ท้องฟ้ามัวๆ สีเทาอมเหลืองกลายเป็นภาพที่ชินตาของประชาชนชาวเกาหลีใต้ ถึงขนาดกลายเป็นมุกตลกว่า เหตุผลที่คนเกาหลีใต้ชอบสวมเสื้อผ้าสีดำก็เพราะว่าถ้าใส่เสื้อผ้าสีอ่อนหรือสีขาวออกจากบ้านไป กลับบ้านมาจะได้เสื้อสีเทาเพราะฝุ่นแทน
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/Seoul-1-1024x683.jpg)
แต่วันนี้มุกตลกเหล่านั้นอาจใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา (2025) อินสตาแกรมทางการของรัฐบาลเกาหลีใต้ได้ลงประกาศเฉลิมฉลองวันที่เกาหลีใต้มีอากาศสะอาด ฝุ่นลดลงสูงสุดในรอบหลายปี ด้วยหลากหลายนโยบายและความพยายามของชาวเกาหลีใต้
โดยนโยบายที่โดดเด่นที่สุดก็คือ Clearer Seoul 2030 ที่สืบเนื่องมาจากนโยบาย Clear Seoul ในปี 2007 ซึ่งเป็นความพยายามสร้างอากาศสะอาดให้ชาวแทฮันมินกุกได้หายใจกันอย่างเต็มปอดยาวนานกว่า 20 ปี
เปลี่ยนรถบนท้องถนนเพื่อลดฝุ่น
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/city-in-focus_Seoul-2-1024x1024.jpg)
หลังพบว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการเกิดฝุ่น PM 2.5 เกิดจากรถยนต์ดีเซล รัฐบาลเกาหลีใต้จึงออกแผนเปลี่ยนรถยนต์ดีเซลทั่วเมืองให้กลายเป็นรถที่ปล่อยมลพิษต่ำ โดยเฉพาะรถที่ต้องวิ่งระยะใกล้เข้าตัวเมือง ซอยบ้านเรือนและเขตที่พักอาศัยบ่อยๆ อย่างรถขนส่งพัสดุ รถบัสเข้าเมือง (Town Bus) หรือแม้กระทั่งรถทำความสะอาด
รวมถึงมอเตอร์ไซค์ส่งอาหาร เนื่องจากวัฒนธรรมการสั่งอาหารเดลิเวอรีที่เติบโตมากในเกาหลีใต้ ด้วยรูปแบบอาหารคุ้นหน้าคุ้นตาอย่างต็อกโบกี ไก่ทอด หรือเบอร์เกอร์ง่ายๆ สำหรับมื้อดึก
อีกทั้งวัฒนธรรม ‘ฮนจก’ หรือวัฒนธรรมการชอบอยู่คนเดียวของคนเกาหลีใต้ ขัดกับร้านอาหารที่มักเสิร์ฟเป็นมื้อใหญ่และบางร้านไม่รับลูกค้าเพียงคนเดียวสำหรับการเปิดโต๊ะ ความนิยมสั่งข้าวมากินที่บ้านจึงเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มอเตอร์ไซค์ส่งอาหารต้องวิ่งวนอยู่ในเขตเมืองตลอดทั้งวันทั้งคืน มอเตอร์ไซค์เหล่านี้ถูกสั่งให้เปลี่ยนเป็นยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมด เพราะจักรยานยนต์เป็นหนึ่งในต้นตอปัญหาที่ปล่อยมลพิษสูง
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/Seoul-2-1024x683.jpg)
นอกจากนั้น รัฐยังทำเขต ‘พื้นที่การจราจรสีเขียว’ ที่ห้ามรถยนต์ปล่อยมลพิษระดับ 5 หรือพวกรถเก่าเข้า และจะขยายพื้นที่เป็นห้ามเข้าทั่วกรุงโซลในปีนี้ ก่อนจะห้ามรถยนต์ปล่อยมลพิษระดับ 4 เข้าด้วยในปี 2030 ควบคู่ไปกับการเร่งให้เลิกใช้รถยนต์เครื่องสันดาปด้วยการทำลายรถเก่าหรือรถกลุ่มดังกล่าว
โดยผลจากการที่เกาหลีใต้บังคับห้ามขับขี่รถยนต์กลุ่มดังกล่าวตามฤดูกาลช่วงหน้าหนาว หรือฤดูฝุ่น 4 เดือน ได้แก่ พฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูที่ฝุ่นพิษหนาแน่นที่สุด พบว่า ปริมาณการสัญจรของรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 5 ในกรุงโซลลดลงถึง 97 เปอร์เซ็นต์
