กลับมาอีกครั้งกับ ‘เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ’ หรือ ‘Bangkok Design Week’ ที่จัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และชวนเหล่านักสร้างสรรค์ไปร่วมกิจกรรมมากมายใน 9 ย่านกันตั้งแต่วันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566
โดย Bangkok Design Week 2023 ในปีนี้มาพร้อมกับธีม ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ เพื่อสร้างความน่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยวใน 6 มิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การเดินทาง วัฒนธรรม ชุมชน ธุรกิจสร้างสรรค์ และความหลากหลายของผู้คนในสังคม ออกแบบผ่านกิจกรรม 4 รูปแบบคือ Showcase & Exhibition, Talk & Workshop, Creative Market & Promotion และ Event & Program
หนึ่งในกิจกรรม Showcase & Exhibition ที่ได้เข้าร่วมใน Bangkok Design Week 2023 นี้คือ ‘EDeaf Showcase’ ซึ่งเป็นนิทรรศการที่จัดอยู่ในห้องสมุดดรุณบรรณาลัย โดย ‘Education for the Deaf’ โครงการกลุ่มอาสาสมัครที่ต้องการผลักดันและสร้างความเท่าเทียมด้านการศึกษาให้กับเด็กหูหนวก ให้พวกเขามีโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเองและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างยั่งยืน ผ่านการทำกิจกรรมในการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น ทั้งยังเปิดรับคุณครูอาสามาให้ความรู้กับกลุ่มเด็กหูหนวกในวิชาทำเครื่องดื่ม วิชาทำอาหาร วิชาตัดต่อวิดีโอ วิชาถ่ายภาพ และวิชาการเต้นและการแสดง
ซึ่งการเรียนการสอนของโครงการ EDeaf แต่ละครั้งจะจัดขึ้นทุกวันเสาร์ ติดต่อกันนาน 10 สัปดาห์ โดยล่าสุดโครงการนี้เดินทางมาจนถึงซีซันที่ 5 แล้ว และมีโชว์เคสสรุปผลการเรียนรู้ตลอดทั้งซีซันที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ TK Park ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
คอลัมน์ Art Attack ครั้งนี้จะชวนทุกคนมาพูดคุยกับ ‘นัท-ยุทธกฤต เฉลิมไทย’ ผู้ก่อตั้ง Education for the Deaf และ ‘เฟม-อาจารีย์ ผลพูน’ ทีมงานอาสาสมัคร EDeaf ถึงการดำเนินการและการเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2023 และโครงการของพวกเขาจะมีส่วนในการสร้าง ‘เมือง-มิตร-ดี’ ได้อย่างไรบ้าง
ทำไมถึงตัดสินใจจัดนิทรรศการ EDeaf Showcase ขึ้นมา
นัท : จุดเริ่มต้นจริงๆ มาจากการจัดค่ายสำหรับเด็กหูหนวก แล้วมีฟีดแบ็กจากน้องๆ ว่า อยากจะมีเวลาเรียนรู้ทักษะอื่นๆ มากขึ้น เลยเกิดเป็นโจทย์ว่าเราจะวางโปรแกรมที่จะทำให้เด็กเข้าใจหรือได้เรียนรู้กันมากขึ้นได้ยังไง เลยเกิดเป็นโปรเจกต์ระยะยาวเพื่อสำรวจว่าน้องต้องการเรียนรู้อะไร และเราจะเอาอาสาสมัครเข้าไปสอนอะไรในโรงเรียนได้บ้าง นี่คือจุดเริ่มต้นที่กลายมาเป็นโครงการระยะยาวในแต่ละซีซันครับ
