ส่องสัตว์โลกเสี่ยงสูญพันธุ์จาก ‘ภาวะโลกร้อน’ - Urban Creature

ไม่ใช่แค่ ‘มนุษย์’ ที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ แต่เหล่าสัตว์น้อยใหญ่ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ล้วนได้รับความเจ็บปวดจากเหตุการณ์นี้ไม่ต่างกัน เพราะพวกมันกำลังจะสูญพันธุ์ !

ถ้าจำกันได้เมื่อต้นปีที่แล้ว ออสเตรเลียได้ออกมาประกาศการสูญพันธุ์อย่างเป็นทางการของ ‘หนูเมโลมีส์’ (Melomys rubicola) ที่อาศัยอยู่เฉพาะบนเกาะ Bramble Cay ทางเหนือของออสเตรเลีย แต่เพราะระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น จนท่วมที่อยู่อาศัยของมัน หนูชนิดนี้จึงกลายเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดแรก ที่ถูกยืนยันว่าสูญพันธุ์อันมีสาเหตุมาจากปัญหาโลกร้อนนั่นเอง

สอดคล้องกับรายงานประเมินสภาพธรรมชาติโลก โดยสหประชาชาติ เผยว่า ธรรมชาติในโลกทั้งบนพื้นดิน ในน้ำ และท้องฟ้า กำลังเสื่อมสภาพไปอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลักจากมนุษย์ส่วนใหญ่ ทำให้ในอนาคตอันใกล้สัตว์และพืชกว่า 1 ล้านสายพันธุ์เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และคาดว่ามีพลังทำลายล้างสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 10 ล้านปีที่ผ่านมาด้วย

การกระทำของมนุษย์กำลังทำลายชีวิตพืชและสัตว์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถ้าเรายังไม่หยุดคุกคามธรรมชาติไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพนกวิน หมีขาว ไพกา นกพัฟฟิน เต่ามะเฟือง โคอะลา ไซกา และบรรดาสัตว์อีกหลายชนิดคงต้องสูญพันธุ์ในไม่ช้า

01 | Penguin : เพนกวิน ราชาแห่งขั้วโลกใต้  

‘เพนกวิน’ ราชาแห่งขั้วโลกใต้ แม้จะได้ชื่อว่าเป็นนกแต่เพนกวินบินไม่ได้ เนื่องจากมีกระดูกที่หนาแน่นผิดจากนกทั่วไป และด้วยปีกของเพนกวินมีลักษณะคล้ายครีบปลา จึงทำให้มันว่ายน้ำล่าเหยื่อได้อย่างรวดเร็ว

แต่วันนี้บ้านของเจ้านกใหญ่ตัวป้อม กำลังถูกคุกคามจากการกระทำของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นานวันเข้าก็ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จนทำให้น้ำแข็งเริ่มละลายไปทีละน้อย

จากผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Antarctic Science พบว่า ‘เพนกวินราชา’ ฝูงที่ใหญ่ที่สุดในโลกบนหมู่เกาะ Ile aux Cochon เกาะที่อยู่ระหว่างปลายทวีปแอฟริกาและทวีปแอนตาร์กติกา มีจำนวนลดลงกว่า 90% ในไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมและภาพถ่ายจากเฮลิคอปเตอร์ล่าสุด แสดงให้เห็นว่าเพนกวินราชาเหลืออยู่ราว 2 แสนตัวเท่านั้น

02 | Polar bears : หมีขาว เจ้าแห่งขั้วโลกเหนือ

ถ้าเพนกวินเป็นราชาของขั้วโลกใต้ ‘หมีขาว’ ก็คงเป็นราชาผู้ยิ่งใหญ่แห่งขั้วโลกเหนือ เจ้าหมีขาวร่างยักษ์ตัวนี้เป็นหนึ่งในสัตว์หลายชนิดที่ได้รับการพิจารณาให้อยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงขั้นสูงต่อการสูญพันธุ์ในอนาคต และได้รับการคุ้มครองโดยสหรัฐฯ แบบเดียวกับวาฬเบลูกา โดยอ้างอิงจากองค์กร U.S. Fish and Wildlife Service

หมีขาวหรือหมีขั้วโลก กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะน้ำแข็งที่ละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้มันต้องเผชิญกับความอดอยาก โดยนักวิชาการคาดว่าในอีก 35 ปีข้างหน้า จำนวนหมีขาวจะลดลงไปอีก 30%

