ออกแบบสวนในเมืองสไตล์ ‘นักพฤกษศาสตร์’ - Urban Creature

การออกแบบพื้นที่สีเขียวในบ้านเรา ส่วนใหญ่คนจะมักให้ความสำคัญกับการดีไซน์ต้นไม้ให้สวยงามและตอบโจทย์สิ่งมีชีวิตอย่าง ‘คน’ เป็นหลัก แต่เป็นส่วนน้อยที่จะคิดถึง ‘ต้นไม้’ ว่าจะสามารถอยู่ร่วมกับเมืองอย่างไรให้ยั่งยืน

หากลองสังเกตสภาพต้นไม้ในกรุงเทพฯ ทุกวันนี้คงเหมือนสุภาษิตไทยที่ว่า ‘คับที่อยู่ง่าย คับใจอยู่ยาก’ ทั้งโดนตัดจนโล่งเกรียน อาศัยในพื้นที่ริมถนนอยู่ดีๆ ก็มีคนเอาปูนซีเมนต์มาทับถม หรือไม่ก็มีคนชอบเอาขยะมาทิ้งลงพื้นดินส่งกลิ่นเหม็นเน่าอบอวล ไม่แปลกใจที่อายุขัยของต้นไม้จะสั้นก่อนวัยอันควร

เราลองคิดเล่นๆ ถ้าต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งไม่ต่างจากคน มันจะรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ และคนที่น่าจะรู้ลึกรู้ดีที่สุดเกี่ยวกับชีวิตต้นไม้คงจะหนีไม่พ้น ‘นักพฤกษศาสตร์’ เราเลยถือโอกาสไปพูดคุยพร้อมเข้าสู่โลกของต้นไม้กับ ‘ดร.ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา’ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวงจรชีวิตพืชมาเกือบ 10 ปี ตั้งแต่วิเคราะห์สภาพภายนอกไปจนถึงโครงสร้างภายในระดับเซลล์ ที่จะมาเป็นกระบอกเสียงให้ต้นไม้ในเมือง ไปจนถึงแชร์มุมมองว่าการออกแบบพื้นที่เมืองที่คนและต้นไม้จะอยู่ร่วมกันได้หน้าตาควรเป็นอย่างไร

สวัสดีเราคือต้นไม้

เปิดบทสนทนาเรื่องสีเขียว อาจารย์ฉัตรทิพย์พูดถึงต้นไม้ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่แสนฉลาด ปรับตัวเก่งและให้ประโยชน์ต่อโลกใบนี้มากมาย ซึ่งต้นไม้ย่อมมีจุดเด่นและจุดด้อยที่แตกต่างกัน เหมือนเราทุกคนที่นิสัยไม่เหมือนกันและมีความถนัดเป็นของตัวเอง 

ต้นไม้ที่อยู่ในเมือง หน้าที่หลักคือเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยความสามารถพิเศษในการสร้างออกซิเจนให้คนสูดอากาศบริสุทธิ์ แต่ถ้าย้ายมาอยู่ชานเมืองจะกลายเป็นนักผลิตอาหารแสนอร่อย ซึ่งทุกบ้านมักชอบปลูกพืชชนิดที่ออกลูกออกผลหรือสมุนไพรไว้กินในชีวิตประจำวัน เมื่อไหร่ที่ต้นไม้อยู่รวมกันมากๆ จนเกิดเป็นสวนที่มีระบบนิเวศทางธรรมชาติสมบูรณ์ ก็จะกลายเป็นที่พักพิงให้สัตว์น้อยใหญ่ เช่น กระรอก ไส้เดือน ผีเสื้อ หรือนกที่รับบทเป็นนักกระจายพันธุ์พืชให้เติบโตไปยังพื้นที่ต่างๆ หรือผสมเกสรเพื่อเปิดโอกาสให้พืชชนิดใหม่เกิดขึ้นมาได้

ยิ่งไปกว่านั้นต้นไม้ยังให้ความเย็น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมันก็ช่วยลดอุณหภูมิให้กับพื้นที่รอบข้างได้ เพราะต้นไม้จะคายน้ำออกมาในเวลากลางวัน ร่มไม้ยังช่วยบดบังแสงแดดอันร้อนแรงและบางครั้งเขาก็เป็นสุภาพบุรุษช่วยกำบังลมหรือลดการปะทะของพายุได้ดีอีกด้วย

