ในปัจจุบันที่กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยไอความร้อนจากการเผชิญหน้ากับ ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน’ หรือ ‘Urban Heat Island (UHI)’ เหตุการณ์ที่พื้นที่ในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณรอบนอก ซึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ และสิ่งปลูกสร้างภายในเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นไม้ในเมืองลดลง
เคยลองคิดกันเล่นๆ ไหมว่า ถ้าเราสามารถทำให้หน้าร้อนของเมืองไทยที่มีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปีมีอุณหภูมิลดลงได้ หน้าตาของเมืองกรุงเทพฯ จะแตกต่างไปจากปัจจุบันและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้นได้มากน้อยขนาดไหน
วันนี้คอลัมน์ Urban Sketch จึงขอหยิบเอาแผนพัฒนาเมืองบางส่วนของประเทศสิงคโปร์อย่าง ‘Cooling Singapore’ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อลดภาวะ UHI ภายในเมือง มาออกแบบกรุงเทพฯ กันใหม่ว่า ถ้าต้องการให้อุณหภูมิเมืองลดลงจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง
01 | VEGETATION : เพิ่มสีเขียวให้พื้นที่เมือง
หากต้องการลดอุณหภูมิเมืองลง สิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ ‘พื้นที่สีเขียว’ เนื่องจากพืชโดยทั่วไปมีคุณสมบัติในการแผ่รังสีความร้อนที่ต่ำและสร้างร่มเงา ช่วยลดการสะสมของพลังงานแสงอาทิตย์ภายในเขตเมืองได้
แต่การจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดอุณหภูมิภายในเมืองลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจำเป็นต้องปลูกต้นไม้จำนวนมากพอสมควรเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นในแนวระนาบหรือแนวดิ่งตามอาคารต่างๆ ก็ตาม
การมีสวนสาธารณะขนาดไม่ใหญ่มากแต่กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ รอบเมืองอย่างทั่วถึง จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ความเย็นจากพื้นที่ในบริเวณนั้นๆ ส่งผลดีต่อพื้นที่อาคารโดยรอบได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งทั่วเมืองอย่างปัจจุบัน
แต่สำหรับอากาศของประเทศไทย แค่สวนสาธารณะในแนวราบคงไม่เพียงพอ การปลูกพืชเพิ่มในแนวดิ่งไม่ว่าจะเป็นพืชไม้เลื้อยบริเวณผนังอาคาร ฟาร์มผักบนหลังคา พื้นที่สีเขียวบริเวณอาคารร้าง รวมถึงพื้นที่ว่าง ล้วนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ชาวเมืองเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ง่ายขึ้น และลดอุณหภูมิในตัวเมืองได้เป็นอย่างดีด้วย
02 | URBAN GEOMETRY : เปลี่ยนรูปทรงเรขาคณิตเมือง
การมีอาคารที่ปิดทึบและมีขนาดสูงภายในเมืองจำนวนมากก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การระบายความร้อนภายในเมืองเป็นไปได้ยากจนเกิดเป็นภาวะ UHI ขึ้นได้ เนื่องจากเป็นการปิดกั้นไม่มีช่องให้กระแสลมไหลผ่าน
ทางแก้ในเรื่องนี้คือ ‘การเปลี่ยนรูปทรงเรขาคณิต (Urban Geometry)’ เมืองบางส่วนใหม่ ออกแบบให้อาคารหรือตึกสูงมีความพรุนเพิ่มขึ้นด้วยการสร้างช่องเปิดในตัวอาคารให้เพียงพอทั้งในแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อใช้ประโยชน์จากสภาพอากาศและการไหลของอากาศในภูมิภาค พัฒนาเส้นทางลมที่เหมาะสมเข้าสู่เขตเมือง และขจัดความร้อนสะสมในเมืองออกไป
นอกจากนี้ การขยายพื้นที่ถนนยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สำหรับถ่ายเทอากาศ ขณะเดียวกัน การมีถนนที่กว้างขึ้นจะทำให้มีพื้นที่รับแสงจากดวงอาทิตย์มากขึ้นไปด้วย ดังนั้นแม้จะมีพื้นที่ให้ลมผ่านมากขึ้นก็ยังอาจดูดซับแสงแดดจนก่อให้เกิดความร้อนขึ้นได้ หากปราศจากการใช้เงาของอาคารและต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียงเข้ามาช่วย
