BKK in pieces ซีนของคนทำงานออกแบบผู้สนใจเมือง - Urban Creature

ความชอบในสิ่งพิมพ์ การสังเกตและอธิบายสิ่งธรรมดารอบตัว และการตั้งคำถามเรื่องอะไรคือสุนทรียภาพแบบไทยๆ นำมาสู่การทำ BKK in pieces ธีสิสจบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สาขานิเทศศิลป์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ของ ‘ชิตวัน เพชรรัตน์’

ในช่วงเวลาระหว่างนั้น หนังสือที่เธอกำลังอ่านชื่อ ‘The Beauty of Everyday Things’ โดย Soetsu Yanagi ก็ทำให้เห็นว่าการพิจารณาสิ่งของพาเราสืบสาวไปหารากวัฒนธรรมที่สร้างมันขึ้นมาได้อย่างไร

“ในหนังสือมีส่วนที่กล่าวถึง Fundamental Principle ของการชงชา (Chabi) ไว้ว่า ‘As fortune would have it, it was not an intellectual concept, but rather consisted of concrete objects that acted as intermediaries…’

“กล่าวคือ ด้วยการมีอยู่ของสิ่งที่จับต้องได้อย่างสำนักชา ทางเดินในสวน และเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ชงชา อาจารย์ผู้สอนชงชา (Tea Master) จึงสามารถเห็นและแสดงมุมมองต่อความงามในแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากนิกายเซน จนก่อเกิดเป็นแนวคิดทางสุนทรียศาสตร์ของญี่ปุ่นอย่าง วะบิ ซะบิ (Wabi Sabi) ที่ขับเคลื่อนการทำงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ จากนั้นเมื่อเกิดงานสร้างสรรค์จำนวนมากภายใต้แนวคิดนี้ จึงเกิดเป็นเอกลักษณ์รูปแบบหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น”

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

ประจวบเหมาะกับระยะเวลาในการทำธีสิส ที่เธอพิจารณาว่าน่าจะเพียงพอกับการเก็บข้อมูลและพัฒนาไอเดียเกี่ยวกับการนำแนวคิดที่ได้จากหนังสือมาจับกับสิ่งของในบ้านเกิดของตัวเอง จึงเริ่มออกไปสำรวจตามเมืองก่อนจะขยายแนวคิดของธีสิสออกมาอีกหน่อยว่า เป็นพฤติกรรมการดัดแปลงข้าวของเครื่องใช้ของคนไทย ทำให้ชัดเจนขึ้นว่าเธอจะสำรวจของแบบไหน

“พอได้ขอบเขตของการรีเสิร์ชแล้ว ถึงจะชอบสิ่งพิมพ์มาตลอดแต่ก็ยังไม่ได้ตั้งเป้าว่า Medium จะออกมาเป็นอะไร ด้วยหัวข้อมันเป็นได้ทั้งซีนและนิทรรศการ แต่เมื่อจัดการข้อมูลไปถึงจุดหนึ่งก็สรุปได้ว่า อยากให้เรื่องราวนี้ออกมาเป็นเล่ม เพื่อให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับสารกับตัวสื่อเรียบง่ายที่สุด พอดีกับขนาดของเรื่องราวและสองมือ”

สำรวจตรวจสอบ

เมื่อมุ่งมั่นตั้งใจแล้วว่าจะทำธีสิสออกมาในรูปแบบซีนหรือสิ่งพิมพ์ทำมือ หญิงสาวผู้เติบโตในย่านบางนาก็ออกเดินทางไปสำรวจสิ่งของรายทางเหล่านี้ตามย่านใกล้เรือนเคียงและพื้นที่ที่มีคนเยอะๆ “หลักๆ คือซอยอุดมสุข ตลาดบางรัก ปากคลองตลาด และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านไปเจอ”

มากไปกว่าการลงพื้นที่ ชิตวันยังบอกอีกว่า การต้องศึกษางานดีไซน์เหล่านี้ทำให้เหมือนได้ติดตั้งเลนส์ใหม่ เริ่มตั้งแต่การหยุดมองสิ่งของดัดแปลงนานขึ้น เมื่อมองนานขึ้นก็เห็นรายละเอียดมากขึ้น จนทำให้เห็นเอเลเมนต์บางอย่างที่ทั้งเจ๋งและแปลกๆ ซึ่งเธอเคยมองข้ามไป “พอเห็นหลายๆ ชิ้นเข้าก็จะเริ่มจัดหมวดหมู่ไปตามธรรมชาติ จากนั้นเมื่อของชิ้นเดี่ยวๆ ถูกเชื่อมโยงกับของชิ้นอื่นๆ เป็นพรรคพวกกันหรือแบ่งประเภทกัน ก็ทำให้ตัวตนของมันชัดเจนขึ้น ไม่ได้เป็นแค่แบ็กกราวนด์เหมือนเดิมแล้ว”

