สาย 8 เจ้าเก่ามีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498
ถ้าพูดถึงรถเมล์กรุงเทพฯ ที่คนจดจำมากที่สุดสายหนึ่ง เชื่อว่าผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงต้องมี ‘สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ’ อย่างแน่นอน…
ตำนานรถเมล์สายซิ่ง
ที่ขึ้นชื่อลือชาขนาดนี้…ก็เพราะรถเมล์สาย 8 แห่งกรุงเทพมหานคร ถูกขนานนามเป็นรถโดยสารที่ให้บริการด้วยความไวดุจสายฟ้า บูมเมอร์สรู้ มิลเลนเนียลส์รู้ เอ็กซ์แพต (Expat) บางคนยังรู้ ผมเองก็ไม่ทันถามคนรุ่นคุณปู่เหมือนกันว่ารถเมล์สาย 8 ยุคแรกๆ วิ่งแรงแซงทุกคันขนาดไหน แต่ภาพสาย 8 เกิดอุบัติเหตุจนหน้าบู้บี้นี้มีให้เห็นตั้งแต่สมัยเป็นภาพฟิล์มขาวดำแล้ว และไม่ว่าภาพขาวดำนั้นจะเป็นเครื่องยืนยันความเก๋ามาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อยังเด็ก หรือเป็นแค่เหตุการณ์เดียวที่บังเอิญมาตรงกับความรู้สึกในใจของคนยุคปัจจุบัน แต่ในปีนี้…ภาพลักษณ์ของรถเมล์สาย 8 จะเปลี่ยนไป หลังจาก ขสมก. กลับมาวิ่งรถเมล์สายนี้เองอีกครั้งในรอบสามสิบกว่าปี…
วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสาย 8 ก็ว่าได้ หลังเอกชนผู้เดินรถปรับอากาศเจ้าเดิมอย่าง บริษัท ซิตี้บัส จำกัด ผลัดใบให้หน่วยงานรัฐอย่าง ขสมก. เข้ามาเดินรถแทนที่ ซึ่งงานนี้ ขสมก. ก็ทุ่มทุนด้วยการนำรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่เข้ามาให้บริการถึง 25 คัน (ทำเอาคนชอบรถเมล์เองยังรู้สึกเซอร์ไพรส์) ถือเป็นครั้งแรกบนถนนร่มเกล้า และป้ายรถเมล์หน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีรถเมล์ชานต่ำ (Low Entry) วิ่งผ่าน เป็นตัวเลือกใหม่ที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะคนใช้รถเข็น เพราะไม่มีบันไดบริเวณประตูมาเป็นอุปสรรคในการขึ้น-ลงอีกต่อไป
Nerd Note : สาย 8 เป็นรถเมล์สายเลขโดดเส้นทางแรกของกรุงเทพฯ ที่ใช้รถเมล์ชานต่ำ (Low Entry) ในปี 2564 รถเมล์สาย 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ยังใช้รถรุ่นที่มีบันไดบริเวณประตูทั้งหมด
แต่ด้วยเส้นทางจาก เคหะชุมชนร่มเกล้า ถึงสะพานพุทธ ไกลเท่ากับฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร (ระยะการเดินรถเท่ากับสาย 73ก สวนสยาม-สะพานพุทธ) ต้องฝ่าดงรถติดตั้งแต่สุขาฯ 3 ลำสาลี โดยเฉพาะ ‘ลาดพร้าว’ ที่ติดร้าวยันเที่ยงคืน ทำให้ ขสมก. ต้องแบ่งการให้บริการรถปรับอากาศสายนี้เป็น
รถที่วิ่งเต็มเส้นทาง : เคหะฯ ร่มเกล้า-สะพานพุทธ
รถเสริม วิ่งตัดช่วง : เคหะฯ ร่มเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยฯ
เพื่อให้ ไป-กลับ ทันเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงของพนักงาน 1 กะ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมชาวลาดพร้าวถึงเจอสายที่วิ่งยาวๆ อย่าง 73ก 514 ซึ่งมีแต่รถเสริมอยู่บ่อยๆ (บางครั้งก็บ่อยไป)
