สะท้อนความคิดผ่านโปรเจกต์ภาพถ่ายเด็กลาดกระบัง - Urban Creature

“คุณคิดอะไรอยู่ ?” 

ประโยคคำถามนี้ดูไม่ได้แปลกประหลาดอะไรหากจะเอ่ยถามใครสักคน แต่จะมีสักกี่ครั้งที่ได้ตอบสิ่งที่คิดอยู่ออกไปจริงๆ เพราะบางครั้งกลัวความเห็นต่าง บางครั้งก็คิดไม่เหมือนกับใครเขา จนทำให้สิ่งที่คิดไม่ได้ถูกแสดงออกไป ทั้งที่เราก็มีความคิดเหมือนกัน 

“เราสนใจว่าสังคมตรงนั้น มีการแสดงความคิดเห็นที่เหมือนหรือว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง”

นี่คือความคิดแรกเริ่มของ ‘พิมพ์ – พิมพ์ณภัส อนันตศิริ’ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากสาขาจิตรกรรมและมีเดียอาร์ต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ก่อนสรรสร้างโปรเจกต์ภาพถ่ายที่ใช้เพียงกระดาษและปากกาถ่ายทอดความคิดของคนแต่ละคน

จากป้ายข้างทางสู่ป้ายความคิด

ยามบ่ายที่คณะสถาปัตย์ ลาดกระบังฯ (ขอเรียกแบบนี้แล้วกันตามคำติดปาก) เรามีนัดลงพื้นที่กับน้องพิมพ์ เด็กน้อยวัยใสที่สนใจเรื่องราวในสังคม และงานศิลปะ เธอจึงหยิบสองสิ่งนี้มาสร้างเป็นโปรเจกต์สะท้อนความคิดในชั้นเรียน ที่ใช้เพียงกระดาษ ปากกา และผู้คน

Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ

พิมพ์ : แรกเริ่มอาจารย์สั่งให้เราถ่ายอะไรก็ได้ที่สนใจ แล้วพอเดินๆ ไปก็สังเกตเห็นป้ายข้างทาง ติดกันซ้ำๆ ติดเป็นหลังคาบ้านก็มี เลยถ่ายไปส่ง หลังจากนั้นอาจารย์ก็แนะนำให้ลองถ่ายภาพ portrait ดู แต่เรารู้สึกว่าไม่อยากเอาคนไปยืนข้างป้าย แต่อยากให้มันมีความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างป้ายกับคน เพื่อดูว่าสังคมตรงนั้นมีการแสดงความคิดเห็นที่เหมือนหรือว่าแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

สำรวจความคิด

พิมพ์ : เราเริ่มออกไปตามชุมชนพร้อมกระดาษเปล่า แล้วให้คนแถวนั้นเขียนคนละแผ่น เรื่องอะไรก็ได้ที่อยากจะสื่อสาร ออกไปโดยไม่รู้เลยว่าคนรอบๆ ตัวที่เราไม่รู้จักคิดเรื่องอะไร หรือสนใจเรื่องอะไรอยู่ เราได้เจออะไรที่สนุกๆ มากมาย รวมถึงความคิดที่บางทีก็ไม่เคยคิดมาก่อน 

“เพราะเราเชื่อว่า กระดาษหนึ่งแผ่นสามารถบอกความเป็นคนนั้นได้”

จริงอย่างที่น้องพิมพ์ว่า เราไม่มีทางรู้เลยว่าใครกำลังคิดอะไรอยู่ หากเราไม่เปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่ให้เขาแสดงออก เราเลยเดินไปพร้อมกับน้องพิมพ์ เพื่อชักชวนให้คนแถวลาดกระบังเล่าความคิดตัวเองผ่านการเขียนกระดาษ

คุณน้าคะช่วยเขียนป้ายให้หนูหนึ่งแผ่นได้ไหม เขียนอะไรก็ได้ค่ะ
เขียนอะไรล่ะลูก น้าชอบโพสต์เฟซบุ้กนะแต่ไม่รู้จะเขียนอะไร
ได้หมดเลยค่ะ อะไรก็ได้ที่กำลังคิดอยู่

จบการสนทนา คุณน้าคนขับรถตู้ตรงท่ารถตู้ริมทางรถไฟสถานีพระจอมเกล้าลาดกระบังนิ่งไปสักพัก ก่อนเปิดปลอกปากกาเมจิกแล้วเริ่มเขียนตัวหนังสือ แล้วน้องพิมพ์ก็ได้ป้ายนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งแผ่น

ยังมีอีกแผ่นความคิด ที่น้องพิมพ์พาเราไปพูดคุยกับคุณพี่ซึ่งทำงานในธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งพี่เขากำลังคิดถึงประเด็นฮอตอย่างโรคโคโรนาหรือโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่ว พร้อมบอกว่า มันเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกันทุกฝ่าย มีมาตรการเด็ดขาดในการจัดการ

