ถ้าเกิดคุณสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ในกรุงเทพฯ มหานครอันแสนวุ่นวายที่มีพร้อมทุกอย่าง ขาดบ้าง เกินบ้าง ใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง คุณอยากจะเปลี่ยนอะไร?
พอนึกถึงว่ามีอะไรที่อยากให้ปรับปรุง เน้นความอยากให้เป็น ไม่ต้องเน้นความเป็นไปได้ อันดับแรกๆ เราก็นึกถึง Infrastructure หรือสิ่งก่อสร้างพื้นฐานก่อนเป็นอันดับต้นๆ เพราะมันเปรียบเสมือนสิ่ง Built-in ที่ก่อให้เป็นเมือง ไม่ว่าจะเป็นถนน ตึก สะพาน เสาไฟ สายไฟ ระบบสาธารณูประโภคต่างๆ เพราะถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานที่เปรียบเหมือนวัตถุดิบที่ดีตั้งแต่ต้น เมืองก็น่าอยู่ไปแล้วครึ่งหนึ่ง
เนื่องจากเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดและโตและใช้ชีวิตในเมืองกรุงแห่งนี้ เวลาไปไหนมาไหนย่อมเห็นข้อดีและปัญหาของสิ่งต่างๆ รอบตัว เลยเกิดเป็นซีรีส์ “ถ้าคุณสามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ในกรุงเทพฯ คุณจะเปลี่ยนอะไร?” ขึ้นมา
ประเดิมตอนแรกด้วย ฟุตพาท สิ่งก่อสร้างพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้ใช้ในทุกๆ วัน ฟุตพาทคือทางเท้าสำหรับคนเดิน ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “foot = เท้า” “path = ทาง” แต่ทุกวันนี้น้อยฟุตพาทนักที่จะน่าเดิน หรือเอื้อกับการเดิน
อุปสรรคในการเดินที่เราพบเจอนั้นมีมากมายหลากหลายรอบทิศทาง จากการสอบถามความเห็นประชากรชาวออฟฟิศใจกลางเมืองแห่งหนึ่งที่ต้องใช้ฟุตพาทเพื่อเดินมาทำงานและไปทานข้าวเที่ยงทุกวันจำนวน 4 คนถ้วน กับคำถามเดียวกันนี้ ก็ได้คำตอบว่า
“อยากเปลี่ยนฟุตพาทไม่ให้เป็นกับระเบิดอะค่ะ”
“ไม่เอาอิฐแผ่นๆ ค่ะ”
“ไม่อยากให้มอ’ไซค์วิ่งหรือจอดค่ะ”
“ไม่เอาเสาหรือตู้ใดๆ มาขวางทางอะครับ”
โอเค แค่คำตอบง่ายๆ จากคน 4 คนก็ครอบคลุมเกือบทุกปัญหาของฟุตพาทกรุงเทพฯ ละ
ปัญหากับระเบิดที่เวลาฝนตกและคุณเดินฉับๆ เพื่อหลบฝน กระโดดกระหยองกระแหยงเพื่อเลี่ยงบ่อน้ำขัง และทันใดนั้นคุณก็เป็นผู้โชคดีซึ่งเหยียบแผ่นอิฐแผ่นที่มีน้ำขังอยู่ข้างใต้ และน้ำก็กระฉอกออกมาใส่เท้าคุณเต็มๆ ถ้าเป็นแบบนี้ สามารถตัดปัญหาโดยการไม่ใช้อิฐแผ่นได้หรือไม่? การที่เดินๆ อยู่จะต้องคอยหลบเสา หลบตู้ หลบแผงร้านค้า หลบก่อสร้าง และหลบมอ’ไซค์ที่วิ่งไปมาบนฟุตพาทนั้น แก้ด้วยการออกแบบที่ดี และบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นได้หรือไม่?
