ปิดตำนวน เมื่อรถเมล์สาย ‘73ก’ ไม่มี ก อีกต่อไป - Urban Creature

‘กว่าคุณจะได้อ่านบทความนี้ ประเทศไทยคงไม่มีรถเมล์สาย 73ก อีกต่อไปแล้ว’

‘73ก’ รถเมล์ที่มีเส้นทางผ่านไปทักทายผู้คนมากมายหลายย่าน ตั้งแต่แหล่งออฟฟิศย่านรัชดาฯ รับ-ส่งอากง-อาม่าที่เยาวราช ดรอปนักช้อปตัวยงที่ปากคลองตลาด-พาหุรัด-สำเพ็ง-ประตูน้ำ ผ่านแหล่งศูนย์รวมเยาวรุ่นอย่างสยาม-เซ็นทรัลเวิลด์ แม้แต่จะเดินทางไปจับมือเกิร์ลกรุ๊ปไกลถึงเดอะมอลล์ บางกะปิ หรืองาน Cat Festival แถวห้างแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา สายนี้ก็ไปทั่วถึง! (ด้วยเส้นทางที่ทั้งแมสและทรหด) 

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากใครหลายคนจะเคยใช้บริการรถเมล์สายนี้มาแล้ว บางคนก็เป็นขาประจำ ไปเรียน ไปทำงาน หรือไปต่อสถานีรถไฟฟ้า โดยเฉพาะชาวลาดพร้าว บางกะปิ และนวมินเนี่ยนอย่างผม จนแม้แต่ในรายการแฟนพันธุ์แท้ EP.01 พิธีกรอย่าง กันต์ กันตถาวร ก็เคยพูดถึงรถเมล์สายนี้ด้วยเหมือนกัน

ในวาระเดียวกับบรรทัดที่ 1 ‘เจอนี่เจอนั่น’ เดือนนี้ เลยขอบอกลาเพื่อนเก่าที่คุ้นหน้ามานานอย่างรถเมล์สาย ‘73ก’ รถประจำทางที่หลายคนคุ้นหน้าหรือเคยได้ขึ้นไปไหนมาไหน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นรถเมล์สายแมสที่สุดของตระกูล ก ซึ่งตอนนี้รถเมล์สาย 73ก นี้ได้เลิกใช้ ‘ก’ ห้อยท้ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลังใช้ชื่อนี้มายาวนานกว่า 22 ปี 

ว่าแต่ทำไมชื่อ 73 ต้องมี ‘ก’ ต่อท้าย พอไม่มี ก.ไก่แล้วเดินรถต่างจากที่เคยมี ก ยังไง มีใครบ้างที่ใช้เลขสายแบบนี้ในกรุงเทพฯ และสงสัยไหมว่าเส้นทางรถเมล์สายนี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่

เอาล่ะ ก้าวตามมาทำความรู้จักกับ 73ก และจักรวาลรถเมล์ตระกูล ก.ไก่ ไปพร้อมกันเลยดีกว่า

รถเมลสาย 73
73ก สมัยใช้รถ ปอ. ครีม-น้ำเงิน Mercedes-Benz เมื่อปี 2543 นอกจากวันที่ในภาพถ่ายยังสังเกตได้จากคีย์วิชวลโฆษณาเป๊ปซี่บนตัวรถ และคัตเอาต์ภาพยนตร์เรื่อง Final Destination : 7 ต้องตาย โกงความตาย ที่ติดอยู่ใกล้โรงภาพยนตร์สกาลา

กำเนิดตำนาน 73ก

ย้อนกลับไปปี 2542 เป็นปีแรกที่รถเมล์สาย 73ก ให้บริการ โดยใช้รถปรับอากาศสีครีม-น้ำเงิน คาดเขียว ยี่ห้อ Mercedes-Benz ติดชื่อเส้นทางบนกระจกหน้ารถว่า ‘เดอะมอลล์บางกะปิ-สยาม-สะพานพุทธ’

73ก เป็นหนึ่งในสายที่อยู่ในลิสต์ ‘รถเมล์กะสว่าง’ (รถเมล์ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง) ของ ขสมก. แต่จะตัดระยะไปไม่ถึงสะพานพุทธ ในยุคแรกๆ ไม่รู้ว่าเคยเดินรถตลอดคืนหรือไปถึงสะพานพุทธไหม เพราะกว่าจะโตแล้วกลับบ้านดึกได้ รถเมล์สายนี้ก็วิ่งคันสุดท้ายแค่ตีหนึ่งซะแล้ว 

