แยกเข้าซอยจากถนนพระราม 2 อันจอแจมาไม่ไกล บรรยากาศรอบข้างเปลี่ยนไปจากสีเทาของทางด่วนที่กำลังก่อสร้าง เป็นสีเขียวครึ้มของต้นไม้ตัดกับสีฟ้าที่ทาเป็นฉากหลัง บนถนนขนาดสองเลนที่คดโค้งไปมาคล้ายกับต่างจังหวัด มีเพียงป้ายบอกทางของกรุงเทพมหานครเตือนอยู่เป็นระยะๆ ว่ารถกำลังวิ่งอยู่ในเมืองหลวง ปลายทางของเราวันนี้คือ ‘บางมด’
บางมด เป็นส่วนหนึ่งของเขตทุ่งครุ ชายแดนทางใต้ของกรุงเทพฯ และเกือบปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนออกสู่อ่าวไทย อาจเพราะระยะทางไกลจากเมือง ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในย่านนี้มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวเหลืออยู่มาก ภาพจำของบางมดจึงเป็นจุดหมายสำหรับคนกรุงในการมาท่องเที่ยว สัมผัสธรรมชาติ หรือกิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างการปั่นจักรยาน เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์โดยไม่ต้องเดินทางไกล
วันนี้ระหว่างสวนในย่านบางมดมีสถานที่และกิจกรรมต่างๆ มากมายแฝงตัวอยู่เป็นจุดๆ โดยเฉพาะตลอดริมคลองบางมด เส้นทางน้ำสำคัญของชาวย่าน ที่เป็นหนึ่งในย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านตลอดสองฝั่งคลอง เป็นอีกย่านในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจและมาทำความรู้จักให้มากกว่าเดิม
แยกเข้าซอยจากถนนพระราม 2 อันจอแจมาไม่ไกล บรรยากาศรอบข้างเปลี่ยนไปจากสีเทาของทางด่วนที่กำลังก่อสร้าง เป็นสีเขียวครึ้มของต้นไม้ตัดกับสีฟ้าที่ทาเป็นฉากหลัง บนถนนขนาดสองเลนที่คดโค้งไปมาคล้ายกับต่างจังหวัด มีเพียงป้ายบอกทางของกรุงเทพมหานครเตือนอยู่เป็นระยะๆ ว่ารถกำลังวิ่งอยู่ในเมืองหลวง ปลายทางของเราวันนี้คือ ‘บางมด’
บางมด เป็นส่วนหนึ่งของเขตทุ่งครุ ชายแดนทางใต้ของกรุงเทพฯ และเกือบปลายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนออกสู่อ่าวไทย อาจเพราะระยะทางไกลจากเมือง ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ในย่านนี้มีสัดส่วนของพื้นที่สีเขียวเหลืออยู่มาก ภาพจำของบางมดจึงเป็นจุดหมายสำหรับคนกรุงในการมาท่องเที่ยว สัมผัสธรรมชาติ หรือกิจกรรมเพื่อสุขภาพอย่างการปั่นจักรยาน เพื่อรับอากาศบริสุทธิ์โดยไม่ต้องเดินทางไกล
