บางพลัด-บางอ้อ กำลังจะเป็นย่านสร้างสรรค์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
คนเก่าคนแก่รู้จักย่านนี้ในฐานะสวนขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนความเจริญต่างๆ เริ่มเข้ามาทีละน้อย ทั้งถนน สะพาน อาคารพาณิชย์ โรงไฟฟ้า และรถไฟฟ้า
นานวันเข้าพื้นที่สีเขียวค่อยๆ หายไป และเปลี่ยนโฉมเป็นโซนที่อยู่อาศัยและการค้า บางพลัดเป็นเส้นทางผ่านที่ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น และเป็นเหมือนม้านอกสายตาจากบรรดาย่านน่าสนใจอื่นๆ ของเมืองกรุง
ทั้งที่ความจริงแล้วที่นี่ยังซ่อนสิ่งต่างๆ ไว้อีกมาก ไม่เพียงแต่พหุวัฒนธรรมพุทธและอิสลามที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว ความรุ่มรวยทั้งสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตก็น่าสนใจ อีกทั้งยังมีภูมิปัญญาที่สืบทอดมาในชุมชนต่างๆ รวมถึงเรือกสวนแบบโบราณที่ยังหลงเหลืออยู่ แม้ไม่มากแต่ก็เป็นมรดกที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ยิ่งกว่านั้น ในเขตบางพลัดเริ่มมีสเปซของคนรุ่นใหม่ๆ ทยอยมาเติมแต่งให้อดีตย่านสวนฝั่งธนฯ นี้กลายเป็นพื้นที่ที่โอบรับสำหรับคนทุกวัย น่ามาเยือนและใช้ชีวิตด้วย
คอลัมน์ Neighboroot ขอชวนไปเยี่ยมอีกย่านสร้างสรรค์ที่กำลังจะจัดกิจกรรมตลอดปีนี้ ย้อนดูอัตลักษณ์ที่บ่งบอกความเป็นย่านบางพลัด-บางอ้อ ไม่ว่าจะเป็นสวนดั้งเดิมอายุกว่า 100 ปี สวนใหม่เจียนเก่าจากความทรงจำของครอบครัว พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของคนในย่าน และมัสยิดศูนย์รวมจิตใจของชาวแขกแพ
เหมือนกับหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ อดีตของบางพลัด-บางอ้อ คือพื้นที่สวนผลไม้ไกลสุดตา หากเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง’ สวนในย่านนี้ก็คือสวนหนึ่งของสวนในบางกอกที่มีอายุย้อนไปได้เป็นร้อยปี
สวนผลไม้สัมพันธ์กับอีกอัตลักษณ์ของย่านคือ ความเป็น ‘บาง’ ที่มีลำคลองสายเล็กๆ จากแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมเข้ามายังพื้นที่สวนกว่าสิบสาย และกระจายเป็นโครงข่ายท้องร่องขนาดมหึมา หล่อเลี้ยงสวนป่าในพื้นที่ตอนในที่อยู่ถัดเข้าไป
หากมองในระดับสายตาบนถนน ไม่มีทางรู้เลยว่าย่านนี้ยังมีสวนหลงเหลืออยู่ เพราะเต็มไปด้วยตึกรามห้องแถว แต่จากมุมมองแบบนกทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า วันนี้ย่านมีหย่อมสีเขียวแซมอยู่เป็นจำนวนไม่มากแล้ว จากสวนผลไม้กลายเป็นป่าคอนกรีต จนสวนเก่าแก่ในย่านนี้เหลือไม่กี่แห่ง
