ถนนช้างม่อยมีความยาวราวหนึ่งกิโลเมตร วางตัวขนานกับถนนท่าแพ เชื่อมคูเมืองโบราณใจกลางเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่เข้ากับพื้นที่เลียบแม่น้ำปิง
ส่วนถนนราชวงศ์เป็นถนนสายสั้นที่ตัดผ่านถนนช้างม่อยบริเวณซุ้มประตูทางเข้าตลาดวโรรส
ทั้งสองเป็นถนนสายรองที่เรียงรายไปด้วยอาคารเก่าแก่กว่า 50 ปี ซึ่งเป็นทั้งร้านค้าและโกดังเก็บสินค้าของผู้ประกอบการรุ่นต่อรุ่น
พร้อมไปกับกระแสการฟื้นฟูย่านเก่าด้วยรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จากย่านเก่าแก่ที่หลายคนเคยมองข้าม ช้างม่อยและราชวงศ์ก็ตกอยู่ภายใต้แสงสปอตไลต์ และดูเหมือนจะถูกมองว่าเป็น ‘ย่านนิมมานเหมินท์ใหม่’ ในสายตาของนักท่องเที่ยว
แม้จะมีการเปรียบเปรยเช่นนั้น แต่ช้างม่อย-ราชวงศ์ กลับมีเอกลักษณ์ที่ต่างออกไปจากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรที่ดินใหม่อย่างนิมมานเหมินท์อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากต้นทุนดั้งเดิมของย่านคืออาคารเก่า เราจึงพบรูปแบบ Mixed-use ผสานความเก่า-ใหม่ภายในพื้นที่อย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ที่ซ่อนตัวอยู่บนพื้นที่ชั้นบนของร้านค้าเก่าแก่ที่ยังคงเปิดกิจการ ร้านขายเสื้อผ้าในโกดังที่เคยร้าง หรือกระทั่งโชว์รูมสินค้าดีไซเนอร์ที่ตั้งอยู่กลางชุมชน เป็นอาทิ
ไม่ว่าจะตั้งใจให้เป็นหรือไม่ รูปแบบของการผสมผสานการใช้งานเหล่านี้ได้มาพร้อมการสร้างนิยามของการเป็นย่านสร้างสรรค์ให้กับเมืองเชียงใหม่ไปโดยปริยาย ทั้งจากการประยุกต์ใช้พื้นที่อย่างชาญฉลาด การดึงดูดให้คนทำงานสร้างสรรค์หรือผู้ที่สนใจธุรกิจเข้ามาใช้พื้นที่ รวมถึงการมีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
คอลัมน์ Neighboroot ชวนไปเลาะตรอกซอย และเดินขึ้นชั้นสองของอาคารในย่านการค้าเก่าแก่ของเมืองเชียงใหม่ เพื่อสำรวจที่มาและพัฒนาการของย่าน ผ่านมุมมอง ‘คนใน’ ที่มีส่วนในการพลิกโฉมพื้นที่แห่งนี้
Brewginning : จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน
เริ่มกันที่หัวถนนช้างม่อย บริเวณสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนช้างม่อยสายเก่ากับสายใหม่ อันเป็นศูนย์รวมร้านขายเครื่องหวายเก่าแก่ในย่านเมืองเก่า ที่นี่คือที่ตั้งของ Brewginning Coffee ร้านกาแฟในอาคารปูนสไตล์โมเดิร์นผสมกลิ่นอายอาร์ตเดโค อายุเกินครึ่งศตวรรษ ร้านที่เรามองว่าเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่เปลี่ยนภาพจำของย่านนี้ไปโดยสิ้นเชิง
‘โชค-พีรณัฐ กาบเปง’ เจ้าของร้าน เคยทำงานในร้านกาแฟที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ก่อนจะกลับมาเปิดร้านของตัวเองในบ้านเกิดที่เชียงใหม่เมื่อปี 2019
“ผมอยากเปิดร้านในย่านเก่าของเมือง จึงตระเวนหาตึกเก่าจนพบอาคารหลังนี้ แต่เดิมมันเคยเป็นร้านขายเครื่องหวาย ก่อนที่เจ้าของจะย้ายไปฝั่งตรงข้าม และปิดมันไว้เฉยๆ พอได้เห็นความสวยของตัวตึก และทำเลที่อยู่ตรงหัวมุมสี่แยกพอดี ผมก็เลยติดต่อขอเช่ากับเจ้าของเขาทันที” โชคเล่า