จริงๆ แต่เดิมเส้นทางของสาย 8 ไม่ได้วิ่งไกลขนาดนี้ ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2475 ว่ากันว่าเป็นปีที่รถเมล์สาย 8 ของกรุงเทพฯ เปิดให้บริการครั้งแรก ในเส้นทางพระบรมรูปทรงม้า-เยาวราช-สะพานพุทธ* เป็นปีเดียวกันกับที่สะพานพุทธเปิดใช้ครั้งแรกพร้อมกับการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี โดยมี ‘บริษัท นายเลิศ จำกัด’ หรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “รถเมล์ขาวนายเลิศ” ผู้ขึ้นชื่อเรื่องบริการดี ด้วยสโลแกน ‘สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย’ เป็นผู้ให้บริการ
* อ้างอิงข้อมูลจากนายเลิศปาร์คเฮอริเทจโฮม
เส้นทางสาย 8 ที่เราคุ้นกัน เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2498 หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดเลขสายรถเมล์ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ในเอกสารระบุเส้นทางสาย 8 วิ่งระหว่าง ‘ตลาดหมอชิต-สะพานพุทธ’ มีต้นทางอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ระหว่าง กม.8 และ 9 (ปีนั้นยังไม่มีสถานีขนส่งหมอชิต) ตรงผ่านสะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถี ในปัจจุบัน) ถนนพระรามที่ 6 สะพานเสาวนีย์ มหานาค วัดสระเกศฯ ถนนวรจักร ถนนจักรวรรดิ์ ถนนจักรเพชร ปลายทางที่ถนนข้างสะพานพุทธฝั่งขาเข้า ต่อมาขยายต้นทางถึงสามแยกลาดพร้าวใน พ.ศ. 2505 (ที่เรียก ‘สามแยก’ เพราะยังไม่ตัดถนนวิภาวดีฯ) แล้วขยายเข้าถนนลาดพร้าว ตามความเจริญที่มาถึงแค่สะพาน 2 ใน พ.ศ. 2508 ซึ่งยังคงให้บริการโดยรถเมล์นายเลิศเสมอมา
Nerd Note : ‘ตลาดหมอชิต’ จากบทความ ‘มารู้จักตัวจริง “หมอชิต” หมอที่คนไทยพูดถึงเยอะที่สุด เป็นใคร?’ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542 โดยอเนก นาวิกมูล กล่าวน่าจะตั้งอยู่ริมคลองบางซื่อ ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารธนชาต สาขาตลาดหมอชิต ที่แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางซื่อเช่นกัน
จนมาถึงการสิ้นสุดของรถเมล์นายเลิศใน พ.ศ. 2518 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมติควบรวมกิจการรถเมล์ทั้งกรุงเทพฯ ให้เป็นของ บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด (ต่อมา มหานครขนส่ง ได้แปรสภาพเป็น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.) ก็ทำให้รถเมล์สาย 8 ตกเป็นของ ขสมก. ไปด้วย ระหว่างนั้นสาย 8 ได้ขยายต้นทางต่อไปจนสุดถนนลาดพร้าว แล้วเข้าถนนแฮปปี้แลนด์ ใน พ.ศ. 2525 (แต่มาไม่ทันสวนสนุกแฮปปี้แลนด์) หลังรับช่วงต่อจากนายเลิศได้ราวสิบปี ขสมก. ก็ตัดสินใจขายออกไปให้เอกชนเดินรถอีกครั้ง ทำให้สาย 8 ที่วิ่งโดย ขสมก. ในตอนนั้นเป็นยุคที่มีคนพูดถึงน้อยที่สุดก็ว่าได้ ผมมักได้ยินคุณลุงอดีตนักเรียนสวนกุหลาบพูดว่านั่งสาย 8 รถเมล์นายเลิศ ลาดพร้าว-สะพานพุทธ แล้วข้ามรุ่นมาก็ยังได้ยินสรรพคุณสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ รถเมล์เอกชนร่วมบริการที่โจษจันโดยคนทุกวันนี้อยู่เลย
เคยนั่งรถเมล์สาย 8 ไหม…แล้วครั้งแรกเป็นอย่างไร?