แต่จะให้ไปเก็บข้อมูลด้วยการสังเกตอย่างเดียวก็อาจจะทำให้ได้ข้อมูลของสิ่งของหรือกระทั่งที่มาที่ไปของการดีไซน์ดัดแปลงที่มีผลต่อการออกแบบไม่ครบถ้วน การสัมภาษณ์ผู้ใช้งานจึงกลายเป็นอีกหนึ่งวิธีการหาข้อมูลที่เธอใช้

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

“ตอนที่ไปปากคลองฯ เราถามคุณป้าแม่ค้าตรงแถวๆ คลองรอบกรุงเรื่องกล่องโฟมที่วางเรียงกันริมถนน คุณป้าบอกว่าเอาไว้จองจุดจอดรถขนส่งดอกไม้ แล้วก็ให้เราลองกลับมาอีกทีในช่วงเวลาที่รถจะกลับมาจอดกัน พอกลับมาและได้คุยกับพี่คนขับก็พบว่า กล่องเหล่านี้ไม่ได้แค่จองจุดแต่เป็นเหมือนสถานีย่อมๆ ด้วย รถที่มาจอดตรงกล่องแต่ละใบจะมีจุดหมายปลายทางต่างกัน แล้วพี่เขาก็ชี้ให้ดูว่าตรงนี้หาดใหญ่ ตรงนั้นนครศรีธรรมราช ตรงโน้นขอนแก่น เป็นครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าการกล้าเริ่มชวนคนอื่นคุยพาเราไปรู้เรื่องที่ไกลตัว

“แต่จริงๆ แล้วก็ประทับใจกับทุกการเข้าไปคุยกับคนในโปรเจกต์นี้ เรามักกลัวว่าการเข้าหาจะทำให้คนอื่นอึดอัด โดยเฉพาะเมื่อเป็นคนแปลกหน้า กลัวเขารู้สึกถูกจู่โจม แต่พอได้ลองทำจริงก็ได้มองอีกมุมว่า บางทีการเริ่มบทสนทนาบางอย่างที่ทำให้ความเห็นของอีกฝ่ายถูกรับฟังก็เป็นเรื่องที่ทำให้ต่างฝ่ายต่างรู้สึกดีได้เหมือนกัน” เจ้าของธีสิสแบ่งปันประสบการณ์ดีๆ ที่ได้รับจากการทำงานชิ้นนี้

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

แยกออกเป็นชิ้นๆ ส่วนๆ

เมื่อเก็บสะสมข้อมูลแล้ว ต่อไปคือขั้นตอนการแยกแยะจัดเรียงข้อมูลเพื่อนำเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย และเป็นไปตามความตั้งใจของตัวเอง

“ตอนแรกข้อมูลมีความสะเปะสะปะ เพราะประกอบขึ้นจากหลายแหล่ง ทั้งการสังเกตข้าวของ การไปสัมภาษณ์คนทำคนใช้ และแนวคิดจากหนังสืออ้างอิง แล้วเวลาเล่าก็ต้องยึดคอนเซปต์สิ่งของพาไปหาเรื่องราวด้วย” ชิตวันอธิบาย

1) จะพูดถึงอะไร 2) รู้จักมันแบบเป็นชิ้นเป็นอันขึ้น 3) ความสัมพันธ์ของสิ่งของและคน 4) ด้านที่ไม่ครีเอทีฟ และ 5) ทิ้งท้ายด้วยการรวมของสนุกๆ

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

จากการแบ่งหัวข้อง่ายๆ ขึ้นมาทำนองนี้ เมื่อนำมาจับกับเรื่องของของชิ้นหลักแต่ละชิ้นจึงกลายเป็น

1) PIECES ชี้ให้เริ่มสังเกตของธรรมดาที่อาจโดนมองข้าม

2) NEEDS หาคำอธิบายว่าทำไมถึงมีของเหล่านี้อยู่ และเริ่มจัดหมวดด้วยฟังก์ชัน เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าสิ่งของที่ว่าเป็นของประมาณไหน เหมือนเวลาไปร้านเฟอร์นิเจอร์ก็จะมีหมวดหมู่ว่าอันนี้ใช้วางของ อันนั้นใช้นั่ง
(ของชิ้นหลัก : ที่จองจอดรถและที่เสียบร่ม ทำให้เห็นว่าของหน้าตาคล้ายกันแต่ฟังก์ชันต่างกัน ตัดสินว่าคืออะไรจากหน้าตาไม่ได้)

