หนึ่งวันใน Bangkok Art and Culture Centre - Urban Creature

ภาพบันไดวนสีขาวใหญ่โตตรงหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างชั้น 7 ถึงชั้น 9 คือภาพที่คุ้นเคยกันดีของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre) หรือที่เรารู้จักในนาม ‘BACC’

สถานที่ที่ใครๆ ต่างเคยมีความทรงจำร่วม ไม่ว่าจะมาเยือนในฐานะผู้ชมงานศิลปะ หรือแวะเวียนมาใช้พื้นที่เป็นจุดนัดพบเพื่อนฝูงหรือทำกิจกรรมร่วมกัน

ยิ่ง BACC อยู่มานานเท่าไหร่ ก็ยิ่งทวีความครึกครื้นมากขึ้นไปเท่านั้น สังเกตได้จากจำนวนผู้คนมากหน้าหลายตาที่มาเยือนพื้นที่แห่งนี้ ทั้งที่มาชมงานศิลปะและเดินเข้าเดินออกร้านรวงต่างๆ ภายในบริเวณ สอดคล้องไปกับปริมาณของร้านค้าและพื้นที่สร้างสรรค์ที่เหมือนจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเมื่อ 4 – 5 ปีก่อนอยู่พอสมควรเลยทีเดียว

แต่การมา BACC ของคอลัมน์ One Day With… ในครั้งนี้จะแตกต่างออกไปจากครั้งอื่นๆ อย่างแน่นอน เพราะเราจะมาล้วงลึกเบื้องหลังการทำงานของหอศิลปกรุงเทพฯ ผ่านคนวงใน เพื่อทำความรู้จักตึกใหญ่โตสีขาวใจกลางเมืองแห่งนี้ในมุมอินไซต์ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ผ่านซีรีส์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ ไปพร้อมกัน

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

เป็นที่รู้กันว่า สถานที่แห่งนี้เป็นที่นึกถึงเสมอเมื่อใครหลายคนมองหาพื้นที่สงบใจกลางเมือง ทำให้ทุกครั้งที่เรามา BACC มักจะมีเป้าหมายในใจอย่างการตรงดิ่งเข้าชมนิทรรศการบริเวณชั้น 7, 8 และ 9 ก่อนจะปิดท้ายด้วยการแวะอัปเดตสินค้างานคราฟต์บริเวณชั้นร้านค้า ​​artHUB เป็นต้น

แต่การมาในครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะเราไม่ได้มาในฐานะคนนอกที่มาเดินๆ แล้วกลับไป แต่เป็นการมาทำความรู้จักสถานที่แห่งนี้ผ่านคนใน และเดินชมที่นี่ด้วยสายตาแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

การสร้างความชัดเจนระหว่างพิพิธภัณฑ์กับศูนย์ศิลปะ

วันนี้เราเริ่มต้นการมาเยือน BACC ด้วยการเข้าห้องรับรองที่บริเวณชั้น 5 เพื่อพูดคุยกับ ‘คุณคิม-อดุลญา ฮุนตระกูล’ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับรายละเอียดของที่นี่ก่อนจะเริ่มเดินทัวร์อย่างจริงจัง

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล

แม้เราจะเริ่มต้นเข้ามาพูดคุยกับคุณคิมเนื่องจาก BACC ได้เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล ‘Museum STAR’ จากทาง Museum Thailand แต่คำที่คุณคิมใช้นิยามพื้นที่นี้กลับไม่ใช่คำว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ ซะทีเดียว

“เราไม่เรียก BACC ว่าพิพิธภัณฑ์ เพราะเราไม่มีคอลเลกชันถาวรที่ดูแล แต่เราเรียกตัวเองว่าเป็น ‘ศูนย์ศิลปะ’ ที่ทำงานเหมือนกระจกสะท้อนสังคม ควบคู่ไปกับสภาวะสังคม ประวัติศาสตร์ และโลก” คุณคิมเล่าถึงการวางตัวของหอศิลปกรุงเทพฯ เป็นศูนย์ศิลปะ (Art Centre) ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันขอบเขตงานศิลปะ และเปิดให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมในพื้นที่อย่างแท้จริง

