ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 - Urban Creature

‘น้อยแต่มาก เล็กแต่ยิ่งใหญ่ พระเจ้าอยู่ในรายละเอียด’ วลีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่าคนทำงานออกแบบหรือทำงานสร้างสรรค์มักได้ยินกันจนชินหู ซึ่งการวัดกึ๋นในผลงานออกแบบใดๆ ในปัจจุบัน เรามักไปตามดูกันตรงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ปรากฏอยู่ในผลงานนี่แหละ

อย่างไรก็ตาม ตัวผมเองไม่ค่อยอยากจำกัดคำเท่ๆ พวกนี้อยู่แค่ในวงการนักออกแบบหรือคนทำงานสร้างสรรค์เท่านั้น เพราะหลายครั้งผมก็เห็นผลงานออกแบบตามริมทางท้องถนนจากคนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนออกแบบ ที่มีลักษณะน้อยแต่มากหรือมีรายละเอียดเล็กๆ ที่เห็นแล้วน่าทึ่งไม่แพ้นักออกแบบตัวจริงอยู่บ่อยๆ

ไม่รู้ว่าใครเห็นด้วยกับผมไหมว่า เวลาจะลงรายละเอียดในงานออกแบบใดๆ เราในฐานะนักออกแบบมักพยายามทำให้มันดูแนบเนียนไปกับภาพใหญ่ แต่ในงานออกแบบเล็กๆ ตามริมทางท้องถนนนั้นกลับตรงกันข้าม เพราะมีความไม่แนบเนียนและโดดออกมาจากชิ้นงานให้เห็น แต่ถึงแม้มันจะสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย แต่หลายคนก็เลือกที่จะมองข้ามไปอยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อมองรวมๆ ภาพใหญ่กับทัศนียภาพของเมืองไทยต่างกลมกลืนกันไปอยู่ดีนั่นเอง

แต่ไม่ต้องรู้สึกพลาดอะไรไป หากใครไม่ค่อยได้สังเกตเห็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ตามริมทาง ผมได้คัดสรรภาพของเหล่านี้มาให้เพื่อนๆ ได้รับชมอยู่แล้วเป็นประจำทุกเดือนในคอลัมน์ #ดีไซน์เค้าเจอ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เราฝึกมองของรอบตัวให้ดีมากขึ้น เผื่อเวลาที่เราออกจากบ้านแล้วผ่านตามตรอกซอกซอย อาจจะได้ลองกวาดสายตามองไปตามแนวผนังตามจุดต่างๆ และพระเจ้า (แบบไทยๆ) ที่อยู่ในรายละเอียดอาจจะปรากฏตัวให้เห็นก็เป็นได้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Doll Stopper

อะไรที่ดูผิดที่ผิดทาง หลายครั้งมันถูกคิดมาแล้วเป็นอย่างดี อย่างประตูรั้วเหล็กหน้าบ้านในรูปนี้ที่มีตุ๊กตาหมีตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งถูกมัดติดเอาไว้

เมื่อลองพิจารณาดูรวมๆ ก็พบว่า น้องตุ๊กตาหมีตัวนี้คือดีเทลซับแรงกระแทกของประตูรั้วเหล็กที่อาจเปิดไปชนกับกำแพงด้านข้าง กลายเป็น Doll ที่เป็น Door Stopper นั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

FruitWork

ตอนนี้เทรนด์ของวงการออกแบบต่างๆ ทั่วโลกกำลังมองหาวิธีสร้าง Sustainability ในการออกแบบผลิตภัณฑ์สิ่งของต่างๆ ให้เวิร์ก โดยเฉพาะการทำให้สามารถย่อยสลายได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งในขณะเดียวกันนั้น ผมก็พบร้านอาหารริมทางเมืองไทยที่นำวัสดุจากธรรมชาติอย่างเปลือกส้มโอ มาใช้เป็นเท้าปรับความสูงของขาโต๊ะไปล่วงหน้าก่อนแล้ว

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Suture Stool

การยืดอายุสิ่งของเพื่อให้ใช้งานต่อไปได้นั้น ก็มีความสำคัญไม่แพ้การออกแบบสิ่งของให้เกิดขึ้นใหม่เลย ซึ่งการหาวิธีซ่อมให้ดูน้อยแต่มีประสิทธิภาพมากก็เป็นอะไรที่ไม่ง่ายนัก

อย่างการใช้เชือกเส้นเล็กๆ ร้อยผ่านรูเพื่อเย็บประสานรอยแตกของเก้าอี้นั่งซักผ้าในรูปนี้ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เข้ากันได้ดีกับรูเล็กๆ ของตัวเก้าอี้พลาสติกเดิม หากมองไกลๆ หรือหรี่ตามองผ่านๆ ก็มีความเนียนไม่เบาเลย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Gallon Gutter

ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม การออกแบบรอยต่อในจุดต่างๆ นั้นค่อนข้างต้องมีประสบการณ์ประมาณหนึ่ง เพราะเราต้องมีความรู้เรื่องขนาดและรูปทรงของวัสดุต่างๆ ต้องรู้ว่าอะไรต่อเข้ากัน อะไรต่อไม่เข้ากัน ถึงจะออกแบบรอยต่อได้ดี

ครั้งหนึ่งผมได้เจอกับการใช้ถังแกลลอนที่ถูกตัดแต่งเป็นรอยต่อรางน้ำหลังคาให้เข้ากับท่อระบาย ความน่าสนใจคือ การออกแบบนี้ตั้งใจให้แกลลอนคว่ำ เพื่อให้ปากถังที่เป็นเกลียวต่อเข้าท่อระบายได้อย่างลงตัวพอดีนั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Gallon Roofing

นอกจากใช้แกลลอนพลาสติกเป็นรอยต่อรางน้ำแล้ว เราอาจจะเจอการนำมาตัดแต่งใช้เป็นหลังคาจิ๋วๆ กันฝนให้กับกริ่งหน้าบ้านแบบรูปนี้ก็ได้เช่นกัน

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Hose Hold

แน่นอนว่าการเอาอะไรมาวางพาดทิ้งไว้ที่ฟุตพาทนั้นไม่ถูกไม่ควรแน่นอน แต่บางกรณีก็อาจมีความจำเป็นที่พออะลุ่มอล่วยบ้าง อย่างการวางสายยางเพื่อฉีดน้ำทำความสะอาดร้านอาหารริมทาง ที่อย่างน้อยคนเดินไปเดินมาก็ก้าวข้ามสายยางได้ไม่ลำบากเกินไป

แต่กลับกลายเป็นว่า ศัตรูตัวร้าย (ที่รุกล้ำทางเท้าพอๆ กัน) ของสายยางนี้คือมอเตอร์ไซค์หรือจักรยานที่ขับขี่บนฟุตพาทและมาทับสายยางแตกได้ เราเลยอาจเจอการออกแบบดีเทลเพื่อป้องกันสายยางแตกด้วยการดามไม้หรือเหล็กประกบไว้ที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง และให้รถวิ่งทับจุดที่แข็งแรงตรงนี้ไปแทนเลย

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Blue Handle

บ้านหลายหลังในพื้นที่เมืองโดยเฉพาะตึกแถว มีความจำเป็นต้องจอดรถภายในอาคาร ทำให้ต้องมีการทำทางลาดที่หน้าบ้านให้รถวิ่งขึ้น ซึ่งทางลาดเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องสามารถเก็บขึ้นได้ด้วยเพื่อไม่ให้เกะกะทางเดินจนเกินไป

ด้วยเหตุนี้ เหล่าอุปกรณ์ทางลาดที่ทำกันเองจึงจำเป็นต้องออกแบบดีเทลมือจับสำหรับยกด้วย ซึ่งก็จะมีรูปแบบมือจับที่แตกต่างหลากหลายมากๆ ให้เราได้สังเกตกัน โดยในรูปนี้เป็นการออกแบบมือจับที่ผสานเข้ากับท่อน้ำพีวีซี เพื่อให้จับสะดวกมือมากขึ้นและไม่เกิดสนิมนั่นเอง

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

Blue Brake

ท่อน้ำพีวีซีสีฟ้า มักนิยมนำมาใช้ DIY เป็นของสำหรับแต่งเติมหรือแก้ปัญหาสิ่งละอันพันละน้อยในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยๆ แต่บางทีก็ใช้น้อยเกินไปแบบที่ห้ามล้อรถเข็นในรูปนี้

ดีไซน์-เค้าเจอ : Archive สิงหาคม 2567 การออกแบบสิ่งของ

X Wheel

รูปสุดท้ายนี้คือดีเทลล้อหน้าของรถเข็นคันหนึ่งที่ผมบังเอิญเจอ ซึ่งเป็นตัวอย่างการออกแบบดีเทลที่น่าสนใจมาก หากมองครั้งแรกอาจจะสงสัยว่าทำไมโครงเหล็กที่ประกบกับล้อถึงมีลักษณะเป็นตัว X ทำไมไม่ทำเป็นโครงปกติๆ 

แต่หากกลับไปสำรวจตามตลาดร้านก่อสร้าง เราจะพบว่าพวกอุปกรณ์ล้อส่วนมากมักถูกติดตั้งมาพร้อมกับแผ่นเพลตสี่เหลี่ยมใส่นอต 4 มุมนั่นเอง ซึ่งปกติล้อประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ติดตั้งที่บริเวณหัวมุมเท่านั้น

แต่เมื่อต้องใส่ล้อติดเพลตนี้ให้เป็นล้อหน้าของรถเข็น กลายเป็นว่าเราต้องหาวิธีทำตำแหน่งรับนอต 4 ตัวของเพลตล้อนี้ให้ได้ ซึ่งการเชื่อมเหล็กเป็นตัว X เพื่อรับนอตแบบรูปนี้คือวิธีแก้ปัญหาติดตั้งเพลตล้อที่ง่ายและใช้วัสดุน้อยที่สุดนั่นเอง

Writer & Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.