เคยนั่งรถเมล์สาย 8 ไหม…แล้วครั้งแรกเป็นอย่างไร? ประสบการณ์เปิดซิงสาย 8 ของคุณเป็นแบบไหน สำหรับผมคือทริปสิบขวบตอนปี 2544 ที่เจอทั้งการขับฝ่าไฟแดง-ขับแข่ง-ขับปาด-ขับสวนเลน-เร่งเครื่อง-ด่าผู้โดยสาร ปิดท้ายด้วยรถเสียขณะวิ่งข้ามสะพานห้าแยกลาดพร้าวในคราวเดียว พอลงจากรถมาได้ เลยปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ขึ้นรถเมล์สาย 8 อีกเลย แต่ก็จับพลัดจับผลูได้ขึ้นอีกครั้งตอนกลับจากเที่ยวงานภูเขาทองกับเพื่อนสมัยมหา’ลัย จำได้ว่าสาย 8 ในเที่ยงคืนวันนั้นพาผมกับเพื่อนและผู้โดยสารที่ยืนแน่นเต็มคันวาร์ปมาถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ อย่างรวดเร็วราวกับรถเมล์อัศวินราตรีในแฮร์รี่ พอตเตอร์!!!
ดีกรีนักซิ่งสายฟ้า
หลายคนสงสัยว่า DNA ความเร็วของรถเมล์สาย 8 ได้แต่ใดมา?
คุณลองจินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้าได้ประกอบอาชีพคนขับหรือกระเป๋ารถเมล์เอกชนที่ต้องทำงานเกิน 12 ชั่วโมง/วัน เงินเดือนขึ้นอยู่กับ ‘ปริมาณตั๋วที่ขายได้’ และในสายเดียวกันยังมีรถจากบริษัทอื่นมาร่วมวิ่งด้วย ซึ่งเส้นทางสาย 8 สายเดียว มีผู้ประกอบการมากถึง 3 บริษัท ยิ่งผู้โดยสารเยอะ รถก็ต้องยิ่งเยอะตาม พอรถยิ่งเยอะ ก็เกิดการแข่งขันกันหารายได้ ในช่วงยี่สิบปีก่อนพูดได้ว่าสาย 8 มีรถปล่อยออกจากท่าต้นทาง-ปลายทาง ถี่กว่ารถไฟฟ้า วงจรนี้ทำให้การแข่งขันในเส้นทางสาย 8 ดุเดือดจนติดแรงก์รถเมล์เอกชนที่ถูกร้องเรียนเรื่อยมา
จนมา พ.ศ. 2550 ภาพจำรถเมล์สาย 8 ก็ถูกยกเครื่องใหม่ ด้วยผู้ประกอบการรายที่ 4 อย่าง ‘ซิตี้บัส’ ที่เข้ามาให้บริการรถปรับอากาศและขยายต้นทางจากแฮปปี้แลนด์ ออกไปไกลถึง ‘เคหะฯ ร่มเกล้า’ โดยใช้ชื่อสายว่า ‘ปอ.8’* ชื่อนี้ดูเหมือนเป็นการ Spin-off แบรนด์ตัวเองออกจาก ‘สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ’ เจ้าเก่าที่สั่งสมชื่อเสียงมายาวนานกว่าสองทศวรรษ
* ปอ.8 ของซิตี้บัส เป็นการเดินรถปรับอากาศตามใบอนุญาตเส้นทาง ‘สาย 8’ ซึ่งเป็นคนละเส้นทางกับใบอนุญาตเส้นทาง ‘สาย ปอ.8’ ปากน้ำ-ท่าราชวรดิฐ ในช่วง พ.ศ. 2519 – 2544 หรือ สาย 508 ในปัจจุบัน
ยกเครื่องสาย 8
