ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive พฤษภาคม 2567

ของพวกนี้ดีไซน์แล้วหรือยัง
เป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองในช่วงไม่นานมานี้ หลังจากเริ่มเผยแพร่ภาพผลงานสิ่งประดิษฐ์อันแสนน่าอัศจรรย์ใจที่พบเจอตามริมทางท้องถนนเมืองไทยมาสักพักใหญ่ ทั้งผ่านช่องทางส่วนตัวหรือกับทาง Urban Creature เอง

ตอนผมเรียนในโรงเรียนออกแบบ โดยทั่วไปอาจารย์มักสอนกันว่า เวลาสร้างผลงานใดๆ เราจำเป็นที่จะต้องตอบคำถามสิ่งที่เราดีไซน์กันอยู่ให้ได้ 3 เรื่อง ได้แก่
1) ฟังก์ชันการใช้งาน
2) ตอบโจทย์แก้ปัญหา
3) ความสวยงาม

แต่เมื่อเรามีประสบการณ์ทำงานดีไซน์ไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ก็มักจะพบกันว่า ไอ้ข้อที่ 3 ที่ว่าเรื่องความสวยงาม เริ่มกลายเป็นเรื่องรองมากขึ้น เพราะในสังคมปัจจุบัน ความสวยงามเป็นเรื่องของปัจเจกสูง มีความแล้วแต่บุคคลจะมอง เทสใครเทสมัน

ทำให้ยุคหลังๆ นักออกแบบหลายคนในหลายวงการโฟกัสผลงานดีไซน์ไปที่เรื่องฟังก์ชันและการแก้ปัญหาเป็นหลักเสียมากกว่า เพราะงานออกแบบที่สวยงามมากๆ แต่ไม่ตอบโจทย์การใช้งาน ก็อาจไม่เรียกว่างานดีไซน์ที่ดีได้เช่นกัน

กลับมาที่สิ่งประดิษฐ์จากคนธรรมดาผู้ไม่ได้เรียนออกแบบที่เราพบเจอได้ตามท้องถนน แล้วของพวกนี้มันดีไซน์แล้วหรือยัง

มันอาจจะดีไซน์แล้วมั้ง-เพราะมีฟังก์ชันและสามารถแก้ปัญหาได้ดีมากๆ แต่หน้าตาก็ดูแปลกๆ หรือมันยังไม่ได้ดีไซน์-เพราะหน้าตาแย่เกินไปกว่าที่เราควรจะไปชื่นชมมัน หรือต้องเป็นของที่ผ่านมือนักออกแบบเท่านั้นถึงจะเรียกว่าดีไซน์

บอกเลยว่าตัวผมเองก็ยังไม่มีคำตอบให้ เพราะเมื่อได้พบเจอกับของพวกนี้ชิ้นใหม่ๆ ทุกครั้ง ผมจะรู้สึกว้าวอยู่ตลอด มันชวนตั้งคำถามและท้าทายอาชีพนักออกแบบอยู่เสมอๆ ว่าพวกเราสามารถคิดวิธีออกแบบได้ดีเท่านี้ไหม

แล้วเพื่อนๆ ทุกท่านคิดว่าของเหล่านี้ถูกดีไซน์แล้วหรือยัง หากยังไม่แน่ใจในคำตอบแบบเดียวกับผม ก็ขอชวนมาดูภาพของเหล่านี้กันเพลินๆ อีกครั้ง ที่ผมคัดสรรมาให้โดยเฉพาะกับคอลัมน์ดีไซน์-เค้าเจอ ประจำเดือนนี้ได้เลย

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Table + Height Adjustment

ระดับความสูงของโต๊ะอ่างล้างจานมาตรฐานบ้านเรามักจะอยู่ที่ 85 ซม. ซึ่งความสูงนี้อาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนที่ใช้งาน เพราะสรีระความสูงร่างกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างคนที่ตัวสูงหน่อยก็อาจจะมีอาการปวดหลังเวลายืนใช้นานๆ ได้ การแก้ปัญหาที่ตรงจุดคือ ต้องทำให้ขาโต๊ะปรับแต่งความสูงตามใจเราได้

