ทุกคนเคยบริจาคหนังสือไหม ? เราเป็นคนหนึ่งที่มักบริจาคหนังสืออยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะหนังสือสำหรับเด็กที่ส่งต่อให้ไปโรงเรียนต่างๆ และเพราะชอบบริจาค จึงมักไปค้นกองหนังสือสมัยเด็กดูอยู่เสมอ จึงมีโอกาสได้ไปค้นเจอนิทานดาราศาสตร์ของตัวเองสมัยเด็ก เล่มที่เปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยสนใจอะไรเลย ให้กลายเป็นคนตั้งใจเรียน เพื่ออยากจะเข้าใจสิ่งที่ชอบให้มากขึ้น แถมยังทำให้ทุกวันนี้ก็ยังสนใจเรื่องอวกาศอยู่ในใจเสมอ
‘นิทานเด็ก’ จึงเป็นเหมือนครูที่คอยสอนให้เด็กคนหนึ่งได้เข้าใจเรื่องราวรอบตัว ซึ่งคนสำคัญในการสร้างให้นิทานเด็กสักเรื่องเกิดขึ้นได้นั้น คือนักเขียนผู้ที่ใส่ใจเด็กทั้งด้านจิตใจและการใช้ชีวิต ครั้งนี้เราจึงหาโอกาสไปนั่งคุยกับ คุณณิชา พีชวณิชย์ นักเขียนนิทานเด็กเรื่อง ตุ๊กตาแห่งความทรงจำ หนังสือที่เคยได้รับรางวัลดีเด่น หัวข้อหนังสือสำหรับเด็กอายุ 6-10 ปีประจำ พ.ศ. 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และยังมีโอกาสไปพิมพ์ไกลถึงต่างประเทศ อย่างลาว และมาเลเซียมาแล้ว
การคุยอย่างสบายๆ กับณิชาครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวของการทำงานเป็นนักเขียนนิทาน ตลอดจนความสำคัญของนิทานเด็กที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ควรรู้ให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และสอนเขาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า
ความชอบในวัยเด็กสู่วัยทำงาน
“พี่เป็นคนชอบอ่านนิทานตั้งแต่เด็ก เพราะแม่ชอบเล่านิทานให้ฟัง เวลาเข้าโรงเรียนก็จะชอบเข้าห้องสมุดไปอ่านนิทานอยู่บ่อยๆ พออ่านไปเรื่อยๆ ก็ค้นพบว่าตัวเองชอบการเขียนด้วย”
จุดเริ่มต้นของพี่ณิชาที่ทำให้เขาเลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวรรณกรรมเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพราะเขาชอบอ่านนิทานเด็ก จึงตัดสินใจเรียนสาขานี้ และเมื่อได้เข้าไปเรียนแล้ว ก็ยิ่งรู้สึกสนุกในศาสตร์นี้ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งเรียนจบเรื่องราวที่อาจดูกำลังไปได้สวย กลับต้องหยุดชะงัก เพราะกำแพงความจริงของเด็กจบใหม่ที่ว่า ไม่มีประสบการณ์ในการเขียนนิทานเด็กเลย จึงทำให้ไม่มีใครรับเข้าทำงาน จนวันหนึ่งพี่ณิชาเลือกไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