Thomas Brown นักนิเวศวิทยาทางทะเลจากสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสกอตแลนด์ กล่าวอีกว่า จากสภาพอากาศที่อุ่นขึ้น ทำให้การละลายของน้ำแข็งขั้วโลกเพิ่มมากขึ้น และทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาหารของตัวอ่อนสัตว์ทะเล ตั้งแต่ลูกกุ้งไปจนถึงลูกวาฬมีจำนวนลดลง ส่งผลให้สัตว์ทะเลลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นทำให้สาหร่ายพิษเติบโตและคร่าชีวิตสัตว์ทะเลซ้ำเข้าไปอีก

03 | Leatherback turtles : เต่ามะเฟือง นางฟ้าแห่งท้องทะเล

‘เต่ามะเฟือง’ เป็นเต่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ในบรรดาสัตว์เลื้อยคลานทั้งหมดที่ยังดำรงเผ่าพันธุ์อยู่จนถึงปัจจุบัน 

ทุกวันนี้เต่ามะเฟืองอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จากสถิติการวางไข่ที่ลดลงจาก 250 – 300 รัง เหลือเพียง 10 – 20 รัง หรือมากกว่า 95% ในช่วงเวลาแค่ 50 ปี อันเนื่องจากภัยคุกคามทางทะเลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรบกวนที่อยู่อาศัย หรือการทิ้งขยะลงทะเล โดยเต่ามะเฟืองจำนวนมากต้องตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป

รวมถึงผลพวงที่มาจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล และการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ โดยองกรณ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ U.S. Environmental Protection Agency ระบุว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิของผิวน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมา ทำให้น้ำทะเลมีสภาวะเป็นกรด และความเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลแปรปรวน ส่งผลให้เต่ามะเฟืองต้องเดินทางออกไปไกลเป็นสองเท่าจากบริเวณที่วางไข่ไปยังแหล่งหาอาหาร

ซึ่งจำนวนเต่ามะเฟืองที่ขึ้นไปวางไข่บนชายหาดลดลงจนน่าใจหาย จากที่เคยมีหลายหมื่นตัวตลอดแนวชายหาดมหาสมุทรแปซิฟิกของเม็กซิโกและอเมริกากลาง ปัจจุบันกลับเหลือเพียงไม่กี่ร้อยตัว ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) ขึ้นบัญชีเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการสูญพันธุ์

04 | Pikas : ไพกา สัตว์ตัวน้อยบนดินแดนที่ราบสูง

‘ไพกา’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ มีรูปร่างหน้าตาคล้ายหนูผสมกระต่าย และความน่ารักนี้เองทำให้มันกลายเป็นต้นแบบของตัวการ์ตูนปิกาจูที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี

เจ้าไพกาเป็นสัตว์ในเขตหนาวเย็น เราสามารถพบเห็นมันได้ในบริเวณอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันออก ยูเรเชีย ไปจนถึงเอเชียตะวันออกอย่างจีน ซึ่งตอนนี้มันกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ นักวิจัยคาดการณ์ว่าเจ้าตัวจิ๋วมีจำนวนลดลงไปแล้วกว่า 70% หลังจากถูกพบครั้งสุดท้ายเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

จากผลการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Mammalogy ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของไพกาหายไปเกือบครึ่งในรัฐเนวาดาและรัฐออริกอน ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตกใจอย่างยิ่ง แต่ไพกาในอเมริกากลับไม่ได้ถูกบันทึกอยู่ใน ‘พรบ.สัตว์ใกล้สูญพันธุ์’ จึงไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ถ้ายังเป็นแบบนี้อีกไม่นาน ไพกาในอเมริกาอาจเป็นสัตว์ชนิดต่อไปที่จะสูญพันธุ์จากโลกนี้ในที่สุด

5 | Puffins : นกพัฟฟิน ตัวเตี้ย หางสั้นสีสันของท้องฟ้า

‘พัฟฟิน’ เป็นนกทะเลขนาดเล็กที่หาอาหารด้วยการดำน้ำเป็นหลัก กว่า 60% ของประชากรนกพัฟฟินบนโลกนี้ อาศัยอยู่ในประเทศไอซ์แลนด์ จนจัดได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของไอซ์แลนด์กันเลยทีเดียว จนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ. 2016 มีการพบซากนกพัฟฟันเป็นจำนวนมากถูกน้ำซัดมาเกยตื้นที่ชายฝั่งของเกาะเซนต์ปอล ในรัฐอะแลสก้า โดยมีสาเหตุมาจากความอดอยากนั่นเอง

