คลองบางประทุน คลองที่เป็นทั้งชีวิตของคนชุมชน - Urban Creature

  • ‘บางประทุน’ ในอดีตเป็นย่านชุมชนดั้งเดิมของธนบุรี ผู้คนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนเป็นหลัก ดังนั้นคลองจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตอย่างมาก
  • แต่ปัจจุบันบางประทุน กำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการขยายตัวของเมืองที่คืบคลานเข้ามาผลักดันวิถีชาวสวนให้มลายหายไป
  • ‘กลุ่มรักษ์บางประทุน’ จึงได้ถือกำเนิดขึ้น จากกลุ่มคนเล็กๆ เพียงไม่กี่คนที่ต้องการรักษาพื้นที่บ้านเกิดของตัวเองเอาไว้ไม่ให้หายไปกับกาลเวลา

ท่ามกลางความเจริญของเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ ไม่ไกลออกไปใครจะรู้ว่ายังมีพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่แอบซ่อนตัวอย่างเงียบๆ หลบสายตาผู้คนอยู่

แม้จะย่างเข้าฤดูฝน แต่แดดของเมืองไทยก็ไม่ผ่อนปรนและปรานีเราเท่าไรนัก ก่อนจะถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน เราและเพื่อนเดินลัดเลาะไปตามถนนเส้นเล็กเลียบหมู่บ้านจัดสรรโครงการใหญ่ทอดยาวลึกเข้าไป สายลมอ่อนๆ ปะทะเข้าหน้า พร้อมกับปรากฏภาพของสวนมะพร้าวขนาดใหญ่ที่แผ่ขยายกิ่งก้านใบให้ความร่มรื่น แม้ไม่มีป้าย ไม่ได้บอกชื่อ แต่เหล่าผู้มาเยือนทั้งหลายก็รู้ว่าได้มาถึง ‘บางประทุน’ แล้ว

เป็นที่น่าใจหายที่ได้รับรู้ว่า ‘บางประทุน’ ก็เป็นเหมือนอีกหลายๆ พื้นที่ที่กำลังพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการขยายตัวของเมืองที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาผลักดันวิถีชาวสวนให้มลายหายไป จึงทำให้ ‘กลุ่มรักษ์บางประทุน’ ได้ถือกำเนิดขึ้น จากการรวมตัวกันของลูกหลานบางประทุน อย่าง ‘พี่ปอง-นาวิน มีบรรจง’, ‘พี่ปิง-ปุญโญ มีบรรจง’ และ ‘พี่หน่อย-พงพันธ์ นิ่มมา’ เพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อม ภูมิปัญญา และสร้างความตระหนักในความสำคัญของคลองบางประทุน 

พี่ปอง เล่าว่า หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี พ.ศ. 2554 ก็เริ่มสนใจเรื่องแม่น้ำลำคลองมากขึ้น ออกเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งเป็นเรื่องเล่า และภาพถ่ายยิ่งทำให้รู้ว่าชุมชนพื้นที่คลองประทุนสมัยก่อนสวยงามมากแค่ไหน ภาพของต้นไม้จากคลองสองฝั่งที่โค้งเข้าหากันจนเป็นหลังคา พร้อมกลิ่นหอมของต้นโมกที่โชยฟุ้งอบอวลทั่วคลอง คนสมัยก่อนจึงเรียกคลองนี้ว่า ‘คลองบางประทุน’ โดยสุนทรภู่ได้พรรณนาถึงคลองบางประทุนใน ‘นิราศเพชรบุรี’ ช่วงหนึ่งว่า

“บางประทุนเหมือนประทุนได้อุ่นจิต
พอป้องปิดเป็นหลังคานิจจาเอ๋ย
หนาวน้ำค้างพร่างพรมลมรำเพย
พิงเขนยนอนอุ่นประทุนบัง