“ตอนนั้นยังติดค้างในใจว่า ยังอยากทำหนังสือเด็กอยู่ จนกระทั่งวันหนึ่งได้มีโอกาสไปอบรมเกี่ยวกับหนังสือเด็ก ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนได้กลับบ้านอีกครั้ง ได้ไปเจอสิ่งที่เราชอบก็เลยรู้สึกแน่ใจแล้วว่า หากจบปริญญาโทเมื่อไหร่ ก็จะหางานเกี่ยวกับหนังสือเด็กทำให้ได้ แล้วโชคดีมากที่สำนักพิมพ์ห้องเรียนเปิดรับสมัครพอดี ซึ่งตอนนั้นอายุ 30 แล้ว แถมประสบการณ์เขียน คือน้อยมาก แต่เขาก็ให้โอกาสเรา ซึ่งเรารู้สึกขอบคุณมาจนทุกวันนี้ ที่นี่เป็นเหมือนโรงเรียนที่สอนอะไรเราหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกของการทำงานหนังสือเด็กจริงๆ ที่ไม่มีให้เรียนในมหาวิทยาลัย”
นิทานเด็กที่ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ
เมื่อได้ลงมาทำงานหนังสือเด็กเต็มตัว เธอเล่าว่าสิ่งที่คนภายนอกมองว่าหนังสือเด็กทำง่าย เพราะมีแค่ภาพประกอบและข้อความอยู่นิดเดียว แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังกว่าจะกลั่นกรองจนกลายเป็นหนังสือเด็กหนึ่งเล่ม บางครั้งอาจค้นคว้าข้อมูลหนัก และผ่านกระบวนการต่างๆ อีกมากมาย จนใช้เวลานานถึง 2-3 ปีเลยทีเดียว พี่ณิชายกตัวอย่างการทำงานผ่านนิทานเด็กเล่มแรกอย่าง ตุ๊กตาจากความทรงจำ ที่เล่าชีวิตเด็กคนหนึ่งกับตุ๊กตาของเขา
“หนังสือเล่มนี้เริ่มจากเจ้านายให้ไอเดียมาว่า อยากให้ทำหนังสือนิทานเกี่ยวกับตุ๊กตาที่เกิดจากเศษผ้าของคนในบ้าน เราก็เอามาต่อยอดเป็นเรื่องราว เราคิดกับเจ้านายว่า ต้องการสอนเด็กให้เห็นถึงคุณค่าภายในมากกว่ารูปลักษณ์ภายนอก ซึ่งมันเป็นสิ่งนามธรรมมาก แต่คิดว่าถ้าเล่าผ่านเรื่องราว เด็กน่าจะค่อยๆ ซึมซับสิ่งที่เราต้องการสื่อสารได้ เราอยากทำหนังสือเด็กที่ไม่ได้ สอนเด็กตรงๆ ไม่งั้นเด็กจะเบื่อ ขนาดเราถูกสอนเองยังเบื่อเลย”
โจทย์สำคัญของนิทานตุ๊กตาจากความทรงจำ คือการอุทิศเล่มนี้ให้กับเด็กที่ยากจน เพราะส่วนใหญ่มักจะมีนิทานสำหรับเด็กชนชั้นกลางมากมาย หรือเด็กที่ครอบครัวมีเงิน แต่น้อยมากที่จะพูดถึงเด็กยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่แทบจะไม่มีใครมองเห็นเลยในสังคม และนั่นจึงทำให้พี่ณิชาต้องออกไปศึกษาชีวิตของเด็กยากจนอย่างจริงจัง เพื่อที่จะสื่อสารออกมาให้ถูกต้องมากที่สุด
“ตอนแรกพี่นึกไม่ออกว่าหน้าตาเด็กยากจนเป็นอย่างไร เจ้านายพี่ก็บอกว่า ให้ลองดูดีๆ ในชีวิตจริงเด็กยากจนไม่ได้ใส่เสื้อผ้าที่มีรอยปะขาดแบบนั้นนะ มันเลยทำให้พี่ฉุกคิดได้ว่าที่เจ้านายบอกว่าเด็กยากจนมักถูกมองข้าม นี่คงเป็นเรื่องจริง เพราะเรานี่แหละก็เป็นหนึ่งในนั้น เราจึงขับรถไปที่สลัมแห่งหนึ่งตั้งแต่เช้า แล้วนั่งดูเลยว่าคนที่นั่นใช้ชีวิต แต่งตัวอย่างไร ที่อยู่อาศัยสร้างจากอะไร ก็เริ่มสังเกตเห็นว่า บางบ้านก็เอาป้ายเก่าๆ มาประกอบกันเป็นที่พัก เสื้อผ้าก็อาจเป็น เสื้อตัวโคร่งๆ เก่าๆ ไม่เข้าชุดกัน ทำให้เห็นวิถีชีวิตของเขาที่สามารถเอามาเป็นไอเดียได้”
