REPORT
‘ทุกๆ สัปดาห์ เรากินไมโครพลาสติกคนละ 5 กรัม’ รู้จักภัยร้ายใกล้ตัวในยุคพลาสติกครองโลก ที่สร้างปัญหาให้เรามากกว่าที่คิด
‘ยินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่ยุคพลาสติก’ หลังจากที่โลกของเราผ่านยุคหิน ยุคสำริด และยุคเหล็กกันมา ปัจจุบันคงพูดได้อย่างเต็มปากว่าโลกของเราได้เข้าสู่ยุคพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหน หยิบจับอะไร สิ่งเหล่านั้นก็มักมีส่วนผสมของพลาสติกไม่มากก็น้อย การใช้งานพลาสติกแบบก้าวกระโดดเช่นนี้ ล้วนแต่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและปัญหาสุขภาพมหาศาล เพราะพลาสติกหนึ่งชิ้นใช้เวลาย่อยสลายอย่างน้อย 450 ปี และในระหว่างการย่อยสลายก็สร้างปัญหามากมาย เกิดเป็นมลพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ปนเปื้อนแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร ส่งผลกระทบต่อสัตว์และพืช รวมถึงตัวเราเอง และอีกหนึ่งภัยร้ายของพลาสติกที่หลายคนเริ่มพูดถึงในปัจจุบันคงหนีไม่พ้น ‘ไมโครพลาสติก’ (Microplastic) เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ ที่สร้างปัญหาไม่น้อยในปัจจุบัน วันนี้ Urban Creature เลยขอรับอาสามาแจกแจงถึงประเด็นไมโครพลาสติก ตั้งแต่คำอธิบาย ผลกระทบ ไปจนถึงวิธีการที่ช่วยลดการเกิดไมโครพลาสติก ทั้งเริ่มด้วยตัวเองและกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ในหลากหลายประเทศ Intro Microplastic 101 เมื่อพูดถึงการแบ่งประเภทพลาสติก หลายคนอาจนึกถึงพลาสติก PET PVC PP หรือ PLA ที่แบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการผลิต แต่ในความเป็นจริงเรายังจำแนกพลาสติกได้จากขนาดของมันด้วย โดยเรียงลำดับจากใหญ่ไปเล็กตามขนาดของหน่วยเอสไอ (SI Unit) ที่ใช้สำหรับการวัดทางวิทยาศาสตร์ เริ่มตั้งแต่พลาสติกทั่วไป ไปที่ไมโครพลาสติก (Microplastic) ที่มีอนุภาคขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร และเล็กลงไปถึงขนาดนาโนพลาสติก […]
เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ ‘สาววาย’ กู้โลก การเดินทางของสื่อบันเทิงวายในอุตสาหกรรมบันเทิงไทยที่มีทั้งได้และเสีย
Disclaimer : บทความนี้เขียนโดยคนที่เรียกตัวเองว่าสาววายในอดีต แต่ปัจจุบันนิยามตัวเองว่าผู้วิเคราะห์พฤติกรรมอันมีพิรุธของเด็กหนุ่มสองคน ถ้าข้อมูลตกหล่นขอให้ทักมาหยิกหลังกันก่อนได้ค่ะ แกๆ เป็นอะไรอะอ๋อ เป็นสาววาย ไม่รู้ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่คำว่า ‘สาววาย’ กลายเป็นคำตอบของทุกสิ่งที่ใช้อธิบายเหตุการณ์ใดก็ตามที่ดูไม่เมกเซนส์ให้ปิดจบได้ จนเกิดเป็นวลี ‘สาววายกู้โลก’ ที่ช่วยชุบชีวิตไทม์ไลน์สุดเคร่งเครียดให้มีสีสัน แต่กว่าสาววายจะเชิดหน้าชูตา พูดเล่นติดตลกได้อย่างทุกวันนี้ ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการหลบๆ ซ่อนๆ ส่งซิกรหัสลับกับคนขายหนังสือเหมือนลักลอบส่งของผิดกฎหมาย ต้องฟันฝ่ากับคำว่าไม่ผ่านกองเซนเซอร์ ต้องเจอกับการตื่นรู้เพื่อข้ามผ่านจากสาววายสมองไหลมาเป็นสาววายคุณภาพ นอกจากตัวแฟนคลับที่เติบโตขึ้น สื่อบันเทิงในรูปแบบวายหรือสื่อที่นำเสนอภาพชายรักชายและหญิงรักหญิงก็เดินทางมาไกลไม่ต่างกัน จนตอนนี้นับเป็นภาพจำของประเทศไทยที่หลายคนมองว่านี่แหละคือ ‘ซิกเนเจอร์ เลเยอร์คัสตอม ซอฟต์พาวเวอร์ ออนเดอะร็อก เฮลตี้’ คอลัมน์ Report ประจำ Pride Month เลยขอชวนมาสมองไหล ส่องการเดินทางของอุตสาหกรรมวายที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องข้อดีข้อเสียของการมีอยู่ของมัน เปิดไทม์ไลน์ สาววาย (พี่จะอยู่) ทุกยุค ‘สาววาย’ เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ชื่นชอบการเสพสื่อประเภทชายรักชาย (Boys Love : BL) หรือหญิงรักหญิง (Girls Love : GL) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น โดยถอดเอาตัวอักษรตัวแรกของคำว่า […]
Olympic Games 2024 มหกรรมกีฬาแห่งการพัฒนาปารีส และนำเสนอตัวตนของฝรั่งเศส
ผ่านมา 100 ปีพอดีหลังจากเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ครั้งสุดท้ายของประเทศฝรั่งเศสในปี 1924 กลับมาคราวนี้ 2024 ประเทศฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส รับไม้ต่อจากโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนและพาราลิมปิกอีกครั้งในรอบศตวรรษ มหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ได้มีการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นฝรั่งเศสผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งโลโก้ มาสคอต โปสเตอร์ และชุดกีฬา โดยมุ่งเน้นเรื่องของเสรีภาพและการเปิดรับความหลากหลายที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาจากทั่วโลก มากไปกว่านั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรองรับนักกีฬามากกว่า 14,500 คนและนักท่องเที่ยวหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ปารีสต้องขยับตัวเปลี่ยนแปลง หนึ่งในนั้นคือการสร้างอาคารใหม่หรือปรับปรุงให้ดีขึ้น บวกกับต้องสอดคล้องกับความยั่งยืน และเปลี่ยนกรุงปารีสให้กลายเป็นเมืองสีเขียวสำหรับทุกคน คอลัมน์ Report เดือนนี้อยากพาไปดูว่า การรับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ จะทำให้เมืองชั้นนำของโลกทั้งในด้านศิลปะและแฟชั่นอย่างปารีสที่เคยเป็นเมืองที่วุ่นวายและสกปรก พิสูจน์ถึงศักยภาพความพร้อมของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเมืองน้ำหอมจะใช้โอกาสนี้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองไปอย่างไรบ้าง พัฒนาเมืองเพื่อรองรับมหกรรมกีฬาระดับโลก การเป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2024 ของฝรั่งเศสในครั้งนี้ เมืองปารีสจำเป็นต้องเตรียมตัวมากมายทั้งด้านสถานที่และผู้คน จึงมีการวางแผนพัฒนาเมืองโดยเน้นการใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้วหรือไม่ก็สร้างขึ้นชั่วคราว เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยคาร์บอนสู่ธรรมชาติ กรุงปารีสเริ่มปรับภูมิทัศน์เมืองโดยคำนึงถึงนวัตกรรม พื้นที่สีเขียว และความยั่งยืน เริ่มจากการปรับโครงสร้างเมืองทั้งหอไอเฟลและสถานที่สำคัญทั้งหมดให้ถูกล้อมรอบด้วยสวน ซึ่งจะกลายเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่ติดอันดับโลก พร้อมปรับเส้นทางภายในเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้คนเข้าถึงการแข่งขันได้ง่ายขึ้น และยังทำกิจกรรมต่างๆ ในสถานที่สำคัญอันเก่าแก่ เพื่อทำให้พื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นที่นิยมมากขึ้น หลักการสำคัญของโปรเจกต์นี้คือ การลากเส้นเชื่อมต่อพื้นที่สำคัญๆ โดยมีหอไอเฟลและแลนด์มาร์กรอบๆ ได้แก่ ปลาส ดู ทรอกาเดโร […]