นอกจาก 73ก จะเป็นรถ ปอ. สายแรกที่ประสบความสำเร็จบนเส้นทางจากนวมินทร์เข้ามายังลาดพร้าว (แม้ก่อนหน้านั้นจะมีรถเมล์สาย 96 วิ่งรถ ปอ. จากนวมินทร์เข้าลาดพร้าวมาก่อน แต่ก็ล้มเลิกไปในเวลาอันสั้นมากกก…จนแทบไม่เคยมีใครเห็น) การปรากฏตัวของ 73ก ช่วงแรกๆ ยังทำให้ตำนานรถเมล์แห่งสะพานพุทธอย่าง ‘สาย 8’ หวั่นไหว จนทำให้ช่วงเวลานั้น หากมีจังหวะที่รถเมล์สองสายนี้เข้าป้ายพร้อมกันบนถนนลาดพร้าว ผมเองยังเคยได้เห็นสายตาคนขับที่ฟาดฟันกันบางครั้ง ทั้งๆ ที่รายละเอียดเส้นทางพอพ้นจากลาดพร้าวจนเข้าท่าสะพานพุทธ จะวิ่งกันไปคนละทางก็ตามที 

และนอกจากความวิ่งไกล ไปทุกย่านที่รถติด เส้นทางสุดฮิตประจำทุ่งบางกะปิสายนี้ ยังเคยมีรถประจำการสูงสุดอยู่ราว 40 คัน ยุคนั้นพี่กระเป๋าเล่าให้ฟังว่า 8 ชั่วโมงทำงานของพนักงาน 1 กะ จะต้องนำรถออกวิ่ง อู่โพธิ์แก้ว-สะพานพุทธ 1 รอบ และ อู่โพธิ์แก้ว-สนามกีฬาแห่งชาติอีก 1 รอบ สมัยที่ตลาดสวนหลวงยังอยู่ 73ก คันที่หมดระยะสนามกีฬาฯ จะกลับรถโดยวนเข้าไปในซอยจุฬาฯ 5 ออกซอยจุฬาฯ 12 แล้วจอดรับคนตรงข้ามอาคารมั่นคงเคหะการเป็นป้ายแรก ปัจจุบันคือ Mint Tower

ดั่งในใจความบอกในกวีว่า… ‘ไอ้ชีวิตคนเรามีขึ้นก็ต้องมีลง (ขึ้นแล้วก็ลง อ๊ะ ขึ้นแล้วก็ลง อ๊ะ)’ เพลงพี่โจอี้บอยว่าไว้อย่างนั้น รถเมล์ 73ก เองก็เช่นกัน เพราะหลังจากเคยทำสถิติมีรถวิ่งราว 40 คัน จากนั้นก็ค่อยๆ ถูกถอดรถออกเรื่อยๆ และรถที่ถูกถอดออกก็ไม่ได้ย้ายไปไหนไกล เพราะไปอยู่กับพี่น้องที่รักกันดั่งกาสะลอง-ซ้องปีบ หรือเอื้อย-อ้าย อย่างสาย 73 ห้วยขวาง-สะพานพุทธ นั่นเอง

จนมาถึงยุคที่มีปัญหาซ่อมบำรุงรถเมล์ยูโรทูสีส้ม ยี่ห้อ Daewoo BH115 รถที่เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของสาย 73 และ 73ก เพราะใช้รถรุ่นนี้มานานที่สุด แล้วจุดตกอับของ 73ก ก็มาถึงในวันที่รถ ปอ. Daewoo ออกวิ่งได้แค่ 9 คัน ซึ่งมาจากคำบอกเล่าของพี่กระเป๋ารถเมล์ หลังจากผมยืนรอรถสายนี้ที่สนามกีฬาฯ นานหลายชั่วโมง ว่ากันว่าช่วงเวลานั้นคนขับคนไหนที่ซ่อมรถได้ก็ซ่อมไป หนักเข้าบางช่วงถึงกับต้องจอดรถ ปอ. ยกสาย แล้วย้ายรถธรรมดา ครีม-แดง มิตซูบิชิ จากสายอื่นที่อยู่ร่วมอู่มาแปะป้ายวิ่งเป็น 73ก แทน