เมื่อได้ข้อมูลทำนิทานมาครบถ้วน ก็ถึงเวลาสเก็ตช์นิทานให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยได้ไอเดียว่าเศษผ้าที่เอามาทำตุ๊กตาเป็นตัวแทนความรักของคนในครอบครัว และเขียนเรียบเรียงเป็นเหตุการณ์ต่างๆ ลงในแบบร่าง ซึ่งต้องดำเนินเรื่องไม่ให้ช้าไปหรือเร็วเกินไป และต้องเล่าเรื่องในจำนวนหน้ากระดาษที่จำกัด
“เรื่องมันมีอยู่ว่า น้องข้าวฟ่างไม่เคยมีตุ๊กตาเป็นของตัวเอง แม่เลยเอาเศษผ้าที่หาได้จากทุกคนในบ้านมาเย็บเป็นตุ๊กตาให้ พอได้ตุ๊กตามาข้าวฟ่างก็ดีใจ วิ่งไปอวดเพื่อนๆ แต่เพื่อนๆ กลับบอกว่าตุ๊กตาของเขาขี้เหร่ เขาก็เลยเสียใจ จนคนในบ้านค่อยๆ เล่าว่า ตุ๊กตาตัวนี้มันมีคุณค่าจากความรักของทุกคนนะ
“อย่างแขนตุ๊กตา มาจากแขนเสื้อของคุณพ่อ ที่ครั้งหนึ่งหนูเคยร้องไห้คนเดียวเพราะกลัวฟ้าร้อง และพ่อก็กอดหนูไว้แล้วทำให้หนูหายเศร้า หรือจะเป็นขาของตุ๊กตาที่มาจากผ้าถุงของย่า จำได้ไหมตอนหนูหลงทาง ย่าก็หาหนูเจอ ตุ๊กตานี้เป็นตัวแทนของย่าที่จะไม่ทอดทิ้งหนูไปไหน ทุกชิ้นส่วนของตุ๊กตามีความหมายสำหรับเด็กคนนี้นะ เขาก็จะเลิกเสียใจที่ตุ๊กตาของเขาขี้เหร่ เพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจที่ซ่อนอยู่”
ทำนิทานต้องละเอียด
พี่ณิชาเล่าว่าการทำหนังสือเด็กมีความละเอียดอ่อนมากกว่าของผู้ใหญ่ ทั้งเนื้อหาและการผลิต เพราะเด็กไม่สามารถกลั่นกรองความคิดได้เท่าผู้ใหญ่ และร่างกายเด็กก็ยังไม่แข็งแรงมากนัก เช่น เด็กเล็กมากๆ ที่กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรง หนังสือที่เหมาะกับเขาก็ต้องทนทาน ปลอดภัย หยิบจับง่ายไม่บาดมือ เช่น หนังสือลอยน้ำที่ทำจากพลาสติกนิ่มๆ บอร์ดบุคที่ทำมุมให้โค้ง มน พิมพ์ด้วยสี Non Toxic ไม่หลุดลอกง่าย เพราะเด็กๆ อาจจะเอาเข้าปากได้
ถ้าเป็นเรื่องการเขียน อย่างการทำสารคดีเด็กเชิงให้ความรู้ ก็ต้องระวังเนื้อหาให้ถูกต้อง เพราะเด็กเป็นคนที่จดจำรายละเอียดเก่งและจะเชื่อตามที่ได้อ่านเสมอ และถ้าเขียนเรื่องที่ละเอียดอ่อน ก็ต้องระวังมากๆ เพราะอาจจะไปกระทบจิตใจของเด็กได้
“ถ้าเด็กได้เชื่อไปแล้ว เขาก็จะเชื่อไปยันโต”
อยากให้ยอมรับความเเตกต่าง
ปัจจุบันพี่ณิชาทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ผู้ใหญ่ แต่หากมีโอกาสสักครั้งหนึ่งที่เธอได้ได้เขียนหนังสือเด็กอีก เขาก็อยากเขียนเกี่ยวกับเรื่องการยอมรับความเเตกต่างที่มีความหลากหลายในสังคม
“เรื่องของการยอมรับความแตกต่าง คือสิ่งที่จะสอนให้รู้ว่า ถึงคนเราเกิดมาไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนก็มีคุณค่านะ หนูควรให้เกียรติและยอมรับในสิ่งที่คนอื่นเป็น มันอาจจะสื่อเป็นภาพที่มีเด็กที่แตกต่างกันอยู่ในหนังสือเล่มนั้น มีทั้งผมหยิก ผมตรง ผิวดำ ผิวขาว แต่ทุกคนเป็นเพื่อนกันได้ ให้เด็กค่อยๆ ซึมซับมัน อีกอย่างคือเรื่องการบูลลี่เพื่อนๆ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเด็กๆ น่าจะได้เรียนรู้นะ มันเป็นเรื่องที่หลายคนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ยังมองข้าม ผู้ใหญ่บางคนยังชอบล้อรูปลักษณ์ของคนอื่นอยู่เลย คือมันเป็นสิ่งที่สร้างบาดแผลให้คนๆ หนึ่งได้เลยนะตั้งแต่เด็ก แล้วเขาก็อาจเป็นแผลติดตัวไปเลยตลอดชีวิต
