คนไทยหมดเงินไปเท่าไหร่ เพื่อแลก ‘น้ำดื่มสะอาด’ - Urban Creature

บ้านหลังนั้นมีตุ่มสีดินแดงสี่ใบไว้เก็บน้ำฝนสำหรับดื่ม และในตู้เย็นมีขันเงินใส่น้ำฝนแช่ไว้ดื่มเย็นชื่นใจ มาถึงวันนี้น้ำฝนฟรีจากฟ้ามีสารเคมีปนเปื้อนเพิ่มขึ้น การดื่มเข้าไปมากๆ ย่อมส่งผลร้ายต่อร่างกาย การซื้อน้ำดื่มจากขวดบรรจุภัณฑ์ย่อมให้ความรู้สึกที่สะอาดกว่า

ด้วยเหตุนี้ ทำให้บ้านเรามีน้ำดื่มที่วางขายตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตามร้านขายของชำ จำนวนหลายสิบยี่ห้อให้เลือกดื่มตามราคา และเนื่องจากน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญของร่างกาย มนุษย์ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องดื่มน้ำเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว โดยข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (National Academy of Sciences : NAS) และ สถาบันแพทยศาสตร์ (The Institute of Medicine : IOM) ให้คำแนะนำสำหรับการดื่มน้ำไว้ว่า

– ผู้หญิง ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 2.7 ลิตร หรือประมาณ 11.5 แก้ว
– ผู้ชาย ควรดื่มน้ำวันละประมาณ 3.7 ลิตร หรือประมาณ 15.5 แก้ว

ในช่วงเวลาที่มีการถกเถียงกันเรื่องน้ำสะอาดและค่าครองชีพ คอลัมน์ City by Numbers ขอพาไปดูกันว่า ในดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ คนไทยหมดเงินกันไปเท่าไหร่กับการแลกความมั่นใจในคำว่า ‘น้ำดื่มสะอาด’

คนไทยหมดเงินไปเท่าไหร่ เพื่อแลกความมั่นใจกับคำว่าน้ำดื่มสะอาด

ราคาของการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด

สมมติว่าในหนึ่งวันคนเราต้องดื่มน้ำประมาณ 2.7 – 3.7 ลิตร หากนำมาเปรียบเทียบกับน้ำดื่มขวดปกติที่หลายคนคุ้นเคยกัน นั่นคือขวดขนาด 600 มล. ที่หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ มีราคาเฉลี่ยที่ 7 บาท แปลว่าเราต้องดื่มถึงวันละ 5 – 6 ขวด คิดเป็นจำนวนเงิน 35 – 42 บาท หนึ่งปีตกแล้วในรายจ่ายทั้งหมดจะมีค่าน้ำดื่มราว 12,775 – 15,330 บาท

และถ้าสมมติว่าอยากดื่มน้ำแร่ในขวดขนาด 600 มล. เช่นกัน ราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 10 บาท นั่นแปลว่าในหนึ่งวันคนเราต้องเสียค่าน้ำดื่มถึง 50 – 60 บาท ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 18,250 – 21,900 บาท กับการดื่มน้ำแร่เป็นเวลาหนึ่งปี

หากใช้วิธีกดน้ำจากตู้หยอดเหรียญ ลิตรละ 1 บาท ในหนึ่งวันเราจะเสียเงิน 3 – 4 บาท โดยคิดเป็น 1,095 – 1,460 บาทต่อปี แม้ว่าจะประหยัดกว่าการซื้อน้ำดื่มแบบธรรมดาและน้ำแร่หลายเท่า แต่ปัญหาสำคัญของตู้กดน้ำที่พบเห็นกันคือ หลายๆ ตู้ไม่มีฉลากระบุชัดเจนว่าเป็นน้ำกรองด้วยระบบอะไร รวมถึงติดตั้งในสถานที่ที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ใกล้ที่ทิ้งขยะ ใกล้แหล่งน้ำเสีย ฯลฯ แถมบางตู้ยังเปรอะไปด้วยคราบสนิมที่ทำให้ตู้ดูเก่าไม่น่าพิสมัย ยังไม่นับเรื่องการตรวจสอบและเปลี่ยนอะไหล่ที่ส่งผลต่อด้านความสะอาดของน้ำที่มาจากแหล่งนี้อีก