สวนป้าชุบ | สวนโบราณกลางชุมชนเมือง
“ป้าเกิดที่นี่เลย”
‘ป้าชุบ-บุญชุบ ตุงคะเกษตริน’ ในวัยย่างเข้า 85 ปี เกริ่นอย่างเป็นกันเองที่ใต้ถุนเรือนไทยอายุกว่าร้อยปี แต่เดิมเคยปลูกอยู่ที่ย่านบางกระบือ อีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนถอดแล้วชะลอมาประกอบใหม่ริมคลองมอญ ย่านบางอ้อ
บ้านเรือนไทยกลางสวนขนาด 1 ขนัด ร่มรื่นไปด้วยพรรณไม้ทั่วไป เป็นต้นว่าส้มโอ ชมพู่ มะม่วง เงาะ มังคุด มะละกอ พลู ฯลฯ ไปจนถึงต้นไม้โบราณหายากอย่างน้อยโหน่ง ชำมะเลียง และเต่าร้าง
เจ้าของบ้านเล่าว่า แต่เดิมมีพืชอื่นๆ อีกมากกว่านี้ ปลูกแบบปะปนกัน ยามท้องร่องตื้นเขินก็ลอกท้องร่องปีละครั้ง ดินที่ได้จากก้นน้ำก็เอามาเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ด้านบน เป็นวิถีออร์แกนิกแบบดั้งเดิมโดยไม่ต้องใช้เคมีบำรุงเหมือนสวนสมัยนี้ พอได้ผลผลิตก็พายเรือไปขายที่ตลาดบางกระบือ ตรงวัดจันทรสโมสร
“ตรงนั้นเป็นตลาดเช้า นั่งขายกันข้างถนน ตอนนั้นป้าอายุประมาณสิบขวบ ก็ไปขายส้มกับแม่ เพราะสวนที่พี่ชายอยู่มีส้มเขียวหวานเต็มเลย” ป้าชุบค่อยๆ หยิบเอาเรื่องราวในอดีตมาเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
เมื่อก่อนผลไม้ที่ขึ้นชื่อของย่านคือทุเรียนพันธุ์อีลวงและกระดุม เพราะรสชาติอร่อย เนื้อบาง เม็ดใหญ่ และยังเป็นพืชประจำถิ่นที่ปลูกกันแทบทุกสวนของบางพลัด-บางอ้อ ไปจนถึงจังหวัดนนทบุรี
หลายสิบปีก่อนหน้านี้ มีการสร้างโรงไฟฟ้าพระนครเหนือในพื้นที่ชายแดนของบางอ้อกับจังหวัดนนทบุรี ถัดขึ้นไปไม่ไกลนักจากสวนป้าชุบ ทุเรียนที่อ่อนไหวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศค่อยๆ ล้มตายลง
“พอโรงไฟฟ้ามาทุเรียนก็ตายหมด เพราะอากาศเสีย น้ำเสีย” ถัดมาชาวสวนบางอ้อก็ถูกซ้ำด้วยน้ำท่วมใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2554 แม้สวนแห่งนี้ถูกท่วมไม่นานนัก เพราะทำเลอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ทำให้ต้นไม้บางชนิดต้องตายไป และยังรวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบข้างที่ค่อยๆ รุกคืบเข้ามาอยู่ตลอด
ในวัยที่เดินเหินไม่สะดวก ป้าชุบบอกว่า ยังเข้าไปในสวนหลังบ้านอยู่บ้างเพื่อรดน้ำต้นส้มโอ หรือไม่ก็เอาเก้าอี้มานั่งดายหญ้า เป็นกิจวัตรเหมือนครั้งอดีตตามประสาชาวสวนบางอ้อ