‘บางประทุน’ ในอดีตเป็นย่านชุมชนดั้งเดิมของธนบุรี ผู้คนที่นี่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนเป็นหลัก ปลูกตั้งแต่ส้มเขียวหวาน ลิ้นจี่ มะพร้าว แซมด้วยกล้วยหอม ขนุน ละมุด และพืชผักต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาหารได้ และด้วยเป็นชุมชนที่อยู่ติดคลอง วิถีชีวิตของคนที่นี่จึงเกี่ยวข้องสายน้ำ ทั้งเป็นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร การเดินทาง เส้นทางขนส่งสินค้าค้าจากสวน รวมไปถึงขนศพไปวัด ดังนั้นคลองบางประทุนจึงมีความสำคัญที่คอยทำหน้าที่ในการไหลรวมคนในชุมชนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“คลองบางประทุนสมัยก่อน นอกจากใช้สัญจรไปมาของชาวบ้าน ก็จะมีพวกเรือไปรษณีย์มาส่งจดหมาย มีเรือขายกับข้าว เรือรับจ้าง เรือขายไม้พวกไม้ไผ่ อุปกรณ์การเกษตรแบบนี้ก็จะมีเหมือนกัน หรือนานๆ ทีจะมีเรือเกลือจากมหาชัยเข้ามา เมื่อก่อนจะมีพวกเรือก๋วยเตี๋ยว เรือขนม เรือโจ๊ก แต่ตอนนี้หายไปหมดแล้ว” พี่ปอง กล่าว

นอกจากคลอง ก็ยังมี ‘วัด’ ที่ถือเป็นสถานที่สำคัญสำหรับชาวบางประทุน เพราะนอกจากจะเป็นที่พึ่งทางใจ ให้ชาวบ้านมากราบไหว้ สักการบูชา เวลามีงานบุญหรือประเพณีต่างๆ โรงครัวและศาลาท่าน้ำวัดยังคลาคล่ำไปด้วยชาวคลองบางประทุนที่มาช่วยงาน ไม่ว่าจะจัดสถานที่ ทำอาหาร โดยเฉพาะ ‘ขนมหวาน’ จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และเม็ดขนุน ที่อร่อยจนเลื่องลือเป็นตำนาน ถึงขนาดพูดกันว่า “ขนมตระกูลทองต้องคลองบางประทุน” 

| ‘ลุงเปี๊ยก’ ปราชญ์คนสุดท้ายแห่งบางประทุน

พี่ปองพาเราเดินลัดเลาะทางผีที่ชาวบ้านที่นี่เรียกกัน สองข้างทางเต็มไปด้วยต้นมะพร้าวขนาดใหญ่ เดินไม่กี่อึดใจก็เจอกับบ้านไม้หลังเล็ก ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองบางประทุนของ ‘ลุงเปี๊ยก’ ชายแก่สีผมดอกเลา รูปร่างสันทัด กำลังนั่งปอกเปลือกมะพร้าวด้วยท่าทางแข่งขัน ถ้าไม่บอกก็ไม่รู้ว่าอายุ 80 ปี เลยนะนั่น

“ฉันชอบเรียนรู้ ทดลองทำอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่างบ้านที่เห็น ฉันก็เป็นคนสร้างเอง ทำคนเดียว และนอกจากเป็นชาวสวน สมัยก่อนก็ขับเรือรับจ้างรับ – ส่งเด็กนักเรียน และชาวบ้านในละแวกนี้ หรือบางทีก็เป็นหมอยาพื้นบ้าน ช่วยรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยก็มี”

“ตำนานช่างทำขนมของชาวบางประทุน”

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ‘ลุงเปี๊ยก’ นั้นเป็นตำนานช่างทำขนมของชาวบางประทุน “สมัยก่อนเวลามีงานบุญใครมาชวนให้ไปทำอะไรก็ไปกับเขา หลักๆ คือดูเรื่องของหวาน แรกๆ ก็หยิบจับโน่นนี่ตามเขาบอก หลังๆ จึงเริ่มฝึกงานส่วนอื่นจนเขาเห็นว่าเอาการเอางาน เลยได้รับการถ่ายทอดวิชาจากแม่ครัวขนมหวานเจ้าตำรับ เรียนรู้การทำตระกูลทองต่างๆ ซึ่งที่นี่เขาก็จะมีสูตรเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร”

ลุงเปี๊ยก เล่าเสริมว่า นอกจากการทำอาหารคาวหวานแล้ว ภูมิปัญญาที่น่าสนใจของบางประทุนอีกหนึ่งอย่างก็คือ ‘งอบ’ เครื่องสวมศีรษะสำหรับกันแดดกันฝน ที่สมัยก่อนกว่าจะได้แต่ละชิ้นนั้น ต้องลงมือหลายคนและทำหลายขั้นตอน เช่น บ้านหลังที่หนึ่งทำโครงงอบ หลังที่สองเย็บงอบ หลังที่สามประกอบร่าง ซึ่งแต่ละคนก็มีความถนัดแตกต่างกันไป ซึ่งพอมาถึงตอนนี้หลายคนก็ล้มหายตายจากไม่มีคนสืบทอด เหลือแต่โครงงอบที่เอาไว้ดูต่างหน้า

| ‘บางประทุนจูเนียร์’ ลมหายใจเฮือกใหม่ของชุมชน

บ่ายคล้อยเสียงพูดคุยที่ดังทั่วคุ้งน้ำก็เงียบลง หลังจากอำลาลุงเปี๊ยกเราก็ออกมานั่งพักที่ ‘ศูนย์เรียนรู้บางประทุน’ ศาลาไม้ไผ่รูปทรงแปลกตาที่เกิดจากการร่วมแรง และร่วมใจกันสร้าง โดยมีทีมสถาปนิกจาก ‘สถาบันอาศรมศิลป์’ เข้ามาร่วมออกแบบและช่วยก่อสร้าง