03 | WATER BODIES & FEATURES : เติมน้ำให้กับพื้นที่เมือง
‘น้ำ’ เป็นหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิของเมืองลดลงได้ง่ายจากการระเหยเป็นไอ จากความร้อน จนก่อให้เกิดความชื้นในอากาศ จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวไทยในอดีตจึงนิยมปลูกเรือนใต้ถุนสูงไว้ใกล้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
แตกต่างจากปัจจุบันที่แหล่งน้ำภายในเมืองกำลังค่อยๆ หายไป ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมหรือการถมดินเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของสิ่งก่อสร้าง เป็นผลให้เกิด UHI ภายในเมืองจนมีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งหากมีการออกแบบให้สามารถคงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมภายในเมืองไว้ได้ และสร้างการขยายตัวของแหล่งน้ำขนาดเล็กและพื้นที่รับน้ำอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้อุณหภูมิโดยรวมลดลงได้ดีขึ้น
และถ้าเมืองสามารถเพิ่ม ‘พื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland)’ ได้มากขึ้น พื้นที่ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการควบคุมน้ำท่วม และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจกได้ ทำให้คุณภาพอากาศและอุณหภูมิของเมืองดีขึ้นตามไปด้วย
04 | MATERIALS & SURFACES : เปลี่ยนวัสดุพื้นผิวให้ระบายความร้อน
การมีสิ่งปลูกสร้างภายในเมืองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความร้อนในเมืองเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งเป็นอาคารสูงที่ใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก็ยิ่งมีผลต่อสภาพอากาศในเมืองและความสมดุลทางความร้อนของเมืองมากขึ้นเท่านั้น
ดังนั้นการออกแบบหรือปรับปรุงพื้นที่ในเมืองจึงต้องคำนึงถึงการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างทั้งหลายด้วย เพราะในสภาพอากาศร้อน วัสดุที่ดูดซับแสงได้สูงอาจทำให้อุณหภูมิอากาศในบริเวณใกล้เคียงสูงตามไปด้วย
แต่การเปลี่ยนพื้นผิววัสดุของตัวอาคารที่มีอยู่เดิมนั้นอาจยากและลำบากอยู่ไม่น้อย การหาทางออกด้วยการเพิ่มระบบระบายความร้อนด้วยน้ำให้กับตัวอาคารจึงเป็นตัวช่วยที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็น ‘Cooling Facade System’ หรือ ‘District Cooling System’ ซึ่งเป็นการใช้ระบบน้ำภายในหล่อเย็นตัวอาคารเพื่อถ่ายเทความร้อนออกไปภายนอกอาคาร
ส่วนภายนอกอาคารอย่างทางเท้าเองก็ควรใช้วัสดุที่มีพื้นผิวที่ช่วยลดอุณหภูมิได้ด้วยเช่นกัน ไม่เช่นนั้นการระบายความร้อนออกจากตัวอาคารโดยไม่มีตัวช่วยภายนอก อาจไม่ทำให้อุณหภูมิของเมืองเย็นลงได้ตามตั้งใจ
05 | SHADING : สร้างร่มเงาให้เมืองด้วยอุปกรณ์บังแดด
แสงและเงาเป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ หากแสงแดดสามารถเพิ่มอุณหภูมิความร้อนได้ ร่มเงาก็เป็นคู่ตรงข้ามซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความร้อนได้ง่ายที่สุดเช่นเดียวกัน
การมี ‘อุปกรณ์บังแดดเคลื่อนที่ได้’ กระจายตามจุดต่างๆ รอบเมือง รวมไปถึงการติดตั้ง ‘อุปกรณ์บังแดดที่สามารถเปิดปิดได้’ บริเวณตัวอาคาร จึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ทำได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องไปยุ่งเกี่ยวกับผังเมืองมากนัก
มากไปกว่านั้น อุปกรณ์เหล่านี้ยังลดการสัมผัสแสงแดดโดยตรงของตัวอาคารในช่วงสภาพอากาศรุนแรง เพิ่มความยืดหยุ่นเชิงพื้นที่และเวลา รวมไปถึงปรับพื้นที่ให้เข้ากับสภาพอากาศ การทำมุมของแสงอาทิตย์ และช่วงเวลาที่แตกต่างของแต่ละวันได้อีกด้วย
Source :
Strategies for Cooling Singapore | t.ly/9qqr