จับตามอง 5 อีเวนต์และความเปลี่ยนแปลงทั่วโลก ที่จะเกิดขึ้นภายในปี 2024
เริ่มต้นปีใหม่แบบนี้ หลายคนคงสงสัยว่าตลอดทั้งปีจะมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเราจำเป็นต้องรู้มากน้อยขนาดไหน Urban Creature รวบรวม 5 กิจกรรมและความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกภายในปี 2024 ให้ทุกคนเตรียมตัวและตั้งตารอไปพร้อมกัน มีตั้งแต่มหกรรมกีฬาระดับโลก การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปจนถึงการเลือกตั้งใหญ่ในหลายประเทศทั่วโลก รับรองว่าน่าสนใจและน่าติดตามไม่แพ้ปีที่ผ่านมาแน่นอน! มหกรรมกีฬา ‘โอลิมปิก ปารีส 2024’ อย่างที่รู้กันว่า ทุก 4 ปีจะมีการจัดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติที่ทั่วโลกตั้งตารอ นั่นคือ ‘โอลิมปิกฤดูร้อน’ และในปี 2024 ก็เป็นอีกครั้งที่การแข่งขันกีฬาระหว่างประเทศจะถูกจัดขึ้นโดยเมืองเจ้าภาพอย่างกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2024 ต่อด้วย ‘พาราลิมปิก ปารีส 2024’ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 8 กันยายน 2024 ความพิเศษของโอลิมปิก ปารีส 2024 คือ จะเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่บรรลุความเท่าเทียมทางเพศได้อย่างสมบูรณ์ (Gender Parity) เพราะมีจำนวนนักกีฬาชายและหญิงที่เข้าร่วมแข่งขันเท่ากันในสัดส่วน 50 […]
สำรวจเบื้องหลัง ‘หมาล่า’ ที่ไม่ได้แค่ทำให้เผ็ดลิ้นชา แต่มาพร้อมชุมชนจีนใหม่
‘เย็นนี้กินหมาล่าไหม’ เชื่อเถอะว่ารอบตัวของเราต้องมีเพื่อนอย่างน้อยหนึ่งคนที่ประกาศตัวเองเป็น ‘หมาล่าเลิฟเวอร์’ ชนิดที่ถ้า 1 สัปดาห์มี 7 วัน คนเหล่านี้จะกินหมาล่าไปแล้ว 6 วัน ร้านไหนที่เขาว่าดี ว่าอร่อย หรือเพิ่งเปิดใหม่ก็เคยบุกตะลุยไปจุ่มฟองเต้าหู้มาหมดแล้ว นอกจากเทรนด์อาหารการกิน ปรากฏการณ์ ‘หมาล่า’ ฟีเวอร์ยังบอกอะไรกับเราอีกบ้าง วันนี้ Urban Creature ชวนมาแกะรหัส สำรวจเส้นทางหมาล่าไปพร้อมๆ กันในคอลัมน์ Report ตั้งแต่ต้นกำเนิดของเมนูนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงมิติทางการเมืองที่มาพร้อมการคืบคลานของชาติที่ให้กำเนิดหมาล่า 01 | หมาล่าไม่ใช่ชื่ออาหาร แต่เป็นรสชาติความเผ็ดชา หันไปทางนู้นก็หมาล่า หันไปทางนี้ก็หมาล่า แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า คำว่า ‘หมาล่า’ ที่เราใช้เรียกอาหารชนิดนี้กันจนติดปาก ไม่ใช่ชื่อเรียกของ ‘พริก’ แต่เป็นชื่อเรียก ‘รสชาติอาหาร’ ที่เราสัมผัสได้ในระหว่างการกินต่างหาก เพราะแท้จริงแล้ว คำว่าหมาล่าถูกถอดเสียงมาจากคำอ่านภาษาจีนกลางของอักษรทั้งหมด 2 ตัว ได้แก่ 麻 (má) อ่านว่า ‘หมา’ แปลว่า อาการชา และ […]
สำรวจภัยธรรมชาติถล่มโลกปี 2023 ผลกระทบจาก ‘ภาวะโลกเดือด’
