Home cooking ทำอาหารทานเองที่บ้านดียังไง - Urban Creature

เข้าครัวทำอาหารทั้งทีต้องใช้เวลานาน ช่างเป็นงานที่หลายคนมักจะหลีกเลี่ยง ยิ่งเป็นมือใหม่หัดเข้าครัวก็อย่าเพิ่งนอยด์กันไปล่ะ เพราะช่วงนี้คงจะต้องทำอาหารทานเองไปยาวๆ แต่ขอแค่มั่นใจ และเตรียมคว้าหม้อ ฉุดกระทะ จับตะหลิว บรรเลงรสมือในฉบับของตัวเอง เพราะที่ก้นครัวนั้น มีความลับจากการลงมือทำอาหารทานเองซ่อนอยู่ นั่นคือ ‘ประโยชน์มากมายที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจ’ ดังนั้นตลอดเดือนเมษายนที่ต้องอยู่บ้าน เราขอชวนทุกคนมาเต้นรำทำครัวให้สนุกสาน แต่ก่อนจะลงลึกถึงเคล็ด (ไม่) ลับต่างๆ ลองมาอ่าน 5 ข้อดีของการทำอาหารทานเองที่บ้านกัน

.

1. ทำทานเอง แคลอรีน้อยลง

งานวิจัยจากสถาบัน ‘Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health’ (JHSPH) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในประเทศสหรัฐอเมริกา สรุปข้อมูลออกมาว่า คนที่ทำอาหารทานเองที่บ้านจะได้รับแคลอรีน้อยกว่าคนสั่งอาหารมาทานหรือว่าออกไปทานนอกบ้าน เนื่องจากร้านอาหารบางร้านมักจะเน้นรสชาติที่โดนใจ จำเป็นต้องเติมแต่งเพิ่มปริมาณเครื่องปรุงให้มากเข้าไว้ รวมไปถึงน้ำมันพืช หรือสารกันบูดเพื่อยืดอายุอาหารอีกด้วย อีกทั้งการวิจัยได้เน้นว่า การทานอาหารนอกบ้าน แคลอรีที่เข้าสู่ร่างกายเราจะพุ่งขึ้นอีกประมาณ 200 แคลอรีเลยทีเดียว

.

2. กินเค็มน้อยลงแบบไม่รู้ตัว

แม้โซเดียมจะเป็นแร่ธาตุที่สำคัญกับร่างกาย ซึ่งช่วยปรับสมดุลความดันโลหิต แต่ตอนนี้หลายคนบริโภคในปริมาณที่มากเกินไปถึง 3,400 มก./วัน โดยไม่รู้ตัว เพราะมันมักจะซ่อนอยู่ในอาหารแปรรูปและอาหารแช่แข็งทั้งหลาย แต่หากทำกับข้าวเองเราจะใส่เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วต่างๆ อย่างมีสติ นอกจากนี้อยากให้ทุกคนระลึกอยู่เสมอว่า เกลือมีอยู่ตามธรรมชาติทั้งในอาหาร ไข่ และผัก ดังนั้น ‘เรื่องเค็มต้องเบามือ’ กันนะ

.

3. คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่ด้วยตัวเอง

บางครั้งร้านอาหารมีความจำเป็นที่จะต้องซื้อวัตถุดิบจำนวนมากเพื่อจ่ายราคาที่ถูกลง หากเหลือก็ต้องเก็บแช่ไว้ในตู้เย็น หรือหั่นเตรียมวัตถุดิบล่วงหน้า 6-7 ชั่วโมงก่อนเสิร์ฟ ซึ่งจะทำให้ผัก และผลไม้นั้นสูญเสียวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระ

แต่ในขณะที่เราทำอาหารที่บ้าน ก็จะมีวัตถุดิบที่สดใหม่จากการออกไปเดินเลือกเองที่ตลาดหรือห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน เป็นการเช็กได้อีกขั้นหนึ่งว่า จะได้รับสารอาหารครบถ้วน และได้ใช้วัตถุดิบที่ดี ซึ่งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นำเราไปสู่ข้อสรุปว่า ถ้าอยากให้ร่างกายแข็งแรง ก็ต้องทานอาหารที่ใส่วัตถุดิบเหมาะสมและมากคุณภาพนั่นเอง 

.

4. สารอาหารเต็มเม็ดเต็มเหนี่ยว

สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา (American Heart Association) เปิดผลวิจัยว่า การทานอาหารฝีมือตัวเอง หรือฝีมือคนที่บ้าน 14 มื้อ/สัปดาห์ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคเบาหวานได้ถึง 13% เมื่อเทียบกับผู้ที่รับประทานอาหารที่บ้านน้อยกว่า 6 มื้อ/สัปดาห์ นอกจากอาหารที่ดีจะช่วยป้องกันโรคเบาหวานแล้ว ยังป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในสมอง โรคความดันสูง และโรคมะเร็งบางตัวได้ด้วย

.

5. เมื่ออาหารอยู่ตรงหน้า ใจจะเย็นขึ้น 

เพียงแค่เราผ่อนชีวิตให้ช้าลง ลองหันหน้าเข้าครัวแบบ Slow Cooking ก็จะช่วยให้สีหน้ามีรอยยิ้มและอยากกินอาหารบนจานนั้นมากขึ้น

ใครว่ามนุษย์ไม่คุยกับอาหาร ? เวลาเข้าครัวบางคนแอบโต้ตอบกับอาหารอย่างไม่รู้ตัว เป็นการฝึกใช้สติกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ได้ทบทวนทั้งเครื่องปรุง และนึกว่าวัตถุดิบนี้จะต้องหั่นหรือใส่เมื่อไหร่ ทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง ฝึกความใจเย็น และรู้จักใช้เวลาตรงหน้าอย่างคุ้มค่า

นอกจาก 5 ข้อดีที่เราพูดถึงไปข้างต้นแล้ว การทำอาหารทานเองที่บ้านในช่วงที่ต้องเก็บตัวเพราะไวรัสโคโรนา ยังเป็นอีกช่วงเวลาของครอบครัวที่ได้ทำกับข้าวด้วยกัน มีโมเมนต์คุณแม่ถ่ายทอดสูตรลับประจำตระกูลให้คุณลูก จนกลายเป็นความสุขในจังหวะที่ความทุกข์เยอะเต็มไปหมด ทั้งยังช่วยลดความเบื่อหน่ายจำเจ ให้เราไม่เหงาไม่เฉาอีกต่อไป


Sources : https://bit.ly/2RjBrPY
https://bit.ly/34iTZoJ
https://bit.ly/2UNThwR

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.