เพียงตัดท่อนท่อน้ำพีวีซีเหลือใช้ วัดระดับที่จะเพิ่มความสูงให้ดี แล้วนำไปสวมครอบกับขาโต๊ะเดิมที่มีอยู่แบบรูปนี้ แค่นี้เราจะได้โต๊ะที่ความสูงพอดีกับการใช้งานของเราแล้ว

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Board Stand + Floor Extension

หลายครั้งการวางป้ายบริเวณหน้าร้านนับเป็นกลเม็ดหนึ่งที่จะช่วยให้คนจำร้านเราได้มากขึ้น และการพยายามยื่นป้ายให้ออกมาจากหน้าร้านสักนิดหน่อย ก็เพื่อดักสายตาคนที่เดินผ่านไปผ่านมานั่นเอง

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาคือ ขาป้ายของเราฝั่งหนึ่งที่เลยออกมาก็จะตกตรงพื้นที่ต่างระดับ กลายเป็นเราต้องหาวิธีการแก้ปัญหาให้ระดับขาเท่ากัน ซึ่งการนำก้อนอิฐพื้นเหลือๆ จากตามไซต์งานแถวๆ นั้นมาซ้อนเพื่อหนุนขาให้พอดี ก็มักจะเป็นวิธีการที่นิยมทำกัน เพราะเป็นวิธีการที่ง่ายและค่อนข้างเนียนไปตามขอบพื้นทางเดินตรงนั้นๆ แบบรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Sale Display + Floor Extension

ไม่ใช่แค่ป้ายร้านเท่านั้นที่ดึงดูดลูกค้าได้ การโชว์ตัวสินค้าของขายให้เห็นชัดๆ ตรงหน้าร้านไปเลย ถือว่าเป็นตัวแทนการมีป้ายร้านที่ดีได้เช่นกัน อย่างการวางเข่งผลไม้โชว์ของแน่นๆ ที่เลยขอบพื้นหน้าร้านแบบรูปนี้

ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งปัญหาเดียวกับการหนุนอิฐป้ายร้านในรูปก่อนหน้า ซึ่งเราอาจเจอการดีไซน์โครงขาเหล็กสั่งประกอบให้ขนาดพอดีสำหรับหนุนของกับพื้นต่างระดับตรงนั้นๆ โดยเฉพาะ

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Sale Display + Table + Legs Balance

ยังอยู่กับปัญหาขอบพื้นต่างระดับที่ริมทาง อาจจะไม่ใช่แค่ใช้วิธีหนุนพื้นให้ระดับเท่ากันเพื่อแก้ปัญหาเท่านั้น แต่เราสามารถดีไซน์สิ่งของที่เข้าไปสวมกับขอบพื้นตรงนั้นแล้วขามันพอดีแทนก็ได้ อย่างโต๊ะเหล็กฉากเจาะรูที่ถูกสั่งทำเพื่อวางตู้แช่ขายผลไม้แบบรูปนี้ ที่มีความสูงขาข้างหน้ายาวกว่าขาข้างหลัง ก็เพื่อที่จะวางอยู่ขอบริมทางตรงนั้นแบบพอดีเป๊ะๆ ว่าไปแล้ว โต๊ะตัวนี้อาจจะนำไปวางที่อื่นไม่ได้เลย

Photo Credit : Suwicha Pita.

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Table + Tray Extension

ปัญหาคลาสสิกเวลาไปกินร้านอาหารข้างทางที่มักมีกับข้าวเยอะๆ คือการต้องมีโต๊ะเล็กๆ เพื่อวางน้ำแข็งเพิ่มอยู่ข้างๆ ซึ่งหลายครั้งก็ไปเกะกะทางเดินเสมอๆ รวมถึงหาที่วางให้ดูดีๆ ไม่ค่อยจะได้ (ซึ่งปกติเราก็มักปล่อยเลยตามเลยกันไป)

ผมได้เจอการดีไซน์เล็กๆ ของร้านอาหารข้างทางร้านหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือเขาสั่งทำลิ้นชักที่สามารถดึงออกมาจากโต๊ะเดิมได้ แล้วกลายเป็นว่ามีพื้นที่สำหรับวางถังน้ำแข็งเพิ่มไปเลยแบบรูปนี้ ซึ่งช่วยแก้ปัญหาเกะกะทางเดิน ใช้งานวางของได้จริง แถมดูเรียบร้อยด้วยนะ