ถ้าคุณคิดว่าสภาพอากาศของปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ หรือรู้สึกว่าตัวเองได้ยินข่าวคราวภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้นก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะวิกฤตการณ์ Climate Change ทวีความรุนแรงขึ้นจริงๆ ยืนยันโดยสหประชาชาติที่ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ยุคของ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคของ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global Boiling) อย่างเต็มตัว คอลัมน์ Report อยากพาไปสำรวจผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านส่วนหนึ่งของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตโลกร้อนที่แปรปรวนและน่ากังวลกว่าเดิม คลื่นความร้อนปกคลุมทั่วโลก สัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกของเราร้อนถึงขั้นเดือดแล้วคือการที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า เดือนกรกฎาคม ปี 2023 จะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่โลกเริ่มมีการบันทึกสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยพื้นผิวโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแตะระดับสูงถึง 16.95 องศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 16.63 องศาเซลเซียสที่เคยบันทึกไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2019 เพราะเหตุนี้ หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเผชิญกับ ‘คลื่นความร้อน’ (Heatwave) ที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย สำหรับสหรัฐอเมริกา ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีชาวอเมริกันมากถึง 1 ใน 3 หรือราว 113 ล้านคน ได้รับการแจ้งเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยพื้นที่ที่เจอคลื่นความร้อนหนักที่สุดคือรัฐทางตอนใต้ เช่น […]
ขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ หันไปทางไหนก็เจอแต่อันตราย?
กรุงเทพฯ คือเมืองหลวงที่เต็มไปด้วยขนส่งสาธารณะหลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือข้ามฟาก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถสองแถว รถตุ๊กตุ๊ก ฯลฯ ที่พร้อมพาผู้โดยสารฝ่าทุกรถติดและซิ่งไปให้ถึงทุกพื้นที่เส้นเลือดฝอยที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ถือเป็นยานพาหนะที่เกิดมาเพื่อรองรับไลฟ์สไตล์แสนเร่งรีบของชาวกรุง ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเครือข่ายขนส่งมวลชนไม่ครอบคลุมของมหานครแห่งนี้ด้วย แต่ถ้าสังเกตดีๆ นอกจากความรวดเร็วและความสะดวกสบาย การใช้บริการขนส่งสาธารณะแบบไทยๆ เหล่านี้ยังมาพร้อมความเสี่ยงและอันตรายรอบด้าน เช่น รถเมล์ขับเร็วและกระชาก เรือข้ามฟากเจอคลื่นลมแรงจนเกือบจม หรือแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ที่พาขี่ซิกแซกปาดซ้ายขวา จนผู้โดยสารต้องนั่งลุ้นตัวเกร็งและรู้สึกไม่ปลอดภัยเอาเสียเลย ในเมืองที่ผู้คนเดินทางแทบจะตลอดทั้งวัน มีขนส่งสาธารณะประเภทไหนบ้างที่ดูไม่ค่อยปลอดภัย เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุต่อทั้งคนขับและผู้โดยสาร คอลัมน์ Report ขอชวนไปสำรวจอันตรายใกล้ตัวผ่านบทความนี้ โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการชี้ปัญหาซึ่งนำไปสู่การเสริมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยให้กับขนส่งสาธารณะไทย รถเมล์ : รถโดยสารประจำทางที่ทั้งเร็วและแรง เริ่มกันด้วยขนส่งสาธารณะที่คนส่วนมากเลือกใช้อย่าง ‘รถเมล์’ เพราะค่าเดินทางถูกกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟฟ้าใต้ดินหลายเท่าตัว แต่ข้อเสียที่ผู้โดยสารต้องเจอคือการจราจรที่ติดขัด ทำให้การเดินทางหนึ่งเที่ยวอาจใช้เวลานานเป็นชั่วโมง เท่านั้นยังไม่พอ การเดินทางด้วยรถเมล์ไทยยังมาพร้อมกับอันตรายและความเสี่ยง โดยเฉพาะ ‘รถเมล์ธรรมดา’ หรือ ‘รถเมล์ร้อน’ ที่มีสภาพเก่าคร่ำครึ ประตูหน้าต่างชำรุด แถมยังไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนหรือฝนตกชุกของเมืองไทยอีกด้วย ที่อันตรายไปกว่านั้นคือ รถเมล์ไทยที่มีสภาพทรุดโทรมยังอาจก่อให้เกิดเหตุไฟลุกไหม้ได้เช่นกัน โดยระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2561 มีรายงานข่าวรถเมล์เกิดเพลิงไหม้อย่างน้อย 13 ครั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ […]
ส่องปัญหาสังคมและโครงสร้างผ่านมอ’ไซค์ไทย
“บ้านเช่าได้ แต่มอเตอร์ไซค์ต้องซื้อ” นี่คือประโยคเปรียบเปรยที่ดูไม่ไกลเกินจริง เพราะเราเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มีมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป ทั้งความสะดวกและความคล่องตัวในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ารถยนต์หรือขนส่งสาธารณะ และการใช้ประกอบอาชีพต่างๆ หลายครอบครัวจำเป็นต้องมียานพาหนะประเภทนี้ เพราะบริเวณที่พวกเขาอาศัยอยู่ไม่มีขนส่งมวลชนที่เข้าถึงได้เลย ความต้องการที่เยอะขึ้นและประโยชน์ของมอเตอร์ไซค์ที่ตอบโจทย์ชีวิตคนในประเทศนี้ ทำให้ในปัจจุบันไทยมีการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์มากกว่า 22 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 กว่า 4.5 แสนคัน คนไทยใช้มอ’ไซค์มากที่สุดในโลก ใครที่ต้องเดินทางออกจากบ้านเป็นประจำโดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คงเคยสังเกตว่าท้องถนนมีมอเตอร์ไซค์ขวักไขว่เต็มไปหมด ส่วนในซอยต่างๆ ก็มียานพาหนะสองล้อเข้าออกให้เห็นตลอดทั้งวัน หรือแม้แต่ตอนเดินอยู่บนทางเท้า จู่ๆ ก็มีคนขี่มอเตอร์ไซค์สวนมาเสียอย่างนั้น ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมบ้านเราถึงมีมอเตอร์ไซค์เยอะขนาดนี้ หลายคนไม่ได้คิดไปเองแน่นอน เพราะข้อมูลจาก Pew Research Center ปี 2023 เปิดเผยว่า ประเทศไทยมี ‘การใช้งานจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก’ โดยสัดส่วนของครัวเรือนในประเทศไทยที่เป็นเจ้าของจักรยานยนต์อย่างน้อยหนึ่งคันมีมากถึง 87 เปอร์เซ็นต์ พูดให้เห็นภาพคือ จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดราว 18 ล้านครัวเรือน จะมีจักรยานยนต์รวมกันอย่างน้อย 15 ล้านคัน สถิตินี้ยังพบว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของมอเตอร์ไซค์ทั่วโลกอยู่ในภูมิภาค ‘เอเชียแปซิฟิก’ โดยประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการถือครอบครองมอเตอร์ไซค์รองจากไทย […]
ความรุ่มรวยของ ‘สุราชุมชน’ และ ‘วัฒนธรรมการดื่ม’ ของญี่ปุ่น
