เชื่อว่าเราคงเห็นข่าวหรือได้ยินว่าเมืองใหญ่ๆ ของโลกมีโอกาสจมน้ำเพราะระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ด้วยวิกฤตสภาวะโลกร้อนมาแล้ว
แต่งานวิจัยจากวารสาร Geophysical Research Letters ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม อาจจะชวนกระตุกต่อมความเชื่อและท้าทายงานวิจัยเดิม เพราะเขาบอกเราว่า การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลอาจจะไม่รวดเร็วเท่ากับอัตราที่เมืองใหญ่ทรุดตัวลง
ในงานวิจัยชื่อว่า ‘Subsidence in Coastal Cities Throughout the World Observed by InSAR (สำรวจการทรุดตัวลงของเมืองชายฝั่งทั่วโลกโดยเรดาร์ InSAR)’ ผู้วิจัยสามคนคือ Pei-Chin Wu Meng Wei และ Steven D’Hondt ได้สำรวจ 99 เมืองใหญ่ติดชายฝั่งทะเลทั่วโลกผ่านระบบเรดาร์ และค้นพบว่า อย่างน้อย 33 เมืองทรุดตัวลงด้วยความเร็วมากกว่า 1 เซนติเมตรต่อปี นั่นคือตัวเลขที่มากกว่าความเร็วการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลกว่า 5 เท่า
ผลจากการทรุดตัวของเมืองนั้น คณะผู้วิจัยแจกแจงว่ามี 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน คือ การสูบน้ำบาดาล การสร้างที่อยู่อาศัยหนาแน่น และการขุดเจาะแหล่งพลังงานธรรมชาตินั่นเอง เมืองส่วนใหญ่ที่เป็นที่น่ากังวลที่สุดอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด นั่นคือโซนเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศที่มีแนวโน้มทรุดตัวรวดเร็ว 10 เมืองแรกในเอเชียมีตั้งแต่เมืองใน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อินโดนีเซีย และ เวียดนาม
และวิธีการที่ประเทศ ‘อินโดนีเซีย’ เลือกใช้เพื่อบรรเทาปัญหาคือย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตาที่ประชากรหนาแน่นและมีอัตราการทรุดตัวกว่า 3.44 เซนติเมตรต่อปีไปที่เกาะบอร์เนียว และออกกฎหมายควบคุมการใช้งานทรัพยากรใต้ผืนดินให้เข้มงวดมากขึ้น
ผลที่สะท้อนจากงานวิจัยชิ้นนี้หมายความว่า จากเดิมที่เมืองใหญ่ๆ ต้องรับมือกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นด้วยการทำแนวกั้นชายฝั่ง หรือกลไกอื่นเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลสูงขึ้นในแต่ละปีแล้ว ยังเรายังต้องกลับมาคิดเรื่องการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับและบรรเทาวิกฤตสภาพภูมิอากาศให้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
หากใครสนใจอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่นี่เลย : https://agupubs.onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1029/2022GL098477