ผมเพิ่งอ่านเจอคำว่า ‘Material Culture’ เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ‘วัฒนธรรมวัตถุ’ โดยในหนังสือที่ผมอ่านเจอ เขาชวนแปลให้ยาวขึ้นอีกนิดว่า ‘วัฒนธรรมที่ส่งผ่านวัตถุสิ่งของ’ เพราะ Material Culture คือการศึกษาที่ว่าด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัตถุสิ่งของที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อเข้าใจวัฒนธรรม แนวความคิด หรือทัศนคติที่เกิดขึ้นในสังคม
Material Culture นั้นมีการใช้กรอบวิเคราะห์ในการศึกษาวัตถุสิ่งของที่เรียกว่า Object-driven ที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่นอกเหนือจากประเด็นของตัววัตถุเอง ชวนให้ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับมนุษย์และสังคมที่ผลิตขึ้นและใช้สอยมัน เราไม่สามารถแยกอิทธิพลระหว่างมนุษย์และวัตถุที่ส่งผ่านกันกลับไปกลับมาจนเกิดเป็นพฤติกรรม ก่อรูปความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้คนในสังคมในแต่ละช่วงเวลาจนเป็นภาพสะท้อนสังคม
เมื่อเข้าใจได้ประมาณนี้แล้ว ผมก็พบว่า คอลัมน์ ดีไซน์เค้าเจอ ที่ผมได้หยิบนำภาพสิ่งของงานออกแบบไทยๆ ริมทางท้องถนนหรือตามร้านรวงต่างๆ มาพยายามเล่าให้เพื่อนๆ ชมและอ่านกันนั้น ก็ถือว่าเป็นการทำงานทาง Material Culture ของสังคมไทยได้เช่นกัน โดยเฉพาะพื้นที่สังคมเมือง เป็นไปตามจุดประสงค์แรกของผมที่หวังว่าคอลัมน์นี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้พฤติกรรมและทำความเข้าใจความเป็นไปของผู้คนในเมืองมากขึ้น
ผมมีข้อสังเกตหนึ่งว่า พฤติกรรมหนึ่งของคนส่วนใหญ่ในเมืองที่เราสามารถเห็นได้ชัดเจนมากๆ คือการ ‘ดัดแปลง’ และ ‘พลิกแพลง’ เศษวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ใหม่ ที่ไม่เน้นหน้าตาแต่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก หากมองพฤติกรรมนี้ภายใต้แว่นของ Material Culture แล้วนั้น เราอาจจะพบว่าสิ่งนี้คืออาการที่เป็นผลพวงจากการซ้อนทับของปัญหาและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเมือง ไม่ว่าในเชิงเศรษฐกิจ การศึกษา และการครอบครองพื้นที่ ทำให้เก้าอี้ดัดแปลงหน้าตาแปลกๆ ของวินมอเตอร์ไซค์หนึ่งตัวที่เราเจออยู่ริมทางสามารถอธิบายสังคมไทยได้มากกว่าที่คิด
คำถามที่เกิดขึ้นถัดมาคือ หากการซ้อนทับของปัญหาและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมเราคลี่คลายขึ้น ไม่ว่าด้วยกระบวนการใดๆ แล้วนั้น พฤติกรรมและความสามารถในการดัดแปลงพลิกแพลงสิ่งของเหล่านี้จะหายไปด้วยไหม หากเรามีเมืองที่สะอาดเรียบร้อย ความสร้างสรรค์นี้จะหายไปหรือเปล่า เป็นอะไรที่น่าขบคิดกันต่อ