หนุ่มสาวออฟฟิศใส่สูทผูกไทนั่งสังสรรค์กันในร้านเหล้า มนุษย์เงินเดือนออกไปดื่มกับหัวหน้าและลูกค้าจนดึก แถมยังเมาเละเทะจนหมดสภาพ เหตุการณ์เหล่านี้คือภาพสะท้อนสังคมญี่ปุ่นที่หลายคนคงเคยเห็นในข่าวหรือสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ส่วนใครที่เคยไปเยือนญี่ปุ่นด้วยตัวเองก็น่าจะนึกภาพตามได้ไม่ยาก เพราะเราสามารถพบเห็นวิถีชีวิตแบบนี้ได้ทั่วไปในแดนอาทิตย์อุทัย โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างโตเกียว ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ‘การดื่ม’ คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่คนญี่ปุ่นสืบทอดกันมานานแล้ว มากไปกว่านั้น ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของแดนปลาดิบยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้คนเข้าถึงน้ำเมาได้ง่ายและสะดวกสบาย ที่สำคัญ ภาครัฐยังส่งเสริมการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในฝั่งของแบรนด์ใหญ่ไปจนถึงผู้ผลิตรายย่อยระดับท้องถิ่น ชาวญี่ปุ่นกับวัฒนธรรมการดื่ม ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมการดื่มที่ยาวนาน และยังแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของประชาชนในปัจจุบัน ที่เป็นแบบนั้นเพราะการดื่มของผู้คนในแดนปลาดิบไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อผ่อนคลายหรือสังสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนถึงวัฒนธรรมทางสังคมและธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบทอดกันมานาน ชาวญี่ปุ่นมองว่าการดื่มคือหนึ่งวิธีแบ่งปันความรู้สึกของ ‘การอยู่ร่วมกัน’ (Togetherness) และ ‘ความซื่อสัตย์’ (Honesty) ที่นี่จึงมีวัฒนธรรมการดื่มที่เรียกว่า ‘โนมิไก’ (NoMiKai) ซึ่งมาจากคำว่า ‘nomi’ (飲み) ที่แปลว่าดื่ม และ ‘kai’ (会) ที่แปลว่างานรวมหรืองานประชุม เมื่อนำมารวมกัน โนมิไกจึงแปลว่างานสังสรรค์ที่เน้นการดื่มมากกว่าการกิน และเป็นการสังสรรค์กันหลังเลิกงาน โดยส่วนใหญ่การดื่มลักษณะนี้จะเกิดขึ้นที่ร้านอาหารและบาร์สไตล์ญี่ปุ่นที่เรียกว่า ‘อิซากายะ’ (Izakaya) แม้ว่าโนมิไกจะไม่ใช่การบังคับ แต่พนักงานส่วนใหญ่มักถูกคาดหวังให้เข้าร่วมการดื่มหลังเลิกงาน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่าการเข้าสังคมลักษณะนี้คือส่วนหนึ่งของการทำงาน ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงคนทำงานเข้าหากัน เหมือนเป็นการสร้างคอนเนกชันที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ และอาจส่งผลต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพเช่นกัน แต่การสังสรรค์ลักษณะนี้ไม่ได้ใช้กับบริบทการทำงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังรวมถึงการดื่มเพื่อทำความรู้จักเพื่อนใหม่ หรือสร้างความสนิทสนมระหว่างกลุ่มเพื่อนด้วย สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่น หลายคนอาจนึกถึง […]
‘คลองแม่ข่า’ สายน้ำเน่าที่กำลังถูกเปลี่ยนให้เป็นอนาคตของเมืองเชียงใหม่ หรือจะถอยหลังลงคลอง
