สถานีกลางบางซื่อ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชน - Urban Creature

ผู้เขียนจำได้ว่าสมัยเดินทางไปมาเลเซียครั้งแรกช่วงปี 2559 รู้สึกประทับใจกับความเป็นระบบระเบียบของระบบขนส่งมวลชนในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ระบบขนส่งมวลชนที่ว่าคือรถไฟฟ้าบนดินที่แผนผังและกระบวนการซื้อตั๋วนั้นเข้าใจง่าย และยิ่งประทับใจมากขึ้นเมื่อเดินทางไปต่อรถที่ KL Sentral หรือศูนย์กลางของระบบทั้งหลายทั้งปวง

ใครจะเปลี่ยนสายรถไฟ ต่อรถไปสนามบิน หรือหารถบัสไปรัฐอื่นต้องมาลงที่นี่ บรรยากาศภายใน KL Sentral จึงไม่เคยว่างเว้นจากผู้คนที่เดินขวักไขว่กันไปมาราวกับมดงาน ภายในมีร้านอาหาร ร้านค้าให้ช้อปปิงรอเวลาพอประมาณ รวมถึงใครจะนัดเจอเพื่อนหรือนัดรับญาติที่มาจากต่างเมืองก็มากันที่นี่

หลังจากทริปนั้นผู้เขียนมีโอกาสได้กลับไปมาเลเซียอีก 2 ครั้งในช่วง 2 ปี และทุกครั้งก็ต้องมาเยือน KL Sentral เพื่อต่อรถรา 

ที่เล่าเรื่องของ KL Sentral เพราะในตอนนี้กรุงเทพฯ ก็มีสถานที่แบบนั้นแล้วในชื่อของ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ หรือ ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ สถานีรถไฟหลักของกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2564 แทนสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) ที่กำลังถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นยังพ่วงเป็นจุดเปลี่ยนสายของรถไฟฟ้าไปด้วย

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่ค่อนไปทางทิศเหนือของกรุงเทพฯ สถานีกลางบางซื่อเป็นประตูเปิดขึ้นไปยังจังหวัดปทุมธานี เส้นทางที่เปิดใช้งานแล้ว ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มที่มุ่งตรงไปยังหลักสี่ ดอนเมือง และแถวรังสิต ซึ่งในอนาคตทางการมีแผนจะขยายต่อไปให้ถึงอยุธยา 

ส่วนทิศอื่นๆ เช่น ตะวันออก บางซื่อก็ขยายต่อไปถึงฉะเชิงเทราได้ ในขณะที่ตะวันตกไปต่อได้ถึงนนทบุรีและนครปฐม เรียกได้ว่าด้วยตำแหน่งที่ตั้งของสถานีกลางบางซื่อ ในอนาคตเราอาจได้เห็นใยแมงมุมมากมายต่อขยายออกมาจากจุดนี้ 

จากพื้นที่รอบนอกสู่ชุมทางของเมืองหลวง

ปกติแล้วเมื่อพูดถึงสถานีรถไฟเก่าแก่เราจะนึกถึงหัวลำโพง แต่อันที่จริงชุมทางบางซื่อเองก็เก่าแก่พอๆ กัน 

ย้อนไปในอดีต บางซื่อก็เช่นเดียวกับพื้นที่นอกกรุงเทพฯ ชั้นในย่านอื่นๆ ที่มักเป็นเรือกสวนไร่นา จนกระทั่งทางการเริ่มทำถนนตัดผ่าน อาคารพาณิชย์และบ้านเรือนจึงเริ่มเพิ่มขึ้น สวนผลไม้ก็ค่อยๆ แปลงโฉมมาเป็นชุมชนร้านตลาด 

‘สถานีกลางบางซื่อ’ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชนที่มาพร้อมชื่อใหม่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