“ตอนที่ได้เช่าตึกหลังนี้ เพื่อนหลายคนก็ทักว่าย่านช้างม่อยนี่นะ จะไหวหรือ เพราะพอมองย้อนกลับไปเมื่อห้าปีที่แล้ว ช้างม่อยถูกจดจำในฐานะทำเลทางผ่านไปตลาดวโรรส สองข้างถนนสายนี้เต็มไปด้วยร้านรวงของผู้ประกอบการรุ่นเก่า ไม่น่าใช่ทำเลที่ดีสำหรับทำร้านกาแฟ” เขาเล่าต่อ
กระนั้น โชคและหุ้นส่วนของเขาก็ยังคงยืนยันความคิดเดิม พวกเขาเริ่มรีโนเวตอาคารโดยคงโครงสร้างเดิมไว้ทั้งหมด และเพียงไม่นานหลังจากเปิดทำการ ด้วยคุณภาพของกาแฟ บวกกับเสน่ห์ของอาคารและย่านเก่า Brewginning Coffee ก็กลายมาเป็นจุดดึงดูดนักดื่มกาแฟ Café Hopper และนักท่องเที่ยวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ร้านของโชคไม่เพียงช่วยฟื้นชีวิตให้อาคาร แต่ยังจุดประกายให้ผู้ประกอบการคนอื่นเห็นศักยภาพของย่านนี้ นำมาซึ่งธุรกิจใหม่ๆ ที่ทยอยเกิดขึ้นตามมา
“สิ่งที่ดีใจคือ พอร้านมาตั้งอยู่ท่ามกลางร้านขายเครื่องหวายดั้งเดิม มันช่วยดึงดูดคนหลากหลายรุ่นเข้ามาใช้บริการเรา หลายคนมาซื้อเครื่องหวายติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ลูกค้าของเรามีแทบทุกวัย บางครั้งมากันเป็นครอบครัว หลายคนอาจมาแค่ถ่ายรูปเช็กอิน แต่ผมก็ดีใจที่ร้านมีส่วนช่วยให้ย่านนี้กลับมาคึกคักอีกครั้ง” โชคกล่าว
อาคารมัทนา : โอกาสจากพื้นที่ชั้นบน
ถัดจากร้าน Brewginning Coffee ไม่ไกล คืออาคารมัทนา อาคาร 3 ชั้น 6 คูหา ซึ่งปัจจุบันชั้นล่างเป็นที่ตั้งของร้านสะดวกซื้อชื่อดัง อาคารหลังนี้เคยเป็นสำนักงานใหญ่ของ บริษัท มัทนาพาณิชย์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายไม้รายแรกๆ ของเชียงใหม่ แต่เมื่อเจ้าของย้ายสำนักงานออกไป อาคารพร้อมโกดังด้านหลังจึงถูกปล่อยร้างเป็นเวลาหลายปี
เมื่อย่านช้างม่อยเริ่มได้รับความสนใจในฐานะย่านไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ (CEA เชียงใหม่) จึงเห็นถึงศักยภาพของอาคารใจกลางย่านแห่งนี้ ก่อนจะชักชวนเจ้าของให้เปิดพื้นที่ชั้นบนเพื่อใช้งานในโอกาสพิเศษ จนนำมาสู่การทดลองคืนชีวิตให้อาคาร (ชั่วคราว) ผ่านการจัดพื้นที่นิทรรศการภายในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2566 (Chiang Mai Design Week 2023) ซึ่งอาคารมัทนากลายเป็นสถานที่จัดงานหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ เวิร์กช็อป ลานฉายภาพยนตร์ และการแสดงดนตรีสดบนดาดฟ้า
ผลสำเร็จจากโครงการนี้ยังนำมาสู่โปรเจกต์ ‘เหนือชั้น’ (Upper Floor Project) ของ CEA เชียงใหม่ นำเสนอแนวทางการใช้พื้นที่ชั้นบนของอาคารพาณิชย์ที่ยังว่างอยู่ โดยมีถนนช้างม่อยเป็นกรณีศึกษา โครงการนี้ดำเนินต่อเนื่องถึงกลางปี 2567 พร้อมดึงผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์มาเปิดสตูดิโอ แกลเลอรี และโชว์รูมบนพื้นที่ชั้นสองในย่านช้างม่อยและราชวงศ์
ล่าสุดในเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 (Chiang Mai Design Week 2024) อาคารมัทนาก็กลับมาใช้งานในฐานะสถานที่จัดงานหลักอีกครั้ง พร้อมกับทางเจ้าของอาคารเริ่มมองเห็นศักยภาพในการเปลี่ยนสำนักงานเก่าแห่งนี้ให้กลายเป็นแหล่งไลฟ์สไตล์แห่งใหม่ โดยระหว่างนี้ยังได้มีการพัฒนาโกดังด้านหลังอาคาร เปิดให้ผู้ประกอบการมาเช่าทำธุรกิจ ภายใต้ชื่อ ‘โกดังช้างม่อย’