เด็กนักเรียน กับตำรวจ 2544
ภาพจากรายการคดีเด็ด ปี 2544 บนกระจกด้านข้างบานแรกมีคำว่า ‘สุขาภิบาล 1’ ซึ่งหมายถึง ‘ถนนนวมินทร์’ ในปัจจุบัน สุขาภิบาลในที่นี้คือ ‘สุขาภิบาลบางกะปิ’ แม้จะเป็นรูปแบบเขตการปกครองที่สิ้นสุดลงไปเมื่อปี 2542 แต่คนละแวกนั้นก็ยังเรียกชื่อสุขาฯ 1 กันต่ออีกหลายปี ปัจจุบันเหลือเพียงชื่อสาขาโลตัส สุขาภิบาล 1 และเคหะชุมชนสุขาภิบาล 1

ต้องวิ่งรถไกลแค่ไหนถึงใช้ ก ไก่ บอกที…

“ทำไมต้องมี ‘ก’ ต่อท้าย” นี่คือคำถามยอดฮิตตลอดกาล

เอาเป็นว่าถ้าเริ่มจากเคสของ ‘73ก’ เส้นทางนี้ต่อยอดมาจากสาย ‘73 ห้วยขวาง-สะพานพุทธ’ โดยขยายต้นทางในใบอนุญาตเดินรถ จากห้วยขวาง ตรงมาถึงแยกรัชดา-ลาดพร้าว เลี้ยวเข้าถนนลาดพร้าว ถนนนวมินทร์ แล้วมาสุดสายที่อู่เก็บรถที่อยู่ในซอยโพธิ์แก้ว 

แต่ก่อนผมเข้าใจมาตลอดว่าที่ยังวิ่งสาย 73 ห้วยขวาง-สะพานพุทธ เดิมอยู่ ถึงแม้จะเป็นเส้นทางสั้นๆ แต่ดูจำนวนรถ ปอ. ยูโรทู ยี่ห้อ Daewoo ที่ใช้ จากการสังเกตว่าเคยมีการวิ่งสูงสุดถึงยี่สิบสามสิบคัน คงเพราะมีคนใช้บริการหนาแน่นมากแน่ๆ 

และผมก็ตอบคนอื่นอย่างนั้นเรื่อยมา จนกระทั่งได้อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษาถึงรู้ว่าจริงๆ สาย 73 เพิ่งได้ขยายเส้นทางในใบอนุญาตเดินรถจาก ‘ห้วยขวาง-สะพานพุทธ’ เป็น ‘อู่โพธิ์แก้ว-สะพานพุทธ’ เมื่อปี 2548 หรือหลังจาก 73ก ออกวิ่งมาแล้วถึง 6 ปี! (นี่มันอะไรกันครับเนี่ย) แต่หลังจากขยายเส้นทางในใบอนุญาตสำเร็จ ขสมก. ก็ยังเดินรถทั้งสาย 73 และ 73ก คู่กันเรื่อยมา (แล้วก็สลับรถคันที่ให้บริการระหว่างสองสายนี้ไปมาอยู่หลายครั้ง ซึ่งไม่รู้เหตุผลว่าทำไม)

รถเมล 73ก ปี 2549
สเกลฟอนต์ ‘ก’ หลังเลข 73 ดูแปลก เพราะเพิ่งกลับมาติด ก ใหม่อีกครั้ง หลังไปวิ่งเป็นสาย 73 พักหนึ่ง เจ้าของภาพ คุณ Gaoist เขียนบรรยายในเว็บไซต์ Flickr ไว้สั้นๆ ว่า ‘โฆษณาบนรถคันนี้ Weird มาก’ แต่ผมชอบคีย์วิชวลนี้นะ และมันยังทำให้ผมรู้ว่ารถคันนี้คือเบอร์ 8-67100 รูปนี้ถูกถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบันรถคันนี้ก็ยังวิ่งอยู่ในสาย 73

หลายคนมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า ใบอนุญาตเดินรถเมล์หนึ่งสาย หากมีเส้นทางมากกว่าหนึ่งช่วง เส้นทางช่วงที่วิ่งไกลกว่าจะเป็นผู้ถูกเติม ก.ไก่ เข้าไป ซึ่ง ‘ไม่จริง’ 

สิ่งนี้น่าจะเป็นความเข้าใจผิดจาก 73ก ที่หลายคนเคยเห็นว่าวิ่งไกลกว่า 73 แต่แท้จริงแล้ว ‘ก’ ไม่ได้ย่อมาจาก ‘ไกล’ อย่างที่ใครหลอกลวง เผลอๆ ในหลายสายมีช่วงวิ่งใกล้กว่าด้วยซ้ำ เพราะรถเมล์สายแรกๆ ของกรุงเทพฯ ที่ใช้ ‘ก’ อย่าง 7ก หรือ 82ก ก็ล้วนวิ่งสั้นกว่าเส้นทางต้นฉบับทั้งสิ้น อย่างที่ได้บอกไปตอนต้นว่า ‘ก’ ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แยกต้นทางหรือปลายทางที่ต่างกัน และหากมีช่วงเส้นทางอื่นๆ เพิ่ม ก็เคยปรากฏว่ามีการใช้ ‘ข’ ‘ค’ ต่อกันไปตามลำดับ เช่น 