‘อาจารย์ภูมิ ภูติมหาตมะ’ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้ร่วมผลักดันโครงการย่านสร้างสรรค์บางอ้อ-บางพลัด เล่าให้เราฟังว่า ครอบครัวข้ามแม่น้ำย้ายจากบ้านเกิดที่บางลำพูมาอยู่ที่บางอ้อ เพื่อเปิดโรงพิมพ์เมื่อหลายสิบปีก่อน อันเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของเมือง เมื่อสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ทำให้ความเจริญถ่ายเทมายังฝั่งธนฯ มากขึ้น จึงตามมาด้วยโครงการอสังหาริมทรัพย์น้อยใหญ่ผุดเป็นดอกเห็ด ที่รู้จักกันก็เช่น หมู่บ้านสมชายพัฒนาและหมู่บ้านสกุลชัย มาบุกเบิกที่สวนทำเป็นที่อยู่อาศัย
แม้ไม่ใช่บ้านเกิด แต่การมาอยู่ตั้งแต่ 5 ขวบ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจารย์ภูมิกลายเป็นสมาชิกชาวบางอ้อโดยสมบูรณ์ จึงทำให้เห็นแง่งามของย่านที่หลายคนหลงลืม
“ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีความเก่าแก่ มีฐานทุนทางวัฒนธรรมที่ไม่ได้ถูกสัมผัสเยอะ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีภูมิปัญญาชาวสวน มีกลุ่มตระกูล มีเรื่องเล่า ที่ไม่ถูกนำมารวบรวมถ่ายทอด เหมือนเป็นโซนสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ถูกมองข้ามไป”
ไม่ปฏิเสธว่าย่านต่างๆ มีความหลากหลายไม่เหมือนกัน แต่อาจารย์จากคณะโบราณคดีเผยกับเราว่า บางพลัด-บางอ้อมีความพิเศษ เพราะเป็นหนึ่งในย่านที่สามารถมองเห็นกรุงเทพฯ แบบดั้งเดิมได้ ไม่ว่าจะแง่มุมวิถีชีวิตที่ไม่หวือหวา ผู้คนอยู่กันอย่างเรียบง่าย และความเป็นสวน สมกับเป็นย่านชานเมืองกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อรถไฟฟ้าเดินทางมาถึงก็ทำให้หน้าตาของย่านเปลี่ยนไป มีอะไรใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และในอนาคตกำลังจะมีสะพานเกียกกายเข้ามาเป็นตัวช่วยเสริม ยิ่งเร่งสิ่งเก่าต่างๆ ให้หายไป
“ผมคิดว่าสวนและความเป็นย่านดั้งเดิมของกรุงเทพฯ ยังมีอะไรที่ตกค้างอยู่เยอะ ถ้าสะพานมาสิ่งนี้คงหายไป และคงยากที่จะเจอ” นี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นกังวล
เศรษฐีบางอ้อและวิถีแขกแพค้าไม้ซุง
รถราวิ่งกันขวักไขว่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ เส้นทางสำคัญของย่านนี้ที่พาดผ่านเป็นถนนสายหลัก นำพาทั้งคนและการพัฒนามาสู่พื้นที่รอบข้าง และเป็นเหมือนสัญลักษณ์คู่ย่านที่คุ้นเคย เพราะถนนทาบผ่านบางพลัดตั้งแต่ต้นยันปลายเขต พาไปสู่จุดหมายต่างๆ ของกรุงเทพฯ
ขณะที่ในอดีตเมื่อกว่า 100 ปีก่อน แม่น้ำเจ้าพระยาก็เคยทำหน้าที่คล้ายกันคือ เป็นเส้นทางที่พัดเอาความเจริญมาตามกระแสน้ำ เข้าสู่ย่านบางอ้อ จนกลายเป็นแหล่งค้าไม้ซุงและธุรกิจเดินเรือที่คึกคัก
