะมีหนังเปิดคลอไว้ตลอดวัน จะดูแบบตั้งใจ ดูไปทำงานไป หรือดูไปเม้าไปกับเพื่อนก็ได้ และในช่วงที่มีการฉายหนัง หลังจากดูหนังจบแล้วพื้นที่ตรงนี้จะเป็นที่เปิดบทสนทนาให้คนได้แลกเปลี่ยนเกี่ยวกับหนัง หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกันได้อีก
หากคนดูอยากดูคอนเทนต์ของ Documentary Club ก็เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาด้วย Doc Club on Demand แต่ถ้าอยากดูหนังที่ได้บรรยากาศ เกิดการพูดคุย การดูหนังที่ Doc Club & Pub. จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน
“ผมรู้สึกว่าหนังมันต้องการเวลาหลังจากดูไปแล้ว ความรู้สึกที่เราอุ้มมันออกมาจากการดู เราเดินออกไป ระบายมันออก รับมันเข้ามา มันทำให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนเราดูหนังซ้ำอีกรอบโดยที่เราไม่ได้ดู สิ่งที่เราเห็น เพื่อนอาจจะไม่เห็นเหมือนกันกับเรา ผมคิดว่าความรู้สึกนี้มันเป็นเรื่องที่ยังสำคัญอยู่ และคิดว่ามันยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เชื่อเหมือนเรา”
พี่หมูบอกว่า ที่ผ่านมา BIOSCOPE ทำงานกับคนกลุ่มเล็กๆ มาโดยตลอด และไม่เคยคิดจะเปลี่ยนให้ใครมาคิดเหมือนกัน วัฒนธรรมการถกเถียงเรื่องภาพยนตร์อาจจะไม่ใช่กระแสหลักในประเทศนี้ แต่เขาเชื่อว่าเขาทำงานกับกลุ่มเล็กๆ แต่ทำได้ตลอดก็ถือว่าดีแล้ว
พื้นที่เปิดหู เปิดตา และเปิดบทสนทนาในสังคม
ในยุคโควิด-19 อาจจะไม่ใช่จังหวะที่ดีของการเริ่มทำธุรกิจใหม่ แต่พี่หมูบอกกับเราว่ามันเป็นจังหวะที่ดีที่หนังของ Documentary Club ได้ทำหน้าที่เปิดหู เปิดตา และเปิดบทสนทนาในช่วงเวลาที่สังคมกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง
“ตอนอยู่ที่ Warehouse 30 ผมเห็นว่าจำนวนคนดูหนังของเราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นคนแอ็กทีฟต่อประเด็นต่างๆ เพราะเขาตื่นตาตื่นใจกับอะไรใหม่ๆ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสูง เราเห็นชัดว่ามันมีกลุ่มคนที่เปิดรับอะไรใหม่ๆ เยอะขึ้น อย่างผิดหูผิดตา บางอย่างที่เราทำอยู่แล้วก็ได้รับความนิยมมาเป็นพิเศษ”
สิ่งที่พี่หมูพยายามทำมาตลอดตั้งแต่ตอนทำ BIOSCOPE คือการให้ข้อมูลเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหนังเพิ่มเติม เพราะหนังแต่ละเรื่องสร้างด้วยบริบทของสังคม การเมือง และเบื้องหลังที่ต่างกัน เพื่อให้คนดูได้ ‘เห็น’ มากกว่าที่หนังเล่า
“สิ่งที่มันสำคัญมากคือสิ่งที่พ้นไปจากเฟรมที่เราดู นอกเฟรมมันมีทั้งความรู้และจินตนาการอยู่ แต่ตอนนี้เราดูแค่หนัง แต่พ้นไปจากตรงนี้มันมีเรื่องอะไรบ้าง หนังมันเกิดจากการที่ผู้กำกับสั่งสมสิ่งนี้มาแล้วมาบอกเล่าให้เราเห็นด้วยวิธีของเขา แต่เราอยากให้คนดูเห็นสิ่งที่หล่อหลอมเขามาด้วย มันก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนได้เพิ่มจากการดูหนัง นอกเหนือไปจากสิ่งที่ปรากฏสู่สายตาอยู่บนจอ”
นอกจากฉายหนังแล้ว กิจกรรมที่ Documentary Club ทำอยู่เสมอคือการเปิดวงพูดคุยเรื่องหนัง หยิบยกประเด็นที่อยู่ในหนังมาคุยกันต่อ กับทั้งผู้ชม ผู้เชี่ยวชาญ และใครก็ตามที่อินกับประเด็นนี้เหมือนกัน ซึ่งการฉายหนังหนึ่งเรื่องอาจสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมได้มากกว่าที่คิด