วันนี้ระหว่างสวนในย่านบางมดมีสถานที่และกิจกรรมต่างๆ มากมายแฝงตัวอยู่เป็นจุดๆ โดยเฉพาะตลอดริมคลองบางมด เส้นทางน้ำสำคัญของชาวย่าน ที่เป็นหนึ่งในย่านสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ จากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านตลอดสองฝั่งคลอง เป็นอีกย่านในกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจและมาทำความรู้จักให้มากกว่าเดิม
เดินเท้าย่ำสวนริมคลองบางมด
เมื่อเอ่ยถึงชื่อบางมด สิ่งที่หลายคนนึกถึงคงเป็น ‘ส้ม’ ผลไม้ประจำถิ่นที่มักมีชื่อแหล่งปลูกติดตามหลัง เป็นเหมือนยี่ห้อการันตีถึงความอร่อยและคุณภาพ
‘ลุงวิชัย อินสมะพันธ์’ เกษตรกรชาวบางมด นั่งเล่าให้ฟังที่ชานริมคลองหน้าบ้านถึงที่มาที่ไปของส้มบางมดว่า ผืนดินแถบนี้ได้เปรียบกว่าที่อื่นเพราะเคยเป็นทะเลเก่ามาก่อน หากขุดลงไปจะพบว่า ดินบริเวณนี้มีสีดำเหนียว ธาตุอาหารสมบูรณ์ จึงเหมาะแก่การปลูกผลไม้ เมื่อชาวจีนอพยพนำองค์ความรู้ด้านการปลูกส้มเขียวหวานมาลองปลูกแล้วได้ผลดี ทำให้ชาวบ้านหันมาเอาดีด้านการปลูกส้มกันอย่างแพร่หลาย
“ส้มเขียวหวานที่นี่เปลือกจะบาง ลูกออกแป้นๆ มีรสหวาน ชันหรือเปลือกจะล่อน คุณสมบัติหนึ่งคือ ตอนยังอ่อนอยู่จะเปรี้ยวจนใช้แทนมะนาวได้ ชาวบ้านแถวนี้เรียกอีกชื่อว่า ส้มเหม็น พอสุกดีจะรสหวานกลมกล่อม” ลุงวิชัยว่าถึงเอกลักษณ์ก่อนยืนยันหนักแน่น “รสชาติที่ไหนก็สู้ที่นี่ไม่ได้”
ความหวานของส้มบางมดเป็นที่ถูกใจคนทั่วประเทศ สร้างรายได้และกำไรเป็นล่ำเป็นสันมาสู่ชาวสวนที่นี่ มีเรื่องเล่ากันว่า ในยุคหนึ่งชาวบ้านถึงกับตั้งราคาต้นละ 5,000 บาท เมื่อทางการมีโครงการเวนคืนที่ดินสวนเพื่อตัดถนน
แม้ตลอดระยะการปลูก เหล่าชาวสวนส้มบางมดประสบกับปัญหาน้ำเค็มที่รุกขึ้นมาในหน้าน้ำ รวมถึงน้ำท่วมเป็นระยะๆ แต่ก็ประคองตัวความเป็นสวนส้มมาได้ตลอด กระทั่งช่วงเวลาสำคัญที่ทำให้สวนส้มโรยร้างลงคือในช่วง พ.ศ. 2526 ที่มีน้ำท่วมใหญ่จนทำให้ต้นส้มในสวนทยอยล้มตายลง
“ต้นส้มท่วมไปครึ่งต้น อย่างที่บ้านใกล้จะเก็บแล้ว ลูกสีเหลืองแล้ว พอน้ำมาสามวันก็สะบัดลูกทิ้งหมด ส้มลอยน้ำเป็นแพ ในคลองเต็มไปด้วยส้ม เพราะแถวนี้เป็นสวนทั้งนั้น ข้างในก็เป็นสวนหมด” เจ้าของสวนส้มเล่าย้อนความถึงภาพที่บ่งบอกความยิ่งใหญ่ของสวนส้มบางมดได้เป็นอย่างดี
ประกอบกับช่วงเวลานั้น ความเป็นเมืองเริ่มขยายเข้ามาในโซนนี้มากขึ้น เมื่อต้นส้มตายชาวสวนหลายบ้านก็ตัดสินใจขายที่ทาง ย้ายไปปลูกส้มในแถบจังหวัดปทุมธานี จากภาพสวนส้มไกลสุดตาก็กลายเป็นหลังคาของบ้านจัดสรรที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของย่าน