พอเริ่มมีพื้นที่ตรงนี้ คนทั่วไปที่ได้เห็นการแสดงจะเข้าใจว่าเด็กหูหนวกทำอะไรบ้าง เราเชื่อว่าประสบการณ์ร่วมมันสื่อสารกันได้ ครูอาสาหรือทีมงานไม่จำเป็นต้องรู้ภาษามือทุกคน แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านวิธีต่างๆ ที่ทำให้เราได้เรียนรู้กันและกัน เพราะฉะนั้นโชว์เคสนี้เราอยากให้สาธารณะมีประสบการณ์ร่วมกับการเรียนรู้ของเรา ให้คนได้รู้ว่าคนหูหนวกก็ทำหลายๆ อย่างได้เหมือนกัน
ทำไมถึงตัดสินใจร่วมงานกับ Bangkok Design Week 2023
นัท : หนึ่งเหตุผลที่ร่วมงานกับ Bangkok Design Week 2023 คือก่อนหน้านี้เราจัดงานแล้วมีการประชาสัมพันธ์ เชิญสื่อ เชิญแขกกันเอง แต่รอบนี้เราอยากให้คนตั้งข้อสงสัย ได้มาเห็นแล้วเกิดคำถามว่ากิจกรรมนี้คืออะไร ให้คนที่เข้ามาดูนิทรรศการของเราได้ไปหาคำตอบกันต่อว่าจะหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน และจะเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการได้ยังไง นี่คือโจทย์ของซีซันนี้
เฟม : คอนเซปต์ของ EDeaf Showcase ซีซันนี้มีชื่อว่า ‘DEAF Friendly City’ เราต้องการที่จะสร้างเมืองที่เป็นมิตรกับคนหูหนวกให้ได้มากที่สุด ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับธีมของ Bangkok Design Week 2023 คือ ‘urban‘NICE’zation เมือง-มิตร-ดี’ ที่มีเป้าหมายออกแบบเมืองให้เป็นมิตรกับทุกความแตกต่าง ทาง EDeaf เองก็อยากเห็นเมืองที่เป็นมิตรกับคนหูหนวก ซึ่งเป็นหนึ่งความแตกต่างและความหลากหลายในสังคมเช่นกัน
วิธีคัดเลือกน้องหูหนวกเข้าโครงการเป็นอย่างไร
นัท : ตามความสมัครใจของเด็กครับ โรงเรียนจะให้เราไปประชาสัมพันธ์ก่อนว่ามีวิชาอะไรบ้าง จากนั้นเด็กจะลงทะเบียนเข้ามาเอง แต่ฝั่งโรงเรียนที่สนใจโครงการของเราก็มีเหมือนกัน เพราะบางโรงเรียนอยากมีวิชาที่เอามาต่อยอดในโรงเรียนได้ อย่างเช่นในซีซันนี้มีวิชาเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นมา เขาเลยถามว่าจะเป็นไปได้ไหมถ้าโครงการจะมาสอนวิชานี้ให้แก่เด็กๆ เพราะว่าในโรงเรียนมีคาเฟ่ของตัวเองอยู่แล้ว อย่างน้อยถ้าเด็กได้เรียน พวกเขายังมีพื้นที่ให้ลองทำและลองขายจริงๆ ทั้งหมดจึงเป็นการเก็บข้อมูลจากทั้งเด็กและโรงเรียนว่าพวกเขาต้องการทักษะอะไรที่จำเป็นสำหรับเด็กจริงๆ บ้าง
โครงการเตรียมตัวโชว์เคสอย่างไรบ้าง