3) FORM จากบทฟังก์ชันจะเห็นว่าเป็นความต้องการที่เบสิกมาก แต่ความฉูดฉาดยุบยับที่เราคุ้นตากันเกิดจากอะไร ในบทนี้จะเริ่มมีเรื่องของคนเข้ามา เป็นบทหลักที่จะทำให้เห็นสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตคนที่ส่งผลต่อการดัดแปลงของใช้
(ของชิ้นหลัก : ที่จองจอดรถ กระดานหมากรุก ปลอกขาโต๊ะ ตะกร้าดอกไม้ ทำให้เห็นว่าทั้งสถานที่ อาชีพ นิสัย ส่งผลทั้งหมด)

4) UNDESIGNED ถ้าไม่ได้มองในมุมสร้างสรรค์อย่างเดียว ของเหล่านี้บอกปัญหาหรือแสดงความไทยๆ อะไรให้เราเห็น
(ของชิ้นหลัก : เก้าอี้ มาร์กจุดอันตรายบนทางเท้า)

5) OLD pieces in NEW place ส่งท้ายด้วยการรวบรวมของดัดแปลงที่ยังไม่ถูกพูดถึงในบทอื่นๆ

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

จับคู่งานดีไซน์กับกราฟิก

แน่นอนว่าชิ้นงานออกแบบกับงานกราฟิกอยู่ในขอบเขตงานสร้างสรรค์เหมือนกัน จะต่างหรือเหลื่อมทับกันก็ตรงฟังก์ชันการนำไปใช้งาน ที่บางครั้งก็โดดเด่นที่ความสวยงามหรือประโยชน์ของมัน

ด้วยความที่ต้องนำสิ่งของดัดแปลงแบบไทยๆ มานำเสนอผ่านการจัดวางและกราฟิกบนหน้ากระดาษ วิธีการเล่าทั้งเนื้อในและรูปเล่มจึงต้องถูกคิดมาให้ไปด้วยกันได้

“การแจกแจงแยกแยะเป็นทั้งขั้นต้นของการเรียบเรียงข้อมูล และเป็นวิธีที่ใช้นำเสนอข้อมูลในขั้นสุดท้ายด้วย คือเป็นการพยายามเข้าใจสิ่งที่เราเห็นให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทำให้คนอื่นมองเห็นสิ่งที่เราเห็นได้ง่ายขึ้น

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

“การคิดว่าจะเล่ายังไงอยู่ในขั้นถัดมา เมื่อคำนึงถึงเรื่องที่ว่า เรากำลังเล่าสิ่งที่จะไม่เกิดประโยชน์ขึ้นทันทีที่รู้เนื้อหา แต่ต้องทำให้คนอ่านรู้สึกว่ามีความหมายที่จะอ่านมัน จึงต้องเริ่มวางตำแหน่งของซีนว่ามันจะไม่ได้มีหน้าที่หลักเป็นการ Inform แต่เป็นการสร้างความฉุกคิด ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อวางตำแหน่งแบบนั้นแล้ว โทนในการเล่า ลำดับเรื่อง และ Execution อื่นๆ ก็จะตามมา

“เราอยากให้เซนส์ความช่างคิด ติดจะตลกๆ และวุ่นวายในการสร้างสิ่งของเหล่านี้ ผสมเข้ากับการวิเคราะห์จัดแจงที่ดูตรงข้ามกัน ออกมาเป็นภาพรวมที่ดูเฉพาะทางแต่เป็นมิตร ภายใต้คอนเซปต์จากตอนแรกว่าด้วยสิ่งของพาไปหาวัฒนธรรม สิ่งนี้จึงเกิดเป็น Design Direction ‘ของใช้ไร้หีบห่อที่บรรจุเรื่องราวของผู้คนและวัฒนธรรม’ ของพวกนี้ไม่มีช่องใดๆ ให้เราแกะเปิดเข้าข้างในได้ แต่การรับรู้เรื่องที่ว่ามันเชื่อมโยงกับผู้ใช้งานยังไงเป็นเหมือนการแกะเข้าไปแทน ทำให้ความคิดเรื่องการเปิดออกนี้กลายมาเป็นกิมมิกการพับเปิดได้ในเล่ม”

