วินมอเตอร์ไซค์แรกของกรุงเทพฯ - Urban Creature

มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอยของเมือง

แม้การเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์นั้นจะอันตราย ไม่ต่างจากการเอาเนื้อไปหุ้มเหล็ก แต่ประโยคที่เราบอกไปไม่ได้ผิดเลย เพราะในเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาผังเมืองแย่ รถเมล์มาช้าไม่ทันใจ การจราจรแออัดติดท็อป 10 ของโลก พี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างคืออัศวินผู้ทำหน้าที่พาเราไปได้ทุกหนแห่ง และเป็นส่วนหนึ่งของการคมนาคมขนส่งในเมืองไปซะแล้ว

พี่วินฯ Made in Thailand

รู้ไหมว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้างกลุ่มแรกเกิดขึ้นในบ้านเราจากชาวสวนยางทางภาคใต้ เหตุผลคงไม่ต้องเดาให้ยาก เพราะถนนจากสวนยางไปตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นทางเล็ก แคบ และสภาพไม่ค่อยสู้ดีนัก ชาวสวนยางเลยจำเป็นต้องพึ่งพามอเตอร์ไซค์เพื่อขนส่งยางแผ่นไปขายให้เหล่าพ่อค้าแม่ขาย

ตัดภาพมาที่กรุงเทพฯ นิตยสาร Thailand Business ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2526 ได้เล่าถึงการเดินทางของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ ว่า มอเตอร์ไซค์รับจ้างเจ้าแรกเกิดขึ้นที่ซอยงามดูพลี แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร 

เรือเอก สมบูรณ์ บุญศักดิ์ดี อดีตผู้จัดการคิวรถมอเตอร์ไซค์ในซอยงามดูพลี เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Thailand Business ถึงเหตุผลของการจัดตั้งคิวรถมอเตอร์ไซค์ว่า ในซอยงามดูพลีมีคนอาศัยหนาแน่นหลายร้อยครัวเรือน และแฟลตทหารเรือนั้นอยู่ห่างจากถนนพระรามสี่ราว 1 กิโลเมตร คนเหล่านี้มีรายได้น้อย เลยไม่มีเงินจ้างรถสามล้อหรือแท็กซี่ไปยังถนนใหญ่

แถมดึกดื่นมืดค่ำในซอยก็เปลี่ยว และมีปล้นจี้กันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งเวลานั้นมีรถมอเตอร์ไซค์ไม่กี่คันจากแฟลตทหารเรือที่คอยรับส่งลูกหลาน และคนรู้จักในชุมชนโดยไม่คิดเงิน ไปๆ มาๆ ผู้คนในละแวกนั้นรู้สึกไม่แฟร์ เลยช่วยออกเงินค่าน้ำมัน ทำให้ใน พ.ศ. 2524 นายทหารเรือกลุ่มหนึ่งรวบรวมคนในแฟลตที่มีมอเตอร์ไซค์มาตั้งเป็นชมรมมอเตอร์ไซค์แฟลตทหารเรือ คอยรับส่งผู้คนโดยคิดค่าโดยสารประมาณ 3 บาท จากนั้นก็เริ่มมีคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพิ่มขึ้นเพราะเห็นว่าทำเงินได้

ภาพ : GMM Grammy

จากเรื่องราวที่เรือเอก สมบูรณ์ บุญศักดิ์ดี เล่าไว้ ทำให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในยุคแรกเริ่ม มาจากความจำเป็นของผู้คนที่อาศัยอยู่ในซอยลึกๆ ห่างจากถนนใหญ่ ซึ่งลามไปถึงปัญหาการขยายตัวของเมือง โดยคนที่ไม่สามารถซื้อที่ดินในเมือง หรือซื้อบ้านที่ขึ้นรถลงเรือสะดวกๆ ก็โยกย้ายกันไปอยู่ชานเมือง เกิดเป็นหมู่บ้านจัดสรร ซอยเล็กซอยน้อยต่างๆ

เอาล่ะ ปัญหารถเยอะกว่าถนนจึงเกิดขึ้น เลยเถิดไปจนถึงปัญหารถติดระดับชาติที่ชาวเมืองก่นด่ากันทุกวัน มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเป็นผู้ช่วยคนสำคัญที่พาเราไปถึงจุดหมายได้ไวที่สุดในเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาการจราจรเช่นนี้

Xe Ôm มอเตอร์ไซค์รับจ้างในเวียดนาม

ไอเดียมอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ได้มีแค่เฉพาะบ้านเรา แต่เกิดตามเมืองที่ระบบขนส่งมวลชนมีปัญหาและขาดประสิทธิภาพ เช่น ประเทศอินโดนีเซียที่คนนิยมใช้รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะรถติดแหง็กในกรุงจาการ์ตา ถึงขนาดพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเจาะตลาดมอเตอร์ไซค์รับจ้างในชื่อ Go-Jek ที่เรารู้จักกัน หรือประเทศเวียดนาม ก็มี Xe Ôm (แซ-โอม) หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ต่างจากบ้านเราตรงที่ไม่มีเสื้อวินฯ