นัท : ถ้าเป็นส่วนของห้องเรียนเราก็จะมีครูอาสาหรือทีม Learning Development ที่พยายามดึงข้อมูลออกมาว่าผลการเรียนรู้ของแต่ละซีซันคืออะไร เด็กได้เรียนรู้ทักษะอะไรระหว่างทางบ้าง ข้อมูลเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้เห็นว่าหลังจากจบโครงการ เด็กสามารถเอาความรู้ไปใช้ได้หรือเปล่า หรือเอาไปต่อยอดเองได้มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นการเตรียมตัวก็คือให้เขาเลือกว่าสุดท้ายแล้วอยากจะเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้อะไรมาแสดงให้คนเห็น จากนั้นฝั่งทีมงานจะช่วยประสานองค์กรต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับคนหูหนวก ภาครัฐ เอกชน ให้เขามาในวันงานเพื่อให้เห็นว่าโชว์เคสมีรูปแบบอย่างไร และพวกเขาจะได้ตอบคำถามกับตัวเองว่า หลังจากได้เห็นสิ่งเหล่านี้ พวกเขาเชื่อมั่นในคนหูหนวกเพิ่มขึ้นมากน้อยขนาดไหน
การเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เรียนรู้และดูโชว์เคสนี้ เป็นการส่งเสริมหรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตร่วมในสังคมอย่างไร
นัท : ก่อนหน้านี้คือเราใช้ชีวิตแบบไม่คำนึงถึงความแตกต่างเท่าไหร่ แต่พอเราได้ทำงานร่วมกัน ได้พูดคุยกัน ได้สื่อสารกัน เราเข้าใจแล้วว่าจริงๆ แล้วทุกคนไม่แตกต่างกันเลย เราอยู่ในพื้นที่ร่วมกันได้ ไม่ได้มองว่าคนหูหนวกด้อยกว่าหรือต้องการความช่วยเหลือ พื้นที่นี้ช่วยเปลี่ยนมายด์เซตของเรา แม้ว่าเราจะมีการตระหนักถึงความแตกต่าง แต่เราก็สามารถใช้ชีวิตด้วยกันได้ มันคือเรื่องปกติ เพียงแต่เราต้องหาวิธีทำให้ความแตกต่างเหล่านี้อยู่ร่วมกันให้ได้ก็เท่านั้น
การจัดโครงการนี้สำคัญกับเมืองอย่างไร
นัท : ต้องกลับไปถามว่าเมืองเป็นมิตรกับคนทุกคนแล้วจริงหรือเปล่า เมืองนี้เหมาะสำหรับทุกคนจริงไหม ผมมองว่านี่คือสิ่งที่เราอาจจะต้องตั้งคำถามมากกว่า เพราะบางทีเราอาจคิดเอาเองว่าคนพิการทำไม่ได้ แต่จริงๆ เขาอาจจะเข้าถึงบริการต่างๆ ได้ แต่การเข้าถึงของเขามีอุปสรรค อย่างเช่นป้ายบอกทาง เราเข้าใจหรือเปล่าว่าจริงๆ แล้วคนหูหนวกไม่สามารถอ่านภาษาไทยบนป้ายได้ทั้งหมด สิ่งที่เขาอยากได้คือป้ายที่มีภาษามือ อะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราพยายามสร้างความตระหนักว่าบางทีเราคิดว่าเมืองมีข้อมูลเพียงพอ มีความพร้อมที่จะให้ข้อมูลกับทุกคนแล้ว แต่อาจลืมนึกไปว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เข้าถึงง่ายหรือใช้งานได้จริงสำหรับคนทุกกลุ่ม ผมมองว่านี่คือตัวอย่างที่อาจจุดชนวนให้คนทำงานด้านเมืองได้คิดทบทวนว่า พวกเขาได้ดีไซน์พื้นที่ต่างๆ ห้องเรียน สถานบริการต่างๆ หรือที่ไหนก็ตาม โดยคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ไหม
เราอยากเสนอให้เห็นว่ามุมมองต่อการใช้ชีวิตในเมืองของคนหูหนวกเป็นยังไง รวมถึงพื้นที่ตรงนี้ทำให้คนหูหนวกได้สะท้อนว่าปัญหาการใช้ชีวิตของพวกเขาคืออะไร อีกมุมหนึ่งคือโครงการนี้ก็ทำให้คนหูหนวกได้รู้ว่าพวกเขามีโอกาสอะไรบ้างในเมืองนี้ เพราะเคยมีฟีดแบ็กจากน้องๆ ว่าเขารู้สึกว่าหลายๆ พื้นที่ไม่ใช่พื้นที่ของเขา เพราะมันเอื้อมถึงยาก แต่โชว์เคสจัดทำให้พวกเขากล้าลงมือทำและเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากขึ้น พยายามสร้างความมั่นใจให้คนหูหนวกว่าพวกเขาเองก็สามารถมีส่วนร่วมกับคนทั่วไปได้อย่างปกติเหมือนกัน
