ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567 - Urban Creature

“เอ๊ะ” เป็นเคล็ดลับสำคัญในการมองหางานดีไซน์ที่น่าสนใจตามริมทางท้องถนน เพราะของเหล่านี้มักแฝงตัวอย่างแนบเนียนอยู่กับชีวิตประจำวันของพวกเรา หลายคนคุ้นชินจนแทบมองไม่เห็นการมีอยู่ของสิ่งเหล่านี้ แต่เมื่อไหร่ที่เราเดินผ่านสิ่งของใดๆ แล้วรู้สึก ‘เอ๊ะ’ รู้สึก ‘แปลกๆ’ ผมอยากชวนให้เพื่อนๆ ลองเดินย้อนกลับไปดูและลองพิจารณาสำรวจมันอีกครั้ง

ผมนึกถึงนิทรรศการ ‘Invisible Things (2019)’ ที่เคยจัดแสดงที่ TCDC โดยมีคุณ Philip Cornwel-Smith ผู้แต่งหนังสือ Very Thai (2004) เป็นภัณฑารักษ์ นิทรรศการนี้ว่าด้วย 25 วัตถุเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของคนไทยที่เราคุ้นชินมากๆ จนมองข้ามไป เช่น กระป๋องแป้งตรางู กระติ๊บข้าวเหนียว ซองมาม่า ซึ่งของแต่ละอย่างนี้อาจดูไม่น่าสนใจอะไร แต่ลึกๆ แล้วกลับมีเรื่องราวซ่อนอยู่ ยกตัวอย่าง มาม่า ที่เป็นดัชนีในการพยากรณ์เศรษฐกิจ เพราะยามเศรษฐกิจดี ยอดขายมาม่าจะลดลง แต่ยามเศรษฐกิจถดถอย ยอดขายมาม่าจะเพิ่มขึ้น

ทั้งหมดนี้นิทรรศการตั้งใจจะสื่อว่า ของบางอย่างที่อยู่ใกล้ตัวพวกเรามากๆ อาจกำลังสะท้อนสังคมได้มากกว่าเพียงรูปลักษณ์ที่เป็นอยู่

ผมเชื่อว่า หากเข้าใจวิธีมองสิ่งของแบบเดียวกับนิทรรศการ Invisible Things เราจะมีความสามารถในการรู้สึก ‘เอ๊ะ’ ที่มากขึ้น และมองหาความหมายของสิ่งของเรี่ยราดตามริมทางได้ดีขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความตั้งใจหรือเหตุผลใดๆ ซ่อนอยู่กับสิ่งของเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในชีวิตประจำวัน อันเกิดจากสังคมบริบทเมืองที่เราอยู่อาศัย

เช่นเคย ผมอยากลองชวนเพื่อนๆ มาฝึกสายตา เอ๊ะกับรูปสิ่งของดีไซน์ข้างทางที่ผมคัดสรรประจำเดือนนี้ไปพร้อมๆ กัน หวังว่าจะสนุกและเริ่มเห็นสิ่งที่ล่องหนในสังคมเรามากขึ้น

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

ท้ายมอเตอร์ไซค์ในรูปนี้ หากมองผ่านไวๆ เราอาจจะไม่พบเห็นความผิดปกติใดๆ แต่หาก เอ๊ะ และลองสำรวจด้วยสายตาอีกรอบ เราจะพบความพยายามในการติดตั้งอุปกรณ์สะท้อนแสงไฟท้ายรถแบบรีไซเคิลด้วยวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทปสะท้อนแสงสีแดงติดเนียนๆ (เดาว่าไฟเบรกท้ายรถเสีย) เทปสีส้มสะท้อนแสงคาดข้าง รวมถึงการนำฝาขวดสีสเปรย์สีส้มมามัดติดกับบังโคลน

เมื่อถอยออกมามองดูเต็มคันจะพบว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้เป็นรถซาเล้งเก็บขยะนั่นเอง จึงไม่แปลกใจว่าทำไมถึงรีไซเคิลด้วยวิธีการแบบนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

เหมือนจะเป็นราวตากผ้าที่ตั้งอยู่หน้าบ้านปกติๆ ไม่มีอะไร แต่พอเริ่มเห็นม้านั่งหินที่ถูกราวตากผ้าคร่อมอยู่ที่ด้านล่าง ก็เริ่ม เอ๊ะ ทันที (มันคร่อมเข้าไปได้ยังไงก่อน)

สิ่งที่เกิดขึ้นในรูปนี้ ถ้าให้ผมคาดเดาฟังก์ชันการใช้งานคือ ม้านั่งหินช่วยทำหน้าที่ล็อกขาราวตากผ้าให้ไม่เกิดอาการล้มคะมำเวลาแขวนผ้าตากเยอะๆ แถมในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ตากผ้าก็ยังใช้เป็นที่นั่งหน้าบ้านได้ด้วย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

