เรื่องลี้ลับไทยๆ ในแบบฉบับการ์ตูน Dandadan - Urban Creature

“การที่โลกยังไม่โดนมนุษย์ต่างดาวบุกยึดครอง อาจจะเป็นเพราะโลกได้รับการคุ้มครองจากเหล่าภูตผีวิญญาณอยู่…ก็เป็นได้”

Dandadan คืออนิเมะยอดนิยมในช่วงนี้ที่ใครๆ ก็พูดถึง ทั้งงานภาพอันบ้าพลังและเนื้อเรื่องสุดแหวกแนว ว่าด้วยการพบกันแห่งโชคชะตาระหว่าง ‘อายาเสะ โมโมะ’ นักเรียนสาวสายมูฯ ที่เชื่อเรื่องผีสุดใจ และ ‘ทาคาคุระ เคน’ ฉายาลี้ลับคุง โอตาคุหนุ่มผู้คลั่งไคล้เรื่องลี้ลับ มนุษย์ต่างดาว และ UFO เอ๊ะ! ไม่สิ ต้องเรียกว่า UAP

สังคมไทยกับเรื่องผีเป็นของคู่กันเสมอ คอลัมน์ Urban Isekai วันนี้ อยากมานำเสนอตำนานเมืองและเรื่องลี้ลับที่ยึดโยงกับความเชื่อของชาวไทยในรูปแบบสนุกสุดมันตามแบบฉบับ Dandadan จะเป็นอย่างไรถ้าคุณโมโมะและลี้ลับคุงมาเยือนเมืองไทย แล้วก็ขอเตือนผู้อ่านที่น่ารักของเราไว้ก่อนว่า ถ้าเจอยายแก่ในอุโมงค์ อย่าคิดว่าจะวิ่งหนีรอด

แม่นาคพระโขนง
ตัวแทนหญิงสาวแห่งพระโขนง

Dandadan

แม่นาคคือผีที่มีลักษณะเป็นหญิงสาวใส่ชุดไทยโบราณ นุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ ยืนอุ้มลูกอยู่บริเวณท่าน้ำ รอการกลับมาของนายมาก สามีที่ไปรับราชการทหารนอกเมืองกรุงเทพฯ

แม่นาคมีความสามารถยืดมือได้ยาว จากเรื่องเล่าที่ว่า แม่นาคนั้นรีบร้อนยืดมือไปหยิบมะนาวที่ตกใต้ถุนบ้าน ทำให้นายมากบังเอิญเห็นและรู้ว่าภรรยาของตนกลายเป็นผีไปแล้ว

นอกจากจะเป็นเรื่องสยองขวัญ เรื่องราวของแม่นาคยังมีอีกมุมที่สะท้อนถึงความรักที่เธอมีต่อครอบครัว แสดงให้เห็นว่า ต่อให้ความตายก็ไม่สามารถแยกแม่นาคและนายมากจากกันได้ ปัจจุบันศาลของแม่นาคตั้งอยู่ในวัดมหาบุศย์ ซอยสุขุมวิท 77 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมมาขอพรเรื่องความรัก

แร้งวัดสระเกศ & เปรตวัดสุทัศน์
ตัวแทนแห่งโรคระบาดย่านประตูผี

Dandadan

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดโรคห่าระบาดเมืองในบริเวณพระนคร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นรายในเวลาเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากยุคนั้นการเก็บศพในพื้นที่เมืองชั้นในถูกสงวนไว้ให้กับราชวงศ์เท่านั้น ทำให้ผู้คนต้องขนศพผ่านกำแพงเมืองออกมาเผาที่วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร หรือที่เรารู้จักกันว่าภูเขาทอง ซึ่งอยู่นอกเขตเมือง ทำให้ผู้คนเรียกบริเวณนั้นว่าประตูผี

ว่ากันว่ามีศพมากมายจนเมรุเผาไม่ทัน ทำให้มีร่างของผู้ตายวางกองเป็นจำนวนมากจนเป็นแหล่งชุกชุมของแร้ง ประกอบกับช่วงนั้นมีเรื่องเล่าว่ามีผู้คนพบเห็น ‘เปรต’ ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ มือเท่าใบลาน แต่ปากเท่ารูเข็ม ในบริเวณของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร บ้างก็ว่าเป็นเงาของเสาชิงช้า บ้างก็ว่าเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังวัด แต่ใครจะไปรู้เรื่องจริงล่ะ จริงไหม

ทว่าด้วยเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นที่ในเมืองมีแต่ความตาย เรื่องเล่าทั้งสองก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนกุศโลบายให้ผู้คนอยู่ห่างจากพื้นที่จัดการศพ หลีกเลี่ยงจากโรคระบาดไปด้วยในตัว

ยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้ง
ตัวแทนพหุวัฒนธรรมแห่งท่าเตียน

Dandadan

ยักษ์เป็นเหมือนตัวตนที่คอยคุ้มครองอาณาเขตของวัด ยักษ์วัดโพธิ์เป็นยักษ์ที่เฝ้าประตูทางเข้าพระมณฑปของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) แต่มีการเข้าใจผิดเพี้ยนในอีกรูปแบบว่าคือตุ๊กตาศิลาจีนที่ยืนเฝ้าบริเวณหน้าประตูวัด ส่วนยักษ์วัดแจ้งเป็นตัวแทนของ ‘ทศกัณฐ์’ และ ‘สหัสเดชะ’ ยักษ์สองตนที่มีความสามารถทัดเทียมกัน