หากเอ่ยถึง ‘คลองแม่ข่า’ ในปัจจุบัน หลายคนน่าจะนึกถึงทางเดินเลียบคลองสวยๆ แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในตัวเมืองเชียงใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ขณะนี้ และเพิ่งได้รับสมญาใหม่ว่าเป็น ‘คลองโอตารุ’ ของจังหวัดเชียงใหม่ แต่หากย้อนกลับไปถามคนเชียงใหม่เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว ทุกคนจะนึกถึงคลองแม่ข่าว่าเป็นแหล่งน้ำเน่าเสีย นั่นคือภาพลักษณ์ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาสำหรับคนเชียงใหม่ เพราะตลอดหลายปีนั้น ชาวเชียงใหม่ต่างคุ้นเคยกับการได้เห็นและได้ยินการหาเสียงของผู้สมัครรับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ที่ทุกครั้งจะต้องมีนโยบายทำคลองแม่ข่าให้กลับมาใสอยู่ด้วยเสมอ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม หลายคนจึงอดไม่ได้ที่จะหมดหวังได้เห็นคลองแม่ข่ากลับมาใส จนกระทั่งปีที่แล้วที่มีการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองแม่ข่าใหม่ให้สวยงาม ด้วยภาพสะอาดสะอ้านแปลกใหม่ที่ถูกนำเสนอออกมา ทำให้คลองแห่งนี้กลับมาได้รับความสนใจจากคนเชียงใหม่จำนวนมาก ก่อนจะขยายไปถึงคนจังหวัดอื่นๆ ที่เดินทางมาเที่ยวเดินถ่ายรูปเล่นที่คลองแห่งนี้ ซึ่งทางจังหวัดเชียงใหม่เองก็พยายามจัดให้มีกิจกรรมภายในพื้นที่แห่งนี้อยู่สม่ำเสมอ ชาวเชียงใหม่หลายคนที่ได้มาเดินเล่นที่นี่ ต่างแสดงความยินดีที่คลองแม่ข่ากลับมาเป็นคลองน้ำใส ไม่เน่าเสียอีกแล้ว…แต่น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะพื้นที่ที่มีการปรับภูมิทัศน์ให้เดินเล่นกันนั้นเป็นเพียงแค่ระยะ 756 เมตร จากระยะทั้งหมด 11 กิโลเมตรของคลองแม่ข่าในเขตเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงเน่าเสีย มีปัญหา และรอคอยการแก้ไขพัฒนาต่อไป จึงทำให้มีเสียงค่อนขอดขึ้นมา ตั้งแต่ความพยายามเป็นญี่ปุ่นทั้งที่เชียงใหม่ก็มีวัฒนธรรมเอกลักษณ์ของตนเอง จังหวัดพยายามนำเสนอแต่ภาพลักษณ์ดีๆ ของพื้นที่คลองบริเวณนี้เพื่อซุกปัญหาคลองแม่ข่าในส่วนอื่นๆ อีกจำนวนมากไว้ใต้ภาพสวยงาม หรือแม้แต่ตำหนิว่านี่เป็นการถอยหลังลงคลอง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะ 756 เมตรของคลองแม่ข่าครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงต่อไป และเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าแม่ข่าเกี่ยวโยงกับผู้คน และมีคนจำนวนไม่น้อยกำลังให้ความสนใจกับลำน้ำสายนี้ คลองแห่งนี้มีความสำคัญต่อเชียงใหม่อย่างไร ทำไมถึงมีหลายองค์กรหลายผู้คนพยายามปรับปรุงให้มันกลับมาดีอีกครั้งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของแม่น้ำสายนี้ คอลัมน์ Report ขอนำเสนอเรื่องราวหลากหลายมิติที่สายน้ำนี้ได้ไปเกี่ยวโยง โดยลองถอยออกจากความเป็นคลองโอตารุ ไม่ต้องถึงกับถอยลงคลอง แค่ถอยมามองและทำความรู้จักกับน้ำแม่ข่า […]
เบื้องหลังความเปล่งประกายของวงการ K-POP ที่เต็มไปด้วยความจริงอันยากจะยอมรับ
‘เกาหลีใต้’ คือหนึ่งในประเทศที่ตลาดเพลงเติบโตเร็วที่สุดในโลก ส่วนสำคัญเกิดจากอุตสาหกรรม ‘เคป็อป (K-POP)’ ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 327,000 ล้านบาท) สื่อบันเทิงประเภทนี้กำลังสร้างปรากฏการณ์และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก จึงไม่แปลกใจที่เคป็อปจะกลายเป็นหนึ่งใน Soft Power ส่งออกวัฒนธรรมเกาหลีใต้ได้อย่างทรงพลัง เคป็อปก้าวเข้าสู่เวทีระดับโลกจากแนวดนตรีที่มีเมโลดีฟังง่าย สนุกสนาน ฟังครั้งแรกก็ติดหู พร้อมกับการเต้นที่แข็งแรง พร้อมเพรียง และเป๊ะแบบสุดๆ ไม่เพียงเท่านั้น ‘ศิลปินเคป็อป’ หรือ ‘ไอดอลเคป็อป’ ยังมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น น่าหลงใหล