ลุงวิชัยบอกว่า นับแต่น้ำท่วมใหญ่ ในสวนหลังบ้านก็พยายามนำพันธุ์ส้มล็อตใหม่มาปลูกอยู่ แต่ก็ไม่ได้ผลดีเหมือนเก่า ลุงจึงแก้เกมด้วยการหันมาปลูกมะพร้าวน้ำหอม เป็นผลไม้เศรษฐกิจประจำบ้านชนิดใหม่
“พอดีมีพรรคพวกอยู่บ้านแพ้ว เขาทำสวนมะพร้าวได้ดี เพาะพันธุ์ขายด้วย ช่วงแรกก็เอามาลงสี่ร้อยต้น ช่วงสองอีกหกร้อยต้น พอมาปลูกปรากฏว่าได้ผลดี รสชาติไม่ผิดเพี้ยนจากบ้านแพ้ว” จากสวนส้มจึงกลายเป็นสวนมะพร้าวลุงวิชัยนับแต่นั้น
บ้านไม้ของลุงวิชัยเป็นเรือนเก่าอายุเฉียดร้อยปี ด้านหน้าบ้านติดคลองบางมด แต่พลันก้าวออกไปหลังบ้าน จะพบกับความสงบท่ามกลางขนัดมะพร้าวไกลจนไม่เห็นท้ายสวน ระหว่างทางมีพืชอื่นๆ ปลูกแซม เป็นต้นว่า กล้วย มะม่วง และชมพู่ รวมถึงต้นส้มเขียวหวาน ของดีบางมดที่ยังพอมีให้เห็นอยู่บางตา
ทุกวันนี้ลุงวิชัยในวัยขึ้นเลขแปด ยังพอออกมาทำสวนอยู่บ้างตามกำลัง โดยมีลูกชายที่รับช่วงต่อในการรักษาที่สวนของครอบครัว
ชื่อของส้มบางมดหายไปจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่เรื่อยๆ แม้จะพอมีบางบ้านปลูกส้มอยู่บ้าง รวมถึงสวนลุงวิชัยที่ยังมีให้เห็นหลายต้น แต่จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แวะเวียนเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากน้ำเค็มแล้ว ยังมีน้ำเสียจากบ้านและโรงงาน รวมถึงมลพิษทางอากาศ ก็ทำให้ผลผลิตไม่ดีอย่างเก่า บ้างก็ยืนต้นตาย นี่จึงอาจเป็นฉากท้ายๆ ของส้มบางมดแล้ว
Creative District ในชายขอบของกรุงเทพฯ
แม้ต้นส้มโรยรา แต่สิ่งที่ชุบชูย่านขึ้นมาอีกครั้งคือ ‘ศิลปะ’
บทบาทของบางมดในฐานะย่านสวนเปลี่ยนแปลงไป หลายคนรู้จักบางมดที่เป็นพื้นที่ครีเอทีฟแห่งใหม่ ซึ่งเปิดโอกาสให้งานสร้างสรรค์เข้ามาอยู่ร่วมกับคนในชุมชน
ที่ผ่านมา เทศกาลศิลปะและงานออกแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Bangkok Design Week และ Bangkok Art Biennale ต่างเลือกมาใช้พื้นที่ริมคลองกลางสวนบางมดเป็นสถานที่จัดงาน ยังไม่รวมถึงเทศกาลของคนในชุมชนอย่าง ‘บางมดเฟส’ ที่ทำให้สปอตไลต์หันมาสาดใส่ชุมชนชาวสวนชายขอบของกรุงเทพฯ จนผู้คนจากต่างถิ่นหันมามองและให้ความสนใจอีกครั้ง
หนึ่งในสถานที่ที่ถูกเลือกเป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2024 ที่เพิ่งจัดไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมาคือ ‘บ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์’ ริมคลองบางมด
