แม้จะมาช้าไปสักหน่อย แต่ช่วงตรุษจีนแบบนี้ นอกจากจะร้อง ‘ต้าชั่วเท่อชั่ว ปู๋ย่าวหลาย อู๋หลู่หว่อเตอเหม่ย’ กันแล้ว เชื่อว่าหลายๆ คน โดยเฉพาะลูกหลานเชื้อสายจีนก็คงนึกถึงโปรดักต์ อาหาร หรือสิ่งละอันพันละน้อยที่บ่งบอกถึงความเป็นจีนขึ้นมา
ในฐานะที่เราก็เป็นลูกหลานคนจีนคนหนึ่ง จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจ 4 ธุรกิจของชาวจีนในย่านตลาดน้อยที่อยู่กันมากว่าศตวรรษ รวมถึง 1 พิพิธภัณฑ์ และ 1 ธุรกิจบ้านใกล้เรือนเคียงที่กำลังจัดนิทรรศการอยู่ใกล้ๆ เพื่อฉายภาพให้เห็นว่าในวันที่ย่านนี้กลายเป็นย่านสุดฮิตที่นักท่องเที่ยวแวะมาเที่ยว มาถ่ายรูป ภายในย่านเองยังมีธุรกิจที่พยายามปรับตัวและดำเนินมาอย่างยาวนานรวมอยู่เป็นส่วนหนึ่งด้วย
ร้านขายยาเอี๊ยะแซ | อนามัยประจำย่าน ต้นตำรับยาดมกระปุกพกมือ
ถ้าตั้งต้นจาก MRT สถานีหัวลำโพง ‘ร้านขายยาเอี๊ยะแซ’ คือร้านแรกในย่านตลาดน้อยที่เราจะพาไปเยี่ยมเยียนวันนี้ บอกเลยว่าแค่เดินเข้าไปใกล้ๆ ก็ได้กลิ่นสมุนไพรจีนชวนให้รู้สึกผ่อนคลายแล้ว
“สมัยก่อนตรงนี้เป็นชุมชนจีน ร้านสมุนไพรจีนเลยเป็นเหมือนอนามัยของชุมชน เป็นที่พึ่งของชุมชน มีอะไรเขาจะวิ่งหา” ‘แตงโม-นพรัตน์ เฉลิมชัยกิจ’ ทายาทรุ่นที่ 4 ของตระกูลเฉลิมชัยกิจ และรุ่นที่ 3 ของร้านขายยาเอี๊ยะแซบอกกับเรา
ที่ตัวเลขไม่ตรงกันแบบนี้ นพรัตน์บอกกับเราว่า เพราะในความเป็นจริงก่อนจะมาเป็นร้านขายยาเอี๊ยะแซในย่านตลาดน้อยแบบปัจจุบัน ร้านยาแรกของเหล่ากงตั้งอยู่ที่ชลบุรี ชื่อว่า ‘เอี๊ยะซิ่ว’ ส่วนเอี๊ยะแซตั้งต้นจากอากงเห็นทำเลตรงนี้ เลยขอทุนมาเปิดร้าน สร้างเนื้อสร้างตัวที่กรุงเทพฯ ทำให้ถ้าคิดแค่ตัวร้าน นพรัตน์จึงเป็นรุ่นที่ 3 นั่นเอง
“ตอนแรกพี่ไม่มีแนวคิดว่าจะมาทำอะไรกับที่ร้านเลย เพราะจบอาร์ต จบโฆษณามา จนตอนที่เรา Early Retire และช่วงโควิดที่เห็นตู้น้ำเก๊กฮวยหน้าบ้าน ซึ่งมักจะมีคนพูดว่าหากินยาก เลยหยิบไอเดียเอาน้ำเก๊กฮวยมาทำเป็นลูกอมเพื่อให้อยู่ที่ไหนก็กินได้” นพรัตน์เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มเข้ามาช่วยดูแลร้านในช่วงแรกๆ ก่อนที่จะทำมาจนถึงทุกวันนี้ควบคู่กับการเปิดโฮสเทลของตัวเองไปด้วย
เธอบอกว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ร้านยาสมุนไพรจีนแบบนี้ยังอยู่ได้เป็นเพราะร้านยาประเภทนี้ค่อยๆ น้อยลง บวกกับที่ร้านยังมั่นคง และเราที่มั่นคงกับอาชีพ คงเรื่องคุณภาพเอาไว้ ทำให้ร้านยังเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนรุ่นเก่าที่ยังใช้ยาแผนโบราณอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน นพรัตน์ก็บอกกับเราว่า กระแสโซเชียลก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