ในตลาดหรือร้านริมทาง พื้นที่เหล่านี้มักเป็นโซนนิงที่เราจะเจอความ เอ๊ะ ได้อยู่บ่อยๆ หากใครเริ่มต้นฝึกสายตาเอ๊ะ ผมแนะนำอยากให้ลองเริ่มแถวๆ นี้ก่อน

อย่างภาพตลาดริมทางภาพนี้ เป็นการเอาร่มกันฝนมาเทินกับตู้ไฟและผูกกับร่มแม่ค้า ใครเดินผ่านไปผ่านมาอาจไม่ได้สนใจอะไร แต่ก็ชวนให้รู้สึก เอ๊ะ ว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไงกันนะ วางกันแดดให้ผู้ใดตรงนั้นหนอ

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

ภาพของฟองน้ำล้างจานบนขอนลำต้นไม้ที่กระถางต้นไม้รูปนี้อาจดูไม่น่าสนใจอะไรนัก แต่เมื่อเริ่มรู้สึก เอ๊ะ ว่ามันไปอยู่ตรงนั้นได้ยังไง แล้วถอยออกมามอง เราก็จะพบว่าตรงนั้นคือจุดอ่างล้างจานของร้านอาหารริมทาง และแน่นอนว่าคงไม่มีตำแหน่งตากฟองน้ำตรงไหนเหมาะกว่าตรงขอนต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ข้างๆ กันนี้อย่างพอดิบพอดี

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

มองเผินๆ ในรูปนี้ก็เป็นรั้วจราจรสีขาวแดงกั้นรถปกติๆ แต่หากตั้งใจมองดูอีกที เราจะพบว่ามันคือรั้วกั้นรถที่ถูกผ่าครึ่งและนำฝั่งหนึ่งออกไป และเมื่อเรามองภาพรวมตรงนั้นมากขึ้น ก็จะพบว่าพื้นที่ตรงนั้นมีความกว้างไม่มากพอ หากวางของแนวด้านขวางก็จะกินพื้นที่มากไป สรุปคือผ่ารั้วครึ่งหนึ่งแล้ววางแบบในรูปนี้ก็เมกเซนส์ดี

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

ไม่นานมานี้ในวงการออกแบบเริ่มมีการนิยามคำว่า Re-appropriate หรือการปรับวิธีคิดบางอย่างให้เกิดความเหมาะสมขึ้นมาใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการฝึกให้รู้สึก เอ๊ะ ให้เป็น ก็ทำให้เราพบการ Re-appropriate สิ่งของให้ใช้งานพลิกแพลงไปมาอยู่บ่อยๆ เวลาเดินไปในพื้นที่ต่างๆ

ยกตัวอย่างการนำพัดลมตั้งพื้นมามัดกับเสาแขวนเป็นพัดลมเพดานแทนแบบรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

ระหว่างที่ผมนั่งกินข้าวที่ร้านอาหารร้านหนึ่ง ผมได้ เอ๊ะ เพราะมองเห็นตะแกรงร่อนน้ำมันที่ไม่ถูกใช้งานตามจุดประสงค์ของมันบนผนังครัว แต่ถูกพลิกแพลงเป็นที่เสียบอุปกรณ์ครัวแบบในรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

การพลิกแพลงสิ่งของให้เหมาะสมกับการใช้งานนั้น หลายครั้งอาจไม่เป็นแค่การพลิกของไปมาเฉยๆ แต่เริ่มมีการลงมือคราฟต์สิ่งของผสมปนเข้าไปด้วยเช่นกัน

อย่างการตัดขอบบล็อกอิฐตัวหนอนฝั่งมีรูให้สามารถวางคร่อมขาโต๊ะแบบในรูปนี้ ก็กลายเป็นอุปกรณ์ช่วยล็อกและถ่วงขาโต๊ะได้อย่างพอดีๆ จากการพลิกของและตัดแต่งนิดหน่อย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive กรกฎาคม 2567

รูปสุดท้ายนี้ ไม่ต้องมีต่อมเอ๊ะก็สังเกตเห็นได้อย่างเต็มตา และเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการ Re-appropriate พลิกแพลงสิ่งของมาใช้ที่ดูตื่นตา และยังเป็นตัวอย่างการใช้งานชั่วคราวอย่างสุดโต่งอีกด้วย

โต๊ะที่ถูกดัดแปลงให้วางบนฟุตพาทและคร่อมลงไปในถนน โดยมีมอเตอร์ไซค์หนุนอยู่ใต้โต๊ะ ซึ่งเป็นดินแดนสีเทาๆ ว่าเราไม่ควรวางโต๊ะบนถนน แต่มอเตอร์ไซค์จอดบนถนนได้ ก็เลยเกิดการรวมร่างมอเตอร์ไซค์กับโต๊ะไปเลยนั่นเอง ซึ่งถูกผิดไหมให้ว่ากันอีกเรื่อง แต่ที่น่าสนใจคือ สิ่งที่เราเห็นว่าโต๊ะตัวนี้สะท้อนสังคมไทยยังไงบ้าง ทั้งวิถีชีวิต การใช้งาน ปัญหา และกฎระเบียบ อยากให้ลองค่อยๆ พิจารณาดูกัน

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.