The Haven Playground : สนามเด็กเล่นในโกดัง
การพัฒนาพื้นที่โกดังช้างม่อยนำมาซึ่งธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนโฉมย่านอย่างน่าตื่นตา หนึ่งในนั้นคือ The Haven Playground ของ ‘ดิว-ณัฐณิชา ใจธรรม’ ผู้เล็งเห็นศักยภาพของโกดังที่โปร่งโล่งและกว้างขวางแห่งนี้ เธอแปลงโฉมพื้นที่ว่างเปล่าให้กลายเป็นสนามเด็กเล่นในร่ม ห้องสมุดสำหรับเด็ก และโรงหนังกลางแปลง รวมไว้ในที่เดียว
แรงบันดาลใจของดิวเริ่มต้นจากการเลี้ยงลูกแบบโฮมสคูล ซึ่งทำให้เธอสังเกตเห็นว่า เด็กๆ ที่เรียนโฮมสคูลมักขาดพื้นที่ในการพบปะและทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนกับเด็กโรงเรียนทั่วไป เมื่อได้โอกาสเช่าพื้นที่ในโกดัง เธอจึงริเริ่มสร้างพื้นที่ที่ตอบโจทย์ทั้งการเรียนรู้และความสนุก
จากโกดังว่างเปล่า ดิวเริ่มต้นด้วยการสร้างสนามเด็กเล่นจากไม้ไผ่ ปูพื้นด้วยทราย ติดตั้งห้องสมุดเล็กๆ พร้อมโปรเจกเตอร์ และสร้างอัฒจันทร์ขนาดกะทัดรัดสำหรับฉายภาพยนตร์ The Haven Playground เปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 และกลายเป็นสถานที่นัดพบยอดนิยมของครอบครัวโฮมสคูล รวมถึงนักดูหนังนอกกระแสที่มาชมหนังเก่าเคล้าบรรยากาศสบายๆ ในทุกค่ำคืน
“ก่อนจะเปิดที่นี่ เราทำร้านกัญชาแถวกาดหลวง และน้องชายเราก็เปิดร้านขนมหวานบนถนนเส้นนี้ (ร้านขนมหวานช้างม่อย) มานานกว่าสิบปี เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของย่านช้างม่อยมาตลอด แต่สังเกตว่านอกเหนือจากร้านกาแฟหรือร้านเหล้า ก็แทบไม่มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมอื่นๆ เราเลยอยากสร้างพื้นที่แห่งนี้ให้รองรับกิจกรรมหลากหลายสำหรับคนทุกวัย” ดิวเล่า
ซึ่งก็เป็นดังที่ดิวเล่า นอกจากจะเป็นสนามเด็กเล่นในตอนกลางวันและโรงฉายภาพยนตร์ในยามค่ำคืน ตลอดปีที่ผ่านมา The Haven Playground ยังรองรับกิจกรรมสังสรรค์อื่นๆ เรื่อยมา ทั้งเวิร์กช็อป งานเสวนา กิจกรรมขององค์กร และการแสดงดนตรีสด ไปจนถึงเทศกาลหนังสือ Books & Beers Festival 2024 ที่เพิ่งจัดขึ้นไม่นานอีกด้วย
The Goodcery Space : ร้านชำร่วมสมัยกับการเป็น Shared Space ชั้นบน
มาต่อที่ถนนราชวงศ์ ย่านเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบเชิงบวกจากการเปลี่ยนผ่านของช้างม่อย จนกลายเป็นจุดเช็กอินยอดนิยมของคนรุ่นใหม่เช่นเดียวกัน
ท่ามกลางร้านค้าดั้งเดิมสองข้างถนนอย่างร้านสังฆภัณฑ์ ร้านขายอะไหล่รถ ไปจนถึงร้านซ่อมเครื่องเสียง และแล้วหนึ่งในไวบ์ร่วมสมัยก็ปรากฏภายในถนนราชวงศ์ ซอย 3 เมื่อมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ลงขันกันเปลี่ยนโกดังเก่าของร้านวัสดุก่อสร้างให้กลายเป็น โกดังราชวงศ์ (Kodang Rachawong)
โกดังราชวงศ์เปิดตัวในปี 2019 ประกอบขึ้นด้วยหลากธุรกิจที่ตอบโจทย์วิถีของคนรุ่นใหม่ เช่น ร้านกาแฟ Specialty ร้านอาหารดีไซน์ร่วมสมัย ร้านขายเสื้อผ้าวินเทจ ร้านแผ่นเสียง สตูดิโอศิลปิน และเกสต์เฮาส์ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่จัดตลาดนัดสินค้าทำมือและสินค้าวินเทจ ซึ่งช่วยเพิ่มความคึกคักให้กับย่านอย่างมาก