ถ้าในอดีตยาดมเอี๊ยะแซดังได้เพราะมีดาราหยิบไปใช้จนคนมาซื้อตาม เดี๋ยวนี้ก็คงเป็นการรีวิวในโลกโซเชียลที่ทำให้คนหันมาสนใจสมุนไพรจีนมากขึ้น
“มันก็แปลกดี เพราะในขณะที่ร้านเราเป็นร้านแผนโบราณ พูดเรื่องสมุนไพร แต่กลายเป็นว่าเทคโนโลยีมันมาซัพพอร์ตเรา ถ้าไม่มีโซเชียลและคนที่หันมาสนใจสมุนไพร ก็เชื่อว่าเป็นไปได้ที่ร้านจะต้องเลิกไปโดยปริยาย”
ปัจจุบันนอกจากเอี๊ยะแซจะขายสมุนไพรตามขนบเดิมแล้ว ทายาทรุ่นที่ 3 ยังบอกกับเราว่า ตัวป๊าที่อายุ 84 ผู้รับหน้าที่เป็นหมอแมะประจำร้านก็ยังมีความพยายามที่จะประยุกต์ยาสมุนไพรให้กินง่ายขึ้น เกิดเป็น ‘ยาจับซาไท้เป้า’ ชนิดแคปซูล สำหรับคนท้อง และต่อยอดมาเป็นสมุนไพรรักษาผิวพรรณในรูปแบบแคปซูลเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมี ‘พิมเสนน้ำ’ หลากหลายกลิ่น ‘ลูกอมเอี๊ยะแซ’ จากไอเดียของนพรัตน์ ‘น้ำเก๊กฮวยแบบพาสเจอร์ไรซ์’ และผลิตภัณฑ์คู่ร้านอย่าง ‘ยาดมเอี๊ยะแซ’
“ถ้าไม่นับยาดมกระปุกเหล็ก เราถือเป็นยาดมกระปุกพกมือยี่ห้อแรกของเมืองไทย ที่ อย. บอกว่าเป็นเจ้าที่ใส่สมุนไพรเยอะที่สุดในตลาด” นพรัตน์เล่าพลางยิ้ม
ร้านขายยาเอี๊ยะแซจึงไม่ใช่แค่ร้านยาที่ขายสมุนไพรจีนแบบเพียวๆ แต่เป็นร้านที่คนจะแวะเข้าไปซื้อยาดม ลูกอม หรือดื่มน้ำเก๊กฮวยแบบแก้วดั้งเดิมที่หน้าร้าน ก่อนเดินทางไปยังจุดหมายต่อไปด้วยใจรื่นรมย์
ร้านขายยาเอี๊ยะแซ
วันทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 09.00 – 17.00 น. และวันเสาร์ เวลา 09.00 – 15.00 น. (ปิดวันอาทิตย์)
พิกัด : 928 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
แผนที่ : maps.app.goo.gl/fkv5ng89mqtRUAPZA
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 0 2234 1519
Facebook : ร้านขายยาเอี๊ยะแซ
ร้านเฮงเสง | ยืนหนึ่งเรื่องเบาะไหว้เจ้า เจ้าสุดท้ายของประเทศไทย
‘เฮงเสง’ หนึ่งร้านคู่ตลาดน้อยที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะนอกจากจะเป็นร้านทำเบาะไหว้เจ้าที่เหลือเพียงเจ้าเดียวในประเทศแล้ว ‘เจี๊ยบ-วิมล เหลืองอรุณ’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของร้านก็ยังเป็นเหมือนผู้นำชุมชนตลาดน้อยที่คนในชุมชนรู้จักดีด้วย
แม้ปัจจุบันเฮงเสงเป็นที่รู้จักในนามร้านทำเบาะไหว้เจ้า แต่วิมลเล่าให้เราฟังว่าที่จริงตัวร้านไม่ได้เริ่มมาจากสิ่งนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยอากง สิ่งที่ทำจะเป็นที่นอน หมอน มุ้ง เพื่อส่งให้โรงแรมเจ็ดชั้นในเยาวราช ก่อนจะเพิ่มพวกเบาะทั่วไปและเบาะไหว้เจ้าเข้ามาในรุ่นม้า แล้วถึงค่อยหันมาเจาะทำเบาะโดยเฉพาะมากขึ้นในรุ่นของเธอ
