96,050 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จากกรมควบคุมโรค) คือตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในประเทศไทย และ 548 คน คือตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ในประเทศไทย
แม้ตอนนี้คนไทยทุกคนจะอยู่ในวิกฤต ‘ชัตดาวน์ประเทศ’ (ทางภาครัฐไม่ยอมใช้คำว่าล็อกดาวน์) ห้ามนั่งกินข้าวที่ร้านอาหาร ปิดโรงหนัง ฟิตเนส สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พิพิธภัณฑ์ และอีกมากมาย แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับเพิ่มขึ้น สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจที่ดิ่งลง จึงไม่แปลกว่าทำไม ‘วัคซีนโควิด-19’ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนต้องการในเวลานี้ เพราะนี่เป็นทาง ‘รอด’ ที่เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ทุกคนกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง
การมีอยู่ของวัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามมากมายวิ่งเข้ามาในหัวแทบทุกวัน ยิ่งคนไทยซึ่งไม่สามารถเลือกยี่ห้อวัคซีนฉีดเอง แถมวัคซีน 2 ชนิดอย่าง Sinovac และ AstraZeneca ที่ใช้ฉีดในประเทศยังเกิดข้อครหาด้านประสิทธิภาพและอาการแพ้ ยิ่งทำให้ประชาชนอย่างพวกเรากังวลเข้าไปอีก
ตกลงแล้ววัคซีนแต่ละตัวเหมาะกับใคร ฉีดครบ 2 โดสแล้วต้องฉีดอีกหรือเปล่า ถ้าเคยติดโควิด-19 แล้วหายจำเป็นต้องฉีดไหม ผลข้างเคียงที่ประชาชนควรรู้มีอะไรบ้าง ถ้าอยากฉีดวัคซีนยี่ห้ออื่นต้องเสียเงินเองไหม ไปจนถึงถ้าฉีดวัคซีนแล้วตาย รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาอย่างไร เชื่อว่าคำถามเหล่านี้คงเกิดขึ้นกับทุกคนแน่นอน Urban Creature จึงยกตัวอย่างคำถาม 9 ข้อที่คุณควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 มาตอบข้อสงสัยเอาไว้ด้านล่างนี้แล้ว
ถาม : ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ต้องฉีดอีกไหม
ตอบ : ต้องฉีด
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 มีระยะฟักตัว 2 – 7 วัน ประชาชนจึงจำเป็นต้องมีภูมิต้านทานสูงตลอดเวลา และยอมรับว่า วัคซีนที่ประเทศไทยใช้อยู่มีแนวโน้มต้องกระตุ้นหลังฉีดครบ 2 เข็ม เมื่อครบ 6 เดือนหรือ 1 ปี และมีโอกาสต้องฉีดซ้ำมากกว่า 2 ครั้ง เนื่องจากการติดตามของทีมแพทย์พบว่าหลัง 6 เดือนภูมิคุ้มกันจะลดลง
ด้าน รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า ไม่มีวัคซีนตัวไหนป้องกันโรคได้ 100% หลังจากฉีดครบโดสแล้ว ประชาชนจะกลับมาติดเชื้อได้อีก แต่ถ้าติดระหว่างที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว อาการจะไม่รุนแรงจนต้องนอนห้อง ICU หรือเสียชีวิต ฉะนั้น แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ การสวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง และดูแลสุขอนามัย ยังคงสำคัญอยู่นะ
Sources : BBC | https://bbc.in/3tE6JBD, https://bbc.in/3tHqjNj
ถาม : ถ้าติดโควิด-19 แล้วหาย ต้องฉีดวัคซีนไหม
ตอบ : ต้องฉีด
ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ เสริมว่า แม้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็ควรฉีดวัคซีน เพราะไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะกลับมาเป็นผู้ป่วยโควิด-19 อีกครั้ง เพราะเชื้อไวรัสชนิดนี้ไม่ต่างจากชนิดอื่นๆ เพียงแต่หากฉีดวัคซีนป้องกันจะมีโอกาสไม่เป็นซ้ำ 84% (ทว่ายังเป็นซ้ำได้ถึง 16%)
