ช่วงเวลาเช้า-เย็นในวันทำงาน ถือเป็นโมเมนต์สุดเร่งรีบของคนเมือง ที่ทุกคนต้องแข่งขันกับการจราจรแสนติดขัด หรือต่อแถวขึ้นขนส่งสาธารณะสุดหนาแน่น
อ้างอิงข้อมูลจาก Baania องค์กรที่รวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเทศไทยเผยว่า ส่วนใหญ่คนเมืองใช้เวลาเดินทางไปทำงานเฉลี่ย 2 ชั่วโมง/วัน หรือประมาณนั่งเครื่องบินไปสิงคโปร์ได้ 1 เที่ยว มิหนำซ้ำรายงานจาก TOMTOM องค์กรผู้ให้บริการข้อมูลทางสัญจรทั่วโลกยังเผยว่า ปี 2564 คนกรุงเทพฯ เสียเวลาบนท้องถนนไปทั้งหมดเฉลี่ยแล้ว 71 ชั่วโมง/ปี หรือประมาณ 3 วันเลยทีเดียว
ตามหลักสากลที่ควรจะเป็น ผู้คนควรใช้เวลาเดินทางไป-กลับจากธุระนอกบ้านไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยแต่ละเที่ยวไม่เกิน 30 นาที หากเราต้องใช้เวลาเดินทางไป-กลับที่ทำงานวันละหลายชั่วโมง ก็คงต้องคิดหนักและเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานมากขึ้น หรือไม่ก็ต้องเปลี่ยนมาทำงานที่เดินทางสะดวกแทนน่าจะดีกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อชาวเมืองต้องเสียเวลาไปกับการเดินทางอยู่ในระดับสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด จึงน่าตั้งคำถามไม่ใช่น้อยว่า อะไรคือต้นตอที่ทำให้คนต้องใช้เวลาบนท้องถนนมากขนาดนี้ และทำไมปัญหานี้ถึงเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้สักท
งานกระจุกในเมือง
หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการเดินทางคือ การเสียเวลากับรถติด เนื่องจากระบบและจำนวนเส้นถนนในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่อย่างจำกัด สวนทางกับปริมาณรถที่วิ่งขวักไขว่เต็มท้องถนน แต่หากมองลึกลงไปถึงต้นตอของปัญหา ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนเมืองต้องกัดฟันทนฝ่ารถติดให้ไปถึงที่หมายทุกวันนั้นเกิดจาก ‘แหล่งงานส่วนใหญ่กระจุกในเมือง’
กรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่เมืองหลวง แต่ยังเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจหลักของไทยที่มีแหล่งงานมากมายเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ในกรุงเทพฯ มีตำแหน่งงานว่างประมาณ 109,000 ตำแหน่ง/ปี เทียบกับต่างจังหวัด เช่น เชียงใหม่มีตำแหน่งงานว่างประมาณ 10,200 ตำแหน่ง ขณะที่ภูเก็ตมีตำแหน่งงานว่างประมาณ 9,000 ตำแหน่ง จึงไม่แปลกใจที่คนส่วนใหญ่จากทุกๆ จังหวัดอยากเข้ามาทำงานในเมืองหลวง เพราะมีโอกาสทางการงานและรายได้ที่มากกว่านั่นเอง
ที่อยู่ (ที่ราคาจ่ายไหว) อยู่นอกเมือง
ปกติแล้วคนมักจะเลือกอยู่อาศัยใกล้ที่ทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลจาก Baania ปี 2561 เปิดเผยว่า คนทำงานในแหล่งออฟฟิศใจกลางกรุงเทพฯ เช่น ย่านอโศก ย่านปทุมวัน ย่านเพลินจิต หรือย่านสีลม มีน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ที่สามารถมีคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงานของตัวเองได้
ยิ่งไปกว่านั้น ในย่านดังกล่าว (และย่านใกล้เคียง) ยังมีราคาเช่าและขายที่อยู่อาศัยค่อนข้างสูงลิ่วเมื่อเทียบกับที่อยู่นอกเมือง อ้างอิงข้อมูลราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จาก Numbeo ปี 2565 องค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเมืองและค่าครองชีพทั่วโลกพบว่า ค่าเช่าห้องพัก 1 ห้องนอนในเมืองมีราคาเฉลี่ยประมาณ 20,000 บาท/เดือน และค่าเช่าห้องพัก 1 ห้องนอนนอกเมืองมีราคาเฉลี่ยประมาณ 9,700 บาท/เดือน
หากต้องการเป็นเจ้าของห้องพักในเมือง ตกราคาพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 184,000 บาท/ตารางเมตร (ประมาณ 4 ล้านบาทสำหรับห้องขนาดเริ่มต้น 22 ตารางเมตร) และห้องพักนอกเมืองมีราคาพื้นที่เฉลี่ยประมาณ 88,400 บาท/ตารางเมตร (ประมาณ 2 ล้านบาทสำหรับห้องขนาดเริ่มต้น 22 ตารางเมตร) ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่คงจ่ายไม่ไหว เพราะฐานเงินเดือนเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯ ปี 2564 อยู่ที่ประมาณ 22,000 บาท/เดือน เท่านั้น