ไม่ไกลจากโกดังราชวงศ์ The Goodcery Space เป็นอีกหนึ่ง Community Space ที่เกิดจากการเปลี่ยนฟังก์ชันของพื้นที่เดิมที่เคยเป็นร้านขายวิทยุเก่าแก่ในย่านเช่นกัน
The Goodcery Space เปิดตัวในปี 2022 ตั้งอยู่ในอาคาร 3 ชั้น 4 คูหา ชั้นล่างเป็นที่ตั้งของร้านอาหาร Brunch และคาเฟ่ (And Then We Booze & Brunch) ไวน์และทาปาสบาร์สไตล์เมียนมา (And then we drink และ Bamama Tapas) ร้านขายของชำที่คัดสรรผลิตภัณฑ์ชุมชนจากทั่วประเทศ (The Goodcery) ขณะที่พื้นที่ชั้นสองถูกเปลี่ยนให้เป็น Shared Space ที่มีทั้งแกลเลอรีศิลปะ สตูดิโอของศิลปิน และสำนักงานสถาปนิก รวมถึงลานด้านหลังที่ถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมในโอกาสพิเศษ พร้อมกับมีอาคารที่แยกออกมาด้านข้างสวนเป็นร้านสัก (Big Ink Tattoo)
‘น้ำตาล-ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร’ ผู้ก่อตั้งและหุ้นส่วนของร้านเล่าว่า เดิมทีเธอตั้งใจอยากทำให้ที่นี่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับการทำร้านอาหารกึ่งคาเฟ่และไวน์บาร์ อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของการจัดการพื้นที่ชั้นบนของอาคาร เธอจึงเปลี่ยนแผน โดยเปิดรับเพื่อนบ้านที่สนใจเข้ามาแชร์พื้นที่ จนมีรูปแบบผสมผสานดังที่กล่าว
“ความตั้งใจแรกคือเราอยากให้ The Goodcery Space เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชนรอบข้าง เราเลยตั้งธงว่าเราจะไม่เป็นคู่แข่งกับใครในย่าน ถ้าร้านขายของชำใกล้ๆ มีสินค้าตัวนี้ขายแล้ว เราจะไม่นำมาขายเพื่อจะได้ไม่ทับไลน์กัน” น้ำตาลเล่า
“เพราะในขณะที่ย่านราชวงศ์และช้างม่อยมีลักษณะเป็นย่านการค้า แต่ขณะเดียวกัน ที่นี่ก็เป็นชุมชนเมืองที่ผู้ประกอบการและคนทำงานพักอาศัยไม่น้อย เราจึงตั้งใจวางทิศทางของร้านให้เป็นพื้นที่สำหรับคนเชียงใหม่ เท่าๆ กับร้านสำหรับนักท่องเที่ยว
“เมื่อเป็นเช่นนั้น เราคิดถึงการเปิดพื้นที่ชั้นบนให้คนเข้ามาร่วมแชร์ในราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งมันก็วินวินทั้งเราได้เพื่อนบ้านไปด้วย ทำให้ย่านมีความหลากหลายทางธุรกิจ และอาจจะเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับพื้นที่ไปพร้อมกัน”
ไม่เพียงร้านของน้ำตาลและโกดังราชวงศ์ ภายในละแวกเดียวกันบนถนนสายนี้ ยังมี จุดพักใจ (Joodpakjai) คาเฟ่ดีไซน์เก๋เปิดใหม่ และโรงแรมดาร์เลย์ (Darley Hotel) โรงแรมเก่าคู่ย่านที่ได้รับการรีโนเวตใหม่ ทั้งสองต่างมีรูปแบบ Mixed-use ในอาคารเก่าแบบเดียวกัน โดยจุดพักใจได้แบ่งพื้นที่ชั้นบนของอาคารเป็น Creative Space รองรับการจัดนิทรรศการศิลปะ รวมถึงการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์และละครเวที ส่วนโรงแรมดาร์เลย์ที่เพิ่งมีการรีโนเวตใหม่ ก็เปิดอาคารส่วนหน้าของโรงแรมให้ผู้ประกอบการมาเช่าทำธุรกิจบาร์ ร้านอาหารบนชั้นดาดฟ้า และร้านจำหน่ายสินค้ามีดีไซน์
ธน-อาคาร : ชีวิตใหม่ของธนาคารเก่า
