แนวทางป้องกันไม่ให้ซ้ำรอย #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ - Urban Creature

เสียงระเบิดดังสนั่นตอนตี 3 ของเช้าวันที่ 5 กรกฎาคม เป็นต้นเหตุของแฮชแท็ก #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ กลายเป็นประเด็นร้อนประจำสัปดาห์ที่ประชาชนทั่วทุกสารทิศต่างให้ความสนใจ ทั้งภาพความเสียหายจากแรงระเบิดของบ้านเรือน ภาพไฟกำลังลุกไหม้และควันดำพวยพุ่งขึ้นฟ้า หรือภาพมุมสูงทำให้เห็นความใกล้ของระยะโรงงานและชุมชน ส่งผลให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยที่ตั้งโรงงานอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยได้หรือ

ก่อนพาทุกคนไปหาคำตอบที่สงสัย ‘โรงงานกิ่งแก้ว’ หรือ ‘บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด’ เป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกสัญชาติไต้หวัน ก่อตั้งขึ้น พ.ศ. 2532 บริเวณซอยกิ่งแก้ว 21 จังหวัดสมุทรปราการ โดยภาพจากดาวเทียม LANDSAT-5, Sentinel-2 และ Thaichote (ไทยโชต) เผยให้เห็นที่ตั้งโรงงานในอดีตอยู่กลางทุ่งนา ภายหลังเกิดการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านจัดสรร สนามบินสุวรรณภูมิ หรือห้างสรรพสินค้า กลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่รอบโรงงาน

โรงงานผิดที่ตั้งอยู่ในชุมชน?

อย่างที่เรารู้กันว่า ‘กฎหมายผังเมือง’ มีแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินหรือผังสี เพื่อบอกประเภทการใช้งาน ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย สถาบันการศึกษา ไปจนถึงเกษตรกรรม ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลบนเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่า ‘บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด’ จัดตั้งขึ้นก่อน ‘ผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2537’ (ฉบับแรก) ถูกบังคับใช้ ซึ่งในผังเมืองรวมปีดังกล่าวถูกจัดอยู่ในพื้นที่โซน ‘สีส้ม’ (ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย) ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘สีแดง พ.4’ (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) ในผังเมืองรวมจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 มาจนถึงปัจจุบัน โดยจัดให้เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้าและบริการ รวมไปถึงการท่องเที่ยว เพราะการเข้ามาของสนามบินสุวรรณภูมิ 

ถึงแม้กฎหมายจะไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง แต่คณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินปรับปรุง แก้ไข หรือระงับการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ หากโรงงานขัดต่อความปลอดภัยของประชาชน โดยต้องมีเงินชดเชยให้โรงงาน ตามมาตรา 37 วรรคสอง พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 และต่อให้มี ‘สี’ ระบุโซนประเภทที่ดิน เพื่อบอกลักษณะการใช้งานแต่เมื่อถึงเวลาทำจริง กลับมีความลักลั่นของพื้นที่สูง เช่น การสร้างบ้านจัดสรรในพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่เกษตรกรรม รวมไปถึงข้อกำหนดการใช้ที่ดินมีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่าพื้นที่นั้นสร้างอะไรได้บ้าง และต้องอยู่ในระยะเท่าไหร่ ซึ่งบางส่วนอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อเลี่ยงระเบียบผังเมือง

รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา นายกสมาคมนักผังเมืองไทย ได้โพสต์สรุปผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในย่อหน้าสุดท้ายว่า “มีกฎหมายผังเมืองที่จะสั่งระงับหรือแก้ไขกิจการที่อยู่มาก่อน แต่ปัจจุบันเป็นอันตรายต่อพื้นที่โดยรอบได้ แต่ไม่มีใครใช้ เพราะไม่มีคนที่ได้ประโยชน์ยอมจ่ายค่าชดเชย รัฐเองก็ไม่กล้ามาเรียกเก็บจากคนได้ประโยชน์เพราะไม่อยากจะโดนด่า พอมีปัญหาขึ้นมาก็โทษผังเมืองว่าไม่ทำตามกฎหมาย…”

ยกเลิกการต่อใบอนุญาตโรงงาน ความปลอดภัยเท่าเดิม?

