ศิลปะบนผ้าพื้นเมืองที่ไม่มีวันหมดอายุ - Urban Creature


เมื่อพูดถึงผ้าพื้นเมือง หลายคนคงติดภาพเสื้อชาวเขา เสื้อม่อฮ่อม ผ้าซิ่น ซึ่งถูกทำให้กลายเป็นของแปลกใหม่สำหรับคนเมือง กลายเป็นเครื่องนุ่งห่มของคนต่างถิ่น แต่ไม่ใช่สำหรับเธอ บุคคลผู้หลงรักมนตร์เสน่ห์ของผ้าพื้นเมืองในฐานะ ผ้าที่เต็มเปี่ยมไปด้วยภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น งานของเธอจึงใช้ผ้าพื้นเมืองที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ และใช้กรรมวิธีการย้อมสีจากธรรมชาติมาใช้เป็นหลัก จากผ้าฝ้ายธรรมดาก็กลับสามารถเพิ่มมูลค่าทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ ด้วยวิธีคิด การมอบคุณค่าให้กับผ้า จนผลงานบนผืนผ้าของเธอได้โลดแล่นในเวทีระดับโลก เธอคนนั้นมีชื่อว่า ‘ซิกแนล หรือ สมพร อินทร์ประยงค์’

ผ้าพื้นเมืองถึงจะเก่า แต่เก๋าไม่เสื่อมคลาย

เสื้อผ้าพื้นเมืองถูกผลักออกจากชีวิตผู้คนสมัยใหม่ ให้กลายเป็นเพียงเสื้อผ้าของชาวเขา และแทนด้วยเสื้อผ้าโรงงานซึ่งเน้นการผลิตจำนวนมาก เสื้อผ้าเหล่านั้นอาจจะดูสวย ทันสมัยสำหรับคนในเมือง แต่สิ่งที่ขาดไปในผ้าทุกผืนนั้นก็คือ มนตร์เสน่ห์และชีวิตของผู้ที่อยู่เบื้องหลัง จนเราไม่เคยคิดเลยว่าเรากลายเป็นผู้คนที่สวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตโดยเครื่องจักรไปเสียแล้ว


ในทางกลับกันเสื้อผ้าพื้นเมืองที่ถูกถักทอด้วยมือ กลับเต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางวัฒนธรรม นอกจากนั้น ยังมีชีวิตของผู้ผลิตอยู่ในนั้น ถึงแม้เวลาจะผ่านไปเนิ่นนาน งานเหล่านี้ก็จะไม่มีวันล้าสมัย และยังคงโดดเด่นอยู่เสมอด้วยเรื่องราวในตัวของมันเอง


เสื้อผ้าพื้นเมืองกลายเป็นกระแสทำให้หลายคนเริ่มหันกลับมามองรากวัฒนธรรมของสิ่งที่เราสวมใส่ และเราคงหันมองทุกครั้งถ้าได้เห็นคนใส่ผ้าพื้นเมืองบนรถไฟฟ้า หยุดสายตาเพื่อชื่นชมในเสน่ห์ของชุดของเขาอยู่ไม่น้อย ซึ่งหนึ่งในบุคคลที่คอยผลักดันภูมิปัญญาพื้นถิ่น ตั้งแต่เครื่องเงิน กระเป๋าสาน กำไลข้อมือ และชิ้นสำคัญอย่างผ้าพื้นเมืองให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งก็คือพี่ซิกแนล

เห็นคุณค่าของเวลาจึงออกแบบให้หลากฟังก์ชัน

เธอเป็นคนเห็นคุณค่าของเวลา ทำให้การจะสร้างสรรค์งานขึ้นมาสักชิ้น ต้องมีอรรถประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป พี่ซิกแนลได้แนวคิดในการออกแบบงานหนึ่งชิ้นให้มีฟังก์ชันได้หลากหลาย เสื้อ 1 ตัวของเธอจึงใส่ได้ 4 ด้าน ด้วยเทคนิคการออกแบบคอเสื้อเฉพาะตัว ซึ่งสามารถใส่ด้านไหนก็ได้ เมื่อเปลี่ยนด้านใส่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเสื้อคนละตัว มากไปกว่านั้น เสื้อของเธอยังพลิกด้านในออกมาใส่โชว์ลายผ้าที่ไร้แพตเทิร์นได้อย่างไม่เคอะเขิน และเสื้อตัวเดียวกันยังเปลี่ยนให้กลายเป็นกางเกงได้ด้วย


