สาย 8 จาก พ.ศ. 2498 สู่รถแบบใหม่ของไทยโดย ขสมก. - Urban Creature

สาย 8 เจ้าเก่ามีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2498

ถ้าพูดถึงรถเมล์กรุงเทพฯ ที่คนจดจำมากที่สุดสายหนึ่ง เชื่อว่าผู้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงต้องมี ‘สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ’ อย่างแน่นอน…

รถเมล์สาย8

ตำนานรถเมล์สายซิ่ง

ที่ขึ้นชื่อลือชาขนาดนี้…ก็เพราะรถเมล์สาย 8 แห่งกรุงเทพมหานคร ถูกขนานนามเป็นรถโดยสารที่ให้บริการด้วยความไวดุจสายฟ้า บูมเมอร์สรู้ มิลเลนเนียลส์รู้ เอ็กซ์แพต (Expat) บางคนยังรู้ ผมเองก็ไม่ทันถามคนรุ่นคุณปู่เหมือนกันว่ารถเมล์สาย 8 ยุคแรกๆ วิ่งแรงแซงทุกคันขนาดไหน แต่ภาพสาย 8 เกิดอุบัติเหตุจนหน้าบู้บี้นี้มีให้เห็นตั้งแต่สมัยเป็นภาพฟิล์มขาวดำแล้ว และไม่ว่าภาพขาวดำนั้นจะเป็นเครื่องยืนยันความเก๋ามาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อยังเด็ก หรือเป็นแค่เหตุการณ์เดียวที่บังเอิญมาตรงกับความรู้สึกในใจของคนยุคปัจจุบัน แต่ในปีนี้…ภาพลักษณ์ของรถเมล์สาย 8 จะเปลี่ยนไป หลังจาก ขสมก. กลับมาวิ่งรถเมล์สายนี้เองอีกครั้งในรอบสามสิบกว่าปี…

วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของสาย 8 ก็ว่าได้ หลังเอกชนผู้เดินรถปรับอากาศเจ้าเดิมอย่าง บริษัท ซิตี้บัส จำกัด ผลัดใบให้หน่วยงานรัฐอย่าง ขสมก. เข้ามาเดินรถแทนที่ ซึ่งงานนี้ ขสมก. ก็ทุ่มทุนด้วยการนำรถเมล์ปรับอากาศรุ่นใหม่เข้ามาให้บริการถึง 25 คัน (ทำเอาคนชอบรถเมล์เองยังรู้สึกเซอร์ไพรส์) ถือเป็นครั้งแรกบนถนนร่มเกล้า และป้ายรถเมล์หน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี ที่มีรถเมล์ชานต่ำ (Low Entry) วิ่งผ่าน เป็นตัวเลือกใหม่ที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสาร โดยเฉพาะคนใช้รถเข็น เพราะไม่มีบันไดบริเวณประตูมาเป็นอุปสรรคในการขึ้น-ลงอีกต่อไป 

Nerd Note : สาย 8 เป็นรถเมล์สายเลขโดดเส้นทางแรกของกรุงเทพฯ ที่ใช้รถเมล์ชานต่ำ (Low Entry) ในปี 2564 รถเมล์สาย 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ยังใช้รถรุ่นที่มีบันไดบริเวณประตูทั้งหมด

รถเมล์สาย8

แต่ด้วยเส้นทางจาก เคหะชุมชนร่มเกล้า ถึงสะพานพุทธ ไกลเท่ากับฟูลมาราธอน 42 กิโลเมตร (ระยะการเดินรถเท่ากับสาย 73ก สวนสยาม-สะพานพุทธ) ต้องฝ่าดงรถติดตั้งแต่สุขาฯ 3 ลำสาลี โดยเฉพาะ ‘ลาดพร้าว’ ที่ติดร้าวยันเที่ยงคืน ทำให้ ขสมก. ต้องแบ่งการให้บริการรถปรับอากาศสายนี้เป็น

รถที่วิ่งเต็มเส้นทาง : เคหะฯ ร่มเกล้า-สะพานพุทธ
รถเสริม วิ่งตัดช่วง : เคหะฯ ร่มเกล้า-อนุสาวรีย์ชัยฯ

เพื่อให้ ไป-กลับ ทันเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงของพนักงาน 1 กะ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมชาวลาดพร้าวถึงเจอสายที่วิ่งยาวๆ อย่าง 73ก 514 ซึ่งมีแต่รถเสริมอยู่บ่อยๆ (บางครั้งก็บ่อยไป)

