เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวที่สองผู้กำกับละครที่ทำงานมานานกว่า 30 ปี อย่าง ‘อ๊อด-บัณฑิต ทองดี’ และ ‘ปรัชญา ปิ่นแก้ว’ บอกเล่าเรื่องชีวิตในกองถ่ายว่าคนทำงานอาจจะต้องทำงานสูงถึง 16 ชั่วโมง และให้ความเห็นว่าเวลาที่ล่วงเลยขนาดนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่คนทำงานในสายงานนี้ก็ทำกันมาจนเป็นเรื่องปกติ รวมไปถึงประเด็นการจ่ายค่าล่วงเวลาให้คนทำงานที่ต้องตกลงกันตั้งแต่ก่อนรับงาน และการใช้แรงงานนักแสดงเด็กที่ถูกตั้งคำถามมาตลอด โดยเรื่องทั้งหมดนี้ได้กลายเป็นหัวข้อที่คนในสังคมพูดถึงไปในหลากหลายมิติ
ต่อมาเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยได้ออกจดหมายแถลงการณ์ โดยมีสรุปเนื้อหาว่า ผู้กำกับทั้งสองไม่ได้สนับสนุนแนวคิดการทำงานเกินมาตรฐานสากล และพยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกับสมาคมผู้กำกับฯ มาตลอด ทั้งยังได้เข้าร่วมปรึกษากับหน่วยงานราชการ, คณะกรรมาธิการของรัฐสภา, พรรคการเมือง, บริษัทผู้ผลิต และองค์กรต่างๆ แต่ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขปัญหาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายได้สำเร็จ และอุปสรรคสำคัญของเรื่องนี้คือ ‘การขาดอำนาจต่อรองของแรงงานในอุตสาหกรรมบันเทิง’
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์แรกที่มีคนในอุตสาหกรรมบันเทิงออกมาเรียกร้องถึงความไม่เป็นธรรมในการทำงาน เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 นักแสดงซีรีส์ ‘นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์’ และ ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ’ ได้ส่งคำร้องต่อ กมธ. ที่รัฐสภา เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตในกองถ่าย เช่น ปัญหาการใช้แรงงานเด็กในการผลิตสื่อ, ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน, ความปลอดภัยในการทำงาน และการไม่มีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม แต่ก็ยังดูเหมือนว่าจะไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรนัก
เมื่อมีประเด็นคนทำงานในกองถ่ายขึ้นมาอีก ‘สหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย’ (Creative Workers Union Thailand) จึงออกแถลงการณ์เพื่อยืนยันแนวทางการขับเคลื่อน และร่วมเป็นกำลังสำคัญให้กับแรงงานในอุตสาหกรรมงานสร้างสรรค์ในไทยด้วย 4 ข้อเสนอหลัก ดังนี้
1. ให้มีมาตรฐานชั่วโมงการทำงานของนักแสดงเด็กในกองถ่ายที่ต้องระบุเวลาในการพัก เวลาถ่าย เวลาอยู่ในกอง ที่สอดคล้องกับพัฒนาการในเด็ก
2. เวลาในการทำงานปกติของคนในกองถ่ายต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมง และเวลาพัก 12 ชั่วโมง และหากทำงานเกินในชั่วโมงที่ 13 จะต้องมีค่าล่วงเวลา และแรงงานต้องมีเวลาพักผ่อนขั้นต่ำ 10 ชั่วโมงก่อนเรียกกลับมาทำงานในวันถัดไป
3. ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยพื้นฐานที่ควรจะมี ในการทำงานในกองถ่าย เนื่องจากเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่เสี่ยงภัยสูง และอาจมีอันตรายถึงชีวิต
4. คนทำงานในกองถ่ายต้องมีสัญญาจ้างที่เป็นธรรม
ในฐานะสื่อ Urban Creature เห็นด้วยว่าข้อเสนอของสหภาพแรงงานสร้างสรรค์ฯ คือมาตรฐานที่คนทำงานในกองถ่ายสมควรได้รับ และคงดีกว่านี้มากถ้ารัฐจะเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงไทยให้ไปได้ไกลเหมือนประเทศอื่นๆ
Sources :
Facebook : CUT สหภาพแรงงานสร้างสรรค์ | https://bit.ly/3yIlEAy
Facebook : สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย | https://bit.ly/3yL9ua7 Nineentertain | https://bit.ly/3nFmCXS