ตามตำนานเรื่องเล่า ยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้งเป็นเพื่อนกัน ยักษ์วัดโพธิ์ได้เดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาขอยืมเงินยักษ์วัดแจ้ง แต่เมื่อถึงกำหนดยักษ์วัดโพธิ์ไม่ได้นำเงินมาคืน ทำให้ยักษ์วัดแจ้งต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทวงเงิน เกิดการทะเลาะเบาะแว้งบานปลายไปเป็นการต่อสู้จนพื้นที่รอบๆ นั้นถูกทำลายจนโล่งเตียน เป็นที่มาของชื่อพื้นที่ ‘ท่าเตียน’

เรื่องเล่าของยักษ์วัดโพธิ์และยักษ์วัดแจ้งแสดงให้เราเห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นย่านการค้าที่สำคัญของท่าเตียน จนถึงปัจจุบันที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่สะท้อนถึงความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของกรุงเทพฯ

พญานาค
ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์แห่งลุ่มน้ำโขง

Dandadan

พญานาคเป็นสัตว์ในความเชื่อของประเทศลุ่มแม่น้ำโขง มีลักษณะเป็นงูขนาดใหญ่ มีหงอนสีทองที่ส่วนหัว มีเกล็ดตามลำตัว และลำตัวยาวเปรียบเสมือนบันไดที่พาดผ่านสวรรค์ โดยความยาวของลำตัวและจำนวนหัวจะขึ้นอยู่กับอายุและบารมีของพญานาคตนนั้น ผู้คนในพื้นที่เชื่อว่าพญานาคอาศัยอยู่ในเมืองบาดาลใต้แม่น้ำโขง เป็นตัวแทนแห่งความยิ่งใหญ่และความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำโขง

มีหลายคนค้นพบร่องรอยของงูขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะเป็นของพญานาคในวันออกพรรษาที่จังหวัดหนองคาย นำมาสู่การมีประเพณี ‘บั้งไฟพญานาค’ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะมีลูกไฟหลายลูกพุ่งขึ้นมาจากแม่น้ำโขง เปรียบเสมือนของถวายแก่พระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับมาสู่โลก

อีกนัยหนึ่ง พญานาคก็เปรียบเสมือนสายใยชีวิตที่ยึดโยงผู้คนของลุ่มน้ำโขงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งประเพณี วัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คน หล่อหลอมเป็นอารยธรรมลุ่มน้ำโขง

ปัจจุบันแม่น้ำโขงได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสร้างเขื่อนและภาวะโลกร้อน ความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตเหล่านี้คงกำลังค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับเหล่าพญานาค

พ่อแก่
ตัวแทนครูบาอาจารย์แห่งศิลปะไทย

Dandadan

พาไปดูตำนานเมืองของย่านกับพื้นที่มาเยอะแล้ว ขอปิดท้ายด้วยเรื่องลี้ลับที่มักมีอยู่ในทุกโรงเรียน

เสียงเครื่องดนตรีที่เล่นเอง นางรำชุดไทยในห้องนาฏศิลป์ บรรยากาศชวนให้รู้สึกแปลกประหลาดของโรงเรียนตอนกลางคืน ที่มาของเรื่องลี้ลับในห้องนาฏศิลป์อาจมาจากของที่มีครู

นักเรียนไทยในวิชานาฏศิลป์เกือบทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “อย่าไปเล่น! ของมีครู” และหลายคนคงสงสัยว่าทำไมเราต้องไหว้เครื่องดนตรีก่อนเล่น

ครูในที่นี้คือ ‘พ่อแก่’ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู เป็นบรมครูแห่งสรรพวิชาทั้งหลาย โดยเฉพาะศิลปะการแสดง ดนตรี และนาฏศิลป์

พ่อแก่มีลักษณะเป็นหัวโขนที่มีใบหน้ายิ้มแย้ม ใช้สำหรับพิธีครอบครูหรือบูชาก่อนเริ่มทำการแสดงต่างๆ ซึ่งท่านจะคอยมอบวิชาความรู้ให้ เพื่อที่การแสดงจะได้เป็นไปอย่างราบรื่น

เชื่อกันว่าถ้าไม่บูชาพ่อแก่ก่อน การแสดงนั้นจะประสบความล้มเหลวและเกิดโชคร้ายขึ้น เพราะฉะนั้นเตือนตัวเองไว้เสมอว่า ‘ของมีครู’

แต่ไม่ว่าอย่างไร เรื่องราวของผีและสิ่งลี้ลับเหล่านี้ก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพวกเรา และยังเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราคิดถึงสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ…

เอ๊ะ! หรือจริงๆ แล้วพญานาคจะเป็นเอเลียนกันนะ!?


Sources : 
Museum Siam | shorturl.asia/1hunC
Silpa-Mag | t.ly/hR36O, t.ly/-fG3S, t.ly/x9Yq1
TrueID | shorturl.asia/4acvI


Haunted City คือมินิซีรีส์คอนเทนต์จาก Urban Creature ที่สนใจเรื่องเมืองอยู่เป็นนิจ และเป็นมิตรกับเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ โดยจะพาทุกคนไปล่าท้าผี สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องลี้ลับกับเมืองที่ต่างผูกโยงกันและกัน

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.