รถเมล์สาย8

จริงๆ แต่เดิมเส้นทางของสาย 8 ไม่ได้วิ่งไกลขนาดนี้ ย้อนกลับไปใน พ.ศ. 2475 ว่ากันว่าเป็นปีที่รถเมล์สาย 8 ของกรุงเทพฯ เปิดให้บริการครั้งแรก ในเส้นทางพระบรมรูปทรงม้า-เยาวราช-สะพานพุทธ* เป็นปีเดียวกันกับที่สะพานพุทธเปิดใช้ครั้งแรกพร้อมกับการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี โดยมี ‘บริษัท นายเลิศ จำกัด’ หรือที่คนทั่วไปเรียกติดปากว่า “รถเมล์ขาวนายเลิศ” ผู้ขึ้นชื่อเรื่องบริการดี ด้วยสโลแกน ‘สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรแต่น้อย’ เป็นผู้ให้บริการ

* อ้างอิงข้อมูลจากนายเลิศปาร์คเฮอริเทจโฮม

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 สมัยเป็นรถเมล์นายเลิศ โดยนายเลิศปาร์คเฮอริเทจโฮม

เส้นทางสาย 8 ที่เราคุ้นกัน เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2498 หลังมีประกาศราชกิจจานุเบกษากำหนดเลขสายรถเมล์ในจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ในเอกสารระบุเส้นทางสาย 8 วิ่งระหว่าง ‘ตลาดหมอชิต-สะพานพุทธ’ มีต้นทางอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ระหว่าง กม.8 และ 9 (ปีนั้นยังไม่มีสถานีขนส่งหมอชิต) ตรงผ่านสะพานควาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถี ในปัจจุบัน) ถนนพระรามที่ 6 สะพานเสาวนีย์ มหานาค วัดสระเกศฯ ถนนวรจักร ถนนจักรวรรดิ์ ถนนจักรเพชร ปลายทางที่ถนนข้างสะพานพุทธฝั่งขาเข้า ต่อมาขยายต้นทางถึงสามแยกลาดพร้าวใน พ.ศ. 2505 (ที่เรียก ‘สามแยก’ เพราะยังไม่ตัดถนนวิภาวดีฯ) แล้วขยายเข้าถนนลาดพร้าว ตามความเจริญที่มาถึงแค่สะพาน 2 ใน พ.ศ. 2508 ซึ่งยังคงให้บริการโดยรถเมล์นายเลิศเสมอมา

Nerd Note : ‘ตลาดหมอชิต’ จากบทความ ‘มารู้จักตัวจริง “หมอชิต” หมอที่คนไทยพูดถึงเยอะที่สุด เป็นใคร?’ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2542 โดยอเนก นาวิกมูล กล่าวน่าจะตั้งอยู่ริมคลองบางซื่อ ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารธนชาต สาขาตลาดหมอชิต ที่แต่เดิมตั้งอยู่บริเวณริมคลองบางซื่อเช่นกัน

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 สมัยเป็นรถเมล์นายเลิศ จากหนังสือ Far East Buses – Bangkok – Part One Trams and Buses to 1976

จนมาถึงการสิ้นสุดของรถเมล์นายเลิศใน พ.ศ. 2518 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีมติควบรวมกิจการรถเมล์ทั้งกรุงเทพฯ ให้เป็นของ บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด (ต่อมา มหานครขนส่ง ได้แปรสภาพเป็น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.) ก็ทำให้รถเมล์สาย 8 ตกเป็นของ ขสมก. ไปด้วย ระหว่างนั้นสาย 8 ได้ขยายต้นทางต่อไปจนสุดถนนลาดพร้าว แล้วเข้าถนนแฮปปี้แลนด์ ใน พ.ศ. 2525 (แต่มาไม่ทันสวนสนุกแฮปปี้แลนด์) หลังรับช่วงต่อจากนายเลิศได้ราวสิบปี ขสมก. ก็ตัดสินใจขายออกไปให้เอกชนเดินรถอีกครั้ง ทำให้สาย 8 ที่วิ่งโดย ขสมก. ในตอนนั้นเป็นยุคที่มีคนพูดถึงน้อยที่สุดก็ว่าได้ ผมมักได้ยินคุณลุงอดีตนักเรียนสวนกุหลาบพูดว่านั่งสาย 8 รถเมล์นายเลิศ ลาดพร้าว-สะพานพุทธ แล้วข้ามรุ่นมาก็ยังได้ยินสรรพคุณสาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ รถเมล์เอกชนร่วมบริการที่โจษจันโดยคนทุกวันนี้อยู่เลย

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 สมัยที่ ขสมก. วิ่งครั้งแรก ในช่วงทศวรรษ 1980s

เคยนั่งรถเมล์สาย 8 ไหม…แล้วครั้งแรกเป็นอย่างไร?