และมีเสน่ห์เฉพาะตัว แต่เบื้องหลังของวงการที่หลายคนมองว่าสมบูรณ์แบบนั้นอาจไม่ได้น่าชื่นชมเหมือนภาพลักษณ์ที่ถูกนำเสนอ คอลัมน์ Report ประจำเดือนนี้ขอพาไปสำรวจหลากหลายด้านมืดของวงการเคป็อป ไม่ว่าจะเป็นสัญญาทาสที่เอาเปรียบศิลปิน การล่วงละเมิดทางเพศ และการทำให้ผู้เยาว์เป็นวัตถุทางเพศ ซึ่งล้วนเป็นพิษและอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อทั้งศิลปินและแฟนคลับทั่วโลก Promise Youสัญญาทาสที่เอาเปรียบศิลปิน ช่วงเวลาก่อนไอดอลเคป็อปไม่ว่าเดี่ยวหรือกลุ่มจะเปิดตัวในฐานะศิลปินสู่สาธารณชนอย่างเป็นทางการ หรือที่เรียกว่า ‘เดบิวต์’ พวกเขาต้องผ่านการเข้าร่วมโปรแกรมเทรนนิงในฐานะ ‘เด็กฝึก’ หรือ ‘เทรนนี’ ของค่ายเพลง เพื่อพัฒนาและฝึกฝนทักษะต่างๆ อย่างหนักหน่วง ทั้งการเต้น การร้องเพลง การแสดง ฯลฯ ภายใต้ตารางกิจวัตรประจำวันและกฎที่เข้มงวด […]
‘ญี่ปุ่น’ กับการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมการเดินทาง ‘ระบบรถไฟ’
‘ญี่ปุ่น’ ถือเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์และความก้าวหน้าในหลายๆ ด้าน ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน วัฒนธรรมอาหารที่โด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างรอบด้าน จนทำให้แดนปลาดิบติดท็อป 10 ประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลกแทบทุกปี หนึ่งในสิ่งอำนวยความสะดวกของญี่ปุ่นที่มีประสิทธิภาพและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรมากที่สุดคือ ‘เครือข่ายรถไฟ’ ที่มาพร้อมชื่อเสียงเรื่องความทันสมัย ความสะอาด และการตรงต่อเวลา ขนาดที่ว่าถ้ารถไฟขบวนไหนออกเร็วหรือช้าแค่หลักวินาที ทางบริษัทรถไฟจะรีบออกแถลงการณ์ขอโทษผู้โดยสารทันที จากความสะดวกสบายของระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ผูกติดอยู่กับการเดินทางด้วยรถไฟ เห็นได้จากสัดส่วนผู้โดยสารที่ใช้งานระบบรถไฟในกรุงโตเกียวที่มีมากถึง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับมหานครนิวยอร์กและกรุงลอนดอน ที่มีสัดส่วนดังกล่าวประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ และ 19 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ คอลัมน์ Report ประจำเดือนนี้ชวนไปสำรวจว่า ปัจจัยใดที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในเครือข่ายรถไฟที่ดีที่สุดในโลก โดยพาผู้โดยสารไปส่งยังจุดหมายปลายทางได้เกือบทุกที่ทั่วประเทศ แถมยังครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทุกกลุ่ม เปลี่ยนให้เอกชนดูแลเครือข่ายรถไฟ ต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ผู้ดูแลบริหารเครือข่ายรถไฟทั่วเกาะญี่ปุ่นคือ ‘กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น’ หรือ ‘Japan Railways Group (JR Group)’ ที่แต่เดิมรัฐเป็นเจ้าของ แต่เมื่อปี 1987 รัฐบาลได้ดำเนินการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) โอนกิจการให้เอกชนเข้ามาดูแล เพื่อแก้ไขสองปัญหาหลักๆ ได้แก่ การเป็นองค์กรขนาดใหญ่อุ้ยอ้ายจนบริหารงานยาก และการดำเนินงานภายใต้อิทธิพลทางการเมืองจนสร้างความเสียหายให้องค์กร อย่างการสร้างเส้นทางรถไฟที่ไม่ทำกำไรเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง […]