‘ต้นไม้’ ช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ไหม? - Urban Creature

ไม่ว่าจะวันไหนข่าวฝุ่นละออง PM 2.5 ก็ไม่เคยตกเทรนด์ และน่าจะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นได้ไม่สิ้นสุด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษปี 2563 พบว่าแหล่งกำเนิด PM 2.5 มาจากควันรถยนต์มากถึง 73 เปอร์เซ็นต์ และบ้านเรายังไม่มีการจัดการมลพิษอย่างชัดเจน หากจะแก้ไขต้นตอด้วยการเปลี่ยนมาใช้ขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนตัว ก็ดูเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขกันไปในระยะยาว เมื่อฝุ่นอนุภาคจิ๋วยังคงลอยฟุ้งอยู่ทั่วอากาศไม่มีท่าทีจะจางหาย จนทำให้ต้องกลับมานั่งคิดว่า กรุงเทพฯ ยังพอมีทางเลือกไหนบ้าง ที่ทุกคนสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5

เราจึงต่อสายตรงไปคุยกับ ดร.ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยว่า ต้นไม้สามารถดักจับฝุ่นไม่ให้ฟุ้งกระจายในอากาศด้วย ‘ใบไม้’ พื้นที่ยึดเกาะฝุ่นละอองชั้นดีให้อยู่กับที่ และเมื่อฝนตกลงมา มันก็จะช่วยชะล้างเหล่าอนุภาคเล็กๆ ลงไปสู่พื้นดินแทนที่จะปล่อยให้ล่องลอยในอากาศ

ถึงต้นไม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะเลือกหยิบมาใช้ได้ทุกต้น เพราะบางชนิดก็มีหน้าที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงสภาพแวดล้อมแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยดักจับฝุ่นละอองให้มีประสิทธิภาพ ควรเลือกต้นไม้ที่มีจำนวนใบมาก มีพื้นที่ใบไม้ใหญ่ มีผิวสัมผัสขรุขระ มีขนใบหรือความเหนียวของใบคล้ายแผ่นโพสต์อิท เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวให้ดักจับฝุ่นได้มากขึ้น เช่น ต้นสน ต้นสัก ต้นสับปะรดสี หรือพันธุ์ไม้เลื้อย

อย่างผลงานวิจัยของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 2020 ที่นำต้นสร้อยอินทนิล พืชไม้เลื้อยขนาดใหญ่ ซึ่งเติบโตในประเทศไทยที่มีสภาพอากาศร้อนชื้นได้ดี มีจำนวนใบทั้งหมด 85 ใบ ไปทดลองปลูกในพื้นที่สี่เหลี่ยม 0.4 ตารางเมตรบริเวณหน้าอาคาร ผลปรากฏว่ามันลดฝุ่น PM 2.5 ได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ช่วยชะลอให้ความเข้มข้นของฝุ่นก่อนเข้าสู่พื้นที่ภายในอาคารเบาบางลง

นอกจากนี้ การเลือกใช้ต้นไม้ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แม้จุดประสงค์หลักของการปลูกต้นไม้คือให้ความร่มรื่น แต่ในปัจจุบันสามารถเพิ่มฟังก์ชันรองให้ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองเรื่องการป้องกันฝุ่น เช่น บนเกาะกลางถนนที่มีรถขับวิ่งอยู่ตลอดเวลา ด้วยพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ควรจะใช้ต้นไม้ที่เน้นใบใหญ่ ลำต้นขนาดเล็ก และไม่สูงจนไปชนเสาไฟฟ้าต่างๆ อย่างพันธุ์ไม้เลื้อยหรือต้นสับปะรดสี แต่ถ้าเป็นช่วงถนนเส้นใหญ่ที่ไม่มีเสาไฟฟ้ารบกวนก็สามารถเลือกไม้ไม่ผลัดใบ ออกใบเขียวตลอดปี แต่ต้องเป็นต้นที่มีความสูงไม่เกิน 30 เมตร เพื่อการดูแลตัดแต่งได้ง่าย เช่น ต้นอินทนิล ตะแบก หรือพวงชมพู 

ทั้งนี้ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์มากมาย เรียกได้ว่าตัวมันมีคุณค่าที่ทุกคนต้องพึ่งพา แต่ปัญหาในทุกวันนี้คือต้นไม้มีสภาพสึกหรอ มีช่วงอายุสั้นลง เพราะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้ต้นไม้เกิดภาวะเครียด ส่วนหนึ่งมาจากฝีมือมนุษย์ เช่น การตัดต้นไม้ที่ไม่ถูกวิธี การเทคอนกรีตทับรากของต้นไม้ หรือการทิ้งของเสียสะสมในดินจนทำให้ธาตุอาหารของพืชเปลี่ยนไป แทนที่ต้นไม้จะได้เติบโต เพื่อสังเคราะห์แสงและคายออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ หรือเป็นโล่ป้องกันฝุ่นควันให้ทุกคนได้ กลายเป็นว่าต้นไม้ต้องเจ็บหนัก เพราะร่างกายของมันทรุดโทรมจนทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการดูแลต้นไม้ให้อยู่ได้และมีอายุยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้น กว่าต้นไม้หนึ่งต้นจะเติบโตได้ดีต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบปี ไม่เพียงแค่หน่วยงานรัฐที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการ และพวกเราทุกคนก็ยังเป็นอีกแรงหนึ่งที่ช่วยกันรักษาต้นไม้ อย่างการไม่เทของเน่าเสียลงบนพื้นดิน เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตในเมืองได้อย่างงอกงาม ซึ่งผลพลอยได้ทั้งหมดก็จะกลับคืนสู่ทุกคนด้วยการมีต้นไม้ช่วยดักจับฝุ่น รวมทั้งยังเปลี่ยนอากาศที่มีมลพิษให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ เพื่อที่ชาวเมืองสูดอากาศได้อย่างเต็มปอด และห่างไกลจากโรคทางเดินหายใจมากยิ่งขึ้น


Sources :
Study of PM2.5 Filtering by Using Climbing Plant Attached to an Architecture | file:///Users/stang/Downloads/237734-Article%20Text-831924-2-10-20200814%20(1).pdf
Workpointtoday | workpointtoday.com/1pm-4/

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.