อาคารพังถล่มกว่า 7,000 หลัง
ผู้เสียชีวิตกว่า 41,000 ราย
ผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 100,000 ราย
เหล่านี้คือตัวเลขความเสียหายซึ่งเป็นผลพวงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.8 แมกนิจูด ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ติดกับพรมแดนประเทศซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ยังไม่รวมถึงประชาชนหลายหมื่นรายที่ยังสูญหาย และผู้รอดชีวิตอีกหลายแสนรายที่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566)
ตุรกีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ทำให้ทางรัฐบาลกำหนดข้อบังคับในการก่อสร้างอาคารให้ปลอดภัยและต้านทานต่อแผ่นดินไหวได้มาตั้งแต่อดีต แต่สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งล่าสุดคือ อาคารที่พังถล่มลงมาจำนวนไม่น้อยเป็นอาคารสร้างใหม่ ซึ่งอาจสอดคล้องกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญในช่วงหลายปีก่อนว่าอาคารใหม่หลายหลังในตุรกีไม่ปลอดภัย เนื่องจากการทุจริตในพื้นที่และนโยบายของรัฐบาล
คอลัมน์ Curiocity พาไปหาคำตอบว่า ความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในรอบร้อยปีของตุรกีเกิดจากอะไร เป็นเพราะแผ่นดินไหวที่รุนแรงเทียบเท่าระเบิดนิวเคลียร์ หรือปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่ทำให้ผลกระทบหลังแผ่นดินไหวรุนแรงกว่าควรจะเป็น
ประเทศที่อยู่บนแนวรอยเลื่อนเปลือกโลก
แผ่นดินไหวคือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยจนเป็นเรื่องปกติในตุรกี เนื่องจากประเทศนี้ตั้งอยู่บนภูมิภาคที่คร่อมอยู่บนแผ่นเปลือกโลกมากถึงสามแผ่น ซึ่งเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวที่รุนแรง โดยบันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ภูมิภาคนี้เริ่มเกิดแผ่นดินไหวมาอย่างน้อย 2,000 ปีแล้ว ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 17 ที่ตอนนั้นได้ทำลายเมืองหลายสิบแห่งพังราบเป็นหน้ากลอง
แผ่นดินไหวขนาด 7.5 และ 7.8 แมกนิจูดครั้งล่าสุดในตุรกีและซีเรียเกิดขึ้นบริเวณ ‘แนวรอยเลื่อนอานาโตเลียตะวันออก’ ที่พาดจากทางตะวันออกไปยังภาคกลางตอนใต้ของตุรกี ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่ผ่านกันของแผ่นธรณีภาคระหว่าง ‘แผ่นเปลือกโลกอานาโตเลีย’ และ ‘แผ่นเปลือกโลกอาระเบีย’ ซึ่งเคลื่อนที่ผ่านกันประมาณ 6 – 10 มิลลิเมตรต่อปี
การเสียดสีและการอัดแน่นของแผ่นเปลือกโลกที่สะสมอยู่บริเวณรอยต่อนี้ ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวเป็นระยะๆ อยู่แล้ว ภัยพิบัติในตุรกีเมื่อไม่นานมานี้จึงดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่าไรนัก
โครงสร้างพื้นฐานที่เปราะบาง
แม้จะรู้ดีถึงอันตรายของแผ่นดินไหว แต่ตุรกีกลับมีโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่เปราะบางและไม่ปลอดภัยเมื่อเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ศึกษาและพัฒนาวิธีสร้างอาคารที่สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้ แต่ในความเป็นจริงกลับมีหลายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างอาคารให้เป็นไปตามข้อกำหนดและแนวปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่แค่ในตุรกีเท่านั้น แต่รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก
ปัญหาที่พบในตุรกีคือ อาคารหลายหลังที่พังทลายลงมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหวมีโครงสร้างที่เรียกว่า ‘Soft Story Structures’ หรือตึกและอาคารคอนกรีตที่มีหลายชั้น โดยชั้นบนมักสร้างจากคอนกรีตที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก แต่กลับตั้งอยู่บนอาคารชั้นล่างที่มีขนาดเล็กกว่า และใช้เพียงเสาที่ทำจากไม้รองรับน้ำหนัก แถมชั้นล่างสุดยังมักถูกออกแบบให้เปิดโล่งและมีกำแพงน้อยกว่า ทำให้รองรับน้ำหนักอาคารชั้นบนได้ไม่เต็มที่ เมื่อเกิดแผ่นดินไหว ชั้นล่างของอาคารจะทรุดตัวก่อน จากนั้นชั้นอื่นๆ ก็ถล่มตามลงมา การพังทลายรูปแบบนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Pancake Collapse’
