ถ้าติดตามการเมืองภูมิภาคเอเชีย ก็จะรู้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันไม่ค่อยจะสู้ดีมานานมากแล้ว นอกจากการพยายามควบรวมฮ่องกงในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ของ ‘นโยบายจีนเดียว’ ใหญ่ขนาดที่ประกาศว่าถ้าคนไต้หวันต้องการอิสรเสรีก็ต้องแลกกับเลือดเนื้อและสงคราม
จริงๆ แล้วไต้หวันปกครองเป็นอิสระจากจีนตั้งแต่ปี 2492 แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลปักกิ่งก็มองว่าเกาะนี้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตตัวเอง ซึ่งปักกิ่งตั้งใจแน่วแน่ว่าจะ ‘รวม’ ไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่เข้าด้วยกันให้ได้ และจะแข็งข้อใช้กำลังหากจำเป็น
ไม่กี่วันมานี้ กระทรวงกลาโหมไต้หวันเผยว่าแสนยานุภาพของกองกำลังติดอาวุธจีนมีศักยภาพมากขึ้น จนพอที่จะขัดขวางการป้องกันตัวเองของชาติได้ มิหนำซ้ำแผ่นดินใหญ่ยังคอยมอนิเตอร์ไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ ส่วนทางฝั่งไต้หวันเองก็มีการประเมินถึงภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจากเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่ เพราะทางการปักกิ่งกำลังดำเนินการเพิ่มกิจการทางทหารล้อมเกาะ ชนิดที่ว่าจงใจมาหายใจรดต้นคอ
สาเหตุที่ช่วงหลังการเมืองระหว่างสองจีนคุกรุ่น เพราะประธานาธิบดีหญิงของไต้หวันอย่าง ‘ไช่ อิงเหวิน’ แสดงจุดยืนประณามความพยายามของปักกิ่งที่จะบ่อนทำลายประชาธิปไตยของเกาะ ปักกิ่งจึงลุกขึ้นมาเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองและการทหารต่อไทเป
กระทรวงกลาโหมไต้หวันเสนอต่อรัฐสภาว่าด้วยเรื่องกองทัพจีน เพราะประเมินสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้ายแรงขึ้นกว่าปีที่แล้ว เพราะปี 2564 จีนเปิดตัวสิ่งที่เรียกว่า ‘การโจมตีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็ง’ รวมถึงยุทธการบล็อกการสื่อสารข้ามฝั่งตะวันตกที่ครอบคลุมตั้งแต่หมู่เกาะที่ทอดยาวจากหมู่เกาะญี่ปุ่นผ่านไต้หวัน และทอดยาวลงไปที่ฟิลิปปินส์ หรือที่เรียกว่าจุดยุทธศาสตร์ First Island Chain
ปัจจุบันจีนกำลังใช้ยุทธวิธีแบบออนไลน์ โดยรวบรวมกองทัพอินเทอร์เน็ตเพื่อโจมตีอินเทอร์เน็ตทั่วโลกทั้งแบบมีสายและไร้สาย เพื่อให้การป้องกันทางอากาศของไต้หวันเป็นอัมพาตผ่านการบังคับบัญชาทางทะเล และใช้ระบบตอบโต้การโจมตีที่มีประสิทธิภาพ นี่จึงเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อเกาะเล็กๆ อย่างไต้หวัน
ทางกระทรวงได้เสริมว่าจีนได้พัฒนาขีดความสามารถของตัวเองด้วยการใช้ดาวเทียม Beidou ซึ่งเป็นการตอบโต้ระบบ GPS ที่สหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าของ
นั่นหมายความว่าปักกิ่งติดตามความเคลื่อนไหวรอบๆ ไต้หวันโดยได้รับความช่วยเหลือจากเครื่องบินสอดแนม โดรน และเรือรวบรวมข่าวกรองของจีน
ในขณะที่กระทรวงกลาโหมจีนไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็นของไต้หวัน แม้ว่ารายงานของรัฐบาลไทเปจะระบุเมื่อปีที่แล้วว่าจีนยังขาดความสามารถด้านการขนส่งสำหรับการบุกรุกของกำลังทหารในวงกว้าง แต่กองทัพจีนกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อเพิ่มความสามารถเหล่านั้นขึ้นมา เช่น การโจมตีด้วยขีปนาวุธที่แม่นยำซึ่งโจมตีได้ทุกสถานที่บนเกาะ ทั้งยังทำให้ศูนย์บัญชาการทหารของไต้หวันเป็นอัมพาตได้ และมีความพร้อมที่จะสู้รบด้วยกองทัพเรือและกองทัพอากาศทันที
สายลับจีนในไต้หวันอาจเปิด Decapitation Strike ซึ่งเป็นยุทธวิธีทางการทหารรูปแบบหนึ่ง เพื่อทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน ด้วยการใช้ขีปนาวุธพิสัยกลางและยาว รวมถึงการฝึกซ้อมเกี่ยวกับเรือบรรทุกเครื่องบินของจีน
ช่วงต้นปี 2564 รัฐบาลไต้หวันรายงานว่ามีเครื่องบินรบจีนบินเข้าเขตป้องกันภัยทางอากาศของตนมากเป็นประวัติการณ์ นี่คือสงครามประสาทท้าทายอำนาจรูปแบบหนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของความระหองระแหงมาโดยตลอด
ในนโยบายของไช่ อิงเหวิน ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการป้องกันประเทศไต้หวันเป็นลำดับแรก โดยสร้างระบบการป้องกันภายในประเทศ และซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกา ผู้จัดจำหน่ายอาวุธ และผู้สนับสนุนระดับนานาชาติของไต้หวัน
เมื่อมองไปข้างหน้า ศึกนี้ยังดูอีกยาวไกล เพราะจีนกลางยังมีความพยายามจัดการไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แม้คนไต้หวันถือว่าประเทศตัวเองเป็นประชาธิปไตยและอยู่อย่างสงบสุขเสมอมา ทว่าในใจลึกๆ ก็กลัวการรุกล้ำและสูญเสียอธิปไตย เมื่อไม่มีสำนึกร่วมความเป็นชาติกับพรรคคอมมิวนิสต์ โจทย์ที่ท้าทายทั้งรัฐบาลและประชาชนไต้หวันในอนาคต คือทำอย่างไรที่จะเป็นอิสระและหยัดยืนโดดเด่นเป็น ‘ประเทศไต้หวัน’ ได้อย่างสมบูรณ์
Sources :
BBC NEWS |
https://www.bbc.com/thai/international-56732321
COUNCIL on FOREIGN RELATIONS | https://www.cfr.org/backgrounder/china-taiwan-relations-tension-us-policy
Thejapantimes | https://www.japantimes.co.jp/news/2021/09/01/asia-pacific/taiwan-china-defenses-military/