บางซื่อเองมีความเก่าแก่ในฐานะส่วนหนึ่งของระบบขนส่งมวลชนไทยไม่น้อยไปกว่าหัวลำโพง ที่นี่เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟระหว่างทางที่เข้าออกกรุงเทพฯ ชั้นใน จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีแผนเชื่อมทางรถไฟสายใต้และเล็งเห็นว่าสถานีบางซื่อนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งเหมาะสมที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อให้รถไฟสายใต้เข้ามายังกรุงเทพฯ 

‘สถานีกลางบางซื่อ’ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชนที่มาพร้อมชื่อใหม่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

จากวันนั้นสถานีบางซื่อได้รับการยกระดับเป็น ‘สถานีชุมทางบางซื่อ’ ซึ่งคำว่าชุมทางหมายถึงทางแยก บ่งชี้ว่าสถานีนี้มีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังสถานีอื่นๆ และต่อมาการรถไฟฯ เห็นว่าแถวบางซื่อยังมีพื้นที่เป็นทุ่งโล่งอยู่มาก จึงใช้บริเวณนี้เป็นจุดพักตู้สินค้าด้วยเช่นกัน 

ทำให้บางซื่อมีรูปโฉมของการเป็นสถานีสำคัญที่แวดล้อมด้วยตู้สินค้าจากรถไฟจำนวนมาก 

จุดเริ่มต้นของ ‘สถานีกลางบางซื่อ’

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2552 เมื่อรถไฟฟ้าเริ่มสร้างเส้นทางสายสีแดงเข้มเชื่อมบางซื่อ-รังสิต และสายสีแดงอ่อนเชื่อมบางซื่อ-ตลิ่งชัน เพื่อพัฒนาให้ระบบขนส่งมวลชนโตตามการขยายตัวของเมือง 

ชุมทางบางซื่อถูกเปลี่ยนเป็นสถานีกลางบางซื่อในปี 2556 สมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วยเป้าหมายสร้างจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุด เพราะไม่เพียงแต่ความเจริญที่แผ่ขยายขึ้นมาเรื่อยๆ แต่สถานีหลักอย่างหัวลำโพงที่ถูกขนาบด้วยชุมชนอันหนาแน่นนั้นไม่สามารถขยายพื้นที่ไปได้มากกว่านี้แล้ว บางซื่อจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

‘สถานีกลางบางซื่อ’ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชนที่มาพร้อมชื่อใหม่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

โครงการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อแล้วเสร็จในปี 2564 อาคารโอ่โถงขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดจากทางด่วนมีความยาวถึง 596.6 เมตร กว้าง 244 เมตร สูง 43 เมตร รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 274,192 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยชานชาลามากถึง 26 ชานชาลา เป็นชานชาลาของการรถไฟฯ 24 ชานชาลาซึ่งเดินทางไปได้ทุกทิศทั่วไทย และชานชาลาของรถไฟฟ้าอีก 2 ชานชาลา 

ความครบวงจรและขนาดอันมโหฬารของสถานีกลางบางซื่อ ทำให้ถูกยกย่องว่าเป็นสถานีรถไฟกลางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เทียบเท่ากับสถานีรถไฟกลางของเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น

ปมเปลี่ยนป้าย 33 ล้านสู่ดราม่าล่าสุด

อย่างไรก็ตาม สถานีแห่งนี้หนีไม่พ้นกระแสดราม่าเมื่อจู่ๆ มีข่าวออกมาว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมเปลี่ยนป้ายตัวอักษรขนาดใหญ่หน้าสถานีที่เขียนว่าสถานีกลางบางซื่อเป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งเป็นชื่อพระราชทาน

ความเปลี่ยนแปลงขัดใจใครหลายคนยังไม่พอ หากต้องใช้งบประมาณถึง 33 ล้านบาทอีกด้วย เนื่องจากตัวอักษรเป็นแผ่นโลหะขนาดใหญ่ที่ไม่เพียงต้องใช้เครื่องจักรสร้างขึ้นใหม่ แต่ยังต้องเปลี่ยนแผ่นกระจกที่รองรับน้ำหนักของตัวอักษรที่จะยาวขึ้นด้วยเช่นกัน 