ถาม : ฉีดวัคซีนไปแล้ว เข็ม 2 เปลี่ยนยี่ห้อได้ไหม
ตอบ : ยังไม่มีงานวิจัยยืนยัน
หลากคอมเมนต์บนอินเทอร์เน็ตฉงนว่า ถ้าฉีด Sinovac ไปแล้ว จะข้ามไปฉีด Pfizer ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลานี้ได้หรือไม่ เพราะหลังจากรัฐบาลฝรั่งเศสประกาศว่า ผู้ที่อายุต่ำกว่า 55 ปีที่ได้รับ AstraZeneca ในเข็มแรก เข็มถัดไปควรได้รับวัคซีนชนิดอื่น จึงเกิดการตั้งคำถามกันเป็นวงกว้างว่าตกลงมันเปลี่ยนยี่ห้อกลางคันได้จริงเหรอ
เป็นไปตามคาด องค์การอนามัยโลกออกมาย้ำว่า “ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ” ที่สามารถยืนยันว่าการเปลี่ยนวัคซีนโควิด-19 ระหว่างโดสนั้นทำได้ พร้อมออกมาเรียกร้องให้นักวิจัยต่างๆ ช่วยศึกษาเกี่ยวกับการจับคู่กันระหว่างวัคซีนต่างยี่ห้อ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการช่วยเหลือผู้คน
แม้จะไม่สามารถยืนยันว่าฉีดได้หรือไม่ได้ แต่ ศ. นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ระบุว่า คนไทยมีโอกาสสูงที่จะได้ฉีดวัคซีน 2 โดสคนละยี่ห้อ เพราะวัคซีนชุดแรกถูกกระจายฉีดให้กลุ่มเสี่ยงไปหมด ส่วนโดสที่ 2 นั้น ต้องรอการส่งมอบในรอบต่อไป ถ้าไม่มีปัญหาอะไรอาจได้ยี่ห้อเดิม แต่ถ้ามีอะไรติดขัดอาจได้ฉีดโดสที่ 2 เป็นวัคซีนยี่ห้ออื่น และมีความเห็นว่า ไม่น่าจะมีปัญหาถ้าฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อ แต่ปัญหาอยู่ที่การกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ซึ่งถ้ากลายพันธุ์ไปมาก วัคซีนที่ผลิตตอนนี้อาจไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
Sources :
Bangkok Post | https://bit.ly/3heNCLU
Department of Mental Health | https://bit.ly/3f5XNQc
ถาม : วัคซีนแต่ละตัวเหมาะกับใคร
ตอบ : ขึ้นอยู่กับอายุ
1. Pfizer – อายุ 12 ปีขึ้นไป
ณ เวลานี้ Pfizer เป็นวัคซีนที่คนไทยอยากฉีดมากที่สุด เพราะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 95% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาวัคซีนทุกชนิดและเป็นชนิดแรกที่ได้รับอนุมัติจาก FDA องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานอย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ FDA อนุญาตให้ฉีด Pfizer เฉพาะผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไปเท่านั้น แต่เมื่อเดือนมีนาคม Pfizer ถูกนำไปทดลองทางคลินิกกับเด็กอายุ 12 – 15 ปี จำนวน 2,260 คน ซึ่งผลปรากฏว่าประสิทธิภาพเต็ม 100% ทำให้ปัจจุบัน FDA อนุมัติให้ Pfizer ขยายอายุการฉีดให้กว้างมากขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป
2. Moderna – อายุ 18 ปีขึ้นไป
Moderna เป็นวัคซีนชนิดที่ 2 ซึ่งได้รับอนุญาตให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในสหรัฐอเมริกา โดยเหมาะกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และกำลังอยู่ในช่วงทดสอบวัคซีนในเด็กอายุ 12 – 17 ปี และ 6 เดือนถึง 12 ปี
ซึ่ง Pfizer และ Moderna เป็นวัคซีนโควิด 19 ชนิดสารพันธุกรรม (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบลา โดยวัคซีนผลิตขึ้นจากการใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย mRNA จะเข้าไปกำกับการสร้างโปรตีนส่วนหนามของไวรัสแล้วทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส
3. AstraZeneca – อายุ 40 ปีขึ้นไป