‘เศรษฐีบางอ้อ’ เป็นชื่อที่ถูกขนานนามจากความอู้ฟู่เพราะการค้า ส่วนใหญ่เป็นแขกแพ ชาวมุสลิมที่มีความเป็นมายาวไกลไปถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ความร่ำรวยของคนในย่านสะท้อนได้จากสถาปัตยกรรมของมัสยิดประจำย่านอย่าง ‘มัสยิดบางอ้อ’ ที่สร้างผสมผสานกับรูปแบบอาคารตะวันตกอย่างวิจิตรสวยงาม รวมถึงเรือนขนมปังขิงหลังต่างๆ ทั้งบ้านเขียว บ้านเหลือง และบ้านขาว ที่ปลูกเรียงรายริมแม่น้ำ
ทั้งทางบกและทางน้ำ โลเคชันของบางอ้อเป็นเสมือนด่านแรกเมื่อล่วงเข้าสู่เมืองหลวง เป็นย่านเหนือสุดของชานพระนคร โดมและหอคอยของมัสยิดดารุล-อิหซาน และมัสยิดบางอ้อ จึงเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของชาวเรือ
อาจารย์ภูมินำเรามาที่โซนริมน้ำเยื้องกับรัฐสภาอันใหญ่โต ชมความสวยงามของมัสยิดบางอ้อ ศูนย์รวมใจของชาวมุสลิม ตั้งตระหง่านผ่านกาลเวลามาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 หรือร้อยกว่าปีที่แล้ว รวมถึงอาคารเจริญวิทยาคาร เรือนปั้นหยาหลังงามที่ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนสอนศาสนาอยู่เคียงกัน
นอกจากเป็นที่ประกอบศาสนกิจของชาวบางอ้อแล้ว บ้านของพระเจ้าแห่งนี้ยังมีกิจกรรมต่างๆ อยู่เสมอ เช่น ‘อาหารสานใจ’ โครงการนำเสนอของดีในชุมชนอย่างอาหารมุสลิมตำรับบางอ้อ เช่น หรุ่มไส้กุ้ง กรอกจิ้มคั่ว ข้าวมะเขือเปรี้ยว ข้าวแขก และขนมซูยี
เหตุผลที่ต้องไฮไลต์อาหารมุสลิมของที่นี่ อาจารย์ภูมิเล่าว่า เพราะตำรับบางอ้อเกิดขึ้นจากไลฟ์สไตล์ของคนบางอ้อ กล่าวคือ เป็นวิถีของแขกแพที่มาอาศัยแล้วมีกิจการใหญ่โต ทำให้กลุ่มมุสลิมในย่านนี้มีเวลาว่าง ส่งผลให้สามารถพิถีพิถันกับอาหารการกิน เกิดเป็นมื้ออาหารว่างที่ไม่หนักจนเกินไป คล้ายกับมื้อน้ำชา
ขณะเดียวกัน การมีกิจการใหญ่ก็ทำให้มีบริวารเยอะ คหบดีบางอ้อจึงมีบริวารที่เป็นคนทำอาหารแต่ละประเภท เรียกเป็นช่างต่างๆ เช่น ช่างเครื่อง (หุงข้าว) ช่างแกง ช่างขนม แยกกันไปในแต่ละประเภทอาหาร ทำให้ความหลากหลายทางอาหารเป็นความโดดเด่นที่หาตัวจับยาก
“เขาให้ความสำคัญกับอาหาร เพราะส่วนหนึ่งมีเรื่องการสังสรรค์กันเยอะ และนิยมจัดเลี้ยงพบปะ เลี้ยงกันเวลามีวาระพิเศษ งานแต่ง โกนผมไฟ ก็มีเรื่องเกี่ยวกับอาหารมาเกี่ยวข้อง” อาจารย์ตั้งข้อสังเกต
สวนพี่เจษ | การพลิกโฉมพื้นที่รกร้างสู่สวนลับจากความทรงจำ
จากแขวงบางอ้อมาสู่แขวงบางพลัด เราลัดเลาะข้ามคลองบางจาก หลังวัดภคินีนาถ วรวิหาร ไม่ไกลจากสะพานกรุงธน (ซังฮี้) ก็มาถึงบ้าน ‘พี่เจษ นัยพินิจ’ สวนลับอีกแห่งหนึ่งที่ซ่อนอยู่ท่ามกลางชุมชนเก่า