‘พี่โบ๋-สนธยา เสมทัพพระ’ และ ‘พี่แหม่ม-ร่มพร เสมทัพพระ’ คือเจ้าของบ้านชื่อน่ารัก ที่ตั้งใจเปิดประตูให้คนภายนอกมาทำความรู้จักกับบางมดในฐานะย่านศิลปะมากขึ้น ผ่านการทำเวิร์กช็อปต่างๆ เช่น ร้อยลูกปัด เพนต์หิน เพนต์กระเป๋า รวมถึงสำรวจเส้นทางน้ำด้วยการพายเรือคายักและนั่งเรือไฟฟ้า
“เดิมทีมีแค่เรือคายักไว้พายเล่น พอเห็นโอกาสก็ขยายกองเรือ ทุกอย่างเกิดจากสิ่งที่เรามีใช้ส่วนตัวทั้งนั้น เรือหางยาวเอาไว้นั่งเล่นกับเพื่อน ส่วนคายักเราชอบพายเล่นอยู่แล้ว มีคนเอามาขายมือสองเราก็ซื้อมา คนมาเที่ยวก็ขอเช่า ก็ลองทำเวิร์กช็อปดู พอเราเริ่มทำสวน ก็เปิดบ้านเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะขึ้นมา” พี่โบ๋เล่า
อันที่จริงแล้วทั้งคู่ไม่ใช่ชาวย่านนี้แต่กำเนิด พี่โบ๋มีโอกาสมาปั่นจักรยานริมคลอง จึงพบกับความน่ารักและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในย่าน ก่อนมาซื้อที่แล้วค่อยๆ พัฒนาบ้านให้เป็นเหมือนห้องรับแขกของชุมชน
“เราอยากให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ด้วย ก็ลงพื้นที่ไปคุยกับชุมชน ตอนนั้นพวกเขาก็นึกภาพไม่ออก มองอย่างเดียวคือ ถ้าคนมาเยอะขึ้น โอกาสทางเศรษฐกิจน่าจะมา” เจ้าของบ้านฝ่ายชายเท้าความ “เราไปมาหลายที่ เจอเขาใช้ศิลปะพัฒนาพื้นที่ ก็เลยคิดว่า ถ้าศิลปะเกิดขึ้นริมคลองจะเป็นอย่างไรนะ”
หากมองหาย่านครีเอทีฟในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักกระจุกอยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นบางรัก เจริญกรุง ตลาดน้อย หรือทรงวาด หลายย่านโอลด์ทาวน์มีการสร้างสรรค์งานศิลปะริมกำแพง (Street Art) ไม่ก็จัดแสดงกันในอาร์ตแกลเลอรี ทว่าศิลปะที่ติดตั้งอยู่ริมคลองยังเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยพบที่ไหน บางมดจึงเป็นที่แรกๆ ที่หยิบเอาจุดเด่นตรงนี้มาพัฒนา
ฝั่งหนึ่งของคลองบางมดมีทางเล็กๆ เลียบคลองทอดยาวไปตลอดฝั่ง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร นับตั้งแต่วัดพุทธบูชาไปจนถึงท้ายสวน กำแพงของบ้านจัดสรร โรงงาน รวมถึงวัดวาและมัสยิด ทำหน้าที่เป็นเพียงสิ่งที่กั้นระหว่างคลองกับพื้นที่ด้านในเท่านั้น
เมื่อเห็นโอกาสนี้ พี่โบ๋และทีม 3C Project กลุ่มพัฒนาพื้นที่ริมคลองเป็นทางจักรยาน จึงชวนชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันจนออกมาเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ ที่รถเข้ามาไม่ถึง แต่มาดูได้ด้วยการเดิน ทางเรือ หรือปั่นจักรยาน