“พอดีตอนหลังมีมุ้งลวด การใช้มุ้งเลยน้อยลง ส่วนที่นอนก็เริ่มมีที่นอนฟองน้ำ ที่นอนสปริง ที่นอนที่เป็นนุ่นก็ค่อยๆ ลดลง คนไม่ค่อยนิยม เราเลยหันมาเน้นทำเบาะไหว้เจ้ามากขึ้น เพราะศาลเจ้าเขาใช้กัน” วิมลบอกกับเราถึงสาเหตุที่สุดท้ายเฮงเสงเปลี่ยนมาทำเบาะไหว้เจ้าแบบเต็มตัว
อีกมุมหนึ่ง วิมลเล่าว่าตลาดน้อยเปลี่ยนไปจากความทรงจำในวัยเด็กของเธอไม่น้อย เพราะแต่เดิมบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นอาคารไม้ที่มีคนในชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น รถไม่เยอะ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นตึกปูนหมดแล้ว เชียงกงที่อยู่ริมถนนก็ย้ายเข้ามาอยู่ในซอยมากขึ้น ลูกหลานก็แยกย้ายกระจายออกไปตามต่างจังหวัดหรือเชียงกงที่อื่น แต่ถึงอย่างไรเฮงเสงก็ยังปักหลักอยู่ที่เดิม
ที่เป็นแบบนี้ส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนแปลงของตลาดน้อยไม่ได้ส่งผลต่อตัวธุรกิจ หากประเทศไทยยังมีศาลเจ้าจีนอยู่ เฮงเสงก็ยังอยู่
“เท่าที่รู้ตอนนี้มันไม่มีใครทำแล้ว มันเลยกลายเป็นว่าเราเป็นเจ้าเดียวที่ทำเบาะไหว้เจ้า ไม่มีคู่แข่ง เป็นสินค้าแฮนด์เมดร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เรารักษาคุณภาพเอาไว้ มันเลยขายได้เรื่อยๆ เพราะศาลเจ้ายังต้องใช้เบาะอยู่ หรือบางร้านที่เยาวราชก็จะรับจากเราไปขายต่ออีกทอด” วิมลเล่า
แต่ถึงอย่างนั้น เฮงเสงก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำเบาะไหว้เจ้า เพราะยังมีการต่อยอดธุรกิจจนมีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่อยู่ภายใต้ชื่อเฮงเสง ไม่ว่าจะเป็นเบาะขอบหยักลายดอกโบตั๋น เบาะกลม เบาะเหลี่ยมสำหรับนั่งสมาธิ เบาะสีน้ำเงินลายดอกสำหรับงานกงเต๊ก เบาะสำหรับงานยกน้ำชา หมอนอิง หมอนรองคอ ที่วางมือถือทรงบ๊ะจ่าง ไปจนถึงพวงกุญแจเบาะเล็กๆ ที่เปิดให้คนเข้ามาลองทำเวิร์กช็อป ลองยัดนุ่น เย็บจับริมด้วยตัวเอง หรือถ้าใครมีแบบในใจที่อยากมาออเดอร์ให้ร้านทำให้ เฮงเสงก็รับทำเช่นเดียวกัน
“พี่พยายามเพิ่มสินค้าให้มีความหลากหลาย เพิ่มรูปแบบให้เอาไปใช้ตามบ้านได้ หรือบางทีมีฝรั่งเอาผ้ามาให้เราเย็บแล้วเอากลับไปประเทศเขาก็มี เราทำได้หมด แต่มันจะช้าหน่อยเพราะเป็นงานแฮนด์เมดที่พี่ทำคนเดียวเกือบเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ บางครั้งหนึ่งวันได้หมอนใบเดียวก็มี เพราะขั้นตอนมันเยอะ” วิมลเล่าถึงข้อจำกัดของการทำสินค้าแบบแฮนด์เมด แต่ถ้าใครไม่อยากรอ บริเวณหน้าร้านที่ตลาดน้อยหรือไอคอนสยามก็มีสินค้าแบบทำสำเร็จวางขายอยู่เช่นกัน
“เราก็ขายเท่าที่ไหว ไม่กล้าตั้งราคาสูงมาก เหมือนขายเพื่ออนุรักษ์มันไว้ ไม่อยากให้อาชีพนี้หายไป” ทายาทรุ่นที่ 3 ของเฮงเสงกล่าวทิ้งท้าย
ร้านเฮงเสง
วันทำการ : ทุกวัน เวลา 09.00 – 17.00 น.