ช่วงนี้เราเครียด เพราะโดนเพื่อนแกล้ง

หลังจากฟังเรื่องราวดีๆ ของต้นไม้ที่ให้ประโยชน์มากมายแก่ทุกคน แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ปัจจุบันประชากรสีเขียวริมถนนในเมืองกลับไร้การเหลียวแล มีสภาพทรุดโทรมและถูกทำร้ายอยู่ตลอดเวลา มองอีกมุมก็กลายเป็นสิ่งเกะกะบนทางเท้าในเวลาเร่งรีบอีกต่างหาก เราถามอาจารย์ว่า ถ้าต้นไม้เจอแบบนี้จะรู้สึกอย่างไร

‘ต้นไม้ก็เครียดเป็นนะ เมื่ออยู่ในจุดที่ทนไม่ไหว’

“ต้นไม้ก็เหมือนคน มีความอดทนได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเจอสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจนทนไม่ไหว ก็จะเกิดภาวะเครียดตายไปในที่สุด จริงๆ แล้วความเครียดมีหลายปัจจัยขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด แต่สิ่งที่เกิดทางกายภาพก็มีผลกระทบในระยะยาว อย่างการเอาปูนซีเมนต์ไปบล็อกต้นไม้เพื่อสร้างถนน มันก็ขยายรากไม่ได้และรู้สึกอึดอัดจนล้มตายในที่สุด หรือเทน้ำเสียลงพื้นดินทุกวัน ก็ทำให้ธาตุอาหารในนั้นเปลี่ยนไป ต้นไม้บางชนิดก็เครียดและอายุสั้นลงกว่าที่จะเป็น

“ถ้าอยากเข้าใจว่าต้นไม้รู้สึกแย่ขนาดไหน ให้ลองนับจำนวนใบที่งอกออกมา ในระหว่างที่มันโดนรบกวนเทียบกับตอนที่ไม่โดนรบกวน จะสังเกตเห็นเลยว่าทั้งขนาดของใบและความอ้วนของลำต้นเติบโตน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะเวลาสังเคราะห์แสงต้องใช้ใบไม้สร้างอาหาร นั่นคือการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเอาธาตุคาร์บอนที่ได้มาสร้างลำต้นให้ตัวเอง และคายก๊าซออกซิเจนออกมาสู่อากาศ เพราะฉะนั้น ยิ่งตัดต้นไม้เยอะ มันก็ยิ่งเครียด ไม่เพียงเกิดรอยแผลเต็มตัวแล้ว ยังส่งผลให้ระบบการทำงานในร่างกายน้อยลงไปอีก”

เราอยากเป็นเพื่อนกับทุกคน

อาจารย์ชวนฉันคุยต่อว่า “เคล็ดลับที่ทำให้ต้นไม้อยู่กับเราได้นานๆ คือการดูแลต้นไม้ให้พอดี แต่สิ่งที่เราพบเห็นในกรุงเทพฯ มักจะตัดแต่งต้นไม้จนใบหายไปหมดเหลือแต่กิ่งไม้ด้วนๆ ซึ่งความเป็นจริงควรจะเล็มให้เหลือทรงพุ่มเดิมไว้บ้าง

“หรือถ้าตัดทิ้งไปเลยก็ควรจะทำในฤดูแล้ง เพราะช่วงนั้นต้นไม้ไม่มีน้ำในการสร้างใบใหม่ ก็จะช่วยเขาให้ใช้ชีวิตดีขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นอาจารย์บอกว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะต้นตอที่แท้จริงมาจากการออกแบบพื้นที่และฟังก์ชันต้นไม้ไม่เหมาะสมกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกที่ต้องรีบแก้ไขในบ้านเรา

‘พื้นที่สีเขียวไทยมีฟังก์ชันเดียว
คือพักผ่อนหย่อนใจ
และตอบโจทย์คนไม่กี่กลุ่ม’

“ปัญหาหนึ่งในกรุงเทพฯ คือคนไม่เห็นประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวในเมือง และไม่ได้มีความผูกพันกับสวน ยกเว้นคนไปวิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีฐานะปานกลางถึงดีที่เขาเห็นความน่าอภิรมย์ แต่สำหรับคนหาเช้ากินค่ำ เราไม่มีทางเดินชมสวนหรอกนะ เขาก็จะมองว่านั่งพักได้แค่นั้น ดังนั้น การออกแบบพื้นที่ในกรุงเทพฯ มันต้องตอบโจทย์คนหลากหลายกลุ่มที่มาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ อย่างสวนในต่างประเทศจะมีทั้งปลูกผัก เล่นกีฬา ปิกนิก หรือเรียนรู้ธรรมชาติ

