ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปีใหม่ เราเชื่อว่าทุกคนก็ยังคงใช้ชีวิตไม่ต่างจากเดิมเท่าไรนัก แต่หนึ่งสิ่งที่ทุกคนมักแอดเข้าลิสต์ของ New Year’s Resolution คือเรื่องการดูแลตัวเอง ยิ่งหลังจากที่อยู่กับโรคระบาดมาเป็นเวลานาน สุขภาพร่างกายและจิตใจก็กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องหันมาใส่ใจกันอย่างจริงจังมากขึ้น
ว่าแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องตรวจสุขภาพประจำปี เราไม่ได้แค่อยากเตือนให้ทุกคนหาเวลาดูแลตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังอยากชวนมาตรวจเช็กสุขภาพเมืองของเราไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะถ้าหากเมืองเจ็บป่วยแค่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมเกิดผลกระทบต่อเนื่องแน่นอน ซึ่งผู้ได้รับความเดือดร้อนก็หนีไม่พ้นชาวเมืองอย่างพวกเรานี่แหละ
Urban Creature ขอรับบทเป็นคุณหมอมาตรวจสุขภาพโดยรวมของเมืองกัน ตอนนี้อวัยวะสำคัญยังใช้งานได้ดีหรือถึงเวลาแล้วที่ต้องเยียวยารักษา ต่อแถวเข้าคิวเช็กอัปใน คอลัมน์ Overview ประจำซีรีส์เดือนนี้ได้เลย
เมืองอาจเป็นโรคหัวใจ
เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของประชาชน
หากพูดถึง ‘หัวใจของเมือง’ ก็คงหนีไม่พ้น ‘ผู้คน’ ที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้เมืองดำเนินชีวิตต่อไปได้ ซึ่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างการทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาดูแลตัวเอง รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดบ่อยขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หรือแม้แต่โควิด-19 ที่ยังคงระบาดอยู่ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพของผู้คน และอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเมือง
รายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยว่า ในไตรมาสที่สามของปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเฝ้าระวังเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 275.4 เปอร์เซ็นต์ โดยโรคที่คนเป็นเยอะที่สุดคือโรคมือเท้าปาก ซึ่งมีผู้ป่วยมากถึง 77,349 ราย สูงกว่าปีก่อนหน้าประมาณ 56 เท่า รองลงมาคือโรคไข้หวัดใหญ่ โรคไข้เลือดออก และโรคฉี่หนู ที่ส่วนใหญ่เกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่องและมีน้ำขังหลายพื้นที่
อย่างไรก็ตาม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า คนไทยทุกช่วงวัยหันมาออกกำลังกายมากขึ้น หลังจากต้องอยู่กับการระบาดของโควิด-19 เป็นเวลานาน ทำให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจและเป็นห่วงสุขภาพของตัวเองมากขึ้น รวมถึงต้องหากิจกรรมคลายเหงาระหว่างอยู่บ้าน และถึงแม้ว่าปัจจุบันผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้แล้ว หลายคนก็ยังคงเลือกออกกำลังกายที่บ้านเพราะความสะดวกสบาย ไม่ต้องหาเวลาว่างมาก แถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
นอกจากสุขภาพกายแล้ว เรื่องของสุขภาพจิตก็สำคัญเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันคนไทยมีแนวโน้มเป็นภาวะเครียดและโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งข้อมูลของศูนย์วิจัยและ สารสนเทศโรคซึมเศร้าคาดว่าในปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 1.36 ล้านคน โดยในเดือนกันยายนมีอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอยู่ที่ร้อยละ 90.6 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 84.9 ทั้งนี้ สมาคมจิตแพทย์ยังได้ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐเฉลี่ยวันละประมาณ 50 คน ขณะที่สถิติผู้รับบริการจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 อีกทั้งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560
สถิติเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเมืองของเราอาจกำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยของคนเมืองที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด โรคตามฤดูกาล หรือแม้แต่ความกดดันในการใช้ชีวิตในเมืองที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ หากเราไม่รีบดูแลแก้ไขตั้งแต่ตอนนี้ เมืองของเราอาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นเหนื่อยล้าจนหมดสติ ไม่มีแรงพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมืองอาจเป็นโรคถุงลมโป่งพอง
เพราะอากาศที่แย่ลงและพื้นที่สีเขียวที่มีจำกัด
เช็กสภาพหัวใจไปแล้ว อวัยวะสำคัญต่อมาคือ ‘ปอด’ สำหรับโรคที่หลายคนเป็นกังวลกันคงหนีไม่พ้นถุงลมโป่งพอง ที่เกิดจากการสะสมมลพิษในรูปแบบของฝุ่นควัน แก๊ส หรือสารเคมี ผ่านการสูดดมเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน และอาจส่งผลให้ระบบหายใจล้มเหลว