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก
BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

งานที่ช่วยขยายเขตแดนนิยามการออกแบบ

การทำธีสิสครั้งนี้ไม่ได้สอนให้ชิตวันเข้าใจความสำคัญของการออกแบบเท่านั้น แต่ยังมีมุมมองของการเห็นบริบทและปัญหาเมืองที่สอดแทรกอยู่เบื้องหลังสิ่งของดัดแปลงที่เธอพบเจอ ตั้งแต่พื้นที่เมืองที่มีจำกัด ต้นไม้ที่ทำหน้าที่กันแดดกันลมมีน้อย พื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ เป็นต้น มากไปกว่านั้น เธอยังสังเกตเห็นพฤติกรรมการใช้สิ่งของของคนไทยที่มีความยั่งยืนโดยไม่รู้ตัว

“เส้นทางของของชิ้นหนึ่งมันนานและหลากหลาย จากวันหนึ่งที่เป็นพัดลม อยู่ๆ ก็โดนเอาไปทำหน้าที่กรวย หรือเกิดมาเป็นฝาขวด แต่อยู่ๆ ก็กลายไปเป็นตัวหมากของพี่วินฯ ยืดวงจรชีวิตก่อนโดนทิ้งออกมานานมาก คิดว่าถ้าสุดท้ายแล้วของพวกนี้ถูกจัดการทิ้งได้อย่างถูกต้องอีก อาจจะนับว่าเป็นพฤติกรรมที่ลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมก็ได้” ชิตวันแสดงความเห็นอย่างติดตลก

และเมื่อเราถามถึงนิยามการออกแบบที่ดีของเธอว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม หลังจากอยู่กับซีนเล่มนี้มานาน เจ้าของธีสิส BKK in pieces ก็ให้คำตอบว่า มันชัดเจนขึ้นในทิศทางเดิมที่เคยเข้าใจมากกว่า

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก
BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

“สิ่งที่เปลี่ยนคือขอบเขตความสวยงามของเราขยายขึ้น ถึงผู้สร้างสิ่งของจะไม่ได้เริ่มต้นสร้างโดยคำนึงถึงความสวยงาม แต่พอเรารับรู้เรื่องที่เชื่อมโยงกับมันมากขึ้น เลยโดนนับเป็นสไตล์หนึ่ง

“เรื่องนิยามงานออกแบบที่ดีก็เป็นแบบเดียวกัน งานศิลปะและการออกแบบพึ่งพาบริบทเยอะมากมาตลอด งานที่ดีจึงน่าจะเป็นงานที่ทำฟังก์ชันหลักของมันได้ตามมาตรฐานและพิเศษ ด้วยความแม่นยำในการคำนึงถึงคน เวลา สถานที่ หรือบริบทอื่นๆ ที่มันจะไปทำงานด้วย”

นอกจากนี้ ในฐานะคนเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ชิตวันมองว่าสิ่งของดัดแปลงทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และโดยมากจะไม่ค่อยมีวิธีแก้ในระยะยาวเข้ามาแทนหลังจากนั้น ซึ่งข้อนี้เองที่สะท้อนถึงความเป็นระบบระเบียบของบ้านเราไม่มากก็น้อย

“พื้นฟุตพาทที่นูนแล้วมีคนเอาเก้าอี้มาวางเป็นสัญลักษณ์ให้จะไม่ถูกปูใหม่ แต่อาจจะมีเก้าอี้ตัวใหม่มาวางแทนถ้าตัวเก่าพัง ที่จองจอดรถก็จะวางอยู่ที่เดิมจนกว่าจะพังแล้วเปลี่ยนใหม่ ไม่มีการย้ายรถไปจอดที่ที่ควรจอดเหมือนกัน

“ทั้งหมดอาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องมักง่ายของคนที่ทำ แต่เราคิดว่าการมองเห็นอนาคตได้แค่ระยะใกล้ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่จากนิสัยของปัจเจกบุคคล แต่เป็นผลพวงบางอย่างจากสภาพสังคมที่เราอยู่ เรามีเงินและเวลาแค่ไหนที่จะคิดหาวิธีแก้ปัญหาระยะยาว หรือเราชินกับสภาพแวดล้อมแบบไหนจึงมองข้ามความไม่เรียบร้อยได้ ทุกอย่างมีผลหมด”

BKK in pieces ซีน blueciiel สิ่งพิมพ์ หนังสือทำมือ ของดีไซน์ ไทยๆ กราฟิกดีไซเนอร์ นักวาดภาพประกอบ กราฟิก

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.