“การออกแบบต้นไม้ให้เข้ากับพื้นที่และตอบโจทย์คนใช้งานอย่างลงตัว มันควรต้องมีการศึกษาบริบทในพื้นที่มาก่อน และควรหันหน้าคุยกันระหว่างชุมชน รัฐบาล นักออกแบบ หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อหาแนวทางและการจัดการได้อย่างลงตัว เช่น คนในท้องถิ่นอยากได้พื้นที่วิ่งเล่นมากกว่าสวนสวยๆ หรือพื้นที่ข้างถนนเน้นปลูกไม้ให้ร่มเงา จากนั้นก็ต้องรวบรวมฟีดแบ็กภายหลังด้วยว่า สิ่งที่พวกเขาสร้างเป็นไปตามที่ตั้งใจไหม การดูแลรักษามีค่าใช้จ่ายมากไหม เพราะถ้ามันแพงก็ไม่คุ้ม”

บ้านคือที่พักใจ แต่ไม่ใช่ของเรา

ในระหว่างที่คุยเรื่องการออกแบบพื้นที่ อาจารย์พาเราไปเดินดูสวนในมหาวิทยาลัย เธอเล่าว่า “แต่ก่อนเส้นหลังคณะวิทยาศาสตร์มีต้นไม้ร่มรื่นมาก แต่ปัจจุบันถูกตัดจนใบกุดไปหมด เพราะคนตัดไม่เข้าใจความต้องการของคนใช้งาน ต่างจากประเทศที่เขาให้ความสำคัญเรื่องต้นไม้ เขาจะมีวิธีการตัดและดูแลที่เหมาะสม นั่นจึงทำให้เราคิดถึงสวนสาธารณะในต่างแดนว่า เขาดีไซน์อย่างไรให้มันสวยงามและน่าอยู่

“กรุงเทพฯ มีปัญหาเรื่องการออกแบบพื้นที่ต้นไม้อย่างจำกัด แถมถูกจัดวางอย่างสะเปะสะปะ ไม่รู้ว่าจะไปอยู่ตรงไหนดีของทางเท้า เพราะมันไม่ได้ถูกคิดมาอย่างจริงจัง ถ้าเป็นประเทศในแถบยุโรป แทบไม่มีต้นไม้บนพื้นที่ริมถนนเลย แต่เขาแก้ปัญหาโดยการสร้างสวนสาธารณะทดแทนด้วยขนาดที่กว้างใหญ่ และจัดวางพื้นที่ให้กระจัดกระจาย

“รวมถึงการสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่สีเขียวให้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกันด้วย นั่นคือสิ่งที่พวกเราไม่ได้คิดถึงกันเลย เพราะแท้จริงแล้วต้นไม้ช่วยสร้างระบบนิเวศธรรมชาติให้เป็นระบบ และเกิดความหลากหลายของพันธุ์พืช สัตว์ก็สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยไม่ต้องไปบุกรุกพื้นที่อยู่อาศัยของคน

“อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือความหลากหลายของพันธุ์พืช เพราะต้นไม้แต่ละชนิดก็จะมีหน้าที่แตกต่างกัน อย่างพืชตระกูลถั่วช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน 

“ดังนั้น ถ้าแต่ละชนิดมันช่วยเกื้อกูลกัน ก็จะส่งผลให้ระบบนิเวศในสวนตรงนั้นอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังป้องกันความเสี่ยงหากปลูกต้นไม้เพียงชนิดเดียว แล้วเกิดความเครียดขึ้นมาก็จะตายกันทั้งหมด แต่ถ้ามีหลายชนิดก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงเพราะมันยังพอมีบางชนิดที่ทนได้ และสุดท้ายพวกเขาก็ยังอยู่กับเรา”

บางครั้งก็อยากเป็นคนในสายตาเธอ

ก่อนที่สวนสาธารณะต่างประเทศจะสวยงามอย่างที่เราเห็น มีพันธุ์ไม้หลากหลายสีสันในแต่ละชุมชนไม่เหมือนกัน หรือมีกิจกรรมในสวนดึงดูดให้คนรักธรรมชาติ เช่น ศึกษาพันธุ์แมลงหรือจัดทัวร์ต้นไม้ในเมือง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความคิดของนักออกแบบเพียงคนเดียว แต่มาจากการรวมหัวของคนในพื้นที่นั้นๆ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็น เพื่อให้ทุกคนรู้สึกได้เป็นเจ้าของและมีความรักต่อพื้นที่

“การออกแบบสวนที่ต่างประเทศ ไม่ได้มีเพียงไว้พักผ่อนแต่ยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้คนรู้สึกผูกพันกับมัน บางที่จะมีอาสาสมัครมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นไม้ ว่าสวนที่เขาเดินทุกวันมันคืออะไร ชีวิตมันเติบโตและมีประโยชน์อย่างไร คนก็จะซึมซับเรื่องธรรมชาติมากยิ่งขึ้น หรือมีกลุ่ม Citizen Science นักวิทยาศาสตร์สมัครเล่น ที่ทุกคนสามารถเป็นนักสำรวจในชุมชน ดูนก ดูแมลง หรือไปเจออะไร ก็จะมาบันทึกสิ่งที่เห็นในแอปพลิเคชัน แล้วหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องก็จะมาเก็บข้อมูลไปทำวิจัย 

