คืนชีวิตให้คนเมืองด้วยการมี ‘ทางเท้าที่ดี’ - Urban Creature

ในขณะที่เมืองค่อยๆ ขยายตัวขึ้น ทางเท้าก็ถูกบีบให้ลดความสำคัญลงด้วยรูปแบบการขนส่งอื่นๆ เห็นได้จากทางเท้าที่มักมีคอนกรีตแตกๆ เหยียบแล้วโดนน้ำกระเด็นใส่ขาเป็นประจำ หรือบางที่ก็แคบจนคนแทบเดินไม่ได้ ทั้งยังเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางต่างๆ ไปจนถึงจักรยานยนต์ที่วิ่งบนทางเท้าแบบไม่เกรงใจคนเดิน

ดังนั้นพอขึ้นปีใหม่เราเลยอยากคืนชีวิตให้คนเมืองด้วย ‘ทางเท้าที่เป็นมิตรกับคนเดิน’ ซึ่งถ้าทำได้ ไม่เพียงจะดึงดูดให้คนลงมาเดินเท้ามากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างพื้นที่สาธารณะที่น่าเพลิดเพลินให้คนเมืองอีกด้วย

ทางเท้า ฟุตพาท

ขนาดทางเดินที่เหมาะสม 

ทางเท้าที่ดีควรมีความกว้างที่เหมาะสม อย่างประเทศไทยกำหนดให้ทางเท้าในพื้นที่ย่านธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย และโรงเรียน ต้องมีความกว้างอย่างน้อย 1.5 เมตร ในขณะที่ TheCityFix แนะนำว่าทางเท้าในเมืองควรให้สัมพันธ์กับขนาดอาคาร คนใช้งาน และกิจกรรมการใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงควรแบ่งทางเท้าออกเป็น 3 โซน คือ ‘Free Zone’ เป็นโซนสำหรับให้คนเดิน ‘Service Zone’ ไว้ตั้งม้านั่ง เก้าอี้ หรือถังขยะ และ ‘Transition Zone’ โซนที่เป็นทางเชื่อมเข้าสู่อาคาร

ทางเท้า ฟุตพาท

คุณภาพของพื้นผิว 

เคยมีฝรั่งออกมาจิกกัดทางเท้าของไทยว่าเหมือน ‘Brick Flicks’ หรือ ‘สนามทุ่นระเบิดน้ำ’ คือเหยียบเมื่อไหร่น้ำพุ่งใส่ขาทันที เหตุการณ์เหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากคุณภาพของวัสดุและการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ฉะนั้นทางเท้าที่ดีควรใช้วัสดุที่ได้มาตรฐานระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นอิฐตัวหนอนหรือกระเบื้องปูนซีเมนต์ ต้องมีความแข็งแรงทนทาน บดอัดแน่น ไม่ลื่น และพื้นผิวสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ทางเท้าควรเป็นทางที่คนใช้เดินจริงๆ ไม่ใช่ที่ตั้งร้านค้า ที่วางสิ่งของ หรือเส้นทางให้จักรยานยนต์วิ่งไปมาประหนึ่งถนน

ทางเท้า ฟุตพาท

ประสิทธิภาพระบายน้ำฝน 

ต่อจากข้อที่แล้ว เพื่อลดการขังของน้ำบนทางเท้า นอกจากต้องก่อสร้างให้ได้มาตรฐานและไม่ใช้งานผิดประเภทแล้ว แนะนำว่าควรมี ‘ระบบระบายน้ำ’ บริเวณทางเท้า โดยบ่อพักของท่อจะต้องมีฝาปิดสนิท หรือในกรณีที่ฝาปิดเป็นตะแกรงต้องมีซี่กว้างไม่เกิน 13 มิลลิเมตร เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ทางเท้า ฟุตพาท

การออกแบบเป็นสากล

เพราะในสังคมมีผู้คนหลากหลายกลุ่ม ดังนั้นทางเท้าและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ภายในเมืองจึงควรออกแบบให้รองรับการใช้งานของทุกคน โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านอายุและสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้วีลแชร์ ไม้ค้ำยัน ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งหญิงตั้งครรภ์ ยกตัวอย่างเช่น ‘Braille Block’ ทางเดินที่ใช้เตือนและบอกทิศทางให้ผู้พิการทางสายตา

ทางเท้า ฟุตพาท

การเชื่อมต่อที่ปลอดภัย 

ทางเท้าที่ดีควรมีทางเชื่อมต่อที่ปลอดภัย เช่น ‘ส่วนขยายขอบทางเท้า’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณทางร่วม ทางแยก ทางข้ามถนน นอกจากนี้ทางเชื่อมระหว่างทางเท้าลงสู่พื้นถนนก็ควรต่อเนื่องและทำเป็นทางลาด ซึ่งทางลาดต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1.2 เมตร ความลาดชันไม่เกิน 1 : 12 เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและเอื้อต่อผู้ใช้วีลแชร์ด้วย

ทางเท้า ฟุตพาท

ดึงดูดให้คนมาใช้งาน 

กล่าวว่า ทางเท้าและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ นั้นมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คนใช้ชีวิตในเมืองมีความสุขมากขึ้น ดังนั้นการออกแบบไม่เพียงแค่ต้องคำนึงถึงการใช้งาน ยังต้องดูไปถึงความสวยงาม ความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม และระบบเศรษฐกิจระหว่าง 2 ข้างทาง เพื่อดึงดูดใจให้คนหันมาเดินเท้ามากขึ้น

ทางเท้า ฟุตพาท

มีความปลอดภัยตลอดเวลา 

หนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนไม่ค่อยเดินเท้าก็เพราะว่ามัน ‘ไม่ปลอดภัย!’ ไม่ว่าจะสายไฟห้อยระโยงระยาง ต้นไม้ขึ้นกลางทางเท้า ไปจนถึงกลิ่นเหม็นจากกองขยะข้างๆ อีกทั้งบางที่ยังมืดสุดๆ เจอแบบนี้แล้วใครจะกล้าเดิน ฉะนั้นทางเท้าทุกที่ควรมีแสงไฟส่องสว่าง พร้อมกับกล้องวงจรปิดคอยตรวจตราความปลอดภัย ที่ไม่ว่าเราจะเดินเท้าเวลาไหนก็อุ่นใจ

ทางเท้า ฟุตพาท

มีป้ายบอกทิศทางที่ชัดเจน

แม้ปัจจุบันจะมีสมาร์ตโฟนไว้ใช้ค้นหาสถานที่ต่างๆ แต่ภายในเมืองก็ควรมีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ระบุตำแหน่งที่ตั้งของสถานที่ให้เข้าใจง่าย และควรตั้งกระจายอย่างทั่วถึง เหล่านี้ไม่เพียงอำนวยความสะดวกให้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่ยังรวมไปถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวก็จะได้ประโยชน์ไปด้วยเช่นกัน 


Sources :
TheCityFix | bit.ly/2MxlBSh
กระทรวงคมนาคม | bit.ly/3pZcl7R

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.