ลิสต์หนังไทยโดนแบนที่รัฐไทยไม่ให้ไปต่อ - Urban Creature

เคยสงสัยไหมว่า นี่ก็ปี 2023 แล้ว ทำไมประเทศไทยยังมีข่าวคราวการแบนหนังไทยให้ได้เห็นกันอีก

ทั้งที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์บ้านเราก็ไม่ได้สู้ดีนัก โดยเฉพาะในช่วงหลังๆ ที่ปีปีหนึ่งหนังไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไม่กี่สิบเรื่อง และส่วนใหญ่ก็เป็นแนวใกล้ๆ กัน เช่น หนังผี หนังตลก หนังรัก เป็นต้น

โดนกีดกันประเด็นหรือแนวหนังยังไม่พอ พอผู้กำกับและทีมงานก่อร่างสร้างหนังไทยสักเรื่องมาจนเสร็จเรียบร้อย ก็ยังต้องมาไหว้พระสวดมนต์ให้ผ่าน ‘กองเซนเซอร์’ หรือ ‘คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์’ ที่รัฐเป็นกำลังสำคัญในการกำกับดูแลอีก

Urban Creature ชวนพังกำแพงแห่งศีลธรรมอันดีงาม ความมั่นคงของชาติ และนานาเหตุผล แล้วมาย้อนดูหนังไทย 10 เรื่องที่โดนแบนในช่วงสิบกว่าปีนี้กัน

หนังไทยโดนแบน แสงศตวรรษ

แสงศตวรรษ (2551)

ก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ไทยที่โดนเซนเซอร์หรือห้ามฉายบ้าง แต่ ‘แสงศตวรรษ’ ซึ่งเป็นผลงานของ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ผู้กำกับไทยที่เป็นที่รู้จักในเวทีระดับโลก ก็ทำให้การเซนเซอร์ในวงการภาพยนตร์เป็นที่พูดถึงและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมากขึ้น

‘แสงศตวรรษ’ กล่าวถึงชีวิตของแพทย์หญิงในโรงพยาบาลเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด ที่มีความทรงจำที่ดีต่อผู้ป่วยและความรัก และอีกชีวิตของแพทย์ทหารหนุ่มในโรงพยาบาลในเมือง กับผู้ป่วยพิการและคู่รักของเขาที่จะจากไป

หนังเรื่องนี้มีกำหนดฉายในประเทศไทยในเดือนเมษายน ปี 2550 แต่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพราะชี้ว่ามีฉากที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์ โดยมีเงื่อนไขให้ตัด 4 ฉากออกไป ได้แก่ ฉากพระกำลังเล่นกีตาร์ ฉากหมอดื่มเหล้าในโรงพยาบาลขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ ฉากหมอชายจูบแสดงความรักกับแฟนสาวที่แวะมาเยี่ยมที่โรงพยาบาลและเกิดอารมณ์ทางเพศจนเห็นความผิดปกติของเป้ากางเกง และฉากพระเล่นเครื่องร่อน

ทางผู้กำกับจึงเลือกไม่ตัดฉากดังกล่าว และยอมไม่ให้หนังฉายในไทย รวมถึงได้มีการรวมตัวกับเครือข่ายคนวงการภาพยนตร์ไทยเรียกร้องให้พิจารณากฎหมายเซนเซอร์ โดยเปิดให้คนทั่วไปลงชื่อสนับสนุนด้วย

หนังไทยโดนแบน เชือดก่อนชิม

เชือดก่อนชิม (2552)

แม้หน้าหนังเรื่องนี้จะเป็นหนังแนวสยองขวัญ แต่ก็ใช่ว่าจะผ่านการเซนเซอร์อย่างฉลุย เพราะหลังจากผู้กำกับ ‘ทิวา เมยไธสง’ ที่เคยกำกับคนสั่งผีและผีช่องแอร์ได้ดำเนินการส่งตรวจภาพยนตร์ก่อนฉายตามปกติ ทางคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก็ตีกลับไปแก้ไขถึง 4 ครั้ง พร้อมต้องเปลี่ยนชื่อเรื่องด้วย

โดยในบทความที่พูดถึงหนังเรื่องนี้ในนิตยสาร Bioscope เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 ให้เหตุผลไว้ว่า สาเหตุที่ทางคณะกรรมการฯ ไม่ให้หนังเรื่องนี้ผ่าน เพราะมีเนื้อหาที่กระทบต่อความมั่นคง เพราะหากออกฉายจะทำให้ก๋วยเตี๋ยวขายไม่ได้ ทั้งที่ในหลายๆ ประเทศก็ทำหนังสยองขวัญพลอตประมาณนี้ เช่น ซาลาเปาเนื้อคน (2536) Sweeney Todd : The Demon Barber of Fleet Street (2550) เป็นต้น