รายได้ที่มีอยู่จำกัด จึงอาจทำให้คนทำงานเลือกที่จะย้ายไปอยู่บริเวณชานเมือง ซึ่งเป็นโซนที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมค่อนข้างดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ค่าครองชีพไม่แพงเท่าย่านเศรษฐกิจ ส่วนราคาที่อยู่อาศัยก็เอื้อมถึงได้
มากไปกว่านั้น สำหรับคนเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะและขับรถยนต์จากย่านชานเมืองเข้าตัวเมืองไปกลับทุกวัน พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 4,000 – 5,000 บาท แลกกับการยอมเสียเวลาเดินทางดีกว่าเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยในเมืองระยะยาวที่มีราคาที่พักสูงลิ่วและค่ากินอยู่แสนแพง
ข้อจำกัดในการเข้าถึงขนส่งสาธารณะ
ขอย้อนกลับมาที่ปัญหาจราจร แต่เจาะลึกถึงระบบถนนในบ้านเรา ซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบกับทุกคนมากที่สุด เนื่องจากกรุงเทพฯ มีถนนเส้นใหญ่จำกัด และมีถนนขนาดเล็กที่เป็นเหมือนเส้นเลือดฝอยของเมืองอยู่มากมาย แถมส่วนมากเป็นซอยตันที่ไม่สามารถเดินทางเชื่อมต่อกันสะดวกสบาย
ทำให้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านในซอยขนาดเล็ก เวลาจะเดินทางไปข้างนอกหรือที่ทำงานแต่ละที หลายคนต้องเดินทางหลายต่อ เช่น เริ่มด้วยสองแถวหรือวินมอเตอร์ไซค์ก่อน จากนั้นค่อยต่อรถตู้หรือรถเมล์ เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งหมดนี้ทำให้คนเมืองต้องเสียทั้งเงิน เวลา และพลังงานในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้
ดูแลตัวเองอย่างเดียวคงไม่พอ เมืองต้องช่วยด้วย
จากปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องใช้เวลาแก้ไขอย่างยาวนาน แถมยังสะท้อนให้เห็นว่า ‘เมือง’ เป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคนมากทีเดียว เพราะเราจะมีเวลาชีวิตเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเมืองที่จะเป็นตัวกำหนดไลฟ์สไตล์ของทุกคน
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจทำงานที่ใกล้บ้านหรือไกลบ้าน ต้องอาศัยหลายปัจจัยทั้งความสะดวกสบาย ความสบายใจ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เงินเดือน หรือรูปแบบการทำงานที่ตอบโจทย์คนทำงานมากที่สุดในสมการ
แม้ว่าทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์การทำงานเริ่มเปลี่ยนไปในลักษณะที่ยืดหยุ่นต่อคนทำงานมากกว่าอดีต เช่น เริ่มมีแหล่งงานกระจายตามชานเมืองใกล้บ้าน บางออฟฟิศอนุญาตให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือสามารถกำหนดวันเข้าออฟฟิศเพียงไม่กี่วันต่อสัปดาห์ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้ทั้งหมด
ดังนั้น นอกจากการปรับตัวของบริษัทและประชาชนแล้ว หนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุดคงหนีไม่พ้นการแก้ไขและพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพ เช่น การออกนโยบายกระจายแหล่งงานออกสู่นอกเมืองมากยิ่งขึ้น อย่างส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้า (Transit Oriented Development : TOD) แก้ปัญหาคนเดินทางเข้ามากระจุกตัวในที่เดียว และลดการใช้รถยนต์ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐยังควรมีนโยบายส่งเสริมที่อยู่อาศัยราคาจับต้องได้ให้กับชาวเมือง หรือการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเสริม (Feeder) เช่น รถเมล์ รถตู้ หรือรถสองแถว ให้เชื่อมต่ออย่างครอบคลุมและตรงต่อเวลา เพื่อให้คนเมืองสามารถวางแผนชีวิตและการทำงานในแต่ละวันอย่างมีประสิทธิภาพ
เพราะมันคงจะดีซะกว่า หากเมืองช่วยเอื้ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน ด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เดินทางสะดวกและราคาจ่ายไหว รวมทั้งมีแหล่งงานกระจายใกล้บ้านในแต่ละพื้นที่ ที่ทุกคนไม่ต้องรีบตื่นตั้งแต่ตีห้า มีเวลากินข้าวชิลๆ หรือแต่งตัวสวยๆ เพื่อออกไปทำงานอย่างมีความสุข โดยช่วงเวลาการเดินทางกลายเป็นเพียงทางผ่านที่ไม่ใช่อุปสรรคในชีวิตอีกต่อไป
Sources :
Baania | shorturl.asia/eN8nW, shorturl.asia/JftUC
Mango Zero | shorturl.asia/5x0cw, shorturl.asia/x9vPl
Numbeo | shorturl.asia/tsd7S
The Urbanis | shorturl.asia/6ctby
WorkpointTODAY | shorturl.asia/eVxqm