Work from Home อาจมีอยู่ตลอดไป - Urban Creature

ปีที่ผ่านมาโควิด-19 เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกใบนี้ไปโดยสิ้นเชิง ปัจจุบันเมื่อประเทศชั้นนำได้แจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้ทั่วถึงประชาชนส่วนมากแล้ว สิ่งที่คุ้นตาก็เริ่มมีมาให้เห็น เมืองเริ่มกลับมาคึกคัก ผู้คนนำชีวิตชีวามาสู่ท้องถนน ร้านอาหารเปิดขายตามปกติ มหาวิทยาลัยและพิพิธภัณฑ์เต็มไปด้วยนักศึกษา 

แต่บาดแผลที่ไวรัสทิ้งไว้ให้ยังไม่หายดี โดยเฉพาะย่านศูนย์กลางธุรกิจหรือ CBD (Central Business District) พื้นที่ใจกลางเมืองที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ที่ส่อแววว่าอาจจะไม่กลับมาคึกคักในเร็ววันอย่างที่เห็นได้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้บริษัทจะเปิดให้กลับมาทำงานได้แล้ว แต่พนักงานกว่าครึ่งหนึ่งยังเลือกที่จะทำงานจากโซฟาในห้องนั่งเล่น แวะทานมื้อสายบนเก้าอี้บาร์และท็อปครัวที่ทำจากหินอ่อน มากกว่าไปแออัดยัดเยียดกันที่ใจกลางเมือง และดื่มน้ำล้างแก้วจากร้านกาแฟราคาแพงใต้สำนักงานเพื่อกระตุ้นสมองให้พร้อมรับแรงกดดันตลอดเวลา

CBD ยังไม่ได้รับวัคซีน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2020 ย่านศูนย์กลางธุรกิจชั้นนำของโลกเต็มไปด้วยความเงียบเหงา พนักงานกว่า 4.5 ล้านคน ไม่ได้รับอนุญาตให้ประจำการอยู่ที่ออฟฟิศเหมือนเคย เมื่อเวลาล่วงเลยไปร่วมขวบปีในขณะที่ประเทศไทยเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนเมื่อต้นเดือนมิถุนายน และประกาศว่าจะเปิดประเทศในอีก 120 วันให้หลัง สหรัฐฯ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศไปแล้วกว่า 300 ล้านโดส และเตรียมส่งมอบให้โครงการ COVAX อีก 500 ล้านโดส ล่าสุด นิวยอร์กเกอร์ สามารถออกมาสูดอากาศในที่สาธารณะได้โดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย และกฎข้อบังคับเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็แทบจะยกเลิกไปโดยสิ้นเชิง 

แม้การฉีดวัคซีนจะเข้าถึงอเมริกันชนส่วนใหญ่แล้ว แต่ CBD ดูจะยังหาวัคซีนเข็มแรกของตัวเองไม่เจอ ตัวเลขจาก Kastle Systems บอกว่าย่านธุรกิจในเมืองใหญ่ยังคงฟื้นตัวได้ช้า โดยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาพนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเพียง 27 เปอร์เซ็นต์ และไม่ใช่แค่แดนลุงแซม เพราะหากบินข้ามฟากมายังออสเตรเลีย เมลเบิร์นที่แทบจะเปิดเมืองโดยสมบูรณ์ ก็มีอัตราเข้าพักเพียง 59 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น 

อย่างไรก็ตามพนักงานออฟฟิศจำนวนมากน่าจะทยอยกลับเข้าสู่พื้นที่ธุรกิจ โดยแปรผันไปตามจำนวนวัคซีนที่ได้รับการฉีด นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่าท้ายที่สุดแล้วการ Work from Home น่าจะมีอัตราส่วนอยู่ที่ 20 เปอร์เซ็นต์ของวันทำงาน เขยิบขึ้นมาค่อนข้างสูงที่จากเดิมมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรายงานฉบับเดียวกันนี้บอกว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะลดการใช้จ่ายของผู้คนในย่าน CBD ลงไปราว 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ 

ถ้ามองในแง่ของบริษัท ก็อาจจะไม่เดือดร้อนกับตัวเลขเหล่านี้สักเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าพนักงานจะส่งอีเมลจากบนเตียง หรือเข้าประชุมในสวนหลังบ้าน หากงานเดินต่อไปได้ก็ไม่ใช่ปัญหา และสถานการณ์ของโควิด-19 ที่กำลังคลี่คลาย ก็เหมือนฟ้าหลังฝนที่พวกเขาเฝ้ารอ แต่เรื่องไม่ได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งขนาดนั้น เพราะการสร้างพื้นที่ธุรกิจขึ้นมาใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจเล็กๆ เช่น ร้านกาแฟ ร้านอาหาร บาร์ ยิม ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการพบปะผู้คนทางกายภาพจริงๆ ไม่ใช่ผ่านโปรแกรม Zoom 

