เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้มีการเดินไพรด์พาเหรดในงาน ‘นฤมิตไพรด์’ เฉลิมฉลองความหลากหลาย และเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศไปอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเทพฯ คราวนี้ถึงคิวของ ‘Bangkok Pride 2022: Rainbowtopia’ อีเวนต์ไพรด์อีกงานที่จัดเต็มทั้งศิลปะ เวิร์กช็อป เสวนา มาร์เก็ต และคอนเสิร์ต เพื่อร่วมเฉลิมฉลองคอมมูนิตี้ LGBTQ+
เทศกาลนี้จัดขึ้นโดย SPECTRUM ทีมสื่อที่ทำงานและสื่อสารเรื่องเพศมาอย่างยาวนาน โดยร่วมมือกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักกิจกรรม กลุ่มผู้ทำงานศิลปะ คลินิกสุขภาพทางเพศ วงการภาพยนตร์ หรือศิลปินนักดนตรี โดยมีเป้าหมายที่จะเห็นโลกแห่งความเท่าเทียมที่ทุกคนเคารพซึ่งกันและกัน
ธีมของงานใช้ชื่อว่า ‘Rainbowtopia’ เนื่องจากต้องการชวนทุกคนมาวาดฝันและจินตนาการถึงโลกแห่งความเท่าเทียม ที่คนทุกเพศ ทุกเชื้อชาติ และทุกช่วงวัย ได้มีพื้นที่ปลอดภัยในเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงได้รับสิทธิ สวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน
ภายในงานได้มีการแบ่งโซนกิจกรรมออกเป็นหลากหลายรูปแบบตามธีมย่อยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสีทั้ง 6 บนธงไพรด์ โดยแบ่งพื้นที่จัดกิจกรรมออกมาเป็น 2 แห่ง ได้แก่ ภายในหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ (BACC) และ สยามสแควร์ บล็อก I
บรรยากาศงานเป็นยังไงบ้าง สนุกสุดต๊าชแค่ไหน มีกิจกรรมใดที่ไม่ควรพลาด Urban Creature ทัวร์มาให้แล้วหนึ่งกรุบ ไปชมกันเลย
Bangkok Pride: Rainbowtopia จัดขึ้นในวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2565 เวลา 10.00 – 19.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) และ สยามสแควร์ Block I ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง facebook.com/bkkpride
ฟัง Talk เพื่อเข้าใจความหลากหลายใน ‘Life’ Zone
ส่วนนี้อยู่ในโซนสีแดงที่หมายถึงชีวิตและแพสชัน ดังนั้น กิจกรรมทั้งหมดล้วนมีจุดประสงค์ในการนำเสนอเรื่องราวของชีวิตที่แตกต่าง อย่างรายการทอล์กที่มีสปีกเกอร์จากหลากวงการไม่ว่าจะเป็นวงการสื่อ การเมือง วิชาการ แพทย์ ฯลฯ
อย่างวันนี้ก็มีทอล์กหัวข้อ ‘เมื่อไรเมืองจะเป็นของทุกคน’, ‘เพศศึกษาไทย ต้องเข้าใจ LGBT+’, ‘เปิดเบื้องหลังผ่าตัดข้ามเพศกับชีวิตใหม่ที่เลือกได้’ และ ‘ทำไมเราถึงต้องการ LGBT+ มากขึ้นในสื่อ’ เรียกว่ามีหลายแง่มุมให้ได้แชร์ประสบการณ์และความคิดเห็น ต่อให้เป็นหรือไม่เป็นคนในคอมมูนิตี้ LGBT+ ก็ตาม
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอย่าง Shibari Show การแสดงมัดเชือกชิบาริ ที่จำนวนผู้เข้าชมเต็มไปแล้ว (โชว์มีวันอาทิตย์) แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าดูก็ไม่เป็นไร เพราะยังมีอีกหลายเวิร์กช็อปและการแสดงสดที่น่าสนใจให้ชมตลอดทั้ง 3 วันนี้