ระหว่างทางที่เดินเลียบริมคลอง กระทั่งก่อนเปิดประตูรั้วเข้ามาในบ้าน ไม่มีเค้าลางว่าจะมีสวนสวยซ่อนตัวอยู่ในชุมชนนี้ และแม้พื้นที่นี้จะถูกเรียกว่าสวน แต่ใช่ว่าจะเก่าแก่เหมือนบ้านป้าชุบ เพราะที่นี่เกิดจากการเนรมิตสวนรกร้างขึ้นมาใหม่บนที่ดินของครอบครัว
พี่เจษเล่าย้อนให้ฟังว่า หลังจากไปร่วมงานเสวนาในย่านบางพลัด ก็เกิดแรงบันดาลใจอยากสืบหารากเหง้าของครอบครัวตัวเอง รวมถึงที่ดินที่เขาได้เป็นมรดกมาหลายสิบปีแห่งนี้ด้วย
“เรามีคำถามมานานแล้วว่า ทำไมเรามาอยู่ตรงนี้ เพราะที่ตรงนี้ไม่ใช่ที่ที่ชาวบ้านจะมาอยู่ และแถวนี้ไม่มีการซื้อขายมาเป็นร้อยปีแล้ว” เจ้าของสวนเล่า
เจ้าของบ้านรุ่นปัจจุบันไขคำตอบได้จากญาติผู้ใหญ่ว่า ครอบครัวตนสืบได้ไกลถึงหลังเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่ออพยพลงมาตามแม่น้ำก็ลงหลักปักฐานแถบป้อมพระสุเมรุ ย่านบางลำพู ต่อมาคนในครอบครัวหลายคนได้เป็นขุนน้ำขุนนางที่รับราชการตำแหน่งต่างๆ ส่วนสวนแห่งนี้ก็เป็นสมบัติตกทอดของครอบครัวที่บรรพบุรุษใช้ทำสวนผลไม้มาก่อน อีกทั้งย่านนี้ยังเป็นพื้นที่อาศัยของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับราชสำนัก มีตระกูลใหญ่หลายบ้านซ่อนตัวอยู่เงียบๆ โดยที่หลายคนไม่รู้
“สมัยนั้นระหว่างบ้านไม่มีรั้ว เป็นสวนแบบโบราณ ที่ดินของเราสังเกตจากต้นไม้เอา ติดกันก็เป็นสวนลิ้นจี่ ตอนเด็กๆ พี่เคยมาเก็บลิ้นจี่ จำได้ว่ามีผลไม้หลายอย่าง” พี่เจษเล่าถึงความผูกพันของเขากับที่ดินผืนนี้ กระทั่งเขามีความคิดอยากมาเปลี่ยนแปลงที่ดินตามเดิมที่เคยสัมผัส
“โดยส่วนตัวพี่ชอบอัมพวา อยากไปอยู่อัมพวา แต่ไม่มีปัญญา เลยคิดว่าทำไมเราไม่ทำตรงนี้ให้เป็นอัมพวา เพราะตอนเด็กๆ เราก็เคยเห็นว่ามีร่องสวน เลยได้ไอเดียคือ Back to the Origin” คู่สนทนาเผยถึงที่มาของโปรเจกต์
แต่การเปลี่ยนสวนเก่าให้เป็นสวนใหม่ตามที่เขาวาดภาพฝันเป็นงานหินไม่น้อย เพราะสวนเก่าในความทรงจำแปรสภาพเป็นพื้นที่รกร้างมาหลายปี เมื่อลงมือปรับพื้นที่จึงพบกับขยะนานาชนิด
“ตั้งแต่หลอดกาแฟไปจนถึงชักโครก” เขาว่า “เมื่อก่อนเป็นหญ้ารกมาก ดูไม่มีอนาคต แม่ก็บอกว่าไม่แฮปปี้กับตรงนี้ อยากไปอยู่ที่อื่น แต่เราเห็นศักยภาพอะไรบางอย่างที่เราน่าจะทำอะไรได้”
เมื่ออยากทำสวนในความทรงจำ เขาจำเป็นต้องย้อนกลับไปถามคนในครอบครัวที่ทันเห็นว่าสวนนี้เคยปลูกต้นไม้อะไรบ้าง
มะกอกน้ำ กระท้อน มะม่วงอกร่อง หมากพลู ข่า พืชสวนครัว ค่อยๆ เพิ่มเติมเข้ามาในพื้นที่ ปะติดปะต่อภาพ จนเจ้าตัวบอกว่าเริ่มได้อารมณ์ของสวนโบราณบ้างแล้ว แม้จะยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