แต่ขณะเดียวกัน ‘เชือดก่อนชิม’ ได้ผูกเรื่องราวความสยองเข้ากับเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญของไทยในช่วง 14 ตุลาคม 2516 ด้วย ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แน่ใจว่าประเด็นนี้เกี่ยวกับการเกือบถูกแบนของหนังเรื่องนี้หรือไม่ และฉากไหนที่โดนตัดออกไปบ้าง

นาคปรก หนังไทยโดนแบน

นาคปรก (2553)

ไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นหนังไทยใช้พลอตที่หยิบเอา ‘ความดี’ และ ‘ความชั่ว’ มาเล่น โดยใช้ ‘ศาสนา’ มาเป็นแก่นหลัก อย่างภาพยนตร์เรื่องนี้ที่กำกับโดย ‘ภวัต พนังคศิริ’ ก็เล่าเรื่องของกลุ่มโจรที่ร่วมกันวางแผนปล้นรถขนเงิน และถูกตำรวจไล่จับ จนนำเงินที่ปล้นได้ไปซ่อนไว้ในบริเวณวัด ก่อนจะกลับมาบังคับให้พระในวัดบวชให้เพื่อมาขุดพื้นโบสถ์เอาเงิน ทว่าสุดท้ายทุกอย่างกลับตาลปัตร กลายเป็นเหล่าพระปลอมจับตัวมัคนายกที่จะมาขโมยพระในโบสถ์ได้แทน

และเพราะเนื้อหาที่สั่นสะเทือนศาสนา มีความละเอียดอ่อน เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ทำให้หนังเรื่องนี้โดนดองนานกว่า 3 ปี ก่อนจะเข้าฉายและสร้างกระแสฮือฮาอย่างมากในสังคม ถึงขนาดที่สมาคมพุทธศาสน์สัมพันธ์กับองค์กรอาสาสมัครเพื่อสันติภาพโลก ได้ยื่นหนังสือต่อกระทรวงวัฒนธรรมให้สั่งห้ามฉายหนังเรื่องนี้ เพราะอ้างว่าทำให้ภาพลักษณ์ของพระสงฆ์เสื่อมเสีย

แต่สุดท้าย ‘นาคปรก’ ก็ได้เข้าฉาย โดยมีการปรับแก้ไขเนื้อหา และน่าจะเป็นหนังไทยที่มักถูกหยิบมาพูดถึงบ่อยๆ เมื่อมีประเด็นเกี่ยวกับด้านมืดของวงการสงฆ์

แมลงรักในสวนหลังบ้าน หนังไทยโดนแบน

แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2553)

‘Insects in the Backyard’ หรือ ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน’ ที่กำกับโดย ‘กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์’ คือหนังไทยที่ได้ฉายเปิดตัวไปในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ หรือ World Film Festival of Bangkok ในปี 2553 ทั้งยังเดินสายไปฉายในเทศกาลหนังหลายประเทศ แต่กลับถูกคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ออกคำสั่งให้ระงับฉายในปีเดียวกัน โดยให้เหตุผลว่า ‘ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน’ จากฉากการมีเพศสัมพันธ์และการค้าประเวณี

นับเป็นหนังเรื่องแรกของไทยที่ถูกห้ามฉายหลังจากพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ และเป็นคดีแรกที่มีการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ให้ตรวจสอบคำสั่งแบนภาพยนตร์ตามกฎหมายฉบับนี้ ถึงอย่างนั้น ผู้กำกับก็ปรับเปลี่ยนบางส่วนเพื่อส่งให้คณะกรรมการฯ พิจารณาใหม่อีกหลายครั้ง จนในที่สุดก็ได้เข้าฉายในเรต ฉ.20- ในปี 2560

หนังเรื่องนี้ว่าด้วยเส้นทางชีวิตของกะเทยผู้พยายามสร้างครอบครัวที่มีความสุขและสวยงาม โดยเธออยู่กับน้องสาวและน้องชายวัยเรียนเพียงลำพัง ทว่าเธอยิ่งมอบความรักให้พวกเขาเท่าไหร่ ก็ดูเหมือนความสัมพันธ์จะยิ่งถ่างออกจากกันมากขึ้นเท่านั้น

เชคสเปียร์ต้องตาย หนังไทยโดนแบน

เชคสเปียร์ต้องตาย (2555)