ส่วนใครที่สะดวกมาวันอาทิตย์แล้วตั้งใจอยู่ยาวๆ โซนนี้มี Pride Movie Day จาก Doc Club & Pub. ที่คัดสรรหนังเควียร์ทั้งจากไทยและต่างประเทศมาให้ชมกันตั้งแต่เช้ายันค่ำ ไม่ว่าจะเป็น In the Name of Love ในนามของความรัก (2021), Tangerine (2015), เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน (2012) เป็นต้น บางเรื่องหาดูยากมาก ถ้าไม่มาดูงานนี้ ไม่รู้ต้องรอไปถึงเมื่อไหร่
บรรเทาความเจ็บปวด เยียวยากายและใจใน ‘Healing’ Zone
โซนนี้เป็นที่ตั้งของเหล่าบูทจากโรงพยาบาลเอกชน หน่วยงานของรัฐ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อมาตั้งศูนย์ช่วยให้คำปรึกษาและบริการเบื้องต้นเพื่อลดการตีตราจากอคติทางเพศที่ LGBT+ ประสบพบเจอเมื่อไปปรึกษาเรื่องสุขภาวะทางเพศ สอดคล้องกับสีส้มในธงไพรด์ที่เป็นสีของการเยียวยา
ตัวอย่างบูทที่มาร่วมในเทศกาลไพรด์ครั้งนี้ มีตั้งแต่บูทให้คำปรึกษาความช่วยเหลือเรื่องการผ่าตัดยืนยันเพศ โดย โรงพยาบาลยันฮี, บูทให้คำปรึกษาเรื่องโรคติดต่อทางเพศ โดย Buddy Station รวมถึงบูททำแท้งถูกกฎหมายที่ให้ข้อมูล คำปรึกษา และสร้างความเข้าใจใหม่ โดย กลุ่มทำทาง แถมยังมีไฮไลต์เด็ดเป็นนิทรรศกีขนาดจิ๋ว โดยพรรคเพื่อไทย ที่เคยจัดแสดงและได้รับความนิยมอย่างล้นหลามไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ส่วนตัวเราคิดว่าการมีโซนนี้ดีมากสำหรับ LGBT+ ที่มักพบเจอความไม่สะดวกใจจากการไปปรึกษาเรื่องสุขภาวะ ถ้าเป็นไปได้ เราอยากเห็นคนทำงานด้านนี้ทั่วประเทศมีความรู้ความเข้าใจและไม่กีดกัน LGBT+ ในการเข้าถึงการดูแลรักษา ไม่ใช่แค่ชาย-หญิงที่ได้รับสิทธิและความเข้าใจนี้เท่านั้น
มีความหวังสู่โลกที่ดีกว่าผ่านงานศิลปะ ใน ‘Sunlight’ Zone
มั่นใจมากว่าโซนสีเหลือง ที่เป็นตัวแทนของแสงอาทิตย์ที่สดใสและสื่อถึงความหวัง ต้องถูกใจทุกคนแน่นอน เพราะโซนนี้สร้างสรรค์โดย GroundControl คอมมูนิตี้นักเล่าเรื่องศิลปะสุดสนุก ที่คนชอบศิลปะน่าจะติดตามกันอยู่แล้ว
นอกจากจะมีนิทรรศการศิลปะจากเหล่าศิลปินที่ทำงานเกี่ยวกับความหลากหลาย ได้แก่ Baphoboy, นักรบ มูลมานัส, juli baker and summer ฯลฯ ยังมีประติมากรรมไพรด์ ที่สร้างสรรค์โดย Viput A. ให้ไปถ่ายรูปแสดงความภาคภูมิใจและมั่นใจในตัวเองกันอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายในโซนยังมี Art Market ให้ทุกคนเลือกซื้อผลงาน และงานพรินต์ของหลากหลายศิลปิน นี่ยังไม่นับรวมกิจกรรมและเวิร์กช็อปงานศิลปะอีกมากมายที่เปิดโอกาสให้ทุกคนร่วมจอยน์อีกนะ ได้ซัปพอร์ตความหลากหลายแล้วยังเป็นการให้กำลังใจชาวศิลปินไทยในคราวเดียวกัน
อ่านสนับสนุนความเท่าเทียมในงานหนังสือโซน ‘Nature’ Zone
ไม่มีเพศไหนที่ผิดธรรมชาติ ไม่มีกฎเกณฑ์หรือกรอบจากธรรมชาติที่กดขี่ใครได้ โซนสีเขียวที่เป็นตัวแทนของความเป็นธรรมชาติต้องการที่จะบอกและย้ำถึงเรื่องนี้ จึงมี 2 กิจกรรมหลักให้ทุกคนได้เข้าร่วมกัน
Pride Book คืองานหนังสือขนาดย่อม ที่ Bangkok Pride: Rainbowtopia ได้คัดสรรผลงานจากนักเขียนอิสระ และสำนักพิมพ์ที่ถ่ายทอดเสียงของเหล่าผู้คนที่มีอัตลักษณ์หลากหลายมาวางจำหน่าย มากไปกว่านั้น ยังมีรวมเรื่องสั้นจากทางบ้านที่ผ่านการคัดเลือกในโปรเจกต์ QUEER SHORT STORIES by SPECTRUM มาให้นักอ่านเลือกหยิบไปเย็บเล่มกลับบ้านด้วย เราลองไปอ่านมาคร่าวๆ ขอบอกว่าน่าสนใจหลายเรื่องเลย
