มนุษย์ชอบเรื่องลี้ลับตั้งแต่ตอนไหนคงไม่มีใครทราบ เพราะความกลัวคือหนึ่งในความบันเทิงของมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนานจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะเรื่องภูตผีปีศาจ ตำนานเมือง เวทมนตร์ หรือในยุคร่วมสมัยที่เรามีทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์อย่างเอเลียนหรือมอนสเตอร์ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าทั้งสองเรื่องเหนือธรรมชาติถูกยำรวมกันจนกลายเป็นอนิเมะน้องใหม่ไฟแรงอย่าง ‘DANDADAN’
เรื่องราวแสนวายป่วงเริ่มขึ้นจาก ‘อายาเสะ โมโมะ’ (Ayase Momo) เด็กสาวมัธยมปลายผู้เชื่อในเรื่องผี และ ‘ทาคาคุระ เคน’ (Takakura Ken) หรือในอีกชื่อว่า ‘โอคารุน’ เด็กชายผู้เชื่อในเรื่องของสิ่งมีชีวิตต่างดาว ทั้งสองได้ท้าพิสูจน์ในสิ่งที่ตนเชื่อ และปรากฏว่าทั้งผีและเอเลียนดันมีอยู่จริงๆ เสียด้วย ทั้งคู่จึงต้องจำใจร่วมทีมฝ่าฟันต่อสู้กับพวกมัน ผ่านเรื่องราวแสน ‘กาว’ ที่พาให้เราหัวเราะเคล้าน้ำตาไปตลอดทั้งเรื่อง
แม้ภายนอกอาจดูเหมือนอนิเมะโชเน็งพลังมิตรภาพตามปกติ แต่อย่าประมาทเด็ดขาด เพราะ DANDADAN พร้อมเสิร์ฟเนื้อหาหนักๆ ที่พาให้เราตับสั่นอยู่ไม่น้อย ทั้งประเด็นปัญหาสังคม การสูญเสีย ความโหดร้ายของมนุษย์ที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าผีหรือเอเลียน คอลัมน์เนื้อหนังจึงขอพาทุกคนมองย้อนกลับมาสำรวจความกลัวของมนุษย์อย่างรอบด้านอีกครั้ง และตั้งคำถามถึงสิ่งที่เราควรกลัวจริงๆ ว่าคืออะไรกันแน่
ความกลัวที่มนุษย์สร้างขึ้น
“ถ้าเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่งขึ้นมาโดยไม่ให้รับรู้เรื่องผีเลย เด็กคนนั้นจะกลัวผีหรือไม่”
หนึ่งในคำถามที่ตั้งแง่เกี่ยวกับความกลัวของมนุษย์ เพราะหากเราร้อยเรียงประวัติศาสตร์ความกลัวของ ‘สัตว์โลก’ มนุษย์นั้นถือว่าแปลกออกไป สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของคนและสัตว์ดูเหมือนคล้ายกันแต่ความจริงกลับแตกต่าง
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่กลัวสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถทำอันตรายกับตัวมัน เช่น ความร้อนจากไฟ เสียงดัง แสงสว่างที่จ้าเกินไป การทำร้ายร่างกาย หรือกลิ่นเหม็น ลิงใหญ่อย่างเราเองก็กลัวสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกัน แต่มากกว่านั้นคือเรากลัวสิ่งที่เป็น ‘นามธรรม’ แบบที่ไม่มีสัตว์อื่นเป็นด้วย
