‘Bloom for New Gen’ E-Book และ AR ปากคลองตลาด - Urban Creature

กลิ่นกรุ่นดอกดาวเรือง เฟื่องฟุ้งด้วยไฮเดรนเยีย

แม้นเช้าแสนงัวเงีย ทานตะวันกลับพร้อมรับแสง

อีกเดซี่ฤากล้วยไม้ จัดวางไว้เป็นช่อดอก

ม่วงขาวสวยไม่หลอก มีทุกตรอกบานไม่รู้โรย

พร้อมรักแลมะลิ แสนปีติคู่มาลัย

กุหลาบหอมลอยกลิ่นไกล เรียงข้างไว้ใกล้ดอกบัว

‘Bloom for New Gen’

ปัจจุบัน ‘ปากคลองตลาด’ กลายเป็นพื้นที่เช็กอินยอดฮิตด้วยดอกไม้สวยๆ สักช่อกับวิวสะพานพุทธฯ ก่อนพระอาทิตย์ตก แต่รู้หรือไม่ว่า 10 ดอกไม้ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเหล่าดอกไม้อัตลักษณ์ของพื้นที่แห่งนี้

“ตอนนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาเที่ยวปากคลองตลาดเยอะมาก แต่เขายังไม่รู้ว่าที่นี่มีอะไรบ้างนอกจากขายดอกไม้ เพราะที่นี่ไม่มีป้ายบอกทาง ร้านอาหาร คาเฟ่อะไรก็เข้าถึงยาก ไม่รู้ต้องไปที่ไหน”

ถ้อยคำบอกเล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Bloom for New Gen ที่ ‘ชะเอม-ปัณรสี ศะศินิล’ นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับเพื่อนๆ นักออกแบบ WHITE HAT. Team ตั้งใจจัดทำ Guidebook ในรูปแบบ E-Book และ AR สำหรับพื้นที่ปากคลองตลาดขึ้นมา

“เราเป็นนักวาดดอกไม้ พอจะทำโปรเจกต์ออกแบบสื่อมัลติมีเดียเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่เน้นให้คนรุ่นใหม่เข้าไปในย่านเก่ามากขึ้น ก็ไม่ได้ดูที่อื่นไว้เลย เราไปปากคลองตลาดบ่อยเลยดูที่นี่ไว้ที่เดียว” ชะเอมเล่าให้ฟังถึงตอนตัดสินใจเลือกพัฒนาพื้นที่นี้

‘Bloom for New Gen’

เตรียมพื้นที่เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืช

ขั้นตอนการทำงานโปรเจกต์นี้เริ่มต้นจากการลงพื้นที่เข้าไปเก็บข้อมูลในย่านปากคลองตลาดก่อน โดยชะเอมได้พูดคุยกับคุณป้า คุณน้า ร้านค้าต่างๆ ก่อนพัฒนาเป็นรายละเอียดว่า พื้นที่ปากคลองตลาดเริ่มเป็นที่รู้จัก และได้รับการพัฒนาจากเพียงตลาดค้าส่งดอกไม้ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงผู้คนในพื้นที่ก็มีความพยายามพัฒนาปากคลองฯ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะกี่โครงการที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อดูแลพื้นที่ปากคลองตลาดกลับขาดความต่อเนื่อง เพราะแต่ละโครงการถูกพัฒนาแยกกัน เมื่อจบลงแล้วก็ไม่มีการสรุปรวมผลที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้

ในอีกด้านหนึ่ง คนที่เข้ามาเที่ยวในพื้นที่ยังคงรู้ที่มาและความสำคัญของตลาดนี้เพียงผิวเผิน ผสมกับรายละเอียดต่างๆ ที่เข้าถึงยาก การสร้างไกด์บุ๊กขึ้นมาจึงช่วยรวบรวมเนื้อหาและความเป็นไปของตลาดให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด

“ปากคลองตลาดแต่เดิมเป็นตลาดขายส่งดอกไม้ เน้นส่งให้โรงแรมหรืออีเวนต์จัดงาน พวกงานแต่งงานที่เขาใช้ดอกไม้กันเยอะๆ แต่ตอนนี้เขาปรับตัว เริ่มขายปลีกมากขึ้น เพราะมีทั้งเด็กรุ่นใหม่แล้วก็ชาวต่างชาติเข้ามามากขึ้น” ชะเอมเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดที่ได้เจอระหว่างการทำงานนี้

‘Bloom for New Gen’

สองคนสวนที่ช่วยดูแลและพาชมสวนดอกไม้

นอกจากไกด์บุ๊กที่ทุกคนสามารถโหลดมาอ่านเพื่อรู้จักปากคลองตลาดให้ลึกขึ้นแล้ว ภายในโปรเจกต์นี้ยังมีน้องบลูมและเจนนี่ สองตัวละครหลักที่ขอจูงมือพาเราเดินรอบปากคลองตลาด