แต่หากข้ามไปถึงการใช้เครื่องกรองน้ำประปา เครื่องกรองน้ำที่ขายดีและถูกที่สุดจาก baankrongnam.com ก็มีราคาอยู่ที่ 1,490 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง 300 บาท และค่าเปลี่ยนไส้กรองราว 990 บาทต่อปี แน่นอนว่าคุ้มกว่าการซื้อน้ำขวดดื่ม แต่ต้นทุนการดูแลรักษา ข้อจำกัดด้านการติดตั้ง และประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ที่อาจทำให้ผู้ใช้งานต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อเปลี่ยนไส้กรองบ่อยครั้งขึ้น หรือเสียเวลาไปกับการซ่อมแซม ทำให้บางคนหรือบางครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกน้อยเลือกซื้อน้ำขวดเป็นแพ็กเพื่อความสะดวกมากกว่า

จากตัวอย่างการซื้อน้ำดื่มสะอาดทั้ง 4 รูปแบบข้างต้น ​​หากนำมาเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำอ้างอิงจากกระทรวงแรงงานปีนี้ที่ 328-354 บาทต่อวัน ทำให้เห็นว่าการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดในประเทศไทยนั้นมีราคาที่ต้องจ่ายไม่ใช่น้อย ทั้งๆ ที่น้ำดื่มควรเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

น้ำประปากับปัญหาสาธารณูปโภคพื้นฐาน

แม้น้ำประปาของไทยจะมีหน่วยงานเคลมว่าสะอาด ดื่มได้ เพราะมีกระบวนการผลิตที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤตภาวะโลกร้อนนั้นส่งผลรุนแรงขึ้นทุกวัน จนเกิดภัยน้ำแล้งและน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลให้แหล่งน้ำดิบกว่า 80 เปอร์เซ็นต์จากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ประปานครหลวงใช้ มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน น้ำทะเลก็หนุนสูงเข้ามาเรื่อยๆ ส่งผลให้มีน้ำเค็มปะปนอยู่ในน้ำประปา เมื่อรสชาติน้ำเปลี่ยนค่าโซเดียมยิ่งเพิ่มขึ้น ไหนจะเรื่องกลิ่นฝาด สารเคมีตกค้าง และระบบท่อลำเลียงที่ต้องปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ปัญหาน้ำประปาจึงยังคงเป็นเรื่องที่หลายคนกังวลต่อสุขภาพในระยะยาว

ในกรุงเทพฯ ว่าหนักแล้ว แต่ปัญหาน้ำประปาในต่างจังหวัดยิ่งหนักกว่า เพราะนอกจากความขุ่นที่เต็มไปด้วยตะกอน ยังมีเรื่องที่บางวันน้ำไหลแรง บางวันน้ำไหลอ่อน และบางวันที่น้ำไม่ไหลเลย ขณะเดียวกัน ในหลายพื้นที่ห่างไกลอาจยังไม่ต้องไปถึงน้ำสะอาดดื่มได้ เพราะแค่ทำให้น้ำประปาสะอาดพอมาใช้อาบน้ำหรือใช้งานทั่วไปได้ยังค่อนข้างยาก

ที่ผ่านมาในไทยเองก็มีหน่วยงานที่พยายามแก้ปัญหาเรื่องน้ำประปาอยู่อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในนั้นคือโปรเจกต์การผลิตน้ำประปาให้เป็นน้ำใส ไหลดี คุณภาพระดับดื่มได้ภายใน 99 วัน ด้วยงบประมาณหลักแสนบาท ที่หมู่บ้าน ‘อาจสามารถ’ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ผลักดันโดยคณะก้าวไกล นี่คือตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าน้ำประปาดื่มได้ต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในประเทศ เหมือนอย่างที่ทางองค์การอนามัยโลกได้การันตีว่า มีประเทศที่เราสามารถนำภาชนะไปเติมน้ำดื่มจากก๊อกได้เลย เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย เกาหลีใต้ และประเทศส่วนใหญ่ในยุโรป

หากรัฐไทยสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ฟรีและทั่วถึง นอกจากจะเป็นการลดใช้ขยะพลาสติกและพลังงานที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดแล้ว จำนวนเงินมหาศาลที่คนทั้งประเทศใช้ไปกับการแลกความมั่นใจในคำว่า ‘น้ำดื่มสะอาด’ ก็น่าจะเอาไปทำอย่างอื่นได้มากกว่าการจ่ายอะไรที่เราไม่ควรต้องจ่าย

Sources :
Greenery | bit.ly/3iHhOSC
The Opener | bit.ly/3hdp1t5

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.