ในอนาคตอยากเห็นมูฟเมนต์นี้ไปในทิศทางไหน
นัท : สิ่งที่เราอยากมองเห็นต่อไปคือ ความต้องการในการเรียนรู้จากพื้นที่อื่น เช่น มีน้องจากพื้นที่ต่างๆ ในภาคเหนือ ภาคใต้ ที่อยากจะริเริ่มโครงการแบบนี้ เรารู้สึกว่าสามารถส่งต่อให้เกิดพื้นที่แบบนี้ทั่วทั้งประเทศได้ เพราะโรงเรียนคนหูหนวก 21 โรงเรียนทั่วประเทศรู้จัก EDeaf อยู่แล้ว และอยากให้เราขยายโครงการให้ครอบคลุมมากขึ้น
โครงการเองก็พยายามหาทุนมาพัฒนาต่อ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราขยายพื้นที่ได้กว้างขึ้น ก็ต้องหาทุนภายในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ไม่ใช่จากส่วนกลางในกรุงเทพฯ เพราะมันจะยั่งยืนกว่า เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ดีคือการเปลี่ยนแปลงจากคนใน ตัวอย่างเช่น ถ้าน้องหูหนวกที่เราทำงานด้วยกลับมาเป็นครูอาสาในโครงการ นี่ก็คือการเปลี่ยนแปลงจากคนในเหมือนกัน วันหนึ่งเขาได้รับ อีกวันเขาส่งต่อ ผมว่ามันคือการเปลี่ยนแปลงที่มีความออร์แกนิกที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นผู้นำได้
คาดหวังอะไรจากการร่วมงานกับ Bangkok Design Week 2023
นัท : ความคาดหวังอย่างหนึ่งคือ ที่งาน Bangkok Design Week 2023 นี้คือเราจะมีการสอนภาษามือโดยคนหูหนวกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งถ้าในอนาคตคนหูหนวกและคนหูดีรู้สึกว่าอยากจะพัฒนา อยากจะเรียนรู้ด้านภาษามือหรือวัฒนธรรมคนหูหนวกโดยที่ไม่ต้องรอโครงการ ไม่ต้องพึ่งอีเวนต์ ไม่ต้องพึ่ง EDeaf หรือถ้ามีใครที่สนใจที่จะเรียนรู้คนหูหนวกก็สามารถมาขอข้อมูลจากทางเราได้ เราพยายามที่จะทำให้มันตอบโจทย์ความยั่งยืนของเมืองต่อไป
ในภาพใหญ่ ผมว่าการมีพื้นที่เหล่านี้ทำให้เห็นช่องว่างของสิ่งที่เราสามารถพัฒนาต่อได้ ด้วยความที่เราเป็นโครงการ EDeaf จึงมีข้อมูลและเครื่องมือในระดับหนึ่ง ถ้าคุณพร้อม เราก็พร้อมที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้ในพื้นที่ที่คุณอยากจะทำ Bangkok Design Week 2023 จึงเป็นเสมือนพื้นที่ที่ส่งเสียงให้กับคอมมูนิตี้เล็กๆ ว่ากลุ่มคนหูหนวกมีโครงการและความเคลื่อนไหวอะไรบ้าง
เฟม : เราคาดหวังอยากเห็นพื้นที่แบบนี้เพิ่มมากขึ้น ถ้าคนหูหนวกอยากแสดงออก อยากสอนภาษามือ เขาก็สามารถสร้างพื้นที่ของตัวเองได้โดยที่ไม่ต้องรองานหรือเทศกาลอะไร รวมถึงมีคนทั่วไปที่เห็นด้วยกับเขามากขึ้น ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีค่ะ