 เทคนิคเฉพาะตัวที่ทำให้ผลงานเธอมีชีวิตชีวา

ลายเซ็นของเธอคือ ฝีเข็มที่ปักลงไปบนผ้า บางครั้งก็หยิบเอาเทคนิคการทำตะกร้าสานอย่างกระดูกงูมาใช้ในงานผ้าเพื่อสร้างความแตกต่าง บางครั้งก็ใช้เทคนิคการเย็บแบบฝีเข็มเท่ากันหมดทำให้มองไม่ออกเลยว่าตรงไหนคือตะเข็บ และทั้งหมดเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตของเธอที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็กจนโต จากสิ่งรอบตัวไปยังสิ่งไกลตัว กลายเป็นลูกเล่นบนผ้า ซึ่งช่วยให้งานแต่ละชิ้นของเธอมีชีวิตชีวาขึ้นมา ฝีเข็มนี้เองจึงกลายเป็นซิกเนเจอร์ของพี่ซิกแนล 

ลวดลายใหม่ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ จากลายมดเบื้องหน้า สู่ลาย Abstract เบื้องหลัง

“ลายมือที่มันไม่สวย เมื่อเอามาเรียงต่อกันมันก็กลายเป็นศิลปะ”

คือประโยคเล่าของเธอซึ่งบอกเราระหว่างบทสนทนา ในตอนแรกเรายังไม่ค่อยเข้าใจนัก จนกระทั่ง….


ใครจะไปคิดว่าเพียงชั่วพริบตาเดียว เสื้อลายมดตัวที่เธอสวมใส่ จะถูกเปลี่ยนมาเป็นกางเกงได้อย่างง่ายดาย ชวนให้เราตกอยู่ในภวังค์ แปลกใจถึงฟังก์ชันหลากหลายของผ้าแค่ผืนเดียว แล้วเราก็ต้องตาลุกวาวอีกครั้งกับความสวยงามของลวดลายมดที่ดูเป็นระเบียบเบื้องหน้า เพราะเมื่อพลิกดูด้านในมันคืองานศิลปะอีกชิ้นที่ซ่อนอยู่ฝีเข็มของผ้าผืนนี้กลับกลายเป็นลาย Abstract โดยบังเอิญ เสมือนดอกหญ้ากระจัดกระจาย กำลังล่องลอยฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศอย่างไร้ระบบระเบียบ แต่มันช่างเร้าอารมณ์ผู้พบเห็นเสียเหลือเกิน 

เหตุบังเอิญจากหนูกัด

หลังจากคุยกันได้สักพัก เธอก็หยิบเสื้อหนึ่งตัวขึ้นมาให้เราดูพร้อมกับเล่ารายละเอียดให้ฟังว่า เสื้อตัวนี้เดิมทีเป็นผ้าที่ถูกหนูกัดแทะจนเป็นรูโบ๋หลายรู แต่แทนที่เธอจะทิ้งผ้าผืนนั้นไปเพราะความไม่สมบูรณ์แบบของมัน เธอกลับบอกว่า

“เราจะไม่ทิ้งเศษผ้า เราสามารถเอาทุกอย่างมาสร้างเป็นงานได้ เป็นงานในแบบฉบับของตัวเราเอง ไม่ใช่อย่างของคนอื่น”


จากร่องรอยของสัตว์ฟันแทะอย่างหนู เธอมองเห็นภาพขึ้นมาในหัวทันทีว่า สามารถเปลี่ยนรูเว้าแหว่งพวกนี้ให้กลายเป็นลวดลายใหม่บนผืนผ้า เธอจึงเริ่มปักลายบนผ้าเป็นมดตัวแล้วตัวเล่า และเมื่อเหล่าฝูงมดปรากฏอยู่บนผ้าผืนนี้ เหตุบังเอิญจากรูที่หนูกัดก็ได้เกิดเป็นเรื่องราวเรื่องใหม่ของเสื้อตัวนี้เช่นกัน


ลวดลายใหม่ช่วยเล่าเรื่องให้ผู้พบเห็นว่า รูต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนตัวผ้าเกิดจากฝูงมดกำลังกัดกินอยู่นั่นเอง และนี่เป็นหนึ่งในวิธีการสร้างสรรค์งานของพี่แนล ซึ่งอัดแน่นไปด้วยจินตนาการ และเสื้อตัวนี้ก็สามารถสร้างความเซ็กซี่ในตัวมันเองได้

