คืนชีวิตให้คนเมืองด้วยการมี ‘ทางเท้าที่ดี’ - Urban Creature

ในขณะที่เมืองค่อยๆ ขยายตัวขึ้น ทางเท้าก็ถูกบีบให้ลดความสำคัญลงด้วยรูปแบบการขนส่งอื่นๆ เห็นได้จากทางเท้าที่มักมีคอนกรีตแตกๆ เหยียบแล้วโดนน้ำกระเด็นใส่ขาเป็นประจำ หรือบางที่ก็แคบจนคนแทบเดินไม่ได้ ทั้งยังเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางต่างๆ ไปจนถึงจักรยานยนต์ที่วิ่งบนทางเท้าแบบไม่เกรงใจคนเดิน

ดังนั้น พอขึ้นปีใหม่เราเลยอยากคืนชีวิตให้คนเมืองด้วย ‘ทางเท้าที่เป็นมิตรกับคนเดิน’ ซึ่งถ้าทำได้ ไม่เพียงจะดึงดูดให้คนลงมาเดินเท้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างพื้นที่สาธารณะที่น่าเพลิดเพลินให้คนเมืองอีกด้วย

01 |ขนาดทางเดินที่เหมาะสม 

ทางเท้าที่ดีควรมีความกว้างที่เหมาะสม อย่างประเทศไทยกำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และโรงเรียน ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร ในขณะที่ TheCityFix แนะนำว่าทางเท้าในเมืองควรให้สัมพันธ์กับขนาดอาคาร คนใช้งาน และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ ดังนั้น จึงควรแบ่งทางเท้าออกเป็น 3 โซน คือ ‘Free Zone’ เป็นโซนสำหรับให้คนเดิน ‘Service Zone’ ไว้ตั้งม้านั่ง เก้าอี้ หรือถังขยะ และ ‘Transition Zone’ โซนที่เป็นทางเชื่อมเข้าสู่อาคาร

02 |คุณภาพของพื้นผิว 

เคยมีฝรั่งออกมาจิกกัดทางเท้าของไทยว่าเหมือน ‘Brick Flicks’ หรือ ‘สนามทุ่นระเบิดน้ำ’ คือเหยียบเมื่อไหร่น้ำพุ่งใส่ขาทันที เหตุการณ์เหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ฉะนั้นทางเท้าที่ดีควรใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นอิฐตัวหนอนหรือกระเบื้องปูนซีเมนต์ ต้องมีความแข็งแรงทนทาน บดอัดแน่น ไม่ลื่น และพื้นผิวสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ทางเท้าควรเป็นทางที่คนใช้เดินจริงๆ ไม่ใช่ที่ตั้งร้านค้า ที่วางสิ่งของ หรือเส้นทางให้จักรยานยนต์วิ่งไปมาประหนึ่งถนน

03 |ประสิทธิภาพระบายน้ำฝน 

ต่อจากข้อที่แล้ว เพื่อลดการขังของน้ำบนทางเท้า นอกจากต้องก่อสร้างให้ได้มาตรฐานและไม่ใช้งานผิดประเภทแล้ว แนะนำว่าควรมี ‘ระบบระบายน้ำ’ บริเวณทางเท้า โดยบ่อพักของท่อจะต้องมีฝาปิดสนิท หรือในกรณีที่ฝาปิดเป็นตะแกรงต้องมีซี่กว้างไม่เกิน 13 มิลลิเมตร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

04 |การออกแบบเป็นสากล

เพราะในสังคมมีผู้คนหลากหลายกลุ่ม ดังนั้น ทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ภายในเมือง จึงควรออกแบบให้รองรับการใช้งานของทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุและสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้วีลแชร์ ไม้ค้ำยัน ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น ‘Braille Block’ ทางเดินที่ใช้เตือนและบอกทิศทางให้ผู้พิการทางสายตา

05 |การเชื่อมต่อที่ปลอดภัย 

ทางเท้าที่ดีควรมีทางเชื่อมต่อที่ปลอดภัย เช่น ‘ส่วนขยายขอบทางเท้า’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณทางร่วม ทางแยก ทางข้ามถนน นอกจากนี้ทางเชื่อมระหว่างทางเท้าลงสู่พื้นถนนก็ควรต่อเนื่องและทำเป็นทางลาด ซึ่งทางลาดต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร ความลาดชันไม่เกิน 1 : 12 เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและเอื้อต่อผู้ใช้วีลแชร์ด้วย

06 |ดึงดูดให้คนมาใช้งาน 

กล่าวว่า ทางเท้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนใช้ชีวิตในเมืองมีความสุขมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบไม่เพียงแค่ต้องคำนึงถึงการใช้งาน ยังต้องดูไปถึงความสวยงาม ความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจระหว่าง 2 ข้างทาง เพื่อดึงดูดใจให้คนหันมาเดินเท้ามากขึ้น

07 |มีความปลอดภัยตลอดเวลา 

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนไม่ค่อยเดินเท้าก็เพราะว่ามัน ‘ไม่ปลอดภัย!’ ไม่ว่าจะสายไฟห้อยระโยงระยาง ต้นไม้ขึ้นกลางทางเท้า ไปจนถึงกลิ่นเหม็นจากกองขยะข้างๆ อีกทั้งบางที่ยังมืดสุดๆ เจอแบบนี้แล้วใครจะกล้าเดิน ฉะนั้นทางเท้าทุกที่ควรมีแสงไฟส่องสว่าง พร้อมกับกล้องวงจรปิดคอยตรวจตราความปลอดภัย ที่ไม่ว่าเราจะเดินเท้าเวลาไหนก็อุ่นใจ

08 |มีป้ายบอกทิศทางที่ชัดเจน

แม้ปัจจุบันจะมีสมาร์ตโฟนไว้ใช้ค้นหาสถานที่ต่างๆ แต่ภายในเมืองก็ควรมีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ระบุตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ให้เข้าใจง่าย และควรตั้งกระจายอย่างทั่วถึง เหล่านี้ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน 


Sources :
TheCityFix | https://bit.ly/2MxlBSh
กระทรวงคมนาคม | https://bit.ly/3pZcl7R

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.