“สิ่งที่กลัวมากที่สุดคือกลัวบางประทุนจะหายไปจากความทรงจำของทุกคน”

‘บางประทุนจูเนียร์’ จึงได้เกิดขึ้น เพื่อส่งต่อความรัก ความรู้สึกหวงแหนต่อพื้นที่ให้กับเด็กๆ ในชุมชนรุ่นใหม่ ผ่านการเรียนรู้ธรรมชาติ ไม่ว่าจะกระโดดน้ำในคลอง คลุกดินลุยโคลน เดินท้องร่อง เข้าสวนปลูกผัก ไปจนถึงการนอนค้างอ้างแรมกลางสวนเลยทีเดียว

“ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือการสร้างจิตสำนึกเป็นหลัก เพราะเราไม่มีทุนที่จะมาเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ คือ การเปลี่ยนความรู้สึกคนที่มีต่อพื้นที่ และถึงแม้เป็นสิ่งที่ยากแต่เราก็ต้องทำ” พี่ปอง กล่าว

      “ก่อร่างสร้างฐาน สถานที่ของชาวบางประทุน”

| ชุมชนบางประทุน + สถาบันอาศรมศิลป์ = ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุน

ในวงสนทนานอกจากพี่ปอง เรายังได้รับเกียรติจาก ‘พี่คุ้ง-ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์’ และ ‘พี่ดิว-รชา ถาวระ’ จากสถาบันอาศรมศิลป์มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้

พี่คุ้ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกันของชุมชนบางประทุนว่า เมื่อปีก่อนๆ โน้นเรามี ‘โครงการฟื้นฟูเมืองและย่านชุมชนเก่า’ (CCRP) ที่เปิดให้ชุมชนที่ทำเรื่องอนุรักษ์ย่านเก่าสมัครเข้ามาขอทุนไปทำงาน และบางประทุนก็เป็นหนึ่งชุมชนที่ขอทุนเข้ามา เพื่อนำทุนไปทำแผนที่รวบรวมภูมิปัญญาในพื้นที่ จนเมื่อปี 2016 ทางสถาบันอาศรมศิลป์ได้จัดกิจกรรม ‘Place Making: Living With Water Workshop’ ในพื้นที่ชุมชนบางประทุน ให้กับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมจากสถาบันต่างๆ ซึ่งเข้าร่วมเวิร์กชอปเสนอแนวไอเดียในการสร้างศูนย์ชุมชนขึ้น

พี่ดิว เล่าเสริมว่า เพราะเป็นพื้นที่ของชุมชน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญ และจากการสอบถามความคิดเห็นของชาวบ้านก็ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ต้องมีศาลาให้นั่งประชุม มีตลาดนัดไว้ขายผลผลิต รวมไปถึงต้องมีพื้นที่ให้เด็กๆ ในชุมชนได้เรียนรู้ จึงเป็นที่มาของ’ ศูนย์เรียนรู้ชุมชนบางประทุน’

“ศูนย์เรียนรู้ที่เกิดจากการร่วมแรง รวมใจ และลงมือทำของคนในพื้นที่ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางของชุมชนในการถ่ายทอดภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว ยังหมายถึงสัญลักษณ์ในการยืนหยัดในตัวตน และเชื่อม อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของชุมชนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ อย่างยั่งยืน” พี่ปอง-นาวิน มีบรรจง กลุ่มรักษ์บางประทุน

ก่อนแสงจะลาลับ ขากลับเราได้สำรวจเส้นทางใหม่ จากที่เดินเข้ามาก็เปลี่ยนเป็นนั่งเรือออกไป บรรยากาศรอบข้าง สิ่งที่เราได้เห็นและสัมผัสในวันนี้มันมีคุณค่ามาก ถ้าวันหนึ่งมันหายไปคงน่าเสียดาย และน่าใจหายอยู่ไม่น้อย

…………………..

Writer

Photographer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.