พิกัด : 854-6 ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
แผนที่ : maps.app.goo.gl/3qQnM4hQXWnQvZCo9
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 08 2456 6516
Facebook : Hengseng เฮงเสง รับทำหมอน เบาะไหว้เจ้า ตลาดน้อย
โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ | โรงผลิตซีอิ๊วแบบธรรมชาติ และใช้คนในทุกกรรมวิธี
“เราเกิดที่บ้านตลาดน้อย ตอนเด็กๆ เราเห็นกิจกรรมของโรงซีอิ๊วอยู่ในบ้าน มีการตอกจุก บรรจุซีอิ๊วที่นี่ เราคุ้นเคยกับการรับโทรศัพท์ลูกค้า รับออเดอร์ตั้งแต่เด็กๆ” นี่คือสิ่งที่ ‘แน็ต-มาณิสสา โชติสกุลรัตน์’ ทายาทรุ่นที่ 4 ของโรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ (เคียมง่วนเชียง) บอกกับเราด้วยรอยยิ้มเมื่อพูดถึงครั้งหนึ่งที่โรงซีอิ๊วแห่งนี้เคยตั้งอยู่ในย่านตลาดน้อย
เป็นระยะเวลากว่า 100 ปีแล้วที่ครอบครัวเชื้อสายจีนของมาณิสสาอพยพจากเก๊กเอี๊ย ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่ประเทศไทย โดยนำเอาความรู้เรื่องการหมักซีอิ๊วด้วยเชื้อราติดตัวมาด้วย และยังคงใช้กรรมวิธีดั้งเดิมที่ใช้คนในทุกกระบวนการหมักมาถึงตอนนี้
ความจริงแล้วโรงซีอิ๊วโรงแรกตั้งอยู่ที่ฝั่งเจริญนคร เนื่องจากในอดีตมีการขนส่งซีอิ๊วทางแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่รุ่นอากงของมาณิสสาจะย้ายมาอยู่โซนตลาดน้อยเพื่อตั้งโรงซีอิ๊วที่มีโกดังสำหรับเก็บด้วย เพราะศูนย์กระจายของไปต่างจังหวัดเปลี่ยนมาอยู่ที่ทรงวาด แต่พอเริ่มทำเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ต้องใช้พื้นที่ในการผลิตซีอิ๊วเยอะขึ้น ไม่สามารถอยู่ร่วมกับพื้นที่ชุมชนได้แล้ว ทำให้ตัวโรงงานซีอิ๊วย้ายไปอยู่บางปูจนถึงปัจจุบัน
“เดี๋ยวนี้ตรงนี้ไม่มีขนส่งกระจายของแล้ว ทุกคนเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นโฮสเทล เป็นร้านอาหารหมดแล้ว ขนส่งก็ออกไปตรงพุทธมณฑลหมด ทำให้ไม่มีความจำเป็นของการอยู่ในเมือง” มาณิสสาบอกกับเรา
ภายใต้โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์ มีซีอิ๊วดำหลายชื่อที่คุ้นหูไปจนถึงคุ้นลิ้นทั้งหมด 6 แบรนด์ แบ่งออกเป็นซีอิ๊วดำเค็มทั้งหมด 4 แบรนด์ ได้แก่ ตราดอกบ๊วย ตราตาแป๊ะ ตราบ้าน ตราแดง และซีอิ๊วดำหวาน 2 แบรนด์ คือ ตรากุหลาบและตรากระเช้า