เมื่องานศิลปะเป็นรูปเป็นร่าง สิ่งที่ตามมาคือเทศกาลของชาวย่าน ซึ่งพี่โบ๋ยกให้ ‘งานสามแพร่ง’ ในเกาะรัตนโกสินทร์ งานที่มีกิจกรรมทั้งการออกร้านของคนในย่านและเวิร์กช็อปต่างๆ เป็นต้นแบบ นอกจากนี้ยังชวนชาวบ้านไปดูการรวมกลุ่มกันของชุมชนอื่นๆ เช่น ชุมชนเกาะศาลเจ้า ตลิ่งชัน และเพชรบุรีดีจัง ของชาวเมืองเพชรฯ เพื่อเอามาปรับใช้
“ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนที่มีของอยู่แล้ว พอจบบางมดเฟส ราชการก็เข้ามา เขาเริ่มเห็นความสำคัญของทางเดินริมคลอง ทางเดินริมคลองก็ยาวขึ้นจากที่ฟันหลอ กลายเป็นเจ็ดกิโลเมตร มีความสนุกสนานเพราะทางยาวขึ้น ครั้งหนึ่งเราจัดเทศกาลริมคลอง ที่ LONG ที่สุด ปกติเราจะเจอเทศกาลที่กระจุกตัว แต่นี่เป็นเทศกาลที่ต้องนั่งเรือ และเริ่มมีสื่อกับหน่วยงานมาร่วมหลากหลายขึ้น”
พูดคุยกันพอประมาณ เราชวนพี่โบ๋สำรวจย่านด้วยเรือคายักก่อน โดยมีเจ้าชิโร่ สุนัขพันธุ์ชิบะ อีกหนึ่งสมาชิกในบ้านที่กระโดดลงเรืออย่างรู้งาน
ริมคลองบางมดยังคงสภาพความดั้งเดิมอยู่มาก ผู้คนยังใช้ชีวิตเนิบช้าแบบชาวคลองในอดีต ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เรือส่วนใหญ่ที่แล่นในคลองเป็นเรือของชาวบ้านที่แล่นกันอยู่เนืองๆ ตั้งแต่เช้ามืดจนค่ำ ต่างไปจากย่านท่องเที่ยวที่โดยมากมักเป็นเรือท่องเที่ยว
“มีตั้งแต่ตีสี่ครึ่งเลยนะ เป็นยี่ปั๊วเอาสินค้าเข้ามาส่งในร้านค้าริมคลอง พอสักตีห้ามีพ่อค้าแม่ค้าขับเรือไปวัดไทรเอาสินค้ามาขาย จากนั้นพอหกโมงมีพระพายเรือบิณฑบาต พอเจ็ดโมงมีคนออกไปทำงาน เรียนหนังสือ”
บ้านเรือนริมคลองบางหลังเป็นที่ตาบอด ไม่ได้เชื่อมกับถนน หากไปทางขวาของบ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์ จะพบกับบรรยากาศสวนทึบร่มรื่น เป็นเส้นทางพายคายักที่มีให้ผู้มาเยือนเลือกพายได้หลากหลายระยะ
พี่โบ๋พาลองพายระยะสั้นๆ พายทวนน้ำไปจนถึงบ้านบังซอน ศิลปินท้องถิ่นที่นำขยะต่างๆ มาสร้างเป็นงานศิลปะ ลองมุดเข้าอุโมงค์ต้นไม้ ก่อนวนกลับบ้าน เป็นน้ำจิ้มเบาๆ สำหรับผู้มาเยือนครั้งแรก
นอกจากคายัก อีกสิ่งหนึ่งที่พี่โบ๋ซุ่มพัฒนาอยู่ตอนนี้คือ เรือไฟฟ้า พาหนะที่เป็นมิตรกับโลกและบ้านรอบข้าง เพราะเสียงเรือที่เงียบผิดไปจากเสียงเรือหางยาวดังลั่นคลองที่เคยได้ยินกัน
คราวนี้เลือกหันหัวเรือไปทางซ้ายของบ้าน น่าสังเกตว่าความเป็นชุมชนมากกว่าเส้นทางก่อนหน้า บ้านหลายหลังหันหน้าบ้านออกสู่เส้นทางน้ำเหมือนอดีต เปิดเป็นร้านขายของต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับวิถีชีวิตชาวเรือและชาวสวน เช่น ร้านของชำ เคมีเกษตร และร้านเครื่องเรือ