“ซึ่งเราก็น่าจะทำแบบนี้กับต้นไม้ได้นะ อาจจะจัดแคมเปญชวนให้คนไปถ่ายรูปธรรมชาติรอบตัว เพราะแต่ละที่ก็จะมีบริบทต้นไม้ไม่เหมือนกัน เช่นดอกชมพูพันธุ์ทิพย์บานแล้ว หรือมาอวดกันว่าเขาปลูกพืชแล้วเติบโตไปถึงไหน มันจะช่วยทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมกับพื้นที่นั้นมากกว่าเดิม

“ทุกคนมีสิทธิในการเลือกที่จะใช้ชีวิต
และได้ใช้ประโยชน์ในสิ่งที่ต้องการ
ไม่ใช่มาจากการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว”

“ยิ่งไปกว่านั้นเวลาออกแบบสวนสักที่หนึ่ง เขาเปิดให้คนภายนอกโหวตได้นะ ว่าพื้นที่นั้นอยากปลูกต้นอะไร ซึ่งมันเป็นไอเดียที่ดีเพราะคนในชุมชนเลือกได้ว่า อยากให้สภาพแวดล้อมแถวบ้านเป็นอะไร หรือเอาไปทำอะไร เช่น การโหวตเลือกธีมสีตึกแถวย่านราชดำเนิน เพราะมันเป็นย่านอนุรักษ์ คนในละแวกนั้นก็เลือกได้ว่า พวกเขาจะใช้โทนสีไหนในสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ และคนที่ไม่ยอมทำตามกฎก็จะมีค่าปรับ เพราะทำให้เสียทัศนียภาพไม่สวยงาม ซึ่งคิดว่าวิธีนี้น่าจะนำมาปรับใช้กับการออกแบบพื้นที่ต้นไม้ได้นะ”

ความฝันคือการเติบโตไปด้วยกัน

ถ้าพูดถึงการออกแบบที่อยู่อาศัยของเหล่าต้นไม้ ในมุมนักออกแบบอาจคำนึงถึงการดีไซน์ความสวยงาม แล้วในมุมของนักพฤกษศาสตร์ ถ้าได้ลงมือสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวเองหน้าตามันจะเป็นอย่างไร

“ถ้าออกแบบได้ อยากให้มีต้นไม้หลากหลายชนิดในพื้นที่ และมีหลายกิจกรรมให้คนนั่งพักผ่อน เล่นกีฬา หรือเรียนรู้ ที่เรียกกันว่า ป่าในเมือง (Urban Forest) การปลูกต้นไม้แบบสุ่ม ซึ่งไม่มีรูปแบบชัดเจนและปล่อยให้เขาเติบโตไปตามธรรมชาติ มีสิ่งมีชีวิตเข้ามาอาศัยอยู่เอง ทุกคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นระบบนิเวศ ผลของต้นไม้เป็นอาหารให้กับสัตว์ มูลของมันเป็นปุ๋ยชั้นดีให้กับพืช แถมการกินผลจากพืชยังเป็นการกระจายเมล็ดพันธุ์ไปตามสถานที่ต่างๆ จนเกิดเป็นต้นไม้ใหม่งอกงามขึ้นมา”

ตลอดเวลาที่อาจารย์ฉัตรทิพย์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องต้นไม้อย่างลึกซึ้ง และเคยได้ไปทำวิจัยเรื่องธรรมชาติในต่างประเทศมากมาย เธอเล่าว่า สภาพแวดล้อมของไทยดีกว่าประเทศในแถบยุโรปเสียอีก เพราะปลูกต้นไม้อะไรก็ขึ้นได้ทุกฤดูกาล ไม่ต้องรดน้ำใส่ปุ๋ยก็เจริญงอกงาม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการจัดการและดูแลรักษาให้เหมาะสม เพราะต้นไม้หนึ่งต้นกว่าจะเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้โลกใบนี้ มันก็ควรจะอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีคนเห็นความสำคัญของมัน

หากเปรียบเทียบต้นไม้เป็นมนุษย์ เขาก็เป็นคนทำงานที่ขยันในหน้าที่ ซึ่งสมควรได้รับโบนัสเป็นบ้านที่น่าอยู่ มีคนรักและเอาใจใส่อยู่เคียงข้าง รวมทั้งสามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อย่างมีความสุขเหมือนกับเราทุกคน

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.