กรุงเทพฯ ไฟไหม้บ่อยแค่ไหน? เปิดสถิติไฟไหม้ปี 2560 – 2565 สาธารณภัยอันดับหนึ่งของกรุงเทพฯ
ในเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีข่าวไฟไหม้ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่เหตุการณ์ที่สีลมซอย 2 บ่อนไก่ ไปจนถึงสำเพ็ง ซึ่งแต่ละครั้งห่างกันเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น ‘ไฟไหม้’ จึงเป็นภัยอันดับต้นๆ ที่คนกรุงต้องระวังและควรมีแผนป้องกันในอนาคต เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งคือความสูญเสียของประชาชนที่ประเมินค่าไม่ได้
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมช่วงนี้ถึงเกิดไฟไหม้บ่อยครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีไฟไหม้บ่อยมาก ไม่ใช่แค่ช่วงนี้ที่เป็นข่าวเท่านั้น Urban Creature จึงอยากพาไปดูตัวเลขจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยว่าแต่ละปีกรุงเทพฯ ไฟไหม้ไปกี่ครั้ง และเกิดขึ้นที่เขตไหนบ้าง
ในระยะเวลา 6 ปี กรุงเทพฯ มีไฟไหม้กี่ครั้ง?
ปี 2560 ไฟไหม้หญ้า/ขยะ 2,170 ครั้ง และไฟฟ้าลัดวงจร 785 ครั้ง
ปี 2561 ไฟไหม้หญ้า/ขยะ 1,413 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจร 654 ครั้ง
ปี 2562 ไฟไหม้หญ้า/ขยะ 3,085 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจร 638 ครั้ง
ปี 2563 ไฟไหม้หญ้า/ขยะ 2,554 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจร 629 ครั้ง
ปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) ไฟไหม้หญ้า/ขยะ 712 ครั้ง ไฟฟ้าลัดวงจร 104 ครั้ง (ไม่พบข้อมูลสรุปของปี 64)
ปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) ไฟไหม้ทั้งหมด 131 ครั้ง (ตัวเลขนี้ยังไม่มีการจำแนกสาเหตุ)
เขตไหนไฟไหม้สูงสุด?
ปี 2560 มีนบุรี 15 ครั้ง บางแค 13 ครั้ง วัฒนา 12 ครั้ง
ปี 2561 จตุจักร 16 ครั้ง คลองเตย 14 ครั้ง มีนบุรี 12 ครั้ง
ปี 2562 คลองสามวา/บางกะปิ/ลาดกระบัง เขตละ 14 ครั้ง
ปี 2563 บางแค/ป้อมปราบศัตรูพ่าย/ภาษีเจริญ เขตละ 11 ครั้ง
ปี 2564 (ม.ค.-มี.ค.) บางกะปิ 5 ครั้ง จอมทอง/บางเขน/บางพลัด/ประเวศ เขตละ 4 ครั้ง
ปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) บางขุนเทียน 8 ครั้ง บางกะปิและประเวศ 7 ครั้ง บางแคและราชเทวี 6 ครั้ง หนองจอก 5 ครั้ง บางคอแหลม/มีนบุรี/ลาดพร้าว/วังทองหลาง/วัฒนา/สะพานสูง/ห้วยขวาง เขตละ 4 ครั้ง
(เขตที่ยังไม่มีไฟไหม้จากการเก็บสถิติในปี 65 มีทั้งหมด 4 เขต ประกอบด้วย จตุจักร ดินแดง ธนบุรี และ ยานนาวา)
ปี 2565 เดือนไหนไฟไหม้สูงสุด?
ตัวเลขไฟไหม้ในแต่ละเดือน ได้แก่ มกราคม 39 ครั้ง, เมษายน 32 ครั้ง, กุมภาพันธ์ 27 ครั้ง, พฤษภาคม 20 ครั้ง และมีนาคม 13 ครั้ง ตามลำดับ สองเดือนที่มีเหตุเพลิงไหม้สูงสุด คือ เดือนมกราคมและเมษายน ซึ่งเป็นช่วงวันหยุดยาวของปี
ที่ผ่านมา กทม. ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า?
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ TDRI ได้เปิดเผยข้อมูลว่า กทม. มีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเพียง 38 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่า กทม. มีเจ้าหน้าที่น้อยมากๆ เมื่อเทียบกับขนาดพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชอบ
เจ้าหน้าที่ดับเพลิง กทม. จะต้องรับผิดชอบพื้นที่มากถึง 32.68 ตร.กม. ต่อสถานี ในขณะที่สิงคโปร์ 14.27 ตร.กม. กรุงโตเกียว 7.57 ตร.กม. และกรุงโซล 4.39 ตร.กม. ตามลำดับ
การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้ว่าฯ กทม. ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 – 2564 สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมืองได้มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยของกรุงเทพฯ เฉลี่ย 325.31 ล้านบาทต่อปี หรือร้อยละ 0.49 ของงบประมาณทั้งหมด โดยใช้งบประมาณไปกับการจัดหาวัสดุอุปกรณ์และยานพาหนะร้อยละ 66 ของงบประมาณดังกล่าว ประกอบด้วยการจัดหารถปฏิบัติการกู้ภัยสารเคมีและวัตถุอันตราย การจัดหารถยนต์ปฏิบัติการกู้ภัยและช่วยชีวิตจากอาคารถล่ม และการจัดหารถจักรยานยนต์ดับเพลิง
แม้ว่าที่ผ่านมาในยุคสมัยของผู้ว่าฯ อัศวิน จะมีการใช้งบประมาณหลายร้อยล้านบาทไปกับการบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยของคนกรุง แต่ TDRI ยังพบอุปสรรคในการป้องกันไฟไหม้ใน กทม. 3 ข้อคือ (1) อุปกรณ์และยานพาหนะมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่พร้อมใช้งาน และขาดการซ่อมบำรุงอย่างต่อเนื่อง (2) ขาดแคลนบุคลากรปฏิบัติงาน (3) พื้นที่ความรับผิดชอบเฉลี่ยของสถานีดับเพลิงในเขตกรุงเทพฯ กว้างเกินไป ทำให้การเข้าถึงที่เกิดเหตุใช้เวลานานและช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ทันท่วงที
จากเหตุการณ์ไฟไหม้ 3 ครั้งใน 1 เดือนที่ผ่านมา ที่มาพร้อมกับการรับตำแหน่งใหม่ของ ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชาวกรุงเทพฯ ก็ได้แต่หวังว่างบประมาณที่ใช้กับการบรรเทาสาธารณภัยจะถูกยกขึ้นมาเป็นวาระสำคัญ จัดสรรให้มีประสิทธิภาพ และถอดบทเรียนเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้ตัวเลขนี้สูงขึ้นทุกปี
Sources :
Springnews | t.ly/FK6n
Thai PBS News | https://youtu.be/CO9jlA2Ca6U
ประชาไท | t.ly/jM-a