วิถีชีวิตของชนเผ่าเร่ร่อนบนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ในมองโกเลีย ที่รู้จักกันในชื่อ Nomad ผู้มีนกอินทรีทองเกาะแขนเป็นสัตว์คู่ใจ พวกเขาเปลี่ยนถิ่นฐานไปตามฤดูกาล หาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ และอาศัยในเตนท์ที่เรียกว่า Ger ท่ามกลางอุณหภูมิต่ำสุดที่ -30 °C จึงไม่น่าแปลกใจที่มองโกเลียจะขึ้นชื่อเรื่อง ‘แคชเมียร์’ ที่ทำจากขนแพะ ซึ่งมีความทนทาน น้ำหนักเบา นุ่ม และกักเก็บความอบอุ่นได้มากกว่าขนแกะถึง 8 เท่า
แคชเมียร์เป็นมรดกมีค่า ที่ส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากทองแดงและทองคำ เมื่อแพะผลัดขนในฤดูใบไม้ผลิที่อากาศเริ่มอุ่นขึ้น พวกเขาจะหวีขนของมันอย่างทะนุถนอม โดยเสื้อจัมเปอร์ 1 ตัวต้องใช้แพะถึง 4 ตัวเลยทีเดียว แต่ยิ่งอุตสาหกรรมแคชเมียร์เติบโตมากเท่าไหร่ วิถีดั้งเดิมที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ ก็ยิ่งถูกทำลายไปมากเท่านั้น
ทำไมการเลี้ยงแพะ จึงเปลี่ยนทุ่งหญ้าเป็นทะเลทราย
ทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ของมองโกเลียครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ใน 4 ของประเทศ แต่ 70 % ของดินแดนที่เคยเขียวชอุ่มกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เนื่องจากการทำปศุสัตว์ที่มากเกินไป (overgrazing) ต้นตอสำคัญคือการเลี้ยงแพะที่มากถึง 27 ล้านตัว ด้วยกีบเท้าที่แหลมคม รวมถึงพฤติกรรมการเล็มหญ้าที่มันจะดึงรากออกมา ทำให้หญ้าเติบโตไม่ทัน
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ 1 ใน 4 ของทุ่งหญ้าในมองโกเลียกลายเป็นทะเลทราย ซึ่งนับเป็น 1 ใน 5 ของทะเลทรายที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเสี่ยงต่ออุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้น 2 °C ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก
การขาดแคลนหญ้าทำให้ผู้เลี้ยงแพะต้องซื้ออาหารสัตว์มากขึ้น และสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นนั้นหมายความว่าแพะจะผลิตขนที่มีคุณภาพน้อยลง เนื่องจากพวกมันไม่จำเป็นต้องมีขนชั้นดีเพื่อให้ร่างกายอบอุ่นในฤดูหนาว
เมื่อแคชเมียร์เป็นที่ต้องการสูง วิถีชนเผ่าเร่ร่อนจึงเปลี่ยนไป
ในอดีตแคชเมียร์เคยเป็นของหายากและมีราคา แต่ปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ในหลายแบรนด์ทั่วโลก โดยราคาแคชเมียร์ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นกว่า 60% นับตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1980 ในปี ค.ศ. 2018 มีมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ตามรายงานของ UN คาดว่าจะถึง 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ภายในสิ้นปี ค.ศ.2025
ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชนเผ่าเร่ร่อนในมองโกเลียหันมาเลี้ยงแพะถึง 60% ของการทำปศุสัตว์ทั้งหมด จากเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การเลี้ยงแพะคิดเป็นเพียง 19% เท่านั้น มองโกเลียผลิตแคชเมียร์มากถึง 1 ใน 5 ของอุปทานทั่วโลก และคิดเป็น 40% ของการส่งออก ในปี ค.ศ. 2015 มีจำนวนการผลิตมากกว่า 7,000 ตัน ระหว่างปี ค.ศ.1999 – ค.ศ.2019 จำนวนแพะในประเทศ เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า จาก 7 ล้านตัว เป็น 27 ล้านตัว ผู้เลี้ยงแพะเหล่านี้คือชนเผ่าเร่ร่อนกว่า 1.2 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% ของประชากรในประเทศ
จีนต่างหาก! คือผู้ผลิตรายใหญ่ที่ได้ครองตลาด
แม้หลายคนจะมองว่า มองโกเลียยืนหนึ่งเรื่องแคชเมียร์คุณภาพ แต่พวกเขากลับเป็นผู้ผลิตแคชเมียร์ดิบอันดับสองรองจากจีน เพราะแคชเมียร์ของมองโกเลียนส่วนใหญ่ล้วนไปจบที่ประเทศจีน ซึ่งผสมขนสัตว์ชนิดอื่นลงไปด้วย เสื้อจัมเปอร์ 1 ตัวต้องใช้แพะถึง 4 ตัวเลยทีเดียว ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐต่อกิโลกรัม
ปัจจุบัน ประมาณ 90% ของการผลิตแคชเมียร์ดิบในมองโกเลีย ถูกขายให้กับบริษัทแปรรูปของจีนในมองโกเลีย ก่อนส่งไปยังประเทศจีนเพื่อผลิตเป็นผ้า
ดินแดนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ สมบัติที่มองโกเลียหวงแหน
รัฐบาลมองโกเลีย และ UN ตั้งความหวังไว้ว่า การทำปศุสัตว์ที่มากเกินไป (overgrazing) จะลดลง ขณะที่แคชเมียร์ราคาสูงขึ้น โดยวิธีการแนะนำระบบในการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) หรือการติดตามตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงผู้บริโภค และการเปิดโรงงานแปรรูปแห่งใหม่ในอูลานบาตอร์ เมืองหลวงของมองโกเลีย ที่สามารถทำทุกกระบวนการเพื่อผลิตผ้าแคชเมียร์ภายใต้คำว่า ‘Made in Mongolia’
ปัจจุบัน ได้เริ่มโครงการนำร่องโดยนำเทคโนโลยี blockchain มาใช้ติดตาม ตั้งแต่แคชเมียร์จากแพะสู่โรงงานแปรรูปในอูลานบาตอร์ ผู้เลี้ยงแพะจะใช้แอปฯ บนมือถือลงทะเบียนแคชเมียร์และติดแท็ก แอปฯ นี้สร้างขึ้นโดยบริษัท Convergence Tech ของโตรอนโต ประเทศแคนาดา ซึ่งทำงานร่วมกับ UN เพื่อจำกัดพื้นที่การทำปศุสัตว์ที่มากเกินไป ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยแก้ปัญหาได้ หากแบรนด์แฟชันชั้นนำหันมาสนับสนุนแคชเมียร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
Sources : BBC | https://bbc.in/2Izccoh
NPR | https://n.pr/2vdfLxl