ผี เทพเจ้า หรือแม้แต่เอเลียน เราคงไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่ามีจริงหรือไม่ มันเป็นเพียงพื้นที่หมอกหนาเบลอๆ ที่เรายังไม่รู้ และด้วย ‘ความไม่รู้’ นั้นยิ่งกลับทำให้เรากลัวอย่างหาเหตุผลไม่ได้ การอุปาทานหมู่จึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสังคมที่ยังขาดการคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพราะเราไม่เคยตั้งคำถามและหาคำตอบในความสะพรึงที่มองไม่เห็นเหล่านั้น เราเพียงแค่เชื่อตามๆ กันมา
ยกตัวอย่างใน DANDADAN ที่ตัวของโอคารุน ผู้มีความเชื่อในวิทยาศาสตร์และคิดว่าผีวิญญาณเป็นแค่เรื่องงมงาย แต่เมื่อได้เผชิญกับ ‘ผียายแก่เทอร์โบ’ ตัวเขากลับหวาดกลัวและวิ่งหนีอย่างไม่คิดชีวิต นั่นเป็นเพราะความไม่รู้และความคิดฝังหัวที่ว่า ผี = น่ากลัว เมื่อเจอเราต้องหนีไว้ก่อน
แต่เมื่อโอคารุนได้รับรู้ถึงเรื่องราวของยายแก่และพบเจอผีวิญญาณมากขึ้น ตัวเขาเองก็ไม่ได้หวาดกลัวในความเป็น ‘ผี’ อีกต่อไป เพราะโอคารุนเข้าใจว่าวิญญาณเหล่านี้ก็มีทั้งดีและชั่วเหมือนมนุษย์ทั่วไปในสังคม ไม่ตีตราตัดสินเพียงเพราะแค่เป็นผีเท่านั้น
แม้หลายคนจะมองว่าเรื่องผีหรือเอเลียนเป็นเรื่องงมงาย แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องลึกลับเหล่านี้คือหนึ่งในความบันเทิงยุคปัจจุบัน หลายคนชอบฟังเรื่องลี้ลับเป็นเพื่อนเวลาขับรถหรือทำงาน เพราะบางครั้งความกลัวก็มีความสนุกแบบขนหัวลุกอยู่เช่นกัน
เรื่องลึกลับที่มีมากกว่าความสยองขวัญ
บางครั้งความลึกลับก็สร้างความกลัวให้คนบางกลุ่ม แต่ในทางตรงข้ามมันกลับมีเสน่ห์และสร้างความน่าหลงใหลในความไม่รู้ได้อย่างน่าสนใจ เพราะมนุษย์จะหลั่ง ‘สารความสุข’ ในขณะที่ตื่นกลัว หลายคนจึงชื่นชอบที่จะดูหนังผีหรือนั่งรถไฟเหาะถึงแม้รู้ว่ามันน่ากลัวก็ตาม
โอคารุนคือเนิร์ดวิทยาศาสตร์ตัวพ่อผู้ชื่นชอบในการค้นหาเรื่องลึกลับหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ประหลาด ทำให้เขาสนใจเรื่องเล่าจำพวกทฤษฎีสมคบคิด ทั้งการติดต่อเอเลียน ประธานาธิบดีเป็นมนุษย์กิ้งก่าปลอมตัวมา หรือมีองค์กรลึกลับค่อยชักใยโลกอยู่
ทฤษฎีสมคบคิดเหล่านี้ทั้งฟังดูตื่นเต้น น่าทึ่ง และเป็นเรื่องไม่จริงในเวลาเดียวกัน แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่โอคารุนหลงรักเรื่องลึกลับ เพราะสิ่งเหล่านี้คือเพื่อนเพียงหนึ่งเดียวในชีวิต และเขาหวังลึกๆ ว่ามนุษย์ต่างดาวจะมาเป็นเพื่อนกับเขาในสักวัน
ตอนเริ่มแรก โมโมะคือหนึ่งคนที่คิดว่าเรื่องเหล่านี้ไร้สาระ แต่เมื่อเธอได้เจอมนุษย์ต่างดาวตัวเป็นๆ บวกกับสนใจในตัวโอคารุนซึ่งมีความคลั่งไคล้เรื่องทฤษฎีสมคบคิดอยู่แล้ว เรื่องลึกลับจึงไม่ได้เป็นแค่ความสนุกที่ฟังแล้วผ่านไป แต่ยังทำหน้าที่เป็นบันไดเชื่อมความสัมพันธ์ของทั้งสองให้สนิทกันยิ่งขึ้น
ผีและเอเลียนอาจมีจริงหรือไม่มีก็ได้ แต่ความสยองจากสื่อที่เราเสพย่อมสร้างภาพความน่ากลัวเกินจริงให้แก่คนทั่วไป เพราะในสังคมชีวิตจริง ผีและเอเลียนเสมือนเป็นแค่เด็กน้อยที่แกล้งคนเล่นสนุกๆ ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับความโหดร้ายของมนุษย์ที่สร้างปัญหาในสังคม
ปัญหาสังคมที่โหดร้ายและน่ากลัวเสียยิ่งกว่าผี
‘ผีทุกตนเคยเป็นคนมาก่อน’ ด้วยเหตุนี้ ผีในเรื่อง DANDADAN ทุกตัวล้วนมีแบ็กกราวนด์ที่แตกต่างกัน เช่น เกิดจากความแค้น ความเศร้า จิตใจที่ยังคงติดค้างกับบางอย่างหรือบางคน ทำให้วนเวียนอยู่ในโลกมนุษย์จนไม่สามารถไปเกิดใหม่ได้
หนึ่งในนั้นคือ ‘ผีสาวกายกรรม’ คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่พยายามทำงาน ‘ทุกอย่าง’ รวมถึงขายบริการทางเพศเพื่อลูกของเธอ จนวันหนึ่งเธอกลับสูญเสียทุกสิ่งอย่างโดยคนหนึ่งกลุ่มที่ทั้งทำร้ายเธอและพาลูกของเธอไปขาย ทำให้สุดท้ายเธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง
ความโหดร้ายของมนุษย์ที่ทำลายชีวิตคนหนึ่งคนอย่างง่ายดายเพียงเพราะปัญหาด้านการเงิน ทั้งการทำร้ายร่างกายหรือการพรากแม่พรากลูก เหล่านี้คือผลตอบแทนของคนที่พยายามดิ้นรนในสังคม จนในที่สุด ‘ผีร้าย’ ที่เต็มไปด้วยความแค้นก็ถือกำเนิดขึ้น
นอกจากภาพสะท้อนปัญหาการค้ามนุษย์ภายในเรื่อง ปัญหาการฆาตกรรมเพราะความเป็นหญิงหรือ Femicide เองก็ถูกนำเสนอด้วย อย่างเรื่องของผีคุณยายเทอร์โบแสนน่ากลัว แท้จริงแล้วเธออาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ผีสิงเพียงเพื่อปลอบประโลมเหล่าวิญญาณเด็กสาวที่ถูกฆ่าและทิ้งไว้ในอุโมงค์แห่งนั้น ซึ่งพวกเธอไม่สามารถไปสู่สุคติได้ ต้องกลายเป็นวิญญาณร้ายเช่นเดียวกัน
น่าแปลกที่สังคมเรานั้นตั้งกฎเกณฑ์ศีลธรรมเพื่อตีกรอบความอำมหิตของมนุษย์ แต่ต่อให้ล่วงเวลามาถึงปัจจุบัน ทั้งการทำร้ายร่างกาย คร่าชีวิต ทารุณกรรม หรือปัญหาดินพอกหางหมูต่างๆ ทางสังคม กลับยังคงเกิดขึ้นวนเวียนไม่รู้จบ เกิดเป็นภาวะสิ้นหวังที่ต้องหาสิ่งเหนือธรรมชาติมายึดเหนี่ยวจิตใจ
เมื่อเราพึ่งพาความเชื่อมากเกินไป จนวันหนึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ผล ความกลัวจะกลับมาอีกครั้งและทำให้เราต้องมองหาสิ่งยึดเหนี่ยวสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครคิดจะแก้ไขหรือเหลียวมองปัญหาที่แท้จริงอย่าง ‘มนุษย์’
Sources :
BBC | bit.ly/3ZrHYLU
The MATTER | bit.ly/3Ow7f1f
TrueID | bit.ly/499L6Q1
Varasarn Press | bit.ly/3VhfIcG