ปิดท้ายที่ ธน-อาคาร (Thana-Arkarn Project) อีกหนึ่งโครงการ Mixed-use ซึ่งเกิดจากการรีโนเวตอาคารสูง 4 ชั้น ของธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนราชวงศ์ ที่ปิดตัวลงช่วงก่อนโควิด-19 ที่ผ่านมา เรามองว่าถ้าโครงการนี้แล้วเสร็จ มันจะเน้นย้ำภาพของความใหม่-เก่าภายในย่านราชวงศ์และช้างม่อยได้อย่างชัดเจน
‘จักร์ เชิดสถิรกุล’ เจ้าของร้านเคมีกิจเกษตร ซึ่งตั้งอยู่บนสุดปลายถนนราชวงศ์ เล่าว่า บ้านของเขาอยู่ในละแวกเดียวกันบนถนนสายเดียวกัน ปากซอยตรงข้ามธนาคารกสิกรไทยที่อาคารนี้ตั้งอยู่
“เมื่อทราบว่าอาคารจะถูกขายทอดตลาดหลังจากที่แบงก์ต้องปิดตัวลง ด้วยความที่ผูกพันกับอาคารหลังนี้มาตั้งแต่เด็กและชื่นชอบรูปแบบสถาปัตยกรรมของมัน ผมตัดสินใจลงทุนซื้ออาคารนี้เพื่อรักษาให้มันยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไป” จักร์เล่า
อาคารหลังนี้ออกแบบโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สถาปนิกชื่อดังของไทย ผู้ออกแบบธนาคารกสิกรไทยหลายแห่งทั่วประเทศในยุคก่อตั้ง จุดเด่นของอาคารนี้อยู่ที่ฟาซาด (Facade) ที่จำลองรูปทรงของรวงข้าวด้วยคอนกรีตเปลือกบาง โดยอาคารสร้างเสร็จในปี 2515 และเปิดทำการในปี 2516 ก่อนจะอยู่คู่กับถนนราชวงศ์มาเกือบ 50 ปี จนถึงช่วงที่หน้าที่ของมันหมดลง
“ผมเคยไปเยี่ยมชม Stadsarchief Amsterdam ในอัมสเตอร์ดัม และเห็นการรีโนเวตอาคารเก่าเป็นหอจดหมายเหตุของเมือง” จักร์กล่าว “ผมอยากทำซิตี้อาร์ไคฟ์สำหรับย่านและเมืองของเราเช่นเดียวกัน รวมถึงพื้นที่จัดนิทรรศการและพื้นที่การค้าภายในอาคารนี้
“สำหรับผม เสน่ห์ของย่านราชวงศ์และช้างม่อยคือความผสมผสาน” จักร์กล่าวต่อ “ถ้ามองเผินๆ จะเห็นว่านี่คือย่านการค้าของคนไทยเชื้อสายจีนในอดีต แต่จริงๆ แล้วพื้นที่นี้มีทั้งคนเมือง คนอินเดียที่นับถือซิกข์ ไม่ไกลจากกันก็ยังมีชุมชนชาวไทและเมียนมา รวมถึงสถานกงสุลฯ อเมริกาที่อยู่ไม่ไกลจากกัน ความผสมผสานเหล่านี้มาพร้อมประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และเรื่องราวอีกมากมาย เลยคิดว่าในเมื่อเรามีต้นทุนทั้งทางด้านทำเลและความโดดเด่นของตัวอาคารแล้ว การใช้พื้นที่นี้เล่าเรื่องย่านและเมืองเชียงใหม่เป็นสิ่งที่น่าสนใจมากสำหรับโครงการนี้”
เหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของความเคลื่อนไหวร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในย่านที่คนเชียงใหม่อาจเคยมองข้าม น่าสังเกตว่าผู้ประกอบการหลายรายไม่ได้เพียงแค่นำเสนอสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังมุ่งทำให้ธุรกิจของพวกเขาสอดคล้องและรองรับความต้องการของผู้คนในย่าน ความเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบันนี้สร้างความแตกต่างให้กับย่านช้างม่อย-ราชวงศ์ และยังเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่และต่างถิ่นได้ค้นหาจุดลงตัวระหว่างความเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์และการอยู่อาศัย
หากคุณมาเยือนเชียงใหม่ เราขอเชิญชวนให้ลองเดินสำรวจย่านนี้ดูสักครั้ง เชื่อว่าคุณอาจจะพบเสน่ห์อื่นๆ ที่บทความนี้ไม่ได้บอกเล่าอีกมาก