เคยนั่งรถเมล์สาย 8 ไหม…แล้วครั้งแรกเป็นอย่างไร? ประสบการณ์เปิดซิงสาย 8 ของคุณเป็นแบบไหน สำหรับผมคือทริปสิบขวบตอนปี 2544 ที่เจอทั้งการขับฝ่าไฟแดง-ขับแข่ง-ขับปาด-ขับสวนเลน-เร่งเครื่อง-ด่าผู้โดยสาร ปิดท้ายด้วยรถเสียขณะวิ่งข้ามสะพานห้าแยกลาดพร้าวในคราวเดียว พอลงจากรถมาได้ เลยปฏิญาณกับตัวเองว่าจะไม่ขึ้นรถเมล์สาย 8 อีกเลย แต่ก็จับพลัดจับผลูได้ขึ้นอีกครั้งตอนกลับจากเที่ยวงานภูเขาทองกับเพื่อนสมัยมหา’ลัย จำได้ว่าสาย 8 ในเที่ยงคืนวันนั้นพาผมกับเพื่อนและผู้โดยสารที่ยืนแน่นเต็มคันวาร์ปมาถึงอนุสาวรีย์ชัยฯ อย่างรวดเร็วราวกับรถเมล์อัศวินราตรีในแฮร์รี่ พอตเตอร์!!!

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 ของเอกชนกับป้ายไฟบนประตูที่ไม่บอกเลขสาย แค่เอ่ยแท็กไลน์ชื่อเส้นทางคนก็จำได้!…?!

ดีกรีนักซิ่งสายฟ้า

รถเมล์สาย8

หลายคนสงสัยว่า DNA ความเร็วของรถเมล์สาย 8 ได้แต่ใดมา?

คุณลองจินตนาการเล่นๆ ว่า ถ้าได้ประกอบอาชีพคนขับหรือกระเป๋ารถเมล์เอกชนที่ต้องทำงานเกิน 12 ชั่วโมง/วัน เงินเดือนขึ้นอยู่กับ ‘ปริมาณตั๋วที่ขายได้’ และในสายเดียวกันยังมีรถจากบริษัทอื่นมาร่วมวิ่งด้วย ซึ่งเส้นทางสาย 8 สายเดียว มีผู้ประกอบการมากถึง 3 บริษัท ยิ่งผู้โดยสารเยอะ รถก็ต้องยิ่งเยอะตาม พอรถยิ่งเยอะ ก็เกิดการแข่งขันกันหารายได้ ในช่วงยี่สิบปีก่อนพูดได้ว่าสาย 8 มีรถปล่อยออกจากท่าต้นทาง-ปลายทาง ถี่กว่ารถไฟฟ้า วงจรนี้ทำให้การแข่งขันในเส้นทางสาย 8 ดุเดือดจนติดแรงก์รถเมล์เอกชนที่ถูกร้องเรียนเรื่อยมา

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 ท่าปลายทางบริเวณท่าเรือสะพานพุทธ ในยุคที่เอกชนเข้ามาเดินรถอีกครั้ง 

จนมา พ.ศ. 2550 ภาพจำรถเมล์สาย 8 ก็ถูกยกเครื่องใหม่ ด้วยผู้ประกอบการรายที่ 4 อย่าง ‘ซิตี้บัส’ ที่เข้ามาให้บริการรถปรับอากาศและขยายต้นทางจากแฮปปี้แลนด์ ออกไปไกลถึง ‘เคหะฯ ร่มเกล้า’ โดยใช้ชื่อสายว่า ‘ปอ.8’* ชื่อนี้ดูเหมือนเป็นการ Spin-off แบรนด์ตัวเองออกจาก ‘สาย 8 แฮปปี้แลนด์-สะพานพุทธ’ เจ้าเก่าที่สั่งสมชื่อเสียงมายาวนานกว่าสองทศวรรษ