น้องบลูม เป็นดอกไม้สีเหลืองหน้าตาน่ารักที่พัฒนามาจากดอกดาวเรือง กับน้องเจนนี่สีชมพูตัวเล็กที่มาจากดอกบานไม่รู้โรย ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักใน AR ทั้ง 5 จุดของโครงการ ดังนี้

AR Point 1 

จุดของดอกดาวเรืองและดอกบานไม่รู้โรย MRT สนามไชย ทางออก 4 สวน 15 นาที

แนะนำโซนดอกไม้ไทยและงานฝีมือ

AR Point 2

จุดของดอกไฮเดรนเยียและดอกเดซี่ ริมฟุตพาทหน้าธนาคารกรุงไทย

แนะนำโซนดอกไม้นอก

AR Point 3

จุดของดอกทานตะวันและดอกกุหลาบ MRT สนามไชย ทางออก 5 ข้างโรงเรียนราชินี

แนะนำโซนดอกไม้ไทย

AR Point 4

จุดของดอกกล้วยไม้และดอกบัว บนสะพานข้ามคลองข้างโรงเรียนราชินี

แนะนำโซนดอกไม้ไทย

AR Point 5

จุดของดอกมะลิและดอกรัก ชั้นลอยตลาดยอดพิมาน 

แนะนำโซนดอกไม้ไทยและงานฝีมือ

‘Bloom for New Gen’

“เราเลือกห้าจุดกระจายๆ ตัวกันทั้งปากคลองฯ เพราะอยากให้คนเดินไปรอบพื้นที่ ได้เดินผ่านจุดที่ไม่เคยเดินหรือเดินไปไม่ถึง เช่น ผ่านตรงนี้ก็เจอร้านอาหารอยู่ตรงนี้นะ ผ่านตรงนี้ก็อ๋อ คาเฟ่อยู่ตรงนี้ สำรวจปากคลองฯ พร้อมสำรวจเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กัน” ชะเอมอธิบาย

ก่อนเริ่มเล่น AR ทั้ง 5 จุด จะมีควิซให้สแกน QR Code ของกิจกรรมนี้บนเพจเฟซบุ๊ก Humans of Flower Market : มนุษย์ปากคลองฯ เพื่อรับไกด์บุ๊กและทำควิซดอกไม้ในนั้นมาก่อน เมื่อถึงวันงานก็ถึงเวลาออกตามหาดอกไม้ AR ทั้ง 5 จุดในย่านปากคลองตลาด โดยใช้โทรศัพท์มือถือสแกน QR Code ถ่ายรูป วิดีโอ และกดดูข้อมูลโซนร้านดอกไม้

นำเทคโนโลยีมาช่วยในการเพาะปลูก

ความยากของการทำงานออกแบบนอกจากการสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามแล้ว เมื่อมาผนวกเข้ากับเทคโนโลยี หลายครั้งต้องพบกับอุปสรรคที่ตามมา โดยชะเอมเล่าให้เราฟังว่า ข้อจำกัดของงานนี้คือการลองผิดลองถูกไปกับเทคโนโลยี

“เราเจอข้อจำกัดใหญ่คือตัวเทคโนโลยี ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนไปมา ลองอันนี้แล้วไม่ได้ ก็ต้องแก้ คิดแผนสำรองเผื่อเอาไว้” ยกตัวอย่าง การลิงก์ข้อมูลขึ้นไปบน E-Book หรือปัญหาเล็กๆ น้อยๆ อย่างฟอนต์เด้ง ภาพหาย ค้าง โหลดไม่ขึ้น น้องบลูมขยับไม่ได้ ก็ล้วนเป็นปัญหาที่เธอกับทีมต้องคอยแก้ไขกันไปเสมอ

‘Bloom for New Gen’

เราลองคุยกับชะเอมถึงอนาคตของโปรเจกต์นี้ หากต้องพัฒนาต่อหรือกลายเป็นโปรเจกต์ระยะยาวที่มีต่อเนื่องทุกๆ ปี เธออยากทำอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง

“อยากอัปเดต E-Book ให้ต่อเนื่อง เพราะตลาดมีความเปลี่ยนแปลงตลอด อยากเพิ่มอะไรที่มีใหม่ให้อยู่ใน E-Book นอกจากนั้นก็อยากพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น เผื่อในอนาคตมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยทำให้เกิดสีสันได้มากกว่าเดิม”

เตรียมอ่านไกด์บุ๊กเพื่อตามรอยและรู้จักความเป็นมาของปากคลองตลาดให้มากขึ้น พร้อมไปเดินชมและลองเล่นกิจกรรม AR ได้ที่ปากคลองตลาด ในงาน Bangkok Design Week 2025 ตั้งแต่วันที่ 8 – 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

อีกสีสันที่ไม่อยากให้พลาดคือ โปรเจกต์นี้มี TikTok Filter ให้ทดลองเล่นได้แล้ววันนี้ เข้าไปลองเล่นกันที่ tinyurl.com/266gkbwh

‘Bloom for New Gen’

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.