“ถ้าเราปลูกฝังให้เด็กยอมรับในความแตกต่างได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยเด็กคนนั้นก็ไม่ต้องสร้างบาดแผลให้ใคร หรือถ้ามีใครมาสร้างบาดแผลให้เขา เขาก็สามารถเข้มแข็งยืนต่อไปได้”
“อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเพศ พี่ว่ามันเป็นประเด็นที่คนไทยไม่กล้าพูดถึง ซึ่งมันสำคัญมาก เช่น เด็กผู้หญิงควรดูแลตัวเองอย่างไรถ้ามีคนมาลวนลาม ส่วนไหนของร่างกายที่หนูควรต้องป้องกันไม่ ให้คนอื่นมาจับนะ เด็กผู้ชายควรวางตัวอย่างไรกับเด็กผู้หญิง หรือผู้หญิงกับผู้ชายแตกต่างกันอย่างไร คือมันเป็นสิ่งที่เด็กควรเรียนรู้เพื่อป้องกันตัวเอง โดยปัญหาทุกวันนี้ยังมีเด็กถูกลวนลาม หรือถูกข่มขืนโดยไม่รู้เรื่องอะไรแบบนี้เยอะมาก ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนยังไม่ให้ความสนใจเท่าไหร่”
นิทานที่ดีไม่ใช่การสั่งสอน
เราถามต่อไปว่าในมุมมองของนักเขียน คิดว่านิทานที่ดีสำหรับเด็กต้องหน้าตาเป็นอย่างไร ? พี่ณิชาตอบกลับมาว่า “เหมือนเราถามว่าภาพยนตร์ที่ดีควรเป็นอย่างไร เพลงที่ดีต้องเป็นอย่างไร มันตอบได้หลากหลายมากๆ ถ้าในความรู้สึก นิทานที่ดี คือนิทานที่ทำให้เด็กสนุกและมีความสุขในการอ่าน และเป็นนิทานที่สื่อสารสิ่งดีๆ ให้กับเด็กได้ ทั้งยังต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก สื่อสารได้ตรงตามความสนใจของเขา”
“นิทานคือสิ่งที่เด็กอ่านเเล้วสนุก
ไม่ใช่การเข้าไปสั่งสอนตรงๆ”
“นอกจากนี้นิทานเด็กจริงๆ มันควรจะมีความหลากหลาย เพราะว่าเด็กแต่ละคนโตมาไม่เหมือนกัน มีปัญหาและมีสิ่งที่ต้องการเติมเต็มไม่เหมือนกัน เด็กบางคนอาจจะโตในแบบที่พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เด็กบางคนอาจจะมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม นิทานก็ควรหลากหลายเพื่อตอบโจทย์เด็กในแต่ละคนที่แตกต่างกันด้วย”
หลังพูดเรื่องนิทานกันอย่างออกรส พี่ณิชาก็หยิบนิทานเด็กที่เขาชื่นชอบออกมาให้เราดู ซึ่งแต่ละเล่มมีความน่าสนใจที่หลากหลาย อย่างนิทานเรื่อง จุด ซึ่งเป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่ไม่ชอบศิลปะ พอถึงเวลาต้องเรียนวาดรูป เขาก็ไม่สนใจ จนกระทั่งครูบอกให้ลองเขียนจุดสักจุดหนึ่ง เด็กเลยประชดโดยการวาดจุดหนึ่งลงไปในกระดาษ หลังจากนั้นครูก็เอาภาพจุดของเขาไปโชว์ติดผนังไว้