* ปอ.8 ของซิตี้บัส เป็นการเดินรถปรับอากาศตามใบอนุญาตเส้นทาง ‘สาย 8’ ซึ่งเป็นคนละเส้นทางกับใบอนุญาตเส้นทาง ‘สาย ปอ.8’ ปากน้ำ-ท่าราชวรดิฐ ในช่วง พ.ศ. 2519 – 2544 หรือ สาย 508 ในปัจจุบัน

ยกเครื่องสาย 8

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 ช่วงปลายปี 2550 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการเดินรถปรับอากาศในเส้นทางสายนี้

ไม่ใช่แค่รถใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่ใช้รถเมล์แบบ Semi low floor (มีสเต็ปตรงประตูเพียงขั้นเดียว) ด้วยรูปลักษณ์รถ ปอ. คันรถสีเหลืองจากประเทศจีน ซึ่งมีห้องโดยสารสูงโปร่งอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในกรุงเทพฯ จึงสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้รถเมล์อยู่ไม่น้อย ถึงกับมีขาประจำสาย 8 มาเขียนรีวิวแชร์ความดีใจลงเว็บ BlogGang แม้ตอนที่ผมไปลองนั่งเล่นครั้งแรกจะเห็นบางคนมองอย่างงงๆ ไม่กล้าขึ้น แต่ซิตี้บัสเองก็เตรียมแผน ‘ให้บริการฟรี’ ตลอดช่วงทดลองวิ่งไว้ เรียกได้ว่าเป็นรถร่วมฯ ของเอกชนที่สร้างมาตรฐานนำหน้ารถเมล์ของรัฐอย่าง ขสมก. ไปแล้วหนึ่งก้าวในยุคนั้น

ผลตอบรับของสาย 8 รถปรับอากาศ ก็ฮอตฮิตอยู่ไม่น้อย ช่วงสะพานพุทธ-แฮปปี้แลนด์ คนแน่นไม่แพ้สาย 8 รถธรรมดา (รถร้อน) ช่วงแฮปปี้แลนด์-เคหะฯ ร่มเกล้า ก็ชิงส่วนแบ่งทางตลาดกับรถตู้ และรถเมล์สาย 514 ที่เดิมแต่ละคันก็คนแน่นจนรถแทบแตก แม้เส้นทางเคหะฯ ร่มเกล้า-สะพานพุทธ จะวิ่งอ้อมเป็นรูปตัว M แต่ดูจะไม่มีกิโลเมตรไหนที่สูญเปล่า ซิตี้บัสจึงตัดสินใจเพิ่มรถจนทำให้ในเวลานั้นสัมปทานสาย 8 สายเดียวมีรถเมล์ให้บริการเกิน 100 คัน!!!

เชื่อไหม แม้มีรถเกิน 100 คัน แต่รายได้สาย 8 ต่อวันก็ยังสูงอยู่ดี สำหรับวงการรถเมล์กรุงเทพฯ รายได้รถร้อนอยู่ที่ราว 5,000 – 6,000 บาทต่อคัน ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมาก ส่วนรถ ปอ. อดีตพี่กระเป๋ารถเมล์เล่าให้ฟังว่า รายได้ 9,000 บาทต่อคันเป็น ‘ค่าเฉลี่ย’ ของสายนี้ เพราะมีรถส่วนหนึ่งที่เก็บค่าโดยสารได้ ‘เกิน 10,000 บาทต่อคันต่อวัน’ ในยุครุ่งเรืองที่สุดของรถเมล์สายนี้ เราจะเห็นรถเมล์สาย 8 บนถนนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วงตีสามขณะที่รถ ปอ. เที่ยวสุดท้ายของเมื่อวานกำลังวิ่งขากลับผ่านถนนลาดพร้าว ก็จะเห็นรถร้อนเที่ยวแรกของวันใหม่ออกวิ่งไปยังสะพานพุทธแล้ว…

Nerd Note : ในยุคนั้นสาย 8 เที่ยวสุดท้ายจะวิ่งมาเจอกับสาย 514 เที่ยวสุดท้ายเสมอ บางวันก็ขับแข่งกันบ้าง เพราะรถเมล์สองสายนี้วิ่งจากลาดพร้าวไปสุขาภิบาล 3 เหมือนกัน

แล้วบรรทัดก่อนใครกันปฏิญาณว่าจะไม่ขึ้นรถเมล์สาย 8?