หากเปรียบเทียบเมืองของเราเป็นคนหนึ่งคนที่มีเลือดเนื้อแล้ว โอกาสที่จะเกิดโรคนี้กับเขามีค่อนข้างสูง เนื่องจากสภาพอากาศในเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหา PM 2.5 ซึ่งยังหาทางแก้ไขได้ไม่เต็มที่ ยังไม่รวมถึงการจราจรติดขัดที่ทำให้ผู้คนต้องสูดดมฝุ่นและมลพิษจากยานพาหนะในเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้
IQAir ผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีคุณภาพอากาศได้จัดลำดับคุณภาพอากาศและอันดับเมืองที่มีมลพิษเปรียบเทียบจาก 95 เมือง เรียงลำดับจากเมืองที่อากาศแย่ที่สุดไล่ไปถึงเมืองที่อากาศดีที่สุด โดยเชียงใหม่อยู่ในอันดับ 22 ที่คุณภาพอากาศส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วยหรือคนที่ร่างกายอ่อนแอ ส่วนกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 43 ซึ่งถือว่ามีคุณภาพอากาศในระดับปานกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2566)
แม้มลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทันที แต่ก็มีวิธีที่อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้ในระยะยาว ยกตัวอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่นอกจากช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดอุณหภูมิในเมืองแล้ว ยังช่วยดูดซับสารพิษฝุ่นควันและทำให้อากาศในเมืองสะอาดขึ้นกว่าเดิม
อีกข้อดีของการมีพื้นที่สีเขียวคือ เป็นการเพิ่มสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ออกกำลังกายในเมือง เพื่อส่งเสริมให้คนทุกเพศทุกวัยหันมาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองให้ดีขึ้น
ในขณะเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุไว้ว่า เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรจะมีพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชาชนหนึ่งคน แต่จากข้อมูลของกรุงเทพฯ มีการระบุว่า ในปี 2566 กรุงเทพฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองหลวงให้เป็น 7.61 ตารางเมตรต่อประชาชนหนึ่งคน ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนๆ แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอต่อการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในเมืองตามที่ WHO กำหนด
เมืองอาจเป็นโรคไตเรื้อรัง
เพราะไม่สามารถจัดการขยะและของเสียได้อย่างเต็มที่
‘ไต’ มีหน้าที่กำจัดของเสียและสารพิษออกจากร่างกาย เพราะหากร่างกายมีการสะสมของเสียมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ และก่อให้เกิดโรคไตได้ ซึ่งถ้าลองพิจารณาแล้ว จะบอกว่าตอนนี้เมืองของเราป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังอยู่คงไม่ผิดนัก เนื่องจาก ‘ปัญหาขยะ’ ที่คาราคาซังมาอย่างยาวนานและยังหาทางแก้ไขอย่างถาวรไม่ได้สักที
ปี 2565 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะ 10,706 ตันต่อวัน เฉลี่ยแล้วคนกรุงเทพฯ สร้างขยะราว 2 – 3 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเลยทีเดียว แม้ปัจจุบันจะมีโรงไฟฟ้าขยะทั้งหมด 4 แห่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นตามยุทธศาสตร์การจัดการขยะของกรุงเทพมหานคร 20 ปีแล้วก็ตาม แต่ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอ เพราะโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้กำจัดขยะได้วันละประมาณ 4,000 ตันเท่านั้น
สาเหตุสำคัญที่ทำให้กรุงเทพฯ มีขยะจำนวนมากจนกำจัดไม่ทันเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การขยายตัวของเมืองที่ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น รวมถึงการนำเข้าขยะพลาสติกเพื่อรีไซเคิลกว่า 6 แสนตันต่อปี ดังนั้น นอกจากภาครัฐต้องดูแลและจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ภาคประชาชนเองก็ต้องมีความรู้และตระหนักถึงปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงแยกขยะพลาสติกเพื่อเพิ่มอัตรารีไซเคิลหรือนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยต่อ ก็จะช่วยลดจำนวนขยะที่ต้องกำจัดได้อีกเยอะ
เมืองอาจมีภาวะเลือดเป็นพิษ
เพราะแหล่งน้ำสกปรกจนเกิดเป็นมลพิษทางน้ำ
ขยับมาที่ส่วนประกอบหลักของร่างกายอย่าง ‘เลือด’ ที่ทำหน้าที่ไหลเวียนเพื่อขนส่งสารอาหาร น้ำ และออกซิเจนไปทั่วร่างกาย ไม่ต่างจากแม่น้ำที่ไหลไปยังพื้นที่ต่างๆ ภายในเมือง โดยทำหน้าที่เป็นเส้นทางคมนาคม แหล่งน้ำดื่ม และที่อยู่ของปลากับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ผู้คนนำมาบริโภคและทำเป็นอาหารได้