  • 95 อู่บางเขน-บางกะปิ 
  • 95ก อู่รังสิต-บางกะปิ
  • 95ข อู่บางเขน-เลียบทางด่วนฯ-บางกะปิ (30 มกราคม 2553 – 15 กันยายน 2560)

หรือ ป.25ค* อู่พระราม 9-พระราม 7 เป็นต้น

*Nerd Note :  ‘ป.25ค’ เป็นเส้นทาง 1 ใน 3 ส่วนของสาย ‘ป.25’ วงกลมวงแหวนรัชดาภิเษก ตามแผนโครงการปฏิรูปรถเมล์กรุงเทพฯ เมื่อปี 2537 แม้สุดท้ายแผนดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ ป.25ค เป็นรถเมล์เพียงไม่กี่สายที่เหลือรอด และได้เปลี่ยนเลขสายเป็น ‘179’ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน

รถเมล 73ก สีเหลือง
ภาพรถเมล์ Daewoo BH115 ของสาย 73ก สมัยยังมีรถจอดเข้าคิวเรียงกันรอออกที่ปลายทางบริเวณท่าเรือสะพานพุทธ ปัจจุบันกลายเป็นภาพหายากสำหรับรถเมล์สาย 73 ไปแล้ว
รถเมล 73ก สีแดง
สาย 73ก สมัยที่ยังมีการวิ่งรถกะสว่าง ซึ่งต่อมารถเมล์สายนี้เปลี่ยนมาให้บริการด้วยรถ ปอ. หมดทุกเที่ยวจนถึงช่วงล็อกดาวน์ปี 2563 ซึ่งรถเที่ยวตีหนึ่งของ 73ก หายไปและไม่มีวี่แววจะกลับมาอีกเลย (ภาพถ่ายโดย ticketbus)

เมื่อรถเมล์สาย ‘ก’ หายไปเรื่อยๆ

ไม่กี่ปีมานี้ รถเมล์ตระกูล ก ค่อยๆ หายไป บางสายเลิกวิ่ง บางสายแค่เลิกใช้ ก (แล้วให้ผู้โดยสารอ่านป้ายหน้ารถเอา เช่น สาย 26 ป้ายสีแดงสีเดียวใช้กับปลายทาง 5 ที่ ซึ่งอยู่คนละทิศของเมืองอย่าง ฉลองกรุง เซ็นทรัลลาดพร้าว บางเขน ลาดกระบัง หมอชิต และเอกมัย) ส่วนบางสายก็ควบรวมกัน ล่าสุดคือคู่ 73 กับ 73ก ถึงตอนที่กำลังอ่านบรรทัดนี้อยู่ อาจมีบางคนยังไม่รู้ว่าช่วง 16 – 30 กันยายน 2564 ที่เรากำลังนอยด์ไข้โควิดได้ที่อยู่นั้น กรุงเทพฯ ไม่มีรถเมล์ ‘เลขสาย 73’ (ห้วยขวาง-สะพานพุทธ) วิ่งบนถนนนานถึงครึ่งเดือน เพราะทุกคันถูกรวบไปเป็น 73ก อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ กันหมด จนวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ค่อยใช้วิธีตัด ‘ก’ ของ 73ก อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ กลายเป็นสาย ‘73 อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ’

ถ้างงให้ลองกลับไปอ่านบรรทัดบนใหม่อีกครั้ง ทั้งหมดนี้เป็นการออกแบบช่วงเปลี่ยนผ่านเลขสาย 73 – 73ก ของ ขสมก. ที่ทำให้ผมคิดอยู่ว่าทำไมเราไม่รวบเป็น 73 อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ ไปตั้งแต่แรก แล้วแปะบนป้ายไฟที่หัวรถทุกคันว่า ‘สวนสยาม’ อาจจะง่ายกว่า

รถเมล์ 73 สวนสยาม-สะพานพุทธ
สิ่งที่เห็นอยู่นี้ไม่ใช่ความจริงเป็นแค่รูปรีทัช จากไอเดียที่อยู่ในหัวผมออกมาเป็นภาพการเปลี่ยนผ่านเลขสาย 73 – 73ก เป็น 73 สวนสยาม-สะพานพุทธ