เอาจริงๆ ผมก็ไม่คิดว่าโตมาชีวิตจะหักเหเป็นมนุษย์ออฟฟิศย่านอารีย์ที่ต้องโหนสาย 8 ไป-กลับ ทุกวัน และเหมือนเทวดาแกล้งให้สาย 8 ปอ. ขาดสภาพคล่องในปีนั้น มีรถน้อยลงมากจนคันสุดท้ายหมดจากต้นทางตั้งแต่หัวค่ำ แล้วผมเลือกอะไรได้ไหม เลิกงานดึกทีไรก็ต้องโหนสาย 8 รถร้อนกลับบ้านเสมอ พอเจอกันบ่อยเข้าถึงได้รู้ว่าไม่ใช่สาย 8 ทุกคันจะซิ่งอย่างที่เขาหลอกลวง ถ้าถามว่าสาย 8 ขับโหดที่สุดในกรุงเทพฯ เลยไหม วันนี้ผมกล้าตอบเลยว่า “ไม่ใช่” ที่ขับดีก็มี ที่ขับหวานเย็นจนหลับก็เคยเจอ 

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 ที่บังเอิญได้ขึ้นเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่ซิตี้บัสให้บริการรถเมล์ โดยเหลือรถ ปอ. วิ่งเส้นทางนี้น้อยลงกว่าในอดีตมาก 

เพราะรถเมล์เอกชน ตั๋วทุกใบคือรายได้ต่อวันของเขา

พอหลังๆ วิถีชีวิตในย่านการค้าสำคัญในเมืองเก่าถูกทำให้หายไปทั้งสะพานเหล็ก (คลองโอ่งอ่าง) เวิ้งนาครเขษม และตลาดนัดสะพานพุทธในตอนกลางคืน ไม่กี่ปีมานี้รถเมล์สาย 8 จึงมีน้อยลงไม่ถึงร้อยคันอีกต่อไป รถร้อนคันสุดท้ายแค่ห้าทุ่ม…ดวงดีหน่อยก็ห้าทุ่มกว่า…วันไหนลืมเช็กดวงสี่ทุ่มก็หมดจากสะพานพุทธแล้ว

พอมาเจอ COVID-19 ระบาด เรื่องรายได้ไม่ต้องพูดถึง ฤดูร้อนปี 2563 ครั้งแรกที่ประเทศไทยล็อกดาวน์ ซิตี้บัสถึงกับต้องหยุดวิ่งรถ ปอ. ไปชั่วคราว ก่อนจะกลับมาวิ่งใหม่แต่ก็กลายเป็นของหายากระดับ Rare Item ยิ่งรถเมล์กลายเป็นขนส่งสาธารณะเดียวที่ต้องรักษาระยะห่าง รับผู้โดยสารได้น้อยลง แต่ระหว่างนั้นก็ยังไม่มีการอุดหนุนงบประมาณจากรัฐ รถเมล์เมืองไทยที่ไม่เคยได้ Subsidise อยู่แล้ว ยิ่งมาเจอการระบาดซ้ำเป็นปีๆ ไม่ใช่แค่รถเมล์สาย 8 ที่ช้ำ แต่สายอื่นๆ ก็ทรุดหนักไปตามๆ กัน บนหน้าข่าวนำเสนอว่าจากที่รถร่วมฯ เอกชนเคยมีถึง 2,500 คัน ก็ต้องลดเหลือเพียง 400 คัน บางคันหักต้นทุนต่อวันเหลือเงินส่งเข้าบริษัทแค่หนึ่งบาท ผู้ประกอบการที่ทนแบกภาระต้นทุนไม่ไหวก็ต้องเลิกกิจการไป

รถเมล์สาย8
ภาพรถเมล์สาย 8 หลังบริษัท ซิตี้บัส จำกัด ส่งไม้ต่อให้หน่วยงานรัฐอย่าง ขสมก. เข้ามาเดินรถแทน

การเข้ามาแทนที่ในเส้นทางสาย 8 ของ ขสมก. เวลานี้อาจเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้โดยสารอย่างเราๆ ได้มีรถเมล์ใหม่ ขึ้น-ลงสะดวกสบายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง แต่ในเวลาเดียวกัน การที่จำนวนรถเมล์เอกชนค่อยๆ หายไปๆ จากเมืองจนเหลืออัตราส่วนแค่ 1 ใน 6 ก็อาจชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจเรื่องปากท้องประชาชน และการขนส่งสาธารณะ ว่าคนที่มีหน้าที่ให้คุณค่าสิ่งเหล่านี้ มองเห็นปัญหาและลงมือแก้ไขมันมากน้อยเพียงใด 

Sources :
BloggangDailynews
Nai Lert Park Heritage Home

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.