“ตอนนี้ก็ไม่เป็นไปตามฝัน เพราะเราพยายามหาอัตลักษณ์ความเป็นสวนของเรา เราต้องทำเป็นสวนแบบอดีตที่คุณทวดทำไว้ แต่ก็ไม่ได้จริงๆ เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยน”
การดูแลสวนกลางเมืองไม่ง่ายดายนัก ตั้งแต่เริ่มที่พี่เจษทั้งต้องลงมือขุดดินด้วยตัวเอง ไหนจะเจอปัญหาน้ำท่วมเป็นระยะ เมื่อผลผลิตกำลังจะดีก็ตายหมด ต้องหามาปลูกใหม่เรื่อยๆ หรือไม่ก็ผลกระทบจากเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถควบคุมได้ อย่างน้ำเสียก็ต้องหมั่นใช้น้ำอีเอ็มเพื่อบำบัดน้ำเสีย ส่วนดินในสวนก็ใช้วิธีหมักดินจากวัชพืช แหน และต้นไม้ต่างๆ ที่มีอยู่เดิม เพราะดินจากข้างนอกมักติดมาพร้อมกับเมล็ดของวัชพืช นี่คือการปรับตัวแข่งกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่เขากำลังเจอ
แม้ระหว่างทางจะเหนื่อยหน่อย แต่เมื่อเทียบกับผลที่ได้นับว่าคุ้มค่า ระบบนิเวศของสวนน้อยกลางเมืองเริ่มเห็นสัตว์ต่างๆ มาอาศัย ทั้งเต่า ตะพาบ และนก รวมถึงตัวเงินตัวทองที่เข้ามาช่วยจัดการของเน่าเสียในสวน ขณะที่ผลทางใจ สวนนี้ก็ช่วยฮีลใจไม่น้อย ยามเหนื่อยจากงานก็มีสวนสวยๆ จากน้ำพักน้ำแรงให้นั่งมอง มีวิวแม่น้ำให้นั่งทอดสายตา จนเจ้าตัวออกปากว่า แม้ทางเข้าออกบ้านลำบาก แต่คุณค่าที่ได้กลับมาก็ทำให้หายเหนื่อย
“เสน่ห์ของที่นี่คือ เมื่อคนเดินเข้ามาจะบอกว่าในนี้เย็นกว่าข้างนอก” เขาเล่าอย่างภูมิใจ “เป็นอารมณ์ที่คุณจะหาไม่ได้ในพื้นที่ที่รถไฟฟ้ากำลังจะล้อมอยู่”
ก่อนร่ำลากัน ชายเจ้าของสวนเผยว่า เขายังแอบหวังอยู่ลึกๆ ว่า อนาคตสวนแห่งนี้จะทำประโยชน์กับสังคมมากขึ้น เช่น เป็นศูนย์บ้านไทย ซึ่งเขาพร้อมนำของเก่าเก็บในบ้านมาโชว์เป็นวิทยาทาน หรือทำเวิร์กช็อปชีวิตชาวสวนจากพืชพรรณในบ้าน โดยเริ่มจากงานย่านสร้างสรรค์ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ก่อนเลย
หากยังเที่ยวไม่ครบ ชวนมาจบที่ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด’
ตลอดการออกสำรวจย่านรอบนี้ เราได้ ‘พี่เบิ้ม-นฤพร พานิชการ’ อาสาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด และชาวบางพลัดแต่กำเนิด มาพาเดินทอดน่องทั่วย่านร่วมกับอาจารย์ภูมิ ก่อนจะจบทริปในวันนี้เลยขอมาเยือนถิ่นของพี่เบิ้มสักนิด ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางพลัด ภายในวัดเปาโรหิตย์ สถานที่รวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์ของเขตบางพลัดไว้อย่างครบครัน