ก่อนจะไปไกลกว่านั้น ใดๆ แล้วตอนนี้ผมอยากชวนเพื่อนๆ มาขบคิดกับภาพสิ่งของงานออกแบบไทยๆ จากสถานที่ต่างๆ จำนวนหนึ่ง ที่ผมเก็บมาฝากให้ทุกท่านได้ชมเช่นเคย กดอ่านเรื่องราวของแต่ละภาพในลำดับต่อไปได้เลย
มหกรรมคว่ำชาม
หากเราลองตามหาที่คว่ำจานหรือชามในร้านขายของเครื่องเรือน ไม่ว่าจะราคาไหนก็ตาม ขนาดของที่คว่ำชามใหญ่สุดนั้นมักจะมีขนาดที่แค่เน้นวางบนเคาน์เตอร์ครัว หากต้องการคว่ำชามในจำนวนที่เยอะมากๆ ที่คว่ำจานแบบไหนจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้
ผมได้มาเจอกับการทำที่คว่ำชามของร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง ด้วยการนำตะกร้าใส่ผ้ามาซ้อนบนถังพลาสติกแบบในรูปนี้ เพราะด้วยความที่ขนาดของสองชิ้นนี้ฟิตเหลื่อมกันพอดี จึงเกิดพื้นที่ให้น้ำล้างจากชามผ่านตัวตะกร้าแล้วไหลลงไปที่ถังด้านล่างได้ กลายเป็นที่คว่ำชามที่สามารถคว่ำชามได้ในปริมาณมากๆ จุกๆ ดังเป็นมหกรรมแบบในรูปนี้นั่นเอง
กรวยจราจับ
หากการหยิบจับขยับกรวยจราจรเพื่อกั้นรถไม่ค่อยสะดวกนัก ทำไมเราไม่ทำหูหิ้วติดไปกับกรวยเลยล่ะ ซึ่งไอเดียนี้เกิดขึ้นได้ยังไงไม่รู้ (เพราะแค่ยกกรวยนั้นลำบากตรงไหน) แต่ผมก็ได้เห็นการนำคันร่มเข้าไปรวมร่างกับกรวยเรียบร้อย กลายเป็นกรวยที่มีหูหิ้วมือจับ ยกย้ายได้สะดวก ไม่ต้องใช้มือจับอะไรเยอะให้สกปรก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่น่าสนใจทีเดียว
จะว่าไปแล้ว ผมว่าผมเคยเห็นกรวยแบบในรูปนี้อยู่บ้างในหลายพื้นที่นะ ใครเคยเจอแบบนี้มาแชร์กันได้เลย
ไม้ไม่แขวนเสื้อ (แขวนอย่างอื่นแทน)
เชื่อว่าพวกเราอาจจะเคยเจอคลิปสอนรีไซเคิลลวดไม้แขวนเสื้อนำมาขดเป็นสิ่งของต่างๆ ได้อยู่ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต แต่ในขณะเดียวกัน ตามพื้นที่เมือง ตามผนังรั้ว หรือซุ้มวินมอเตอร์ไซค์ เราอาจจะเจอการรีไซเคิลลวดไม้แขวนเสื้อในทำนองเดียวกันนี้ถูกติดตั้งเกาะเกี่ยวติดไว้ในสถานที่ต่างๆ สำหรับเป็นที่แขวนของอเนกประสงค์ ไม่ว่าจะสำหรับแขวนตากผ้าหน้าบ้านแบบรูปซ้าย หรือแขวนหูแก้วน้ำของพี่วินมอเตอร์ไซค์แบบในรูปขวา
เก๊ะเกาะ
การดัดแปลงของเดิมเล็กๆ น้อยๆ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น คือคาแรกเตอร์ดีไซน์ไทยๆ ที่ผมพอจะนิยามได้ ตัวอย่างเช่นรูปนี้ ตู้เก๊ะพลาสติกที่เราคุ้นตาตามร้านของชำ 20 บาท ถูกใช้ใส่ช้อนส้อมของตลาดนัดสวนอาหารแห่งหนึ่ง ที่ดูผ่านไวๆ อาจจะไม่เห็นอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อเรามองดีๆ กลับเจอการเติมเกลียวเหล็กยึดไว้ที่ท้ายของถาดเก๊ะ ทำเป็นตัวเกาะขอบไว้ไม่ให้เก๊ะร่วงออกมาจากตู้เวลาที่ถูกดึงสุดนั่นเอง