“ตอนที่เราฉาย Where to Invade Next เป็นหนังที่เกิดวงพูดคุยเยอะมาก ทั้งเรื่องแรงงาน การศึกษา เพศ หนังเรื่องนี้มันแตะได้ทุกเรื่องเลย คนทำหนังมันมองเห็นปลายทางแล้ว แต่ในบ้านเรายังไม่มีความรู้เรื่องนี้กันเลย
“อย่างคำว่ารัฐสวัสดิการ ในวันที่มันปรากฏอยู่ในหนังเรื่องนั้น ในวันที่เราเอาหนังเข้ามาฉายมันยังไม่ถูกพูดถึงในสังคมไทยเลย หรือพูดขึ้นมาก็จะถูกตีตกว่าจะเอาภาษีมาจากไหน
“แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้สังคมค่อยๆ ถูกต่อยอดขึ้นมา มันไม่ได้มาจากหนังเรื่องนี้อย่างเดียวหรอกนะ แต่ผมรู้สึกว่ามันเหมาะกับช่วงเวลานี้ คอนเทนต์ที่เราเอาเข้ามามันทำให้คนมองเห็นประเด็นต่างๆ แล้วไปค้นหาต่อ อินเทอร์เน็ตทำให้เขามองเห็นสิ่งเหล่านี้ เห็นภาพอีกภาพหนึ่งที่ต่อยอดจากหนังที่เขาดู ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมาตลอด”
ภาพยนตร์ไม่ได้มีหน้าที่ให้ความบันเทิงชั่วคราวเท่านั้น แต่หลายเรื่อง หลายครั้ง มันทำให้เราได้ ‘เบิกเนตร’ และเห็นโลกกว้างไกลกว่าสายตาที่เรามองเห็นอยู่ และยังได้รู้ในสิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้มองเห็นอีกด้วย หลายครั้งที่หนังของ Documentary Club เป็นคำตอบที่สังคมกำลังมองหา
“ตอนที่มีประเด็นเรื่อง CPTPP ถูกพูดขึ้นมาโดยที่หลายคนยังไม่รู้ว่ามันคือเรื่องอะไร และยังไม่เข้าใจทั้งหมด เรามีหนังเรื่องหนึ่งชื่อ Seed: The Untold Story ที่เราคิดว่าคอนเทนต์ดีและทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้ได้มากขึ้น เราเลยเปิดให้คนเข้าดูบน Doc Club on Demand ฟรีๆ เพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึง เพราะเรารู้ว่าเราไปจัดอีเวนต์ไม่ได้ ให้คนเสียตังค์ก็อาจจะเข้าถึงได้น้อย ทำให้คนเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่ายขึ้นในเวลาแค่หนึ่งชั่วโมงครึ่ง”
หลังจากเปิดให้ชมฟรี พี่หมูบอกว่า หนังเรื่องนี้มียอดคนเข้าดูสูงสุดในเว็บไซต์ และถูกแชร์ต่อไปอย่างมหาศาล การเปิดหนังเรื่องนี้ให้เข้าดูฟรีเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่พิสูจน์ว่าคนไทยไม่ได้เมินหนังนอกกระแส และไม่ได้เสพหนังเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว หากหนังทำหน้าที่ให้ทั้งความรู้และเข้าถึงง่าย ทำไมคนไทยจะไม่อยากเปิดรับสื่อประเภทอื่นกันมากขึ้น
อุตสาหกรรมหนังยังต้อง ‘เริ่มที่ตัวเอง’
โมเดลการทำโรงหนังควบคู่กับธุรกิจอื่น หรือทำพื้นที่แบบ Mixed-use ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นโมเดลที่โรงหนังต่างประเทศทำกันมานานแล้ว ในหลายประเทศโรงหนัง Stand Alone ยังอยู่ได้เพราะรัฐให้การสนับสนุนด้านศิลปะและวัฒนธรรม แต่ในขณะที่อุตสาหกรรมหนังไทยทุกอย่างยังต้องเริ่มที่ตัวเอง ไม่ว่าจะทำหนังหรือโรงฉายหนังเองก็ตาม
การมี Doc Club & Pub. ในวันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือทำไมรัฐจึงไม่ทำพื้นที่สาธารณะให้คนเข้าถึงศิลปะได้ง่ายๆ และเข้าถึงคนได้มากขึ้น