วัคซีนสัญชาติอังกฤษอย่าง AstraZeneca มีข้อบ่งใช้แรกเริ่มระบุว่าเหมาะกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทว่าต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางการสหราชอาณาจักรกลับเลี่ยงฉีด AstraZeneca ให้คนอายุต่ำกว่า 40 ปี และเสนอยี่ห้ออื่นทดแทน โดยหน่วยงานกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของยา สหราชอาณาจักร ระบุว่า พบผู้ที่มีลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนไป 28.5 ล้านโดสแล้วกว่า 242 กรณี ซึ่ง ศ.เวย เชิน ลิม จากคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค กล่าวว่า ความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดจากวัคซีน AstraZeneca ในผู้มีอายุ 40 – 49 ปี อยู่ที่ 1 ใน 100,000 คน แต่ความเสี่ยงนี้จะเพิ่มเป็น 1 ใน 60,000 คน ในคนที่มีอายุระหว่าง 30 – 39 ปี ซึ่งเป็นเหตุให้กลุ่มคนที่อายุต่ำกว่า 40 ปีมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
4. Johnson & Johnson – รอการยืนยัน
เดิมที FDA อนุญาตให้ใช้ Johnson & Johnson ในกรณีฉุกเฉินและถือเป็นวัคซีนพาหะ โดยเหมาะสำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งฉีดเพียงเข็มเดียวเท่านั้น แต่วัคซีนล็อตแรกถูกฉีดไปเพียง 2 เดือนเท่านั้น เพราะประเทศสหรัฐอเมริกา แอฟริกาใต้ และสหภาพยุโรป หยุดใช้งานชั่วคราว เมื่อศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) และ FDA ของสหรัฐฯ แถลงการณ์แนะนำให้หยุดใช้วัคซีนดังกล่าว หลังพบผู้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันชนิดหายากและรุนแรง 6 ราย ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีช่วงอายุระหว่าง 18 – 48 ปี โดยหนึ่งในนั้นเสียชีวิตแล้ว และอีกรายอาการอยู่ในขั้นวิกฤต
AstraZeneca และ Johnson & Johnson เป็นวัคซีนโควิด-19 ประเภทใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral vector) โดยใช้ไวรัสที่ถูกทำให้ฤทธิ์อ่อนลง หรือไม่สามารถแบ่งตัวได้อีก แล้วตัดแต่งพันธุกรรมเพื่อใช้เป็นพาหะ โดยฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 เข้าไป ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา จึงเกิดข้อสงสัยที่ว่า หรือวัคซีนประเภทนี้จะไม่เหมาะกับการป้องกันโควิด-19 เพราะมีผลต่อลิ่มเลือดทั้งสองยี่ห้อ
5. Sinovac – อายุ 18 ปีขึ้นไป
Sinovac เป็นวัคซีนโควิด 19 ชนิดเชื้อตาย (Inactivated) ที่ผลิตจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 ซึ่งถูกทำให้ตายด้วยสารเคมีหรือความร้อน เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เป็นเทคนิคที่เคยใช้กับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอ หรือวัคซีนโปลิโอ
กระทรวงสาธารณสุขไทยเคยกำหนดอายุของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน Sinovac ไว้ว่า ไม่แนะนำให้ฉีดผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แถลงว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบปรับแนวทางการให้วัคซีน Sinovac กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์ สวนทางกับการยอมรับวัคซีนชนิดนี้ในระดับโลก ที่องค์การอนามัยโลกยังไม่อนุมัติให้ Sinovac เป็นวัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้เลย
Sources :
BBC | https://bbc.in/3tHkvmO
CNN | https://cnn.it/3ho76h4
Prachachat | https://bit.ly/3oefH7p
Praram 9 hospital | https://bit.ly/2RbTZoA
Thairath | https://bit.ly/2SzjVL5
Yale Medicine | https://bit.ly/3uFVSZ3