สำนักงานจะเล็กลง แต่โครงสร้างพื้นฐานยังคงเดิม

ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่น เพราะการเข้ามาของโควิด-19 มีแต่เร่งให้สิ่งที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอยู่แล้ว เคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วที่คาดไม่ถึง รศ .ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า ประเด็นเรื่องพื้นที่สำนักงาน ถูกพูดถึงในงานวิจัยของต่างประเทศมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 จะกระจายอำนาจไปทั่วโลกและทุกวันนี้สิ่งต่างๆ กำลังชัดเจนขึ้น

“มีการคาดการณ์ไว้ว่าต่อไปสำนักงานจะเล็กลง พื้นที่ของ CBD ก็จะเล็กลงกว่าเดิมเช่นกัน ตอนนี้ธุรกิจหลายประเภทเริ่มประเมินตัวเองจากสถานการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า งานประเภทไหนที่ทำจากบ้านแล้วประสิทธิภาพไม่ได้ด้อยกว่าที่ออฟฟิศก็มีแนวโน้มว่าจะคงไว้รูปแบบเดิม ดังนั้นต่อไปจากเดิมพนักงานทั้งหนึ่งร้อยคน จะมีผู้ที่เข้าออฟฟิศเป็นประจำน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เรียกว่ามาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น”

อย่างไรก็ตาม Bloomberg ได้คาดการณ์ไว้ว่าถึงโฉมหน้าของ CBD มีสิทธิ์จะเปลี่ยนไป ก็ไม่ได้หมายความว่าย่านนั้นกำลังจะตาย หรือหายไปจากสารบบ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นย่านธุรกิจก็มักจะอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของเมืองเป็น Meeting Place ที่ดี และมีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างครบครัน 

ลองนึกถึงซูเปอร์มาร์เก็ต พิพิธภัณฑ์ หรือ Co-working Space ที่อดีตเคยเป็นโรงงานนานาประเภท อาจจะพอทำให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของ CBD ชัดเจนมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อ 40 – 50 ปีที่แล้ว ช่างตีเหล็กที่ทำงานแบบอาบเหงื่อต่างน้ำคงไม่เชื่อหากบอกว่าโรงงานของเขาจะกลายเป็นที่ให้ศิลปินมาแสดงงานหรือมุมเช็กอินของวัยรุ่น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของย่านศูนย์กลางธุรกิจก็แปรผันไปตามลักษณะของแต่ละพื้นที่

“โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญจะไม่หายไป และสาธารณูปโภคที่จำเป็นสำหรับการทำงานออนไลน์จะพัฒนามากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของ CBD เป็นไปได้หลากหลาย เช่น บางประเทศนำออฟฟิศที่ว่างเปล่ามาทำเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย” รศ. ดร.พนิต บอกว่าอาคารเหล่านี้จะไม่ล้มหายตายจากไปไหน แต่จะกลับมาในทิศทางที่เหมาะกับตัวเองและเมืองในอนาคต

ชีวิตปกติแบบใหม่

แม้การ Work from Home จะทำให้งานเสร็จลุล่วง แต่บางองค์กรก็ยังเห็นว่าประสิทธิภาพยังไม่สามารถเทียบเท่ากับการที่พนักงานได้ปรึกษาและถกเถียงกันต่อหน้า Paperspace Asia บริษัทด้านการออกแบบกำลังพยายามปรับเปลี่ยนสำนักงานใหม่ด้วยการเพิ่มแสงธรรมชาติ และอุปกรณ์สำนักงานที่ถูกหลักสรีรศาสตร์ พร้อมส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นความเห็นอกเห็นใจในการทำงานร่วมกัน ให้คุณค่าบุคลากร และมีวัฒนธรรมแห่งการทดลอง เรียกได้ว่าพวกเขากำลังปรับปรุงองค์กรให้ไปในทางที่ดีขึ้น เพราะแม้กระทั่งก่อนโควิด-19 พนักงานรุ่นใหม่ก็ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นขององค์กร มากกว่าผลตอบแทน 

แต่ภารกิจนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะถึงสิ่งแวดล้อมที่สำนักงานจะยืดหยุ่นและเป็นมิตรมากขึ้น แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้เหมือนบ้านของตัวเอง นักวิเคราะห์ที่ HSBC Holding PLC รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า 82 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานทั่วโลกต้องการทำงานทางไกลอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ในขณะที่รายงานของ CBRE บอกว่าคนส่วนใหญ่ต้องการ 2 – 3 วันต่อสัปดาห์ที่จะทำงานจากที่ใดก็ตามที่พวกเขาต้องการ

Bloomberg ได้ไปสอบถามคนทำงานรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขา ทั้งศิลปะและเทคโนโลยี ว่าพวกเขาต้องการอะไรในที่ทำงานบ้าง คำตอบส่วนมากคือ การทำงานในบริษัทที่ยอดเยี่ยม ร่วมมือกับคนที่เก่งกาจ ได้ทำโปรเจกต์ที่ยิ่งใหญ่ ในละแวกที่ดี จึงไม่แปลกที่สำนักงานในอนาคตจะถูกแบ่งให้มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ไม่เคร่งครัดเรื่องกฎระเบียบ และเพิ่มจำนวนพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่กลางแจ้งเพื่อสุขภาพที่ดีของพนักงานให้มากขึ้น นายจ้างจึงอาจจะต้องใช้วิธีกล่อมให้พนักงานออกจากบ้านด้วยห้องออกกำลังกายหรือร้านอาหารในออฟฟิศ 

รูปแบบการทำงานก็จะเปลี่ยนไปเช่นกัน หนึ่งวันในสำนักงานจะน้อยลงจนเหมือนคุณแค่แวะมาประชุมเท่านั้น ในขณะเดียวกันปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานจะมากขึ้น David Milder ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเมืองบอกว่า ปรากฏการณ์นี้จะเปลี่ยนให้ Central Business District กลายเป็น Central Social District ผู้คนจะเข้ามาใจกลางเมืองเพื่อพบปะสังสรรค์ พักผ่อนหย่อนใจร่วมกัน มากกว่าเดินทางเข้ามาทุกวันตอนเช้าเพื่อนั่งอยู่ที่โต๊ะสี่เหลี่ยม ใช้อุปกรณ์สำนักงานที่ด้อยกว่าเฟอร์นิเจอร์ในห้องนั่งเล่น และปวดหัวกับการจราจรตอนเย็นก่อนถึงเวลาพักผ่อนประจำวัน 

เมืองจะเปลี่ยนไป และเราจะอยู่ที่ไหนก็ได้

“ผู้คนไม่จำเป็นต้องอยู่ที่นั่น (CBD) อีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะจากไปทั้งหมด แต่หมายความว่าเมืองและสิ่งปลูกสร้างจะต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือดยิ่งขึ้นในมิติใหม่” Dror Poleg ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Rethinking Real Estate บอกว่า เขตสำนักงานเหล่านี้ที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นกระจกที่สะท้อนความต้องการของผู้คนสมัยนี้ ออฟฟิศมีแนวโน้มจะกลายเป็นอาคารเพียงหลังเดียวในแต่ละเขต มากกว่าการรวมศูนย์เหมือนทุกวันนี้ 

เขายังคาดการณ์ไว้อีกว่า โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในอนาคตจะมีอยู่ 2 ประการคือ เครือข่ายพื้นที่ (Co-working Space หรือพื้นที่สำหรับคนทำงาน) และบริการในการเข้าถึงเทคโนโลยี กล่าวคือสิ่งที่เคยอยู่แต่ในออฟฟิศที่มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกของพนักงานจะกระจายตัวออกไปข้างนอกมากขึ้น เพื่อรองรับการทำงานระยะไกลในเขตชานเมืองหรือต่างจังหวัด

สอดคล้องกับ รศ. ดร.พนิต ที่เห็นว่า พฤติกรรมในการเลือกที่อยู่อาศัยกำลังจะเปลี่ยนโฉมในไม่ช้า จากเดิมใจความหลักของการซื้อบ้านอาจต้องกางแผนที่และตีวงเวียนโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ออฟฟิศ เพื่อความสะดวกในการเดินทาง สมการข้อนี้จะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เพราะเราไม่จำเป็นต้องฝ่ารถติดเข้าไปใจกลางเมืองอีกแล้ว 

“ต่อไปคุณจะสามารถไปอยู่อาศัยในที่ที่ตัวเองพอใจ ราคาถูก มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในแบบที่คุณจ่ายไหว และไม่ผูกพันกับแหล่งงานอีกแล้ว เมืองในอนาคตอาจจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว บางเมืองอาจจะไม่ต้องมี CBD เลยก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องมีย่านที่เป็นจุดศูนย์รวมอีกแล้ว แต่ย่านธุรกิจที่เต็มไปด้วยห้างฯ มากมายอาจถูกย่อส่วนให้มีขนาดเล็กลง และย้ายตัวเองไปอยู่ในละแวกชุมชนมากขึ้น เพราะถ้าไม่นับการจัดอีเวนต์ ห้างฯ ก็แทบไม่แตกต่างจากร้านค้าออนไลน์อีกแล้วในเวลานี้”

Sources : 
The Death and Life of the Central Business District
The Post-Covid Office Needs a Makeover to Get Its Workers Back
Why Working From Home Will Stick

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.