พี่โบ๋ชี้ชวนดูร้านค้าที่ทั้งด้านหน้าและหลังบ้านเต็มไปด้วยเรือลำต่างๆ แขวนไว้ในบ้าน ซึ่งเขาเรียกว่าที่นี่คือ Live Museum หรือพิพิธภัณฑ์มีชีวิต
“นี่คือเต็นท์เรือที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สองสามร้อยลำอยู่ในนี้นะ ปกติพิพิธภัณฑ์เราได้แค่ดู แต่นี่ขายด้วย และที่นี่บ่งบอกวิถีชีวิตคนคลองในอดีตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์จากข้าวของเครื่องใช้ สมมติหยิบมาชิ้นหนึ่ง เล่าอะไรได้เยอะเลย เช่น มีดดายหญ้าบางขุนเทียน ซึ่งเป็นมีดที่หายากแล้ว แต่ร้านนี้เก็บไว้ขายหลายเล่มมากเลย หรือเหล้าแม่โขงที่คนสมัยก่อนนิยมกิน อายุสี่สิบปี วันก่อนผมพาฝรั่งนั่งเรือเที่ยวแล้วอยากกินเหล้า หยิบออกมาขวดละสี่ร้อยบาท ปลวกกินฉลากเกือบหมดแล้ว ทุกอย่างบอกเล่าเรื่องได้หมด”
คลองบางมดเป็นหนึ่งในพื้นที่พหุวัฒนธรรมของเมืองหลวง ชาวไทยพุทธ มุสลิม และเชื้อสายจีนอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย ความมีน้ำใจจึงเป็นเหมือนดีเอ็นเอของชาวย่าน
“สมัยก่อนเขาเล่าให้ฟังว่า มาซื้อส้มบางมดหนึ่งกิโลกรัมได้สิบสองขีด เพราะคนบางมดใจดี แถมให้เลย” เจ้าของบ้านเขียนวาดฯ เล่าเกร็ดน่ารักๆ ของชาวคลองบางมด
ระหว่างนั้นเรือไฟฟ้าเสียงเงียบเชียบวิ่งไปตามสายน้ำ มีเสียงทักทายกันระหว่างคนบนน้ำกับบนฝั่งเป็นระยะๆ พี่โบ๋บอกว่า สองฟากฝั่งคลองมีงานศิลปะแต่งแต้มตามกำแพง 13 – 14 ชิ้น รวมถึงบนทางเดินริมคลองที่มีการแต่งแต้มเป็นสีสันตลอดทาง ช่วยมาเติมให้คลองบางมดสดใสมากขึ้น
“แถวนี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะ ผู้คนบ้านเรือนอยู่เหมือนเดิม แต่วิถีชีวิตเริ่มเคลื่อนไหวในเชิงสนุกสนาน พอเข้ามาก็ทำกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ อย่างบางมดเฟส ชวนคนริมคลองมาออกร้าน ขยายพื้นที่ทุกปี จากสามกลายเป็นเจ็ดพื้นที่จัดงาน ที่นี่มีเสน่ห์ตรงที่เป็นย่านที่ไม่กระจุก แต่กระจาย เวลาจะไปก็ต้องเดินหรือนั่งเรือไป”
พี่โบ๋ทำหน้าที่ผู้นำชมชี้ดูงานศิลปะและประติมากรรมทั้ง ‘กำแพงบอมบ์’ ที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมที่จัดขึ้นแต่ละปี โดยศิลปินจะมาวาดทับหรือบอมบ์งานเก่าที่กำแพงของโรงงานน้ำดื่ม, ‘งานเรืองแสง’ ใต้สะพานที่กักเก็บแสงในยามเช้า และเปล่งประกายให้นักท่องเที่ยวชมในยามค่ำคืน, ‘งานเซรามิกอาร์ต’ งานศิลปะชิ้นแรกๆ ที่เข้ามาในชุมชน ซึ่งเกิดจากการนำชิ้นส่วนเซรามิกเล็กๆ มาต่อติดกันเป็นภาพขนาดใหญ่