หญิงสาวเล่าว่า ซีอิ๊วดำเค็มตราดอกบ๊วยจะเป็นสูตรที่เข้มข้นที่สุด ขายเป็นถังให้กลุ่มลูกค้าร้านอาหาร ส่วนตราตาแป๊ะ ตราบ้าน และตราแดง ความจริงแล้วเป็นสูตรเดียวกัน เพียงแต่ขายคนละโซน อย่างตราตาแป๊ะจะขายในโซนภาคกลาง ตราบ้านเป็นส่วนที่ส่งให้ยี่ปั๊วเจ้าหนึ่งไปทำการตลาด และขายในโซนตะวันออกอย่างจันทบุรี ระยอง และตราด ส่วนตราแดงจะขายอยู่โซนเล็กๆ อย่างชัยนาทและสิงห์บุรี นอกจากนี้ ถ้าหากต้องการซื้อซีอิ๊วดำหวานตรากระเช้า จะต้องไปซื้อถึงจังหวัดสุพรรณบุรี แตกต่างจากตรากุหลาบที่หาซื้อได้ง่ายกว่า
แต่นอกเหนือจาก 6 แบรนด์เดิมแล้ว ปัจจุบันยังมีแบรนด์น้องใหม่ชื่อ ‘บ้านตลาดน้อย’ ที่มาณิสสาพยายามปลุกปั้นอยู่ “ตอนแรกที่มีหกแบรนด์ จะตั้งชื่อเฟซบุ๊กยังยากเลย จะเอาชื่อไหนดี เราเลยพยายามจะดึงคำว่าบ้านตลาดน้อยมาเป็นแบรนด์กลางที่รวมทุกอย่าง มีทั้งสินค้าแบรนด์บ้านตลาดน้อยเอง ซึ่งตอนนี้มีซีอิ๊วออร์แกนิก เต้าเจี้ยว และแบรนด์ซีอิ๊วหกแบรนด์เดิมเอาไว้โดยไม่เปลี่ยนชื่อ เพราะเรารู้สึกว่ามันเป็นแบรนด์ที่อากงเราตั้งใจทำมา แต่แค่เอามันมาอยู่ใต้ร่มบ้านตลาดน้อย”
ถ้า 6 แบรนด์ก่อนหน้าคือแบรนด์ที่ทำขึ้นเพื่อเจาะตลาดร้านอาหารและต่างจังหวัดเป็นหลัก แบรนด์บ้านตลาดน้อยก็คือแบรนด์ที่มาณิสสาพยายามเจาะตลาดกรุงเทพฯ มากขึ้น โดยเน้นไปที่กลุ่มคนรักสุขภาพ เน้นเรื่องการผลิตแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี
“ต่างจังหวัดเขาจะยึดติดกับแบรนด์เล็กๆ แต่เมืองใหญ่เขาไม่รู้จักแบรนด์เล็กเลย เราอยู่ในยุคที่ซีอิ๊วเราไม่เคยมีอยู่ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งเรารู้สึกว่าเราอาศัยอยู่ตรงนี้ เราก็ควรจะทำตลาดของเราให้ดี”
แต่จะทำอย่างไรล่ะ คือคำถามที่หญิงสาวถามตัวเองในช่วงแรก เพราะเธอมองว่าการจะให้เข้าไปแข่งกับรายใหญ่ที่ครองตลาดอยู่เป็นเรื่องยาก ซีอิ๊วหนึ่งขวดราคา 25 – 30 บาท ถ้าคนไม่รู้จัก เขาก็ไม่กล้าเปิดใจลองซื้อไปใช้ นี่เองจึงเป็นเหตุผลให้เกิดโปรดักต์ใหม่ ‘ไข่เค็มซีอิ๊วบ้านตลาดน้อย’ ขึ้น