ถาม : วัคซีนแต่ละตัวมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง
ตอบ : แต่ละชนิดแตกต่างกันออกไปดังนี้
1. Pfizer – ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น และคลื่นไส้ โดยเกิดขึ้นช่วง 1 – 2 วันหลังรับวัคซีน บางรายเกิดผื่นแพ้ หากอาการไม่หายภายใน 72 ชั่วโมงหรือมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอหรือหายใจถี่ควรพบแพทย์โดยด่วน
2. Moderna – ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น และคลื่นไส้ โดยเกิดขึ้นช่วง 1 – 2 วันหลังรับวัคซีน และหายได้เองใน 1 – 2 วันเช่นกัน บางรายเกิดผื่นแพ้ มีอาการหน้าเบี้ยว และต่อมน้ำเหลืองโต
3. AstraZeneca – ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น และคลื่นไส้ ซึ่งสามารถหายภายในไม่กี่วัน โดยกินยาลดไข้ บางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
4. Johnson & Johnson – ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ต่ำ หนาวสั่น และคลื่นไส้ โดยเกิดขึ้นช่วง 1 – 2 วันหลังรับวัคซีน บางรายเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
5. Sinovac – ปวดบวม แดงบริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดหัว เมื่อยกล้ามเนื้อ มีไข้ หนาวสั่น และคลื่นไส้ โดยเกิดขึ้นช่วง 1 – 2 วันหลังรับวัคซีน บางรายเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา ประสาทสัมผัสไม่รับความรู้สึก คล้ายอัมพฤกษ์ และมีผื่นแพ้
Sources :
Mthai | https://bit.ly/3uI5F0L
Prachachat | https://bit.ly/3tEKFa1
Spring News | https://bit.ly/3o8hhrz
Yale Medicine | https://bit.ly/3uFVSZ3
ถาม : วัคซีนทางเลือก คนไทยต้องจ่ายเพิ่มเท่าไร
ตอบ : เสียทั้งค่าภาษี และค่าบริการ
ขณะที่หลายประเทศประชาชนได้ฉีดวัคซีน ‘ฟรี’ และเลือกยี่ห้อเองได้ แต่ประเทศไทยกลับฟรีเฉพาะยี่ห้อที่ไม่ได้เลือกเอง
นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ว่า ‘Moderna’ ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือก ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเจรจาซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ โดยประชาชนสามารถซื้อกับองค์การเภสัชฯ และมีค่าบริการ 10%
ด้านกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิ่งลงนามรับรองการขึ้นทะเบียนตำรับยาของ วัคซีนโควิด-19 Moderna จากประเทศสเปนไปหมาดๆ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 – 12 พฤษภาคม 2565
ส่วน ‘Pfizer’ ไทยอาจนำเข้า 10 – 20 ล้านโดส โดยต้องเสียภาษี 2 ครั้ง เป็นจำนวน 14% และทางองค์การเภสัชฯ จะชาร์จค่าการจัดการ 5 – 10% ซึ่งสรุปเป็นตัวเลขต้นทุนเฉลี่ยมากกว่า 2,000 บาท
Sources :
Dailynews | https://bit.ly/2RQDE8Y
Prachachat | https://bit.ly/2QcZh2y
ถาม : มีมาตรการช่วยเหลือเมื่อมีผลข้างเคียงไหม
ตอบ : มี แต่ไม่ครอบคลุมทุกคน
นอกเหนือจากการเสียเงินทำประกันโควิดตามบริษัทประกันภัย ที่มีวงเงินเยียวยาเมื่อแพ้วัคซีนโควิด-19 แล้ว คงสงสัยกันใช่ไหมว่า ‘รัฐ’ เยียวยาอะไรบ้าง
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ของรัฐ มีการช่วยเหลือดูแลคนไทยที่ได้รับความเสียหายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉพาะผู้มีสิทธิประกันสังคม บัตรทอง สิทธิราชการ และบุคลากรสาธารณสุข โดยเริ่มให้ความคุ้มครองตั้งแต่วัคซีนเข็มแรกที่ฉีดให้คนไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ตามหลักเกณฑ์ มาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งประชาชนสามารถยื่นเรื่องที่โรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด และเขต สปสช. ที่คณะกรรมการจะพิจารณาอัตราช่วยเหลือเยียวยา ภายใน 5 วัน หลังจากรับเรื่อง รายละเอียดดังนี้