“จริงๆ แล้วพื้นที่แบบนี้มันเป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐต้องทำให้กับประชากรของตัวเองด้วย ถ้ารัฐต้องการภาษีจากเรา อยากให้คนไทยแข่งขันกับโลกได้ ก็ต้องเอาโลกมาให้คนเห็น เราจะได้รู้ว่าเราจะแข่งกับโลกได้อย่างไรบ้าง แต่ทุกวันนี้รัฐไม่ทำหน้าที่นี้ เราคิดว่าคงไม่ต้องรอให้เขาทำ เราทำเองเลยละกัน ถามว่าเราเคยกระตุ้นไหม เคยเสนอไหม เราก็ทำมาหมดแล้ว แต่มันไม่เกิดสักที เราเองก็อยากเห็นคนอื่นทำ เราอยากเป็นคนเสพ ตอนทำ BIOSCOPE ก็เหมือนกัน แต่มันไม่มีคนทำก็เลยทำเอง”
หลายครั้งที่การฉายภาพยนตร์ของ Doc Club ท้าทายต่อการใช้อำนาจเกินขอบเขตของรัฐ เพราะต่อให้ผ่านการเซนเซอร์ ผ่านการตรวจพิจารณามาแล้ว แต่ยังมีการห้ามฉายหนังทั้งๆ ที่ไม่ผิดกฎหมายข้อไหน ทำให้เกิดคำถามว่าการกำกับดูแลอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยของรัฐคือทำเพื่อการเติบโต หรือทำเพื่อควบคุมประชาชนกันแน่? “เราพูดอยู่เสมอว่าถ้ารัฐไม่ทำก็ไม่เป็นไร แต่อย่าขวาง เพราะเราเชื่อว่าคนตัวเล็กๆ และเอกชนจำนวนไม่น้อยช่วยกันถูลู่ถูกังไปได้ แต่ถ้าคุณขวางการถูลู่ถูกังยิ่งไปไม่รอด ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องที่ควรจะทำและสนับสนุนให้มันเกิด แต่งานของเราส่วนใหญ่เจอการขัดขวางมากกว่า ก่อนหน้านี้มันก็มีหลายคนที่ลงมือทำเอง พยายามแล้วและมันก็ออกดอกออกผลได้จำนวนหนึ่ง แต่ถ้ามันมีปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐอุตสาหกรรมหนังไทยมันจะงอกงามได้มากกว่านี้อีกเยอะ”
หนังทุกเรื่องของ Documentary Club ถูกนำเข้ามาอย่างถูกกฎหมายและตรวจพิจารณาผ่านเซนเซอร์แล้วทุกเรื่อง แต่ด้วยความอ่อนไหวของรัฐ ทำให้หลายครั้งถูกสั่งให้หยุดฉายด้วยเหตุผลว่า ‘นายไม่สบายใจ’ หรือ ‘นายสั่งมา’ แม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเคยฉายในโรงใหญ่มานานแล้วก็ตาม แต่เมื่อถูกจุดประเด็นให้คนสนใจ เกิดการถกเถียง รัฐมักจะมองภาพยนตร์เป็นภัยต่อความมั่นคง มากกว่าที่จะสนับสนุนให้ประชาชนมีความตระหนักรู้และเข้าถึงเนื้อหาได้หลากหลาย
“ผมเชื่อว่าตอนนี้คนต้องการเห็นโลกมากขึ้น ต้องการแลกเปลี่ยนมากขึ้น และต้องการพื้นที่ที่ตัวเขาไม่ถูกครอบงำมากขึ้น เพราะการเข้าไปดูหนังในห้างฯ เราถูกครอบงำโดยสิ่งต่างๆ รอบตัวทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว
“แต่คนกำลังต้องการพื้นที่แบบนี้ ซึ่งไม่ต้องเป็นพื้นที่ Doc Club & Pub. ของเราก็ได้ แต่มันควรมีพื้นที่สาธารณะอื่นๆ อีกมากในประเทศนี้ที่ทำให้คนเข้าถึงศิลปะและวัฒนธรรมได้มากขึ้น”
| Doc Club & Pub.
Soft Opening ช่วงแรก 5 – 14 กันยายน
เปิดให้บริการวันละ 3 รอบ : 12:00 / 14:30 / 17:30 (จำกัดรอบละ 12 ท่าน กรุณาจองล่วงหน้า)
หรือหากท่านสนใจนัดหมายมาเป็นกลุ่ม (8 – 12 ท่าน) สามารถเหมาทั้งรอบเพื่อดื่มเครื่องดื่ม + ทานอาหาร + ชมภาพยนตร์บนจอ LG-C1 77 นิ้วในโซนคาเฟ่ ร่วมกับเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันได้
ที่ตั้ง : อาคาร Woof Pack (ซอยศาลาแดง 1)
Facebook : Doc Club & Pub.
ป.ล. โซนฉายหนัง 50 ที่นั่งยังไม่เปิดให้บริการในช่วงนี้