“ไข่เค็มมาตอนที่เราอยากเริ่มทำตลาดซีอิ๊วของเราในกรุงเทพฯ เลยลองทำอะไรที่คนเข้าใจง่ายๆ กินได้เลย หรือซื้อไปฝากก็ได้ ทำให้กลับมาคิดถึงไข่เค็มซีอิ๊วที่อาม่าเคยทำให้กิน และเริ่มจากการนำกากซีอิ๊วที่เหลือจากโรงงานมาลองทำ ปรากฏว่ารสชาติเหมือนที่อาม่าเคยทำเลย แถมยังช่วยลดส่วน Waste ของโรงงาน เพิ่มมูลค่าให้มันกลายมาเป็นสินค้าใหม่ด้วย”
จากไอเดียนี้ ส่งผลให้แบรนด์บ้านตลาดน้อยเริ่มเป็นที่คุ้นหูของกลุ่มคนรักสุขภาพ และคนที่กำลังมองหาของฝากในช่วงเทศกาลมากขึ้น เนื่องจากไข่เค็มซีอิ๊วไม่ได้วางขายเป็นประจำ แต่จะทำออกมาจำหน่ายเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
และแม้ว่าโรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์จะไม่ได้อยู่ที่ตลาดน้อยแล้ว แต่ทุกคนยังพบกับซีอิ๊วแบรนด์ต่างๆ ได้บ้างในอีเวนต์ ‘ตะลักเกี้ยะ Friendly Market’ ตลาดนัดบริเวณท่าน้ำภาณุรังษีที่จัดเป็นประจำทุกเดือน โดยติดตามข่าวสารการออกบูทได้ที่ Instagram : baantaladnoi
โรงซีอิ๊วโชติสกุลรัตน์
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 08 1647 3822
Facebook : ซีอิ๊วหวานตรากุหลาบ
Instagram : baantaladnoi
ร้านเฮียบเตียง | ขนมเปี๊ยะโบราณหากินยากจากตำรับแต้จิ๋ว
พาไปชิมของคาวแล้วก็ต้องถึงทีของของหวานบ้าง ‘เฮียบเตียง’ เป็นร้านขนมเปี๊ยะโบราณเจ้าเก่าอีกร้านที่ไม่พูดถึงไม่ได้เมื่อมาเยือนย่านตลาดน้อย ด้วยตัวร้านเล็กๆ หนึ่งคูหาที่ซ่อนตัวอยู่ในเส้นทางสายขนมหวานของย่าน กับความเก๋าที่อยู่มานานกว่า 100 ปี
แม้ ‘เอี่ยม แซ่ตั้ง’ อากงเจ้าของร้านเฮียบเตียงจะจากไปได้ประมาณปีกว่า แต่ตัวธุรกิจยังดำเนินต่อด้วยฝีมือทายาท ทำให้เรายังลิ้มรสชาติดั้งเดิมจากสูตรแต้จิ๋วโบราณที่ใส่น้ำส้มเช้งเข้มข้นลงไปผสมแบบทำสดขายวันต่อวันได้อยู่
ไม่ว่าจะเป็น ‘ขนมเปี๊ยะ’ หลากหลายไส้ให้เลือกชิม ‘ขนมโซวเกี้ยว’ ขนมเปี๊ยะแท่งยาว ‘ขนมเจเปี๊ยะ’ ชิ้นเล็กสีขาวกรอบฟูที่มาพร้อมไส้ถั่วเหลือง หรือ ‘อิ่วก้วย’ ขนมกรอบนอกนุ่มในที่หน้าตาละม้ายคล้ายกะหรี่ปั๊บ และ ‘เม่งทึ้ง’ ขนมแป้งนุ่มคลุกงาขาวที่หากินไม่ได้ง่ายๆ
ร้านขนมเปี๊ยะเฮียบเตียง
วันทำการ : ทุกวัน เวลา 09.30 – 17.30 น.