แต่ปัจจุบันนี้แหล่งน้ำที่ไหลผ่านเมืองของเราแทบจะนำมาอุปโภคบริโภคไม่ได้แล้ว สาเหตุเกิดจากจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำปริมาณเยอะขึ้นตามไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการขยายตัวของชุมชนในเมืองที่ก่อให้เกิดการปล่อยน้ำทิ้งและสิ่งปฏิกูล เช่น น้ำซักฟอกจากการทำความสะอาด รวมถึงการทิ้งขยะผิดวิธีจนทำให้น้ำเน่าเสีย
ข้อมูลจากระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยกรมชลประทาน พบว่า ตั้งแต่เข้าสู่ปี 2566 ค่าออกซิเจนในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรวจวัดได้ในสถานีกรมชลประทานสามเสนมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.42 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าที่มาตรฐานกำหนดไว้ที่ 2 มิลลิกรัมต่อลิตร บ่งชี้ว่าคุณภาพของแม่น้ำย่ำแย่เป็นอย่างมาก (ข้อมูล ณ วันที่ 19 มกราคม 2566)
เมื่อเลือดเป็นพิษย่อมเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับแหล่งน้ำที่หากสกปรกก็อาจส่งผลเสียต่อเมือง โดยเฉพาะมลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้คน สิ่งมีชีวิตในน้ำและบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังทำลายความสมดุลทางธรรมชาติ ไม่ต่างจากภาวะเลือดผิดปกติที่ปะปนไปด้วยสารพิษ จนทำให้เกิดอาการอักเสบไปทั่วร่างกายและสร้างความเสียหายแก่อวัยวะต่างๆ ในที่สุด
เมืองอาจมีภาวะสมองขาดเลือด
เพราะงบประมาณที่กระจายไปไม่ถึงส่วนต่างๆ
ปิดท้ายที่ ‘สมอง’ ที่ถือเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพราะทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์บัญชาการที่สั่งการและควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ผ่านการลำเลียงออกซิเจนจากเลือดในร่างกายเพื่อให้สมองทำงานได้อย่างเต็มที่
หากเปรียบเทียบว่าสมองคือเมืองกรุงเทพฯ ออกซิเจนที่จะช่วยให้สมองทำงานได้อย่างราบรื่นก็คงเป็นงบประมาณจากส่วนกลาง ทั้งนี้ กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดของประเทศ คิดเป็น 68 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณทั้งหมด ในขณะที่จังหวัดอื่นๆ ได้รับงบประมาณรวมกันทั้งสิ้น 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อย้อนดูข้อมูลปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 จำนวนกว่า 79,855 ล้านบาท โดยหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณเยอะที่สุดเรียงตามลำดับคือ สำนักการระบายน้ำ 8.77 เปอร์เซ็นต์ สำนักสิ่งแวดล้อม 8.57 เปอร์เซ็นต์ และสำนักการโยธา 8.08 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้ผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ทั้งที่มีและไม่มีทะเบียนราษฎรก็ตาม ทว่าสุดท้ายแล้ว คนเมืองโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ ก็ยังคงพบกับปัญหาเรื้อรังอยู่อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ปัญหาทางเท้า ขนส่งมวลชน ฯลฯ
ในปี 2566 นี้ ทางกรุงเทพมหานครได้จัดสรรงบประมาณที่ได้รับจำนวนกว่า 79,000 ล้านบาท เพื่อการพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ ทั้งหมด 9 ด้าน ได้แก่
– ด้านการจัดบริการของสำนักงานเขต 50 เขต 18,865 ล้านบาท (23.88%)
– ด้านการบริหารจัดการและบริหารราชการ กทม. 16,282 ล้านบาท (20.61%)
– ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11,090 บาท (14.04%)
– ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง 11,072 ล้านบาท (14.01%)
– ด้านสาธารณสุข 2,417 ล้านบาท (3.06%)
– ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง 944 ล้านบาท (1.20%)
– ด้านการศึกษา 644 ล้านบาท (0.81%)
– ด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ 194 ล้านบาท (0.25%)
– ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 166 ล้านบาท (0.21%)
โดยหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณมากที่สุดยังคงเป็นสำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ และสำนักสิ่งแวดล้อมเช่นเดิม
หลังจากนี้ ต้องมาติดตามกันว่าแผนการดูแลเมืองฉบับนี้ จะทำให้เมืองแข็งแรงขึ้น อาการทรงตัว หรือเสี่ยงเป็นโรคอื่นๆ ในอนาคต
_______________________________________
Sources :
Brand Buffet | bit.ly/3QQloXs
GreenNews | bit.ly/2PdIWJI
IQAir | bit.ly/3GPI3i1
Isranews | bit.ly/3WCQ6F3
NESDC | bit.ly/3WpF4m6
Salika | bit.ly/3XIKycY
SDG Move | bit.ly/3WmbYV0
Thai Health Report | bit.ly/3CZqUBy
ThaiPublica | bit.ly/3XyuU3M
Thairath | bit.ly/3ZGPmkV
The Visual | bit.ly/3GSigpt
ZeroWater Thailand | bit.ly/3QPfzti
กรมควบคุมมลพิษ | bit.ly/3D0fUnz
กรมเจ้าท่า | bit.ly/3GVBhY4
กรมชลประทาน | wq-chaophraya.rid.go.th/stats
กรุงเทพมหานคร | bit.ly/3kuk5Bj