หลังจากภารกิจดับไฟโรงงานกิ่งแก้ว ต้องใช้เวลาคุมเพลิง 28 ชั่วโมง ลากยาวตั้งแต่ตี 3 วันจันทร์มาจนถึงเช้าตรู่วันอังคาร ทำให้ประชาชนออกมาเรียกร้องให้นำระบบ ‘การต่อใบอนุญาตโรงงาน’ กลับมา หลัง คสช. สั่งปรับแก้ ‘พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535’ ให้ยกเลิกการต่อใบอนุญาตประกอบโรงงาน (รง.4) จากเดิมต่อทุก 5 ปี มาเป็นระบบ Third Party ให้เอกชนรับรองตนเอง และยกเลิกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่เก็บอยู่ 1,500 – 60,000 บาท ไปเมื่อ พ.ศ. 2562 เพื่อความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้ประกอบการ

การยกเลิกระบบต่อใบอนุญาตอาจทำให้โรงงานเกิดการหละหลวมด้านความปลอดภัยและสร้างผลกระทบรุนแรง ดังนั้นกระบวนการต่อใบอนุญาตจึงเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเช็กโรงงานให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการรวบรวมเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมาเป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาว่า ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’

เช่นเดียวกับกรณี #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ที่เป็นคำตอบว่าทำไมการต่อใบอนุญาตโรงงานถึงสำคัญมากกว่า ‘ความสะดวกสบาย’ หรือ ‘ความรวดเร็ว’ เพราะอุบัติภัยที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิด

กฎหมาย PRTR ‘ไปต่อ’ หรือ ‘ปัดตก’?

ไฟไหม้โรงงานพลาสติกในครั้งนี้ มีสารเคมีอันตรายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene Monomer หรือ SM) ราว 1,600 ตัน เมื่อถูกเผาไหม้จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ทำให้ปวดหัว คลื่นไส้ หน้ามืด เป็นต้น ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการเตรียมตัวรับมือ เพราะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารเคมีข้างต้น 

ดังนั้น ประเทศไทยควรผลักดันกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) อย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่าโรงงานหรือชุมชนของตนเองมีสารมลพิษอะไรอยู่รอบตัวบ้าง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมต้องรายงาน ‘สารพิษในการครอบครอง’ ต่อกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งกว่า 50 ประเทศทั่วโลกมีกฎหมาย PRTR เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เบื้องต้นทางพรรคก้าวไกลได้ยื่นร่างกฎหมาย PRTR ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แต่ถูกจัดให้เป็น ‘ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน’ จึงต้องรอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับรองก่อน ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับคำตอบใดกลับมา 

‘โรงงาน’ กับ ‘พื้นที่เมือง’ อยู่ร่วมกันได้?

ถึงแม้ยังไม่มีการระบุถึงสาเหตุการระเบิดในครั้งนี้ แต่บทเรียน #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง ‘โรงงาน’ และ ‘พื้นที่เมือง’ เพราะนี่ไม่ใช่เคสแรกของประเทศไทย เรามีบทเรียนมาตั้งแต่เหตุการณ์ โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ระเบิด จ.ชลบุรี (พ.ศ. 2542) โคบอลต์-60 จ.สมุทรปราการ (พ.ศ. 2543) โรงงานบีเอสทีระเบิด จ.ระยอง (พ.ศ. 2555) ท่อส่งก๊าซ ปตท.ระเบิด จ.สมุทรปราการ (พ.ศ. 2563) ฯลฯ

คงถึงเวลาที่ ‘โรงงานอันตราย’ ควรแยกออกจาก ‘พื้นที่เมือง’ อย่างกรณีที่โรงงานมาตั้งก่อนชุมชนต้องบอกว่านี่ไม่ใช่ความผิดของโรงงาน ซึ่งคณะกรรมการผังเมืองมีอำนาจสั่งให้ปรับปรุง แก้ไขตามเงื่อนไขที่กำหนดกรณีที่โรงงานอาจผิดผังเมือง แต่ไม่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ หรือระงับใช้หากพิจารณาแล้วว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน โดยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โรงงานอย่างเป็นธรรม

และต้องไม่ลืมนำระบบการต่อใบอนุญาตโรงงานกลับมา เพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ไปจนถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมถึงการผลักดันกฎหมาย PRTR เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต


Sources :
Greenpeace Thailand | https://bit.ly/3qQqgid
PPTV36 | https://bit.ly/3qMJaXv
กฎกระทรวง | https://bit.ly/3yw7aRn
กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ. 2544 | https://bit.ly/3hg0z7Q
กรมโรงงานอุตสาหกรรม | https://bit.ly/3dLcAQz
กรุงเทพธุรกิจ | https://bit.ly/2UtKBy1
บัญชีท้ายกฎกระทรวง พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 | https://bit.ly/3xqyDE0
ประชาชาติธุรกิจ | https://bit.ly/3hxkONa
พรรคก้าวไกล | https://bit.ly/3jMFuDF
พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 | https://bit.ly/2UsrUe4
พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 | https://bit.ly/3qOnaLE
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ | https://bit.ly/3dMtD4A
มติชน ออนไลน์ | https://bit.ly/36d5nVh
มนุษย์ หมาป่า | https://bit.ly/3yspfQ2
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLaw | https://bit.ly/2Uu5wRy, https://bit.ly/2SOnPAi
สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ | https://bit.ly/3hkCQDp

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.