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/Seoul-3-1024x683.jpg)
แต่หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ห้ามเอารถปล่อยมลพิษสูงเข้า อยากให้เลิกใช้รถยนต์สันดาป ก็เหมือนเป็นการบังคับว่าถ้ายังอยากขับรถอยู่ก็ต้องเปลี่ยนรถไปกลายๆ ซึ่งก็ถูกต้องแต่เป็นการบังคับควบคู่กับนโยบายช่วยแก้ปัญหา
นโยบายที่ว่าคือ รัฐบาลเชิญชวนให้ประชาชนนำรถเก่าของตนเองมาทำลาย และสนับสนุนเงินเพิ่มเติมสำหรับการซื้อรถคันใหม่ แต่ถ้าหากไม่ได้ซื้อรถใหม่หลังทำลายไปแล้ว ก็จะได้รับการสนับสนุนจากโครงการ Climate Fund แทน โดยเป็นการมอบยอดค่าใช้จ่ายใน Climate Card หรือบัตรโดยสารขนส่งสาธารณะแบบกำหนดระยะเวลาใช้ เมื่อเติมเงิน 1 ครั้ง สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ทั้งหมด รวมถึงรถจักรยานสาธารณะแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งด้วย (คิดเป็นเงิน 65,000 วอน หรือราว 1,600 บาท) ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ทำลายรถเก่าไปแต่ยังไม่มีการซื้อรถใหม่
ปรับบ้านเรือนและไซต์ก่อสร้างให้ฝุ่นจาง
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/city-in-focus_Seoul-3-1-1024x1024.jpg)
นอกจากท้องถนนที่รัฐบาลโซลให้ความสำคัญในการลดฝุ่นแล้ว บ้านเรือนก็เป็นอีกส่วนที่ต้องจัดการลดฝุ่นเพื่ออากาศที่สะอาดขึ้นเช่นกัน ด้วยสถิติต้นเหตุการเกิดฝุ่นนั้นมาจากฝุ่นฟุ้งกระจาย 24 เปอร์เซ็นต์ เครื่องจักรก่อสร้าง 20 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงเหล่าอุปกรณ์ทำความร้อนที่สร้าง PM 2.5 อีก 27 เปอร์เซ็นต์
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงกำหนดให้เปลี่ยนอุปกรณ์ทำความร้อน เช่น เครื่องทำน้ำร้อน หม้อต้มน้ำ ให้เป็นอุปกรณ์แบบรักษ์โลกทั้งหมด ประกอบกับจัดการการปล่อยมลพิษตามไซต์งานก่อสร้างโดยใช้ระบบตรวจจับฝุ่น PM 2.5 แบบต่อเนื่องผ่านการใช้ Internet of Things หรือ IoT มาช่วย และจำกัดการใช้งานเครื่องจักรก่อสร้างแบบเก่าในไซต์งานก่อสร้างที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายทุกแห่ง แล้วแทนที่ด้วยพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานไฟฟ้าสำหรับอุปกรณ์ก่อสร้าง
ปรับโครงสร้างเมืองให้คนตื่นตัวจากฝุ่น
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/city-in-focus_Seoul-4-1024x1024.jpg)
ถึงแม้ค่าฝุ่นจะกระโดดไป 200 – 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จนท้องฟ้ากลายเป็นสีเหลืองมืดมัว แต่บางทีคนกรุงอาจไม่ได้ตื่นตัวจากสิ่งนี้เท่าไหร่นัก เพราะ PM 2.5 ไม่ได้สร้างผลกระทบโดยตรงและทันทีเหมือนโรคทางสุขภาพอื่นๆ เช่น โควิด-19 ที่มีภาพคนเจ็บป่วยล้มตายให้เห็นเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยระยะเวลาการสะสมฝุ่นในปอด ทำให้หลายคนอาจยังดำเนินกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ
การปรับโครงสร้างเมืองเพื่อเตือนฝุ่นนับเป็นอีกหน้าที่ที่รัฐไม่ควรละเลย โดยเกาหลีใต้ได้กำหนดสีไฟบน ‘โซลทาวเวอร์’ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังที่เหล่านักท่องเที่ยวมักไปคล้องกุญแจคู่รักกัน เพื่อใช้บอกถึงมลภาวะทางอากาศว่ามีฝุ่นมากน้อยแค่ไหน โดยโซลทาวเวอร์จะเปิดไฟเวลา 18.00 น. และ 21.00 น. ตามคุณภาพอากาศ สีฟ้าคือวันที่อากาศดี สีเขียวคืออากาศปกติ สีเหลืองคืออากาศไม่ดี และสีแดงคืออากาศแย่มาก เพื่อเตือนประชาชนและคนโดยรอบให้ป้องกันตนเองจากฝุ่นอย่างถูกวิธี
นอกจากนั้นยังมีข้อความ Emergency Alert ที่เมื่อปริมาณฝุ่นในอากาศสูงเกินค่าปกติ จะมีข้อความส่งไปทางโทรศัพท์แจ้งให้ประชาชนเตรียมตัว ควบคู่กับเสาบอกระดับฝุ่น ที่จะมีตัวเลขขึ้นตามสถานีรถไฟและป้ายรถเมล์ เพื่อให้รู้ว่าวันนี้อากาศเป็นอย่างไร เพราะบางทีแม้มองออกไปแล้วจะไม่เห็นว่าฟ้ามัวมาก แต่จริงๆ วันนั้นก็มีฝุ่นอยู่เช่นกัน
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/Seoul-5-1024x683.jpg)
ไม่เพียงแต่เตือนว่าวันนี้ฝุ่นมาก แต่การออกแบบอื่นๆ ก็ยังต้องทำให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ระหว่างที่รัฐบาลกำลังพยายามแก้ปัญหาฝุ่น ที่เกาหลีใต้จึงมีป้ายรถเมล์แบบในร่มที่คนนั่งรอรถเมล์ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องยืนสูดฝุ่นจนจมูกพัง แถมยังร่วมแก้ปัญหาการเดินทางอื่นๆ เช่น ฝนตก เปลี่ยว อันตรายในยามค่ำคืน เพราะในห้องกระจกนี้มีทั้งกล้องวงจรปิดและไฟฟ้าสว่างไร้กังวล
แม้ปริมาณฝุ่นจะลดลงอย่างต่อเนื่องจนรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศสถิติใหม่ของวันอากาศดี แต่เกาหลีใต้ก็มองว่าค่าฝุ่นในกรุงโซลยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับกรุงลอนดอน แอลเอ หรือปารีส จึงเตรียมปรับความเข้มข้นของมาตรการ โดยวางเป้าหมายให้ปริมาณฝุ่นลดลงเหลือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ได้ภายในปี 2026 และจะลดมลพิษทางอากาศลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030
![‘โซล เกาหลีใต้’ เมืองที่เชื่อว่าฝุ่นจะหมด ฟ้าจะใสในอีก 5 ปีข้างหน้าด้วยนโยบาย Clearer Seoul 2030](https://urbancreature.co/wp-content/uploads/2025/02/Seoul-4-1-1024x683.jpg)
จะเห็นได้ว่าการปรับเมืองเพื่อสู้ฝุ่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร แต่ด้วยนโยบายและข้อกำหนดต่างๆ ก็สามารถช่วยลดฝุ่นได้ โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น การสละรถเก่าของตนเอง และส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ผู้กำหนดนโยบายต้องมองว่าฝุ่นเป็น ‘ปัญหา’ จริงๆ ไม่ใช่เพียงประเด็นชั่วคราวที่ผ่านมาและผ่านไป แต่ต้องร่วมกันปรับตัวและพยายามให้ประเทศมีอากาศดีตลอดทั้งปี โดยไม่ต้องกังวลว่า 4 เดือนของปีนี้กับปีไหนอากาศจะแย่กว่ากัน
Sources :
Creatrip | bit.ly/4aCCdPG
Korea JoongAng Daily | bit.ly/4hBu7cl
Seoulcity | bit.ly/4gf6sxn
Seoul Metropolitan Government | bit.ly/42BSgve