Tris Allinson นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากองค์กรอนุรักษ์สายพันธุ์นกระดับโลกแห่งสหราชอาณาจักร เปิดเผยว่า นกทะเลอย่างพัฟฟินเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เร็วขึ้นถึง 33% เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปลาไหลและสัตว์ทะเลซึ่งเป็นอาหารหลักของนกพัฟฟินลดจำนวนลง มันจึงต้องบินออกไปไกลมากขึ้นและดำน้ำลึกขึ้นกว่าเดิมในการหาอาหารแต่ละครั้ง และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานักอนุรักษ์ได้คาดคะเนอัตราการรอดชีวิตของพัฟฟินนั้นลดลง 2.5% ต่อปีเลยทีเดียว

06 | Koala : โคอะลา หมีมีกระเป๋าเจ้าถิ่นออสเตรเลีย

‘โคอะลา’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกระเป๋าหน้าท้องจำพวกโอพอสซัม สำหรับให้ลูกอ่อนอาศัยอยู่ แต่จากการที่มีลักษณะรูปร่างหน้าตาคล้ายสัตว์ในตระกูลหมีและชอบอยู่บนต้นไม้ ทำให้ถูกเรียกว่า ‘หมีโคอะลา’ โดยโคอะลาจะอาศัยอยู่ในป่าที่มีต้นยูคาลิปตัส ปัจจุบันพบได้ที่ รัฐควีนส์แลนด์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิกตอเรีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย

เมื่อปี ค.ศ. 1963 เจ้าโคอะลาต้องเกือบสูญพันธุ์จากการที่มนุษย์ล่ามันเพื่อเอาขน จนต้องมีการออกกฎหมายห้ามล่าขึ้นมา และล่าสุดออสเตรเลียมีไฟป่ารุนแรงครั้งใหญ่ต่อเนื่องนานนับ 5 เดือน ครอบคลุมพื้นที่ 60,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกิดจากคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่เป็นผลพวงมาจากโลกร้อน สร้างความเสียหายให้กับที่อยู่อาศัย พื้นที่ป่า รวมทั้งสัตว์ป่าจำนวนมากที่ถูกไฟคลอกตาย

Christopher Dickman นักนิเวศวิทยา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประมาณการว่ามีสัตว์ป่าที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟป่าครั้งนี้ประมาณ 480 ล้านชีวิต โดยในจำนวนนี้เป็นโคอะลาถึง 8,000 ตัว หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโคอะลา จึงเริ่มน่าวิตกว่านี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการก้าวเข้าสู่ภาวะสูญพันธุ์

07 | Saiga : ไซกา สัตว์โบราณหน้าตาสุดแปลกประหลาด

‘ไซกาหรือกุย’ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ลักษณะเด่นของมันคือจมูกที่มีขนาดใหญ่และยืดหยุ่นได้ คล้ายจมูกสมเสร็จ ซึ่งมีหน้าที่ในการอุ่นอากาศเพื่อหายใจในฤดูหนาว และกรองฝุ่นในฤดูร้อน
ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2015 เกิดเหตุการณ์ที่ไซกาตายหมู่อย่างกะทันหันกว่า 250,000 ตัว หรือเท่ากับ 1 ใน 3 ของประชากรไซกาทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก เป็นการตายพร้อมกันชนิดที่เรียกว่าเกือบล้างเผ่าพันธุ์ของมันเลยทีเดียว 

ผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า การตายหมู่ของไซกามีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิดที่พบในระบบหายใจ ซึ่งเมื่อเจอสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากสภาวะโลกร้อน จึงทำให้แบคทีเรียแข็งแกร่งขึ้นผิดปกติ แล้วส่งผลต่ออาการตกเลือดภายในและตายอย่างฉับพลันของไซกา

Yosan Madiyev รองประธานคณะกรรมาธิการด้านสัตวแพทย์ กระทรวงเกษตรคาซัคสถาน เชื่อว่าสาเหตุของการตายคือโรคพาสเจอเรลโลซิส ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น วัว ควาย กระต่าย แมว สุนัข รวมถึงมนุษย์นั่นเอง 

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.