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Traffic Barrier + Table Top

พื้นที่เยาวราชช่วงโซน Street Food ถนนคนเดิน เราจะพบว่าการใช้สอยพื้นที่ในบริเวณนี้ ทุกตารางเมตรนั้นมีคุณค่ามากๆ เนื่องด้วยผู้คนสัญจรหนาแน่นตลอดเวลา ทำให้หลายร้านมักพยายามแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยสูงสุดอยู่ตลอดเช่นกัน

อย่างตรงบริเวณรั้วจราจรสำหรับกั้นโซนคนเดินที่ดูจะไม่มีสาระสำคัญอะไร เราอาจจะเห็นการดีไซน์แผ่นโต๊ะที่มีตะขอขาเกี่ยวเข้าไปสวมกับคานรั้วจราจร แล้วกลายเป็นเคาน์เตอร์สำหรับยืนสั่งอาหารได้เฉยเลยแบบรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Broken Traffic Barrier + Plastic Chair

ต่อจากรูปก่อนหน้า ผมก็ยังเจอรั้วจราจรที่มีความน่าสนใจเหมือนกัน แต่มีการแก้ปัญหาเพื่อการใช้งานไม่เหมือนกัน นั่นคือ การซ่อมรั้วจราจรที่ส่วนสำหรับวางพื้นพังและตั้งไม่ได้ ด้วยการนำเก้าอี้พลาสติกเก่าสองตัวมาสวมเข้าไปที่มุมขารั้วแทน กลายเป็นรั้วกั้นรถที่หน้าตาประหลาด แต่ก็ใช้สอยได้ดีเช่นเดิม

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Carrier Cart + Small Alley

ในพื้นที่ชุมชนเมืองที่อยู่อาศัยกันหนาแน่น ตามตรอกซอกซอยสำหรับเดินเข้าบ้านของผู้คนมักมีพื้นที่ค่อนข้างแคบมากๆ ทำให้ผมสงสัยอยู่บ่อยๆ ว่าการขนของเข้าบ้านของผู้คนแถวนั้นต้องแก้ปัญหากันยังไง

ครั้งหนึ่งผมได้เจอรถเข็นขนของที่ดูขนาดผอมผิดปกติจอดอยู่ในซอยแคบ แถมมีการเว้นช่องผ่าตรงกลางเอาไว้แปลกๆ ซึ่งเมื่อผมสอบถามผู้คนตรงนั้นก็พบว่า รถเข็นคันนี้ถูกดีไซน์ไว้สำหรับขนพวกแผ่นฝ้าเพดานหรือแผ่นวัสดุใดๆ สำหรับงานก่อสร้างในซอยชุมชนนี้โดยเฉพาะ นอกจากขนาดที่ถูกตัดให้ผอมแคบเข็นคล่องตัวในซอย ไอ้ร่องตรงกลางรถก็เพื่อไว้เสียบแผ่นวัสดุในแนวตั้งได้นั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ การออกแบบ สิ่งของ

Door + Elastic Ropes

ผมบังเอิญเจอประตูรั้วเหล็กที่ทางออกหลังอาคารแห่งหนึ่ง สังเกตว่ามันมีอะไรแปลกๆ ติดตั้งอยู่กับประตูที่ถ้าไม่ตั้งใจมองจะไม่เห็นเลย นั่นก็คือ มีเชือกตะขอที่เราใช้รัดของถูกผูกเกี่ยวไว้ที่ช่วงฝั่งบานพับประตูตามรูปนี้

เมื่อยืนดูสักพักผมก็ร้องอ๋อทันที เชือกนี้ถูกทำไว้เพื่อเป็นการดึงประตูให้กลับมาปิดอยู่ตามเดิมเมื่อมีคนเปิดออก ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาประตูที่ถูกลืมเปิดค้างไว้นั่นเอง

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำสิ่งนี้เอาไว้ แต่มันช่างถูกคิดมาอย่างพอดี ไม่ขาดไม่เกินไป แก้ปัญหาตรงจุด มีฟังก์ชันตอบโจทย์ เหมือนได้ผ่านกระบวนการคิดมาอย่างดี แต่แล้วมันดีไซน์แล้วหรือยังนะ ทุกคนคิดว่ายังไงกัน

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.