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง ‘คนกราบหมา’ ที่กำกับโดย ‘สมานรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์’ จะโดนแบนไปในปี 2540 ด้วยเหตุผลว่ามีการดูหมิ่นศาสนาพุทธแล้ว อีกผลงานของเขาอย่าง ‘เชคสเปียร์ต้องตาย’ ก็ไม่พ้นจากการแบนของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อีกเช่นกัน โดยได้รับเรต ‘ห’ หรือ ห้ามเผยแพร่ภาพยนตร์ในประเทศไทย

ภาพยนตร์เรื่องนี้อ้างอิงเนื้อหาบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง ‘โศกนาฏกรรมของแม็กเบ็ธ (The Tragedy of Macbeth)’ โดยนำมาดัดแปลงให้เป็นภาษาภาพยนตร์และเข้ากับวัฒนธรรมไทย ซึ่งเรื่องราวดำเนินไปพร้อมกันในสองโลก ได้แก่ โลกของโรงละครที่มีขุนพลกระหายเลือด สถาปนาตัวเองเป็นราชา และโลกภายนอก ในชีวิตร่วมสมัยของผู้นำเผด็จการในประเทศสมมติแห่งหนึ่ง

คณะกรรมการฯ ให้เหตุผลการแบนครั้งนี้ว่า ตัวภาพยนตร์มีลักษณะที่สื่อความหมายให้เข้าใจว่าเป็นสังคมไทย และบางฉากยังมีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศ รวมถึงขอให้แก้ไขเนื้อหาบางส่วนที่อ้างอิงจากหลายเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ทีมผู้สร้างหนังยืนยันจะไม่แก้ไขนั่นเอง

ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก หนังไทยโดนแบน

ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก (2555)

เมื่อปี 2563 ได้มีการฉายหนังชื่อ ‘ราชิดา’ ที่ห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ซึ่งเบื้องหลังหนังเรื่องนี้ของผู้กำกับ ‘ต้อม-ยุทธเลิศ สิปปภาค’ มีที่มาที่ไปอันยาวนาน เนื่องจากแท้จริงแล้วชื่อเดิมของหนังคือ ‘ปิตุภูมิ พรมแดนแห่งรัก’ และถ่ายทำเสร็จไปตั้งแต่ปี 2555 แล้วแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฉาย เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

หนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวจากมุมมองของตำรวจในพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีแก่นหลักคือการเป็นหนังรัก และสอดแทรกประเด็นที่สามารถขยายได้ใหญ่ขึ้นไว้ด้วย

แม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้โดนแบนจากกองเซนเซอร์โดยตรง แต่ตัวหนังก็มีประเด็นอ่อนไหวในตอนนั้น และมีผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำหนังเรื่องนี้ ทำให้สุดท้ายแล้วผู้กำกับจึงเลือกที่จะเซนเซอร์ตัวเอง เก็บหนังไว้เป็นเวลาหลายปี ก่อนนำมาให้ชมกันในวงจำกัดเมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง หนังไทยโดนแบน

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง (2556)

เหตุผลหลักที่ทำให้ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ ที่กำกับโดย ‘นนทวัฒน์ นำเบญจพล’ ไม่ได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ในประเทศไทยคือ เนื้อหาที่ขัดต่อความมั่นคงของชาติและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมถึงการนำเสนอข้อมูลบางเหตุการณ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล

หนังสารคดีเรื่องนี้นำเสนอชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัดและคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนว่าพวกเขาดำเนินชีวิตและมีทัศนคติต่อเรื่องราวต่างๆ อย่างไร โดยหยิบเอาพื้นที่เขาพระวิหารที่เป็นข้อพิพาทระหว่างไทยกับกัมพูชามาเป็นใจกลางการเล่าเรื่อง เพื่อมุ่งหวังการสร้างสันติภาพเป็นหลัก

ถึงอย่างนั้น ในตอนท้ายคณะกรรมการชุดใหญ่ของสำนักงานพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ก็กลับมติ อนุญาตฉาย ‘ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง’ แต่จำกัดผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป พร้อมสั่งดูดเสียงเนื้อหาบางช่วง

หนังไทยโดนแบน อาปัติ

อาปัติ (2558)

เป็นหนังไทยอีกเรื่องที่โดนแบนเพราะมีประเด็นศาสนา จากเดิมที่ชื่อ ‘อาบัติ’ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น ‘อาปัติ’ เพราะถูกกล่าวหาว่าหมิ่นศาสนาตั้งแต่ยังไม่ออกฉาย

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานเรื่องแรกของผู้กำกับ ‘ขนิษฐา ขวัญอยู่’ ที่เล่าเรื่องเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่เอาแต่ใจ จนถูกพ่อบังคับให้มาบวชเณรเพื่อดัดนิสัย และได้ไปคบหากับเด็กสาววัยรุ่นในพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายการกระทำเหล่านี้ก็พาเด็กหนุ่มไปสู่เหตุการณ์ลึกลับชวนขนหัวลุก