หลังจากการออกพื้นที่ น้องพิมพ์ชวนเรากลับมานั่งคุยต่อ พร้อมเล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาประทับใจที่ได้เจอระหว่างทาง

Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ

พิมพ์ : มีคุณลุงท่านหนึ่งเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วเขาก็ไม่ได้มีครอบครัวอะไร เราเข้าไปคุยช่วงแรก คุณลุงก็ไม่รู้จะเขียนอะไรนะ แต่เขียนไปเขียนมาเขาเลือกคำว่า ‘คิดถึงบ้าน’ เหมือนเขาแก่แล้ว แต่ก็ยังต้องทำงานอยู่ เลยมีความรู้สึกอยากกลับบ้าน เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนที่นี่ 

ประเด็นสังคมกับศิลปะ

Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ

อ่านมาถึงตรงนี้ คงพอเข้าใจกันแล้วว่า โปรเจกต์ของน้องพิมพ์คืออีกรูปแบบหนึ่งในการสื่อสารประเด็นทางสังคม นั่นเพราะตัวน้องเองก็สนใจด้านนี้อยู่แล้ว บวกกับงานด้านศิลปะที่เธอเองชื่นชอบมาตั้งแต่ยังเด็ก

.

พิมพ์ : การทำงานศิลปะของเราส่วนมากจะเริ่มที่ประเด็นในสังคม สังเกตก่อนว่าเราอยากพูดเรื่องอะไร แล้วค่อยเลือกวิธีที่สนใจ อย่างการเขียนแผ่นกระดาษที่ได้ไอเดียจากป้าย เราก็ดูว่าป้ายมีหน้าที่อะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง หรืออาจทำหน้าที่พูดแทนสังคม เราคิดว่าศิลปะมันเกิดมาได้ เพราะเราพูดเรื่องในสังคม

.

อย่างป้าย หรือแผ่นกระดาษ ทุกคนอาจจะมองว่าเป็นการทำงานที่เป็นการสื่อสาร แต่เรามองไปยังความรู้สึกที่เกิดขึ้น ความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกเสียใจ หรือว่ามีความสุข เราเลยมองว่า สิ่งที่ป้ายสื่อสารคือศิลปะ  อยากให้ทุกคนทำความเข้าใจว่า ศิลปะไม่ได้มีแค่วาดรูป วาดเขียน แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกด้วย

เพราะทุกความหลากหลายต้องเท่าเทียม

แน่นอนว่าความตั้งใจของโปรเจกต์นี้ น้องพิมพ์มองว่าคือการแสดงออกทางความคิดของแต่ละคนอย่างเท่าเทียม จึงทำให้เลือกคนเขียนกระดาษจากหลากหลายอาชีพ ช่วงวัย และเพศ นั่นเพราะ

“ความหลากหลายทำให้งานเราสนุก แต่ว่าความเหมือนกันของเรื่องที่เจอทำให้คนเสพงานเขาเข้าใจได้”

อีกทั้งเวลาที่น้องพิมพ์ลงพื้นที่สำหรับถามคน แต่ละคนจะมีเรื่องราวที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ความรู้สึกที่ได้รับกลับมาจะแตกต่างออกไป ทำให้เห็นว่าภายในสังคมเดียวกัน เราอาจเผลอมองข้ามตัวตน มองข้ามความรู้สึก หรือมองข้ามความคิดของแต่ละบุคคล จนอาจไปถึงขั้นจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของใครต่อใคร

ท้ายที่สุดการได้นั่งคุยกับน้องพิมพ์ เพื่อทำความเข้าใจโปรเจกต์ภาพถ่ายชุดนี้ นอกจากจะทำให้เราเองได้ฉุกคิดขึ้นมาว่า แต่ละวันที่ใช้ชีวิต เผลอละเลยความคิดของใครไปบ้าง ยังทำให้เรากลับมาสำรวจตัวเองด้วยว่า “เราปล่อยทิ้งบางความคิดของตัวเองไปบ้างหรือเปล่า ?” 

.

สำหรับใครที่อยากเขียนความคิดลงแผ่นกระดาษ สามารถติดต่อน้องพิมพ์ได้ที่ https://www.instagram.com/a.pimn/ เพราะน้องตั้งใจทำเป็นโปรเจกต์ต่อเนื่อง และอยากเข้าถึงสังคมอื่นๆ อย่างเท่าเทียม

วินมอเตอร์ไซค์ที่สนใจเรื่องภาวะโลกร้อน (Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ)
ร้านทุกอย่าง 20 บาทที่แสนเงียบเหงา (Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ)
วงการร้านเช่าหนังสือที่กำลังจะตาย (Photo : พิมพ์ณภัส อนันตศิริ)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.