ได้หรือไม่ได้ สำหรับประเทศแห่งนี้คงเป็นไปได้แค่ในทางทฤษฎี แต่ถ้าอยากให้เกิดขึ้นจริงคงต้องรวมพลังอธิษฐานพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกกึ่งหนึ่งเพื่อจะเห็นฟุตพาทที่ใช้ได้ดีมีคุณภาพรอบเมือง ในเมื่อเราเห็นแล้วว่าปัญหาของฟุตพาทไทยมีทั้งวัสดุที่ไม่ได้เรื่อง แตก กะเทาะ กระท่อนกระแท่น การออกแบบที่เดินๆ อยู่ก็ต้องหลบเสา หลบต้นไม้ หลบหน้าร้านขายของต่างๆ ลงไปเดินบนขอบถนน การมีมอ’ไซค์ขึ้นมาวิ่งเพื่อเลี่ยงรถติดบนถนน บางจุดไม่มี Access สำหรับรถเข็น คือไม่เอื้อการใช้ต่อคนพิการ และเอาเป็นว่าไม่เอื้อการใช้ต่อใครเลย ฟุตพาทกลายเป็นเหมือนอะไรก็ไม่รู้ที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่ตรงจุด เรามาดูกันดีกว่าว่าฟุตพาทที่ดีควรจะมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง
เว็บไซต์ Urban Sustainability อย่าง thecityfix.com เขาคิดว่าฟุตพาทที่ดีต้องมีคุณสมบัติ 8 อย่างต่อไปนี้
มีขนาดที่เหมาะสม – ฟุตพาทควรจะมีขนาดที่เหมาะสมให้เพียงพอสำหรับ 3 โซน คือโซน Service มีม้านั่ง ถังขยะ เป็นโซนที่เป็นเหมือน Space สาธารณะไว้บริการชุมชน โซนที่สองคือโซน Free Zone คือโซนพื้นที่โล่งไว้สำหรับเดิน และโซนสุดท้ายคือโซน Transition คือโซนที่เปลี่ยนจากพื้นที่ทางเดินไปเป็นตึกรามร้านต่างๆ ก็จะเป็นฟุตพาทที่มีโซนนิงในการใช้งานได้มีประสิทธิภาพ ไม่สะเปะสะปะ
ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ – ตรงตัว “ใช้วัสดุที่มีคุณภาพ” เหมาะกับสภาพเมืองนั้นๆ วัสดุควรจะไม่ลื่นและแตกกะเทาะง่าย และควรจะคงทน
มีระบบระบายน้ำที่ดี – ถ้าฟุตพาทมีน้ำขังเวลาฝนตก คนก็ต้องลงไปเดินบนถนน ฉะนั้นระบบระบายน้ำบนทางเท้าต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ข้อนี้อาจจะรวมไปถึงถนนด้วยในเมืองหลวงของเรา…
เข้าถึงได้สำหรับทุกคน – เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ คนชรา คนท้อง ทางเดินต้องไม่มีสิ่งกีดขวางหรือขั้นที่คนเหล่านี้ผ่านไม่ได้
มีการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยมั่นคง – ในเมืองใหญ่ ทางเท้าที่เชื่อมกับการคมนาคมประเภทอื่นๆ ต้องปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับถนน จุดลงสถานีรถไฟใต้ดิน จุดขึ้นรถไฟฟ้า จุดตัดทางรถไฟ ต้องมีขอบและการก่อสร้างที่ปลอดภัยชัดเจน
สวยงาม – ถ้าทางเท้าสวยงามและร่มรื่นจะทำให้น่าเดินมากยิ่งขึ้น และพอคนเดินมากขึ้นก็ช่วยลดปัญหารถติดได้ด้วยนะ
มีความปลอดภัยแบบถาวร – ต้องปลอดภัยสำหรับคนเดินแม้ในยามค่ำคืน ต้องมีการออกแบบให้การเดินสัญจรไปมาไม่อยู่ในมุมหลืบ หรือถูกบดบังจากสายตาสาธารณะ และต้องให้ความสำคัญกับไฟต่างๆ ในระดับเตี้ย ไม่ว่าจะเป็นไฟจากโคมไฟทางเท้า ไฟจากป้ายรถเมล์ ไฟจากทางขึ้นสถานีต่างๆ จากร้านค้าและตึกรามบ้านช่องที่ไม่สูง
มีป้ายบอกทางชัดเจน – ต้องมีป้ายบอกทางหรือแผนที่ที่เข้าใจง่ายต่อคนเดิน
ตัวอย่างของฟุตพาทที่ดีหาได้ง่ายๆ ในประเทศไม่ไกลจากเราแต่เจริญแล้วอย่างสิงคโปร์ ยกตัวอย่างฟุตพาทถนน Orchard Road ใจกลางเมือง ย่านการค้า ซึ่งเปรียบได้กับย่านราชประสงค์ของเรา แต่ฟุตพาทของเขานั้น เราสามารถเดินจากหัวถนนฝั่งหนึ่ง ไปยันหัวถนนอีกฝั่งได้ โดยไม่ต้องหลบลงถนน อ้อมเสาไฟ ตู้ไปรษณีย์ แม้แต่ครั้งเดียว มีการแบ่งโซนนิงชัดเจน พื้นทางเดินเรียบ มี Access สู่ตึกต่างๆ แบบไม่กระชั้นชิด รวมถึงการลงไปยังสถานีรถไฟใต้ดินที่ชัดเจนและปลอดภัย
อย่างในบ้านเราซึ่งผังเมืองอาจจะไม่อำนวยแล้ว อาจจะต้องทำทางเดินลอยฟ้ายาวๆ แบบ New York High Line ที่มีความยาว 1.45 ไมล์ ก็ได้นะ