1. บาดเจ็บป่วยต่อเนื่องไม่เกิน 100,000 บาท
2. สูญเสียอวัยวะหรือพิการไม่เกิน 240,000 บาท
3. เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรไม่เกิน 400,000 บาท
Source : Bangkok Biz News | https://bit.ly/3eD1j5B
ถาม : เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีน
ตอบ : ตรวจสอบร่างกาย และแจ้งแพทย์ก่อนฉีด
เชื่อว่ามีหลายคนยังไม่ทราบแน่ชัดว่าหากจะเข้ารับการฉีดวัคซีนต้องเตรียมตัวอย่างไร ซึ่งขั้นตอนการเตรียมพร้อมร่างกายถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม กรมอนามัยจึงแจกแจงข้อแนะนำสำหรับเตรียมตัวก่อนไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ดังนี้
1. ตรวจสอบร่างกาย
– ไม่อดนอน นอนหลับให้เพียงพอ
– เลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟ
– ต้องไม่มีไข้หรืออาการเจ็บป่วย
– 2 วันก่อนและหลังฉีด งดออกกำลังกายหนัก
– วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500 – 1,000 ซีซี
– เลือกฉีดแขนที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีด 2 วัน อย่าใช้แขนข้างนั้นยกของหนัก
2. แจ้งแพทย์ก่อนฉีด
– แจ้งโรคประจำตัว
– ประวัติการแพ้ยา หรือวัคซีน
– การตั้งครรภ์
3. สิ่งสำคัญเพิ่มเติม
– อย่าลืมบัตรประชาชน
– จำวันและเวลานัดให้ถูกต้อง
– สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และพกเจลแอลกอฮอล์
– หลังฉีด รอดูอาการกับเจ้าหน้าที่ 30 นาที
– ถ้ามีไข้สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ครั้งละ 1 เม็ด และกินอีกครั้งเมื่อครบ 6 ชั่วโมง (ถ้ายังปวดอยู่)
– ห้ามกินยา Brufen, Arcoxia และ Celebrex เด็ดขาด
Source : Department of Health | https://bit.ly/3w0axie
ถาม : คนพิการมีโอกาสฉีดวัคซีนไหม
ตอบ : มี
กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ร่วมกับสถาบันราชานุกูล กระทรวงสาธารณสุข เปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิด-19 สำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา กลุ่มออทิสติก สมาธิสั้น และแอลดี ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และครอบครัวของกลุ่มที่ระบุ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ที่ : https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSd35plLpc7thJbNTCLFdjkGZ3Zg1lDGzZtlAHRTmCb2resFwA/viewform
หรือสอบถามได้ที่เบอร์ 02 – 245 – 4696
ด้านคนพิการทางกายภาพ แม้จะมีสิทธิ์ลงทะเบียนเหมือนบุคคลทั่วไป แต่กลับมีอัตราการฉีดที่น้อยมาก ยกตัวอย่าง ‘กลุ่มผู้พิการทางสายตา’ ที่ ศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ อาจารย์พิเศษ สาขากฎหมายภาษีอากร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า มีคนตาบอดที่สมาคมลงทะเบียนได้เพียง 200 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเพราะต้องใช้มือสัมผัสกับสิ่งต่างๆ เนื่องจากตามองไม่เห็น อีกทั้งคนพิการในชนบทที่ห่างไกลก็ไม่สามารถเข้าถึงการลงทะเบียนได้ เพราะฐานะ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและไม่ทราบวิธีการลงทะเบียน
Source : Wiriya Namsiripongpun