แท่งรถเลี้ยวแปลกตา
ของประดิษฐ์ไทยๆ ข้างทางบางชิ้น เราไม่สามารถรู้ได้ทันทีว่ามันมีไว้ทำอะไรเมื่อเห็นเพียงแวบแรกหรือแค่มุมเดียว ยกตัวอย่างแท่งโฟมที่ตั้งโผล่ขึ้นมาจากพื้นในซอยหนึ่งแบบในรูปนี้ ที่ตอนแรกผมไม่สามารถเข้าใจได้ว่ามันคืออะไร มีไว้ทำไมกัน
แต่เมื่อลองพิจารณาโดยรอบก็พบว่า แท่งนี้ใช้สำหรับกันรถเลี้ยวไม่ให้ชนเสาไฟในตอนกลางคืน เพราะเป็นมุมก่อนเลี้ยวเข้าไปที่ลานจอดรถข้างหน้า จำเป็นต้องมีโฟมมัดไว้สำหรับกันกระแทก รวมถึงมีการแปะกระดาษเงินชิ้นเล็กๆ สำหรับสะท้อนไฟหน้ารถไว้ด้วย ผมต้องเดินวนดูหลายรอบทีเดียวกว่าจะรู้ว่ามันคืออะไร เพราะเจอสิ่งนี้ในตอนเช้านั่นเอง
กองเก้าอี้
ผมนำภาพเก้าอี้หน้าตาแปลกๆ มาแบ่งปันให้ชมอีกแล้ว และแน่นอนว่าต้องเป็นเก้าอี้ของพี่วินมอเตอร์ไซค์เช่นเคย ซึ่งคราวนี้มาในรูปแบบของกองเศษอิฐที่ซ้อนๆ กันและแผ่นท็อปด้านบนเป็นแผ่นพื้นที่กว้างพอสำหรับวางก้นได้ ทั้งหมดนี้พิงไว้กับต้นไม้ ทำให้เกิดความแข็งแรงและนั่งได้จริง
ตอนแรกที่ผมเจอสิ่งนี้ก็ดูไม่ออกว่าไอ้กองๆ มันคือเก้าอี้ จนมีพี่วินฯ แถวนั้นบอกว่ามันคือเก้าอี้ที่พวกพี่เขาทำใช้นั่งกันนั่นเอง
เก้าอี้ท่อน้ำไทย
อีกคาแรกเตอร์ดีไซน์ไทยๆ ที่ผมพอระบุได้คือ การนิยมเลือกใช้ท่อน้ำพีวีซีเป็นวัสดุในการสร้างเป็นสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นใหญ่ ซึ่งนานๆ ทีจะได้เห็นการนำท่อมาประกอบเป็นเฟอร์นิเจอร์ทั้งตัวแบบเก้าอี้ในรูปนี้
เพราะด้วยจุดอ่อนของการประกอบท่อนี้คือมันไม่ได้แข็งแรงอะไรมากนัก เราจึงจะเห็นการถักโครงเสริมอย่างหนาแน่นในบริเวณพนักพิง เป็นเก้าอี้ที่น่าจะผ่านการทดลองใช้งานและมีการปรับปรุงจนได้โซลูชันออกมาหน้าตาแบบนี้นั่นเอง
ลับมีดลับๆ (เพราะตอนแรกดูไม่ออก)
รูปสุดท้ายนี้เป็นสิ่งของงานดีไซน์ไทยๆ อีกชิ้นที่แวบแรกผมดูไม่ออกว่ามันคืออะไร กระทั่งเมื่อพิจารณาได้ว่ามันคือแท่นนั่งลับมีดนั่นเอง ซึ่งปกติมักเป็นแท่นเก้าอี้เตี้ยๆ ต่อกับโต๊ะลับมีดที่ทำด้วยวัสดุไม้เก่าๆ ที่คุ้นตา
อาจเพราะแท่นนั่งลับมีดตัวนี้มีลักษณะการดัดแปลงผสมผสานวัสดุเหลือใช้ต่างๆ เข้ามาประกอบขึ้นใหม่แทนอย่างลงตัว (ซึ่งผมไม่รู้ว่าแต่ละชิ้นส่วนนั้นมาจากอะไรบ้าง ใครรู้บอกได้นะ) จึงทำให้มันดูแปลกตาและมีคาแรกเตอร์ที่น่าสนใจ แม้ว่าจะมีลักษณะสัดส่วนสำหรับใช้นั่งเป็นแท่นลับมีดปกติมาตรฐานทั่วไป แต่ยังรู้สึกว่าน่าสนใจมากๆ อยู่ดี