“ภาพที่ติดไว้บนผนัง เมื่อเด็กมาเห็นก็คิดว่าฉันจุดภาพได้ดีกว่านี้อีก แล้วก็เริ่มจุดภาพที่เเตกต่างกันไปเรื่อยๆ จนเขาได้เป็นศิลปินในที่สุดตอนจบของนิทานเรื่องนี้เด็กคนนี้ก็ส่งต่อความมั่นใจให้เด็กที่ไม่กล้าคนอื่นต่อไปได้อีก ซึ่งนิทานมันสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก อารมณ์ประมาณว่า คุณมีดีอยู่ในตัวและสามารถทำได้นะ”
“อีกเล่มหนึ่งเป็นนิทาน Not Now, Bernard เป็นเรื่องของเด็กคนหนึ่งที่พยายามเรียกทุกคนในบ้านให้สนใจ เเต่ทุกคนก็บอกว่า ‘ยุ่งอยู่ ยังไม่ใช่เวลาตอนนี้’ จนกระทั่งเด็กออกไปเดินเล่นข้างนอก จนได้เจอสัตว์ประหลาดและโดนจับกินเข้าไป พอสัตว์ประหลาดเข้ามาในบ้านจะไปหลอกทุกคน ซึ่งก็ไม่มีใครสนใจอีก แม้กระทั่งจะเข้านอนแล้ว เเม่ก็ยังไม่รู้ว่าลูกถูกปีศาจกลืนกินเข้าไปแล้ว
“ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องเศร้ามากสำหรับผู้ใหญ่ แต่เด็กซึ่งอาจจะยังไม่เข้าใจสารที่ซ่อนอยู่อ่านแล้วอาจจะแค่ตลกขำขัน เพราะโทนเรื่องเขียนให้ตลกเอาไว้สอนผู้ใหญ่ผ่านนิทาน บางคนก็ตีความทาง สัญลักษณ์ว่า สัตว์ประหลาดคือสิ่งชั่วร้าย ถ้าวันหนึ่งคุณไม่สนใจลูกคุณเลย เขาอาจจะโดนสิ่งชั่วร้ายครอบงำไปแล้ว หากไม่ดูเเลให้ดี”
อ่านไม่กี่ครั้ง แต่ความทรงจำอยู่ตลอดไป
ตลอดการสนทนาพี่ณิชาพูดถึงความสำคัญของนิทานเด็ก ที่ควรหลากหลายเพื่อเข้าถึงเด็กได้ทุกกลุ่ม เพราะปัจจุบันผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองไม่เห็นถึงความสำคัญมากนัก จึงทำให้นิทานเด็กในตลาดมักมีรูปแบบเดิมๆ และไม่ได้เเพร่หลายเท่าหนังสือผู้ใหญ่
“เราจะสะเทือนใจนิดหนึ่งเวลามีห้องสมุดมาขอบริจาคนิทาน คือเราเข้าใจว่าบางที่ไม่มีงบจริงๆ แต่จะรู้สึกว่าทำไมนิทานเป็นสิ่งที่ต้องบริจาค มันควรเป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องเเบ่งงบมาซื้อเข้าห้องสมุดด้วยซ้ำ ถ้าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญแค่มีงบสองพันก็ซื้อได้หลายเล่มเเล้ว
“นิทานอาจจะไม่ใช่ปัจจัย 4 ที่ต้องมี แต่ถ้าวันหนึ่งเรามีเงินพร้อม ก็อยากให้ผู้ใหญ่ลองซื้อนิทานเด็กให้ลูกอ่านสักเล่ม ต้นทุนเล่มหนึ่งที่คุณซื้ออาจจะ 100 บาท แต่ว่าถ้าเด็กคนนั้นชอบนิทานเล่มนั้นแล้ว รับประกันได้เลยว่าเขาจะอ่านนิทานเล่มนั้นจนเปื่อย”
“นิทานอาจจะอยู่กับเด็กไป 2-3 ปี แต่เนื้อหาในนั้นมันจะอยู่กับเขาไปทั้งชีวิต คือนิทานมันสร้างโลกของลูกคุณให้มีความรู้ มีทัศนคติที่ดี และความมั่นคงทางจิตใจ จนเขามีความสุขในการใช้ชีวิตไปยันโต มันไม่คุ้มที่จะซื้อเหรอ เราว่ามันคุ้มมากนะ”
“อ่านนิทานให้เด็กฟังไม่กี่ปี
แต่มันจะอยู่กับเขาไปทั้งชีวิต
และหล่อหลอมให้เขาเป็นเขาในวันที่เติบโต”