ภาพ : GMM Grammy

เรื่องวินๆ ที่ต้องจริงจัง

หลังจากโมเดลมอเตอร์ไซค์รับจ้างในซอยงามดูพลีประสบความสำเร็จ คนขับมอเตอร์ไซค์จึงร่วมกันวางกฎเกณฑ์ต่างๆ ในการบริหารคิวรถ ควบคุมพฤติกรรมคนขับ เช่น ห้ามเล่นการพนันที่วินฯ ห้ามดื่มสุรา มีการควบคุมค่าโดยสาร ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัย และเมื่อพี่วินฯ ในซอยงามดูพลีเริ่มมีมากขึ้น ก็ได้แยกตัวไปตั้งวินฯ ใหม่ที่ซอยสะพานคู่และซอยตากสิน 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด อยู่ในช่วงหลัง พ.ศ. 2525 เป็นปีที่กองกำกับการตำรวจนครบาลแจ้งว่า การใช้รถมอเตอร์ไซค์ให้บริการขนส่งผู้โดยสารไม่ผิดพระราชบัญญัติการใช้รถยนต์ และอธิบดีกรมการขนส่งทางบกเห็นพ้องต้องกันว่า การเกิดขึ้นของมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นไม่ผิดกฎหมาย บวกกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ก็ยิ่งทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างกลายเป็นอาชีพที่บูมสุดๆ ด้วยความที่เป็นอาชีพอิสระซึ่งปราศจากการควบคุมของรัฐ

การยินยอมให้มีการจัดตั้งวินมอเตอร์ไซค์ทำให้มีผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นจัดตั้งวินฯ ขึ้นมา โดยจะเลือกเส้นทางที่ไม่เคยมีการจัดตั้งวินฯ มาก่อนเพื่อไม่ให้ทะเลาะกัน แต่วินฯ จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบในท้องที่ไม่อนุญาตให้จัดตั้ง พูดง่ายๆ คือ ถ้าอยากจัดตั้งวินมอเตอร์ไซค์ก็ต้องมีสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อซื้อความสะดวกในการทำธุรกิจนอกระบบเช่นนี้ ซึ่งค่าจัดตั้งวินฯ อยู่ที่หลักพันบาทต่อรถ 1 คัน

ปัจจุบัน มณฑลทหารบกที่ 11 เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการจัดระเบียบมอเตอร์ไซค์รับจ้างและการขอจัดตั้งวินฯ ใหม่ โดยทำงานร่วมกับกรมการขนส่งทางบก กองบัญชาการตำรวจนครบาล และกรุงเทพมหานคร 

ใครจะเป็นพี่วินฯ ได้นั้นต้องนำมอเตอร์ไซค์ไปจดทะเบียนเป็นป้ายเหลือง รวมถึงต้องใช้เสื้อวินฯ ตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด ที่แสดงชื่อวินฯ บัตรประจำตัว และหมายเลขประจำตัวที่ถูกต้องตรงกัน เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์หรือปล่อยเช่าเสื้อวินฯ

ส่วนการจัดตั้งวินฯ ใหม่นั้น จะสามารถตั้งอยู่บนทางเท้า ผิวจราจร และที่สาธารณะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรและผู้ใช้ทางเท้า ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลก่อน

และกรณีที่ตั้งวินฯ อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์หรือผู้มีสิทธิ์ใช้พื้นที่นั้นก่อน ต้องไม่ทับซ้อนเส้นทางของวินฯ เดิมตลอดเส้นทาง รวมถึงมีระยะห่างจากวินฯ เดิมตามความเหมาะสม

พี่วินฯ ฮีโร่ของผังเมืองพังๆ

ตอนนี้กรุงเทพฯ มีวินมอเตอร์ไซค์ที่ได้รับอนุญาตแล้ว 5,343 วินฯ และมีจำนวนผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง 89,292 ราย เขตที่มีพี่วินฯ มากที่สุด ได้แก่ จตุจักร ดินแดง วัฒนา บางขุนเทียน และบางกะปิตามลำดับ 

นี่ยังไม่นับวินฯ เถื่อนที่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่รู้ไหมว่า จำนวนมากขนาดนี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการชาวเมืองที่เพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ขนส่งมวลชนหลักของกรุงเทพฯ นั้นยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีพอ บวกกับผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ไม่มีวันดีขึ้นได้

หนำซ้ำรัฐเองก็ได้ค่าคุ้มครองจากผู้ประกอบกิจการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แถมผลักดันนโยบายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาให้พี่วินฯ ปฏิบัติตาม แต่ก็ยังเกิดปัญหามากมายตามมา อย่างความขัดแย้งระหว่างวินมอเตอร์ไซค์กับคู่ปรับแกร็บไบค์ ปัญหาโก่งราคา ยันปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี

ชวนให้เราตั้งคำถามว่า ชาวเมืองควรได้รับบริการขนส่งมวลชนที่ดีและปลอดภัยมากกว่านี้หรือไม่ รวมถึงพี่วินฯ ไม่ถูกมองข้ามความสำคัญไป และรัฐเองต้องร่วมมือกับผู้ดูแลวินฯ เพื่อปฏิรูประบบวินฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะมอเตอร์ไซค์รับจ้างเองเป็นผู้ช่วยคนสำคัญในการเดินทาง และทำให้ระบบขนส่งมวลชนภาพรวมสมบูรณ์ เพราะถ้าคนเมืองขาดพี่วินฯ ไป…เราคงทิ้งเวลาไปกับการเดินทางไม่ใช่น้อย


Sources :

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.