Unisex Unisize ใครๆ ก็ใส่ได้

นอกจากผ้าพื้นเมืองแล้ว เธอยังหยิบจับผ้าชนิดอื่นๆ มาสร้างเป็นงานด้วยเช่นกัน ผ่านการใช้เทคนิคที่เธอสั่งสมมาจากประสบการณ์ในชีวิต เช่น เธอใช้เทคนิคการสานตะกร้ามาใช้ในงานผ้าซึ่งคนอื่นไม่นิยมใช้กัน ถึงแม้จะเป็นผ้าสมัยใหม่ เธอก็ยังคงฝังตัวตนและฝีเข็มเฉพาะตัวของเธอไว้อย่างชัดเจน ด้วยการปะติดปะต่อผ้าทีละชิ้นเข้าด้วยกัน และเย็บมันด้วยมือตลอดทั้งตัว กลายเป็นชุดที่สามารถใส่ในชีวิตประจำวันอย่างไม่มีเบื่อ


อีกหนึ่งเสน่ห์ที่สร้างความน่าสนใจในงานของเธอคือ เสื้อผ้าทุกชิ้นล้วนเป็น Unisex ที่ไม่ว่าเพศไหนก็สวมใส่ได้อย่างมั่นใจ นอกจากเป็นเสื้อผ้าแบบไม่ระบุเพศแล้ว เสื้อของเธอยังเหมาะสำหรับคนทุกรูปร่าง ผ่านการออกแบบอย่างรอบคอบ และหากเสื้อตัวนั้นใหญ่เกินไปสำหรับคุณ เธอก็พร้อมจะบอกเทคนิคในการรับมือหรือแก้ให้ผู้ซื้อได้ในทันที

จากจินตนาการของเด็กๆ สู่ผลงาน Naive

อีกหนึ่งผลงานที่เราอยากพาทุกคนไปรู้จักกับตัวตนและวิธีคิดในการสร้างสรรค์งานของพี่ซิกแนล คือผลงานชิ้นนี้ โดยเราจะขอเรียกงานชิ้นนี้ว่า ‘เจ้าหญิง’


ผลงานชิ้นนี้เกิดจากเหตุการณ์ที่เธอได้นำเอาผ้าผืนหนึ่งไปให้เหล่าปิกัสโซตัวน้อยวัยอนุบาล ช่วยกันวาดรูปตามจินตนาการเพื่อเสริมสร้างทักษะทางศิลปะให้เด็กๆ แต่เมื่อเด็กๆ วาดกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว เธอกลับเห็นลายมือและลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งตัวเธอเองไม่สามารถทำมันได้อีกแล้ว นั่นก็คือความไร้เดียงสาและแนวคิดที่ไม่ปรุงแต่งผ่านจินตนาการของเด็กๆ เห็นได้จากตัวการ์ตูนต่างๆ ที่เด็กวาด คำต่างๆ ที่อยู่ในหัวของเด็กๆ เช่นคำว่า ‘เจ้าหญิง’


เธอจึงเริ่มปักลวดลายทับไปบนลายมือของเด็กๆ ด้วยด้ายสีขาวเพื่อเล่าเรื่องราวในครั้งนี้ กลายเป็นเสื้อคลุมซึ่งมีความเป็นงาน Naive Art หรือศิลปะแบบไร้เดียงสา

งานคือชีวิต เธอจึงอุทิศชีวิตเพื่อสร้างงาน

เมื่อรู้จักกับผลงานและตัวตนของเธอแล้วเราจึงเข้าใจความหมายของคำว่า ‘งานคือชีวิต’ เพราะเธอบอกกับเราว่า

“พี่รักงานของตัวเองมาก ชอบงานของตัวเอง มีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำงาน ในทุกครั้งพี่เลยทำงานด้วยความมุ่งมั่นและเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในงาน ตัวพี่เลยกลายเป็นเรื่องเดียวกับงานในที่สุด จะประสบความสำเร็จหรือไม่มันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผลงานคือชีวิตของเรา”


ในทุกๆ ผลงาน เธอได้ปักเรื่องราวในชีวิต ปักตัวตนและจิตวิญญาณลงไปบนผ้าที่เธอเย็บมันด้วยสองมือกับหัวใจ รังสรรค์ออกมาเสมือนแม่มดแห่งวงการผ้าทอ ซึ่งมอบรอยยิ้มพร้อมกับเสียงหัวเราะให้ผู้พบเห็นและผู้สวมใส่อยู่เสมอ

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.