ไม่ใช่แค่รถใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้รถเมล์แบบ Semi low floor (มีสเต็ปตรงประตูเพียงขั้นเดียว) ด้วยรูปลักษณ์รถ ปอ. คันรถสีเหลืองจากประเทศจีน ซึ่งมีห้องโดยสารสูงโปร่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในกรุงเทพฯ จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้รถเมล์อยู่ไม่น้อย ถึงกับมีขาประจำสาย 8 มาเขียนรีวิวแชร์ความดีใจลงเว็บ BlogGang แม้ตอนที่ผมไปลองนั่งเล่นครั้งแรกจะเห็นบางคนมองอย่างงงๆ ไม่กล้าขึ้น แต่ซิตี้บัสเองก็เตรียมแผน ‘ให้บริการฟรี’ ตลอดช่วงทดลองวิ่งไว้ เรียกได้ว่าเป็นรถร่วมฯ ของเอกชนที่สร้างมาตรฐานนำหน้ารถเมล์ของรัฐอย่าง ขสมก. ไปแล้วหนึ่งก้าวในยุคนั้น
ผลตอบรับของสาย 8 รถปรับอากาศ ก็ฮอตฮิตอยู่ไม่น้อย ช่วงสะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ คนแน่นไม่แพ้สาย 8 รถธรรมดา (รถร้อน) ช่วงแฮปปี้แลนด์-เคหะฯ ร่มเกล้า ก็ชิงส่วนแบ่งทางตลาดกับรถตู้ และรถเมล์สาย 514 ที่เดิมแต่ละคันก็คนแน่นจนรถแทบแตก แม้เส้นทางเคหะฯ ร่มเกล้า-สะพานพุทธ จะวิ่งอ้อมเป็นรูปตัว M แต่ดูจะไม่มีกิโลเมตรไหนที่สูญเปล่า ซิตี้บัสจึงตัดสินใจเพิ่มรถจนทำให้ในเวลานั้นสัมปทานสาย 8 สายเดียวมีรถเมล์ให้บริการเกิน 100 คัน!!!
เชื่อไหม แม้มีรถเกิน 100 คัน แต่รายได้สาย 8 ต่อวันก็ยังสูงอยู่ดี สำหรับวงการรถเมล์กรุงเทพฯ รายได้รถร้อนอยู่ที่ราว 5,000 – 6,000 บาทต่อคัน ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมาก ส่วนรถ ปอ. อดีตพี่กระเป๋ารถเมล์เล่าให้ฟังว่า รายได้ 9,000 บาทต่อคันเป็น ‘ค่าเฉลี่ย’ ของสายนี้ เพราะมีรถส่วนหนึ่งที่เก็บค่าโดยสารได้ ‘เกิน 10,000 บาทต่อคันต่อวัน’ ในยุครุ่งเรืองที่สุดของรถเมล์สายนี้ เราจะเห็นรถเมล์สาย 8 บนถนนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงตีสามขณะที่รถ ปอ. เที่ยวสุดท้ายของเมื่อวานกำลังวิ่งขากลับผ่านถนนลาดพร้าว ก็จะเห็นรถร้อนเที่ยวแรกของวันใหม่ออกวิ่งไปยังสะพานพุทธแล้ว…
Nerd Note : ในยุคนั้นสาย 8 เที่ยวสุดท้ายจะวิ่งมาเจอกับสาย 514 เที่ยวสุดท้ายเสมอ บางวันก็ขับแข่งกันบ้าง เพราะรถเมล์สองสายนี้วิ่งจากลาดพร้าวไปสุขาภิบาล 3 เหมือนกัน
แล้วบรรทัดก่อนใครกันปฏิญาณว่าจะไม่ขึ้นรถเมล์สาย 8?