หลังจากช้อปหนังสือเสร็จแล้ว ในบริเวณเดียวกันก็มี Pride Support พื้นที่ลงชื่อสนับสนุนสมรสเท่าเทียม และ พ.ร.บ.อัตลักษณ์ทางเพศ การแก้ไขกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ฯลฯ รวมถึงนิทรรศการจัดแสดงชุดข้อมูลความเป็นไปได้ของความเท่าเทียมทางเพศทั้งครอบครัว LGBT+ สื่อที่สนับสนุนความหลากหลาย ไปจนถึงการอธิบายถึงความสำคัญของกฎหมายและนโยบายที่ต้องคุ้มครองและโอบรับคนทุกเพศ
เรียกว่า เป็นโซนที่ผลักดันและสนับสนุนให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นในความเท่าเทียมแบบเต็มสูบ ใครมาเยี่ยมเยือน ต้องได้รับพลังและความฮึกเหิมกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมแน่นอน
มองเห็นมิติของความหลากหลายทางเพศ ผ่านเวิร์กช็อปโซน ‘Spirit’ Zone
โซนนี้สีม่วง สีที่เป็นตัวแทนของจิตวิญญาณ ทางทีมงานจึงเชิญชวนทุกคนให้มาร่วมมองเห็นมิติของความหลากหลายทางเพศ ผ่านการทำกิจกรรมเวิร์กช็อปสนุกๆ จากคอมมูนิตี้ที่จะทำให้เราเข้าใจจิตวิญญาณและตัวตนข้างในของเรามากขึ้น
ภายในโซน มี 3 กิจกรรม ดังนี้
– บอร์ดเกม Censentopia ที่จะพาไปเข้าใจเรื่องเซ็กซ์และความยินยอม ผ่านเกมบทบาทสมมุติ
– เวิร์กช็อป SOGIESC ที่เปิดให้เรียนรู้อัตลักษณ์และเรื่องเพศผ่านโมเดลขนมปังขิงโดย Queer Riot
– Exploring Gender ที่จะช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมเข้าใจตัวตนทางเพศ ผ่าน Toolkit Zine โดย Rin Jakkavan
หลากหลายไปด้วยกันอย่างงดงามใน ‘Harmony’ Zone
ปิดท้ายการทัวร์ Bangkok Pride: Rainbowtopia ด้วยโซนสีคราม ที่แทนความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยสื่อสารความหลากหลายทางเพศ วัฒนธรรม เชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในรูปแบบพื้นที่ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ประกอบด้วยเวทีคอนเสิร์ตกับตลาดเทศกาลไพรด์
แต่สำหรับใครที่อยากร่วมกิจกรรมโซนนี้ อาจต้องออกแรงเดินสักหน่อย เพราะตัวพื้นที่จัดกิจกรรมใน 2 พื้นที่ ได้แก่ หอศิลปฯ และ Siam Square บล็อก I ซึ่งห่างกันประมาณ 500 เมตร แต่ถึงโซนนี้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน แต่รับรองว่าความสนุกล้นเหลือคุ้มค่าการเดินแน่นอน
หลังจากสำรวจ Pride (Mini) Market ด้วยเอเนอร์จี Lady Gaga เราพบว่า สินค้าพิเศษที่มาวางจำหน่ายในเทศกาลไพรด์ครั้งนี้มีตั้งแต่ ธงไพรด์หลากอัตลักษณ์ เข็มกลัด สติกเกอร์ เทียน อุปกรณ์เซ็กซี่ และสารพัดของกุ๊กกิ๊กอีกมากมาย จาก 4 ร้าน ได้แก่ PrismStuff, Amnesty International Thailand, For fun และ Thailand BDSM รับรองว่าเป็นโปรดักต์ที่หาไม่ได้จากมาร์เก็ตทั่วไปแน่นอน
ส่วนช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก ก็เตรียมมูฟไปสนุกที่ Siam Square บล็อก I กับคอนเสิร์ตจากศิลปินชาว LGBT+ และผู้ที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศได้เลยยาวๆ จนถึงค่ำ อย่างวันนี้มีวง PURPEECH, YourMOOD และ Gene Kasidit มาขับขานบรรเลงเสียงดนตรีที่จะหลอมความหลากหลายให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จบวันไปด้วยความงดงาม