เรือนไม้โบราณ 2 ชั้น เปิดตัวเป็นพิพิธภัณฑ์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ด้านล่างเป็นส่วนของข้อมูลเขตบางพลัด สถานที่สำคัญ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นำเสนอเรื่องราว ‘วันวานบางพลัด’ ที่พาย้อนอดีตไปสัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนของย่าน ผ่านข้าวของเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนที่น่าสนใจ
ขณะที่ชั้นบนบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าพระยามุขมนตรี (อวบ เปาโรหิตย์) บุคคลสำคัญของย่าน ด้วยเทคนิคภาพและเสียงทันสมัยสวยงาม จัดแสดงทั้งเครื่องใช้สมบัติส่วนตัว ชีวิตการทำงานที่รับราชการหลายอย่าง เช่น ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครราชสีมา ไปจนถึงทำหน้าที่เป็นพระยายืนชิงช้าในพระราชพิธีตรียัมปวาย
ส่วนสาเหตุที่พิพิธภัณฑ์อัตชีวประวัติของเจ้าพระยามุขมนตรีมาอยู่ในวัดเปาโรหิตย์ย่านบางพลัด พี่เบิ้มบอกว่า เพราะเป็นวัดประจำตระกูลของท่านที่มีส่วนช่วยอุปถัมภ์บูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา นอกจากนี้ยังเป็นผู้ดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นคู่กับวัดในชื่อ ‘โรงเรียนท่านน้อย’ ซึ่งก็คืออาคารไม้ที่เป็นพิพิธภัณฑ์นั่นเอง
ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ยามมาเยือนย่านบางพลัด-บางอ้อ หากใครอยากได้ข้อมูลพื้นฐานก่อนตะลอนย่านก็มาปูพื้นที่นี่ก่อนได้ หรือหากท่องย่านจนหนำใจแต่ยังติดขัดตรงไหน พี่เบิ้มและข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ก็พร้อมเติมเต็มเช่นกัน
บางพลัด-บางอ้อ เป็นอีกย่านที่อาจเรียกได้ว่าเส้นผมบังภูเขา เพราะหากไม่ได้มาลงพื้นที่แบบจริงจัง คงไม่รู้เลยว่ามีเรื่องราวน่าสนใจมากมายที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในซอยจรัญสนิทวงศ์ต่างๆ จึงนับเป็นเรื่องดีที่ย่านนี้ได้รับเลือกเป็นหนึ่งในย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่ออัตลักษณ์ของย่านไปสู่การรับรู้ของคนในวงกว้าง ก่อนที่มรดกเหล่านี้จะค่อยๆ หายไปตามเวลา
โครงการย่านสร้างสรรค์บางพลัด-บางอ้อ จะมีอีเวนต์จัดขึ้นอีกหลายครั้งในปีนี้ ทยอยสับเวียนพื้นที่แลนด์มาร์กของย่านและกิจกรรมต่างๆ เช่น Walking Tour เดินเท้าท่องชุมชน, เวิร์กช็อปศิลปหัตถกรรมในชุมชน และเวทีเสวนา-การแสดงวัฒนธรรม ลองมาทำความรู้จักย่านสวนโบราณนี้กันได้
แล้วจรัญสนิทวงศ์จะไม่ใช่เพียงทางผ่านอีกต่อไป