เอาจริงๆ ผมก็ไม่คิดว่าโตมาชีวิตจะหักเหเป็นมนุษย์ออฟฟิศย่านอารีย์ที่ต้องโหนสาย 8 ไป-กลับ ทุกวัน และเหมือนเทวดาแกล้งให้สาย 8 ปอ. ขาดสภาพคล่องในปีนั้น มีรถน้อยลงมากจนคันสุดท้ายหมดจากต้นทางตั้งแต่หัวค่ำ แล้วผมเลือกอะไรได้ไหม เลิกงานดึกทีไรก็ต้องโหนสาย 8 รถร้อนกลับบ้านเสมอ พอเจอกันบ่อยเข้าถึงได้รู้ว่าไม่ใช่สาย 8 ทุกคันจะซิ่งอย่างที่เขาหลอกลวง ถ้าถามว่าสาย 8 ขับโหดที่สุดในกรุงเทพฯ เลยไหม วันนี้ผมกล้าตอบเลยว่า “ไม่ใช่” ที่ขับดีก็มี ที่ขับหวานเย็นจนหลับก็เคยเจอ
เพราะรถเมล์เอกชน ตั๋วทุกใบคือรายได้ต่อวันของเขา
พอหลังๆ วิถีชีวิตในย่านการค้าสำคัญในเมืองเก่าถูกทำให้หายไปทั้งสะพานเหล็ก (คลองโอ่งอ่าง) เวิ้งนาครเขษม และตลาดนัดสะพานพุทธในตอนกลางคืน ไม่กี่ปีมานี้รถเมล์สาย 8 จึงมีน้อยลงไม่ถึงร้อยคันอีกต่อไป รถร้อนคันสุดท้ายแค่ห้าทุ่ม…ดวงดีหน่อยก็ห้าทุ่มกว่า…วันไหนลืมเช็กดวงสี่ทุ่มก็หมดจากสะพานพุทธแล้ว
พอมาเจอ COVID-19 ระบาด เรื่องรายได้ไม่ต้องพูดถึง ฤดูร้อนปี 2563 ครั้งแรกที่ประเทศไทยล็อกดาวน์ ซิตี้บัสถึงกับต้องหยุดวิ่งรถ ปอ. ไปชั่วคราว ก่อนจะกลับมาวิ่งใหม่แต่ก็กลายเป็นของหายากระดับ Rare Item ยิ่งรถเมล์กลายเป็นขนส่งสาธารณะเดียวที่ต้องรักษาระยะห่าง รับผู้โดยสารได้น้อยลง แต่ระหว่างนั้นก็ยังไม่มีการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ รถเมล์เมืองไทยที่ไม่เคยได้ Subsidise อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอการระบาดซ้ำเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่รถเมล์สาย 8 ที่ช้ำ แต่สายอื่นๆ ก็ทรุดหนักไปตามๆ กัน บนหน้าข่าวนำเสนอว่าจากที่รถร่วมฯ เอกชนเคยมีถึง 2,500 คัน ก็ต้องลดเหลือเพียง 400 คัน บางคันหักต้นทุนต่อวันเหลือเงินส่งเข้าบริษัทแค่หนึ่งบาท ผู้ประกอบการที่ทนแบกภาระต้นทุนไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการไป
การเข้ามาแทนที่ในเส้นทางสาย 8 ของ ขสมก. เวลานี้อาจเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้โดยสารอย่างเราๆ ได้มีรถเมล์ใหม่ ขึ้น-ลงสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง แต่ในเวลาเดียวกัน การที่จำนวนรถเมล์เอกชนค่อยๆ หายไปๆ จากเมืองจนเหลืออัตราส่วนแค่ 1 ใน 6 ก็อาจชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องปากท้องประชาชน และการขนส่งสาธารณะ ว่าคนที่มีหน้าที่ให้คุณค่าสิ่งเหล่านี้ มองเห็นปัญหาและลงมือแก้ไขมันมากน้อยเพียงใด