เหตุผลที่ชั้นล่างสุดของ Soft Story Structures มักมีพื้นที่กว้างและเปิดโล่ง เป็นเพราะเจ้าของตึกต้องการใช้เป็นที่จอดรถยนต์ พื้นที่สำหรับค้าขาย หรือต่อเติมเป็นที่อยู่อาศัย สิ่งปลูกสร้างลักษณะนี้ได้รับความนิยมในหลายประเทศที่มีปัญหาพื้นที่แออัดหรือพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นเกินไป เช่น อินเดีย ปากีสถาน และตุรกี
ทั้งนี้ แผ่นดินไหวขนาด 7.5 และ 7.8 แมกนิจูดที่เพิ่งเกิดขึ้นสร้างแรงสั่นสะเทือนระหว่าง 20 – 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงโน้มถ่วง ซึ่งเป็นความรุนแรงที่ต่ำกว่ามาตรฐานการก่อสร้างอาคารที่กำหนดไว้ว่า ตัวอาคารควรรองรับแผ่นดินไหวที่รุนแรงได้โดยไม่เกิดความเสียหายเมื่อพื้นดินมีความเร่งเพิ่มขึ้น 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงโน้มถ่วงปกติ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงอาจพอสรุปได้ว่า อาคารเหล่านี้ไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนได้เท่าที่ควร แถมอาคารหลายหลังที่พังลงมายังเป็นอาคารสร้างใหม่ที่เคยอ้างว่ารับมือแผ่นดินไหวได้ด้วย
เพราะเหตุนี้ ล่าสุดทางการตุรกีจึงได้ออกหมายจับผู้ต้องสงสัยกว่า 130 คนที่เกี่ยวข้องกับอาคารที่พังถล่มหลังแผ่นดินไหว ประกอบด้วยผู้รับเหมา สถาปนิก และวิศวกร โดยตอนนี้ตำรวจตุรกีควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้อย่างน้อย 12 คนแล้ว
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตุรกีเจอกับความเสียหายหลังภัยพิบัติลักษณะนี้ เพราะเมื่อปี 1999 เกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใกล้เมือง Izmit ทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 17,000 ราย และมีอาคารพังทลายมากถึง 20,000 หลัง
ส่วนแผ่นดินไหวในปี 2011 ก็มีผู้เสียชีวิตถึงหลายร้อยคน ทำให้เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน นายกรัฐมนตรีของตุรกีในตอนนั้นกล่าวโทษการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน พร้อมเปรียบเปรยว่าความประมาทเลินเล่อของเทศบาล ผู้รับเหมาก่อสร้าง และผู้ควบคุมงานว่าไม่ต่างอะไรกับการฆาตกรรม
แผนการก่อสร้างใหม่ในอนาคต
แม้ว่าทางการตุรกีจะรู้ดีว่าอาคารจำนวนมากไม่ปลอดภัยเมื่อเกิดแผ่นดินไหว แต่ยังถือเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก เพราะอาคารหลายหลังสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว และการจะปรับปรุงใหม่ให้ต้านทานแผ่นดินไหวได้อาจต้องใช้งบประมาณสูงมาก
แต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประกาศว่า ทีมกู้ภัยจะเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง และประเมินความเสียหายของอาคารทั้งหมดภายในหนึ่งสัปดาห์ จากนั้นจะเริ่มการก่อสร้างใหม่ภายในไม่กี่เดือนต่อจากนี้ ซึ่งแผนการสร้างอาคารใหม่หลังแผ่นดินไหวอาจเป็นโอกาสของตุรกีในการสร้างตึกและที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยขึ้น และสอดคล้องกับมาตรฐานการก่อสร้างที่ตุรกีกำหนดขึ้นมาใหม่เมื่อปี 2019
นอกจากการสูญเสียชีวิตจำนวนมากและความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานแล้ว แผ่นดินไหวทั้งสองครั้งยังมีแนวโน้มก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นผิวดินแตก แผ่นดินเหลว และแผ่นดินถล่ม ซึ่งผลกระทบเหล่านี้อาจส่งผลให้หลายพื้นที่อันตรายในการใช้เป็นที่ดินก่อสร้างอาคารใหม่ ดังนั้นทางการตุรกีจึงควรตัดสินใจดำเนินแผนการฟื้นฟูอย่างรอบคอบว่า ควรก่อสร้างอาคารประเภทใดบ้าง และแต่ละหลังควรก่อสร้างบริเวณไหน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้มากที่สุด
Sources :
BBC | bit.ly/4184R6a, bit.ly/3RYEOKg, bit.ly/40TXeA6
Euronews | bit.ly/40RdXEh
New Civil Engineer | bit.ly/3K7On7W
Reuters | bit.ly/3HZWAs4
The Conversation | bit.ly/3Ipb1Hs
The Guardian | bit.ly/3IrnieO
Vox | bit.ly/3IqgyOf
YouTube : Vox | bit.ly/3lB9DbY