‘สถานีกลางบางซื่อ’ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชนที่มาพร้อมชื่อใหม่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

ประเด็นนี้กลายเป็นดราม่าใหญ่เนื่องจากราคาค่าเปลี่ยนที่สูง ขณะเดียวกัน สังคมยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยว่าทำโดยวิธีใด เหตุใดผลจึงออกมาเป็นบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน)

ปมเปลี่ยนป้าย 33 ล้านกลายมาเป็นกระแสสังคมไปจนถึงตลกร้ายเมื่อชาวเน็ตท่านหนึ่งสร้างเว็บไซต์แบบ Interactive ให้คนเข้าไปเปลี่ยนข้อความของป้ายหน้าสถานีเป็นอะไรก็ได้กันแบบฟรีๆ 

ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทยยืนยันว่า ขั้นตอนและการใช้งบประมาณเปลี่ยนชื่อนั้นเป็นไปตามระเบียบ ทั้งยังถูกต้องตามหลักวิศวกรรม แต่ดูเหมือนว่าสังคมจะต้องการคำตอบที่ชัดเจนมากกว่านั้น

ลำพังข่าวการเปลี่ยนชื่อสถานีเพียงข่าวเดียวแยกย่อยไปสู่ข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมเอาสถานที่ในไทยที่เคยถูกเปลี่ยนชื่อมาแล้ว หรือประวัติการทำงานของบริษัทผู้รับเหมา

ในที่สุดหลังเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง วันที่ 10 มกราคม 2566 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ส่งหนังสือระงับโครงการให้แก่บริษัทผู้รับเหมาออกไปก่อน ทั้งนี้ไม่ใช่การยกเลิกโครงการแต่อย่างใด แต่เป็นการชะลอเพื่อรอระหว่างการพิจารณาเท่านั้น

‘สถานีกลางบางซื่อ’ จากชุมทางสู่จุดเชื่อมขนส่งมวลชนที่มาพร้อมชื่อใหม่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

หากเป็นในอดีต การเปลี่ยนชื่อสถานีหรือเปลี่ยนที่ตั้งของสถานีต่างๆ โดยรัฐคงไม่เผชิญกับเสียงวิจารณ์มากขนาดนี้ แต่เมื่อเกิดขึ้นในยุคที่ประชาชนมีสิทธิ์มีเสียงและตระหนักถึงความสำคัญของตนในฐานะผู้เสียภาษี ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับสาธารณชนแบบนี้ รัฐคงไม่สามารถคิดเองเออเองได้ตามใจชอบอีกต่อไป 

อันที่จริงทุกวันนี้มีเครื่องมือมากมายที่ใช้สื่อสารกับประชาชน ไม่ว่าจะช่องทางออนไลน์หรือการทำโพลสำรวจต่างๆ ที่หน่วยงานรัฐควรใช้สำรวจก่อนที่นำเงินมาใช้กับโครงการใดๆ ก็ตาม นอกจากจะช่วยไม่ให้เสียหน้าและเสียเวลาแล้ว ยังสร้างความรู้สึกว่าหน่วยงานนั้นๆ ทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย ไม่ใช่ทำงานแบบบนลงล่างโดยมีประชาชนอยู่ล่างสุดแบบที่เคย 

เพราะสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นประโยชน์อาจเป็นคนละมุมกับที่ประชาชนมอง อย่างกรณีเรื่องป้ายนี้ที่สุดท้ายแล้ว คนที่ใช้งานจริงๆ ต้องการชื่อที่สั้นเข้าใจง่าย และเมื่อชื่อได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนจนสถานีเปิดใช้งานจริงแล้วจึงไม่มีประโยชน์ที่จะเปลี่ยนมัน

Sources :
BBC | shorturl.at/EKOPW
Dailynews | shorturl.at/prtz8
NALT | shorturl.at/irtYZ
Prachatai | shorturl.at/pTWZ2
State Railway of Thailand | shorturl.at/uGIPW
Thairath | shorturl.at/JKQYZ
TNN | shorturl.at/jmtY1

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.