ส่วนเหตุผลที่ทางกองเซนเซอร์ให้มาคือ เนื้อหาภาพยนตร์ไม่เหมาะสมเพราะมีภาพสามเณรเสพของมึนเมา ใช้ความรุนแรง คำพูดส่อเชิงชู้สาว และไม่เคารพต่อพระพุทธรูป ทำให้ทีมผู้สร้างนำเรื่องกลับไปแก้ไข รวมถึงเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์ใหม่ด้วย

ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2

ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 (2561)

ปกติแล้วถ้าเป็นหนังไทยที่โดนแบนด้วยเหตุผลทางศาสนา หนังเรื่องนั้นมักหยิบเอามุมมืดของศาสนามานำเสนอจนกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ แต่กับ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2’ ของผู้กำกับ ‘สุรศักดิ์ ป้องศร’ ที่เป็นหนังแนวคอเมดี การไม่ผ่านเซนเซอร์จากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติดูเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก

จากคำอ้างของกระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่าหนังมีภาพของพระที่ไม่สำรวม ซึ่งเป็นฉากที่พระบวชใหม่ร้องไห้ในงานศพของคนรักเก่า โดยทางกองเซนเซอร์ต้องการให้ตัดภาพพระร้องไห้เคาะโลงศพออก

ทางผู้สร้างหนังจึงต้องตัดต่อฉากที่มีปัญหา โดยทำให้สั้นและซอฟต์ลง และได้ฉายในที่สุด

หุ่นพยนต์ หนังไทยโดนแบน

หุ่นพยนต์ (2566)

สำหรับหนังไทยเรื่องล่าสุดที่ไม่ผ่านกองเซนเซอร์คือ ‘หุ่นพยนต์’ ที่ปล่อยทีเซอร์ให้ได้ชมกันไปบ้างแล้ว

หนังเรื่องนี้ว่าด้วยชายหนุ่มที่เดินทางมาหาพี่ชายในวัดแห่งหนึ่ง แต่กลับมาเจอเรื่องราวแปลกๆ กับหุ่นปั้นพ่อปู่สิงธรรมที่ดูเหมือนภูตผีมากกว่าเทพที่คอยปกปักรักษา จนกระทั่งเกิดเหตุอาเพศในหมู่บ้าน

ส่วนเหตุผลที่กองเซนเซอร์ไม่ให้หนังเรื่องนี้ผ่าน เพราะมองว่าสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนาและก่อให้เกิดความแตกแยกสามัคคี ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนบางฉากแล้วก็ยังได้เรต ฉ.20- และต้องตรวจบัตรก่อนดู

ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะได้ เรต ฉ.20- ค่ายหนังต้องปรับแก้ ดังนี้ 

1) ตัดฉากชื่อวัดเทพหุ่นพยนต์
2) ตัดฉากเณรชกกันในชุดผ้าเหลืองและให้มีการลดคำหยาบให้น้อยลง
3) ตัดฉากคลุกอาหาร เหมือนรังแกให้เด็กชื่อเต๊ะทาน
4) ตัดฉากเณรกอดผู้หญิงในการต่อสู้
5) ตัดฉากท่องศีล 5 ในขณะที่ฆ่าคนที่ขโมยของ
6) มีข้อสังเกตว่าพระหรือเณรในเมืองไทยต้องโกนคิ้ว แต่ทั้งเรื่องไม่มีพระเณรที่โกนคิ้วเลย

ทางผู้กำกับ ‘ไมค์-ภณธฤต โชติกฤษฎาโสภณ’ ได้ออกมาพูดถึงความไม่เป็นธรรมของกระบวนการเซนเซอร์และจัดเรต รวมถึงคนในวงการหนังไทยและสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยต่างออกมาแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นนี้ด้วย 

ส่วนคนไทยจะได้ชมหนังเรื่องนี้เมื่อไหร่ ก็ต้องรอติดตามข่าวกันอีกที


Sources :
GQThailand | bit.ly/3Lv9cej
Isranews | bit.ly/42hGhAj
MGR Online | bit.ly/3FwQIGt
Monomax | bit.ly/3yK6IRx
MTHAI | bit.ly/3mQo3p8
PPTV | bit.ly/3JVZHDP
Thai Audience | bit.ly/3JJJ9Pa
Thai PBS | bit.ly/3lsKrod
Thairath | bit.ly/3JrdQY3, bit.ly/3FuChma, bit.ly/3JXWT8U
Voice TV | bit.ly/3yJ4RfJ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.