“เราเรียกว่าศิลปะแบบมีส่วนร่วม ศิลปินร่างดินสอ จากนั้นศิลปินนำเซรามิกเล็กๆ มา แล้วนัดชาวบ้านมาทำ ‘ประชามาติด’ ก็เอามาติดกัน ลูกเด็กเล็กแดง เด็ก สามขวบก็ทำได้” ชายที่ท้ายเรือเล่าที่มาของผลงานศิลปะอย่างอารมณ์ดี
ไม่เพียงแต่งานศิลปะที่เป็นมูฟเมนต์ใหม่มาขับเคลื่อนย่าน ระหว่างทางยังมีกิจการของชาวบ้านที่ต่างช่วยกันออกไอเดีย นำสิ่งที่ตนถนัดมาเปิดรับผู้มาเยือน โดยผู้สนใจสามารถเดินเที่ยวตามแผนที่บนกำแพงตรงข้ามบ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์ได้เลย เช่น ทำเวิร์กช็อปที่ตลาดมดตะนอย ฟังเรื่องเล่าในสวนมะพร้าวของลุงวิชัย รู้จักชาวบางมดให้มากขึ้นที่พิพิธภัณฑ์คลองบางมด หรือแวะเยี่ยมเยือน SAFETist Farm แหล่งเรียนรู้นิเวศออร์แกนิกที่ปลอดภัยทั้งตัวเราและโลก
“เมื่อก่อนผมใช้คำว่า ‘บ้านนอกใกล้กรุง’ เราวิ่งเรือชั่วโมงเดียวก็ตลาดพลูแล้ว ต่อมาเราค้นหาอัตลักษณ์ก็เลยได้คำว่า ‘คลอง สวน ศิลป์’ จาก กทม. และเราได้รับเลือกเป็นหกย่านสร้างสรรค์ ทัดเทียมกับพี่ๆ ที่มีสตอรีมายาวนาน เช่น ตลาดน้อย หัวตะเข้ รวมถึงเป็นย่านสร้างสรรค์นำร่อง” เจ้าของบ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์พูดถึงความสำเร็จ
“เราเป็นคนเห็นแก่ตัวคนหนึ่ง เวลาไปอยู่ตรงไหนแล้วอยากให้รอบๆ เราดี” คือคำตอบของเจ้าของบ้านเขียนวาดและภาพพิมพ์ เมื่อถามว่า ตัวเขาคาดหวังเห็นอนาคตของบางมดเป็นอย่างไร
“เราคงใช้คำว่าย่านสร้างสรรค์ที่ทุกคนพร้อมขับเคลื่อน ส่งต่อถึงลูกหลานได้ และหวังว่าย่านสร้างสรรค์จะสร้างความตระหนักรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในบางมด รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม” เจ้าของบ้านสรุปถึงความหวังตั้งใจอีกครั้ง
บางมดถือเป็นอีกตัวอย่างของย่านที่หยิบเอาต้นทุนในชุมชนมาต่อยอด ผ่านการระดมไอเดียและลงแรงของชาวชุมชน เปลี่ยนโฉมคาแรกเตอร์ของพื้นที่จากที่สวนสู่ที่ศิลป์ จนเกิดเป็นย่านสร้างสรรค์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ ย่านลุกขึ้นมาทำตาม
ชุมชนริมคลองแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งย่านของกรุงเทพฯ ที่น่าแวะมาเยี่ยมเยือน สูดอากาศบริสุทธิ์ ทำกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ แบบชิดใกล้ธรรมชาติ แต่ไม่ไกลเมือง