พิกัด : ซอยเจริญกรุง 20 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
แผนที่ : maps.app.goo.gl/1WsneopTDCjpMHjNA
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 08 1907 4877
โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง | ปฏิทินไทย-จีน ที่ลูกหลานคนจีนมีติดบ้านทุกคน
อีกหนึ่งธุรกิจบ้านใกล้เรือนเคียงบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่เรียกว่าเป็นตัวแทนความจีนแบบเต็มเปี่ยม เนื่องจากเป็นปฏิทินจีนที่มีทุกบ้าน นั่นคือ ‘โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง’ ที่ตอนนี้กำลังจัดนิทรรศการ NumEiang Exhibition 2025 : Gate to Prosperity อยู่ที่ River City Bangkok
ไหนๆ ก็ขยับเข้ามาใกล้ตลาดน้อยแบบนี้แล้ว เราเลยขอไปทำความรู้จักธุรกิจของน่ำเอี๊ยงเพิ่มเติมกับ ‘แซม-กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล’ ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้สานต่อความตั้งใจของอากงกันซะเลย
กิตติธัชเล่าให้ฟังว่า แม้เราจะรู้จักน่ำเอี๊ยงในฐานะปฏิทินจีน แต่ความเป็นจริงน่ำเอี๊ยงถือเป็นสำนักโหราศาสตร์จีนที่เปิดมาแล้ว 85 ปี ตั้งแต่ปี 1939 ถ้าจะให้ไล่เรียงไทม์ไลน์ต้องย้อนไปสมัยก่อน ลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของน่ำเอี๊ยงไม่ใช่บุคคลทั่วไป แต่เป็นหมอดูจีนที่จะนำข้อมูลเรื่องโหราศาสตร์ที่เราเขียนหนังสือขึ้นมาไปประกอบอาชีพเป็นหมอดู หลังจากนั้นน่ำเอี๊ยงจึงเริ่มทำบริการดูดวง ดูฤกษ์มงคลต่างๆ ผ่านการวิเคราะห์โหราศาสตร์ว่าวันไหนมงคลมากที่สุด
“วิสัยทัศน์ของอากงคือ ท่านมองเห็นว่าหลักการของโหราศาสตร์จีนเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ถ้าเรานำศาสตร์นี้ไปช่วยผู้คน ทำให้เขามั่นใจมากขึ้นได้ก็น่าจะดี มันจึงออกมาเป็นชื่อ น่ำเอี๊ยง ที่หมายความว่าแสงสว่างจากทางทิศใต้ เปรียบเทียบแล้วเราเป็นเหมือนแสงสว่างสู่ความมงคลความรุ่งเรืองในชีวิตเขา” กิตติธัชบอกกับเราถึงที่มาของชื่อน่ำเอี๊ยง
ส่วนปฏิทินเกิดขึ้นจากการที่น่ำเอี๊ยงมีข้อมูลโหราศาสตร์อยู่ในมือ มีความเข้าใจเรื่องฤกษ์ยามเป็นพิเศษ ในช่วงแรกจึงนำข้อมูลเหล่านี้มารวบรวมใส่ไว้ในปฏิทินและแจกจ่ายไปให้ผู้คน
“ตอนแรกเราทำแค่ปฏิทินแผ่นเดียวที่มีแค่วันธงชัย เป็นการทำแจกให้ลูกหลานชาวจีนที่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย แต่พอทำไปทำมา คนเริ่มรู้จัก มีคนสนใจเยอะขึ้น เราเลยทำปฏิทินมาจนถึงทุกวันนี้”
ถึงอย่างนั้น กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการดูฤกษ์และซื้อปฏิทินของน่ำเอี๊ยงคือคนรุ่นเก่าที่เกิดในยุค Baby Boomer และ Gen X กิตติธัชจึงเริ่มมองถึงการขยายฐานลูกค้าไปยังคนรุ่นใหม่มากขึ้น นำมาสู่การพัฒนา ‘แอปพลิเคชันน่ำเอี๊ยง’ เพื่อดึงเอาข้อมูลสถิติของโหราศาสตร์ที่สามารถคำนวณได้อย่างแม่นยำในมือมาใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่มากขึ้น
“ดวงในปฏิทินมันเป็นดวงโดยรวม แต่ภายในแอปฯ จะเป็นการนำดวงไปคำนวณให้เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคลมากขึ้น เพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการให้คนเข้าใจตัวเองว่าช่วงเวลาไหนเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับเขา ช่วงไหนที่ควรระมัดระวัง” กิตติธัชบอกถึงความแตกต่างของปฏิทินทั่วไปและปฏิทินภายในแอปพลิเคชัน ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก
“ตอนนี้เรามี User อยู่ราวๆ สี่แสนคนและกำลังโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าถามว่าโตเท่าปฏิทินไหม ก็อาจจะไม่ขนาดนั้น แต่มันก็ทำให้เรารู้แล้วว่า จริงๆ กลุ่มคนรุ่นใหม่สนใจเกี่ยวกับเรื่องโหราศาสตร์ไม่แพ้คนรุ่นก่อนเลย”
สำหรับใครที่สนใจเรื่องโหราศาสตร์ และอยากมาร่วมสัมผัสมนตร์เสน่ห์แห่งศิลปะกับพลังมงคล นิทรรศการ NumEiang Exhibition 2025 : Gate to Prosperity จัดอยู่ที่ River City Bangkok ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568
โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง
วันทำการ : ทุกวันยกเว้นวันพุธ เวลา 09.00 – 17.00 น.
พิกัด : 479/20-21 ซอยพระยาสิงหเสนี ถนนพระรามที่ 4 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
แผนที่ : maps.app.goo.gl/eR5pNqweN6DmPv3x8
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 0 2214 3648
Facebook : โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง
พิพิธตลาดน้อย | พื้นที่บอกเล่าเรื่องราวเก่า-ใหม่ในตลาดน้อย
สถานที่สุดท้ายอาจจะไม่ใช่ธุรกิจแบบจีนๆ แต่เป็นหนึ่งในสถานที่ที่จะทำให้เรารู้จักตลาดน้อยมากขึ้น เพราะสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้คือ ชุมชนตลาดน้อยมีพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวความเป็นมาของย่านเป็นของตัวเองด้วย
‘พิพิธตลาดน้อย’ คือพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ขนาด 3 ชั้น อัดแน่นไปด้วยข้อมูลของย่านตลาดน้อยที่นำเสนอออกมาได้อย่างสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ ที่นี่ซ่อนตัวอยู่ในท่าน้ำภาณุรังษี จากการเปลี่ยนโรงกลึงสู่พื้นที่สาธารณะโดยกรมธนารักษ์ ทำหน้าที่เป็นสถานที่ที่บันทึกเรื่องราวเก่าใหม่ของย่านตลาดน้อยเอาไว้ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชน ถือเป็นหนึ่งหมุดหมายการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของกรุงเทพฯ
โดยบริเวณชั้น 1 จะเป็นพื้นที่สำหรับประชาสัมพันธ์ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เหรียญและของที่ระลึก ชั้น 2 สำหรับจัดแสดงนิทรรศการวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชนย่านตลาดน้อย ที่มีกิจกรรมน่ารักๆ อย่างการปั๊มตัวอักษรมงคลในกระดาษเพื่อนำกลับไปเป็นสิริมงคล และชั้น 3 กับพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ชุมชนย่านตลาดน้อย ที่จะมีการเปิดวีดิทัศน์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของย่านทุกๆ ครึ่งชั่วโมง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนจีนริมแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน
พิพิธตลาดน้อย
วันทำการ : วันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น. วันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดวันจันทร์)
พิกัด : ท่าเรือภาณุรังษี แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
แผนที่ : maps.app.goo.gl/2AUELQErZgQP6ySq6
ช่องทางติดต่อ :
เบอร์โทรศัพท์ : 0 2233 7390
Facebook : พิพิธตลาดน้อย