นอกจากปิดตำนานรถเมล์เลขสาย 73ก แล้ว ในวันเดียวกันยังเป็นการปิดฉากการใช้รถเมล์ยี่ห้อ Mercedes-Benz คันสุดท้ายของ ขสมก. อีกด้วย โดยรถหมายเลข 66269 เป็นผู้ถูกเลือกให้เข้าโครงการปรับปรุงรถโดยสารระหว่าง ขสมก. กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ต่อมาเมื่อมีการปลดระวางรถรุ่นเดียวกันจนหมดในปี 2561 รถคันนี้จึงเหลือรอดและถูกนำมาวิ่งต่อในเส้นทางสาย 73ก แต่เพราะปัญหาการซ่อมบำรุง (ที่เสียอยู่บ่อยๆ ขนาดเคยไปจอดเสียอยู่กลางดงการชุมนุมที่ดินแดงมาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา) เลยอาจเป็นเหตุผลที่รถคันนี้ไม่ได้ไปต่อ และให้บริการจนถึงครึ่งเช้าของวันที่ 30 กันยายน 2564 เป็นวันสุดท้าย โดยเหตุที่ไม่ได้วิ่งจนจบวันเนื่องจากไม่มีพนักงานกะบ่ายมารับรถคันนี้ออกให้บริการ ถือเป็นการปิดตำนานรถคันนี้แบบไม่ทันตั้งตัว

รถเมล์ 73ก สีเขียว
รถเมล์ยี่ห้อ Mercedes-Benz คันสุดท้ายของ ขสมก. ภาพถ่ายโดย Cheetos 

ถ้า 73ก เป็นรถเมล์ตระกูล ก ที่ผมขึ้นบ่อย แล้วสำหรับผู้อ่านคนอื่นๆ ล่ะครับ เป็นขาประจำหรือเคยใช้บริการรถเมล์ตระกูล ก สายไหนกันบ้าง ลองนั่งไล่เส้นทางรถเมล์ ก กันดู แล้วเล่าสู่กันฟังก็ได้นะ

7ก อู่บรมราชชนนี-พาหุรัด

11ก มักกะสัน-สะพานพุทธ*

21ก วัดคู่สร้าง-พาหุรัด**

26ก อู่มีนบุรี-เอกมัย**

26ก อู่มีนบุรี-เคหะฯ ร่มเกล้า*

26ก มีนบุรี-เคหะฯ ฉลองกรุง**

26ก อู่มีนบุรี-สถานีลาดกระบัง**

29ก อู่บางเขน-หัวลำโพง*

36ก อู่โพธิ์แก้ว-สี่พระยา*

36ก อู่สวนสยาม-อนุสาวรีย์ชัยฯ

45ก อู่ฟาร์มจระเข้-ทางด่วน-สี่พระยา*

68ก มจธ. บางขุนเทียน-บางลำพู**

71ก อู่สวนสยาม-ไม่เข้านิด้า-วัดธาตุทอง*

73ก อู่สวนสยาม-สะพานพุทธ**

75ก วัดพุทธบูชา-ทางด่วน-มาบุญครอง*

79ก โรงพิมพ์อมรินทร์ฯ-สน.ตลิ่งชัน*

80ก ม.วปอ.11-บางกอกใหญ่

82ก บางปะกอก-สนามหลวง*

84ก เซ็นทรัลศาลายา-วงเวียนใหญ่

91ก สนามหลวง 2-บางกอกใหญ่

93ก หมู่บ้านนักกีฬาฯ-สถานีบ้านทับช้าง*

95ก อู่รังสิต-ม.รามคำแหง

96ก อู่มีนบุรี-เขตคันนายาว-บางกะปิ

105ก มหาชัยเมืองใหม่-วัดสน*

134ก เคหะฯ คลองจั่น-กระทรวงพาณิชย์ใหม่***

143ก มีนบุรี-เคหะฯ ฉลองกรุง***

166ก*

168ก อู่สวนสยาม-หมู่บ้านบัวขาว

543ก อู่บางเขน-นนทบุรี**

ปอ.2ก คลองจั่น-สีลม***

หมายเหตุ

* เลิกวิ่งแล้ว

** เลิกใช้ ก

*** เปลี่ยนเลขสาย : 134ก เป็น 191, 143ก เป็น 26, ปอ.2ก เป็น 514

Source : https://londonist.com/london/transport/how-do-london-s-buses-get-their-numbers

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.