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยพื้นที่ทั้งหมด 10 ชั้น โดยมีห้องสมุดศิลปะตั้งอยู่ที่ชั้น L ซึ่งเป็นพื้นที่ชั้นใต้ดิน จากนั้นไล่ขึ้นมาชั้นที่ 1 – 5 เป็นพื้นที่ของร้านค้า ห้องจัดแสดงนิทรรศการย่อย ห้องอเนกประสงค์ และสตูดิโอ ขณะที่ห้องนิทรรศการหลักอยู่บริเวณชั้น 7 – 9 ส่วนพื้นที่ชั้น 6 เป็นพื้นที่ของสำนักงาน

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

เรียกว่าเป็นการแนะนำตัวพื้นที่กันสักเล็กน้อย ก่อนจะเริ่มต้นทัวร์ BACC อย่างจริงจัง โดยมีคุณคิมรับหน้าที่เป็นไกด์เฉพาะกิจให้กับเรา แผนในวันนี้คือเริ่มจากชั้นบนสุดแล้วค่อยๆ ไล่ลงมาที่ชั้นล่าง จนไปสิ้นสุดที่บริเวณชั้น 1 ของหอศิลปกรุงเทพฯ

ในตอนที่เราไป บริเวณชั้น 9 กำลังจัดนิทรรศการพิเศษอยู่พอดี โดยงานนี้มีชื่อว่า ‘Glass Plate Negatives : Circles of Centres’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฟิล์มกระจกจดหมายเหตุ : หนึ่งพันภาพประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ครั้งที่ 3 ที่รวบรวมภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกโดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ และเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมชมภาพถ่ายหาดูยาก

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

คุณคิมเล่าว่า งานนี้เป็นโอกาสดีในการให้ผู้คนได้เห็นงานเชิงประวัติศาสตร์ที่ไม่สามารถพบเจอได้ง่ายในพื้นที่ใจกลางเมือง เพราะโดยปกติแล้วต้องเดินทางไปดูถึงหอจดหมายเหตุฯ จึงจะได้เห็นของจริง อีกทั้งความพิเศษของนิทรรศการในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับชิ้นงานอย่างที่เราคาดไม่ถึงด้วย

เพราะในระหว่างเดินชมงาน ทางทีมผู้จัดงานแอบกระซิบกับเราว่า มีผู้ชมในงานที่ได้พบเจอบรรพบุรุษของตัวเองผ่านนิทรรศการนี้ด้วยเหมือนกัน ทำเอาเราคิดในใจว่า คงต้องหาโอกาสมาเดินนิทรรศการนี้ด้วยตัวเองอีกครั้งซะแล้ว

“พอที่นี่มีการจัดแสดงงานในเชิงประวัติศาสตร์ เราจะเริ่มเห็นความหลากหลายในผู้ชม จากกลุ่มผู้ชมหลักซึ่งเป็นบุคคลที่สนใจงานศิลปะ ก็ขยายกลุ่มไปสู่คนทั่วไป ซึ่งนั่นแปลว่างานแบบนี้มันเข้าถึงคนได้มากขึ้น เพราะทุกคนอยากทราบประวัติศาสตร์ของตัวเอง” คุณคิมเล่าถึงกระแสตอบรับจากนิทรรศการฟิล์มกระจก

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คิม-อดุลญา ฮุนตระกูล

ผลตอบรับที่ดีของงานนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนยังต้องการพื้นที่เรียนรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับชุดข้อมูลที่หาดูได้ยากในชีวิตประจำวัน หน้าที่ของศูนย์ศิลปะจึงเข้าไปช่วยสนับสนุนตรงจุดนี้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ครอบคลุมกับทุกคน

กว่าจะมาเป็นหนึ่งนิทรรศการ

หากใครเคยมาเดินชมงานที่นี่ คงจะรู้ว่าภายใน BACC มีการหมุนเวียนนิทรรศการไปเรื่อยๆ ซึ่งในแต่ละงานจำเป็นต้องจัดวางโครงสร้างใหม่ ทำให้รูปแบบการจัดวางนิทรรศการไม่เหมือนกัน นำมาสู่ข้อสงสัยถึงกระบวนการจัดนิทรรศการของ BACC ว่า กว่าจะมาเป็นหนึ่งนิทรรศการให้เราชมนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“ทุกๆ ปี ทางทีม BACC จะมีการวางคีย์เวิร์ดไว้สำหรับการจัดกิจกรรมภายใน เพื่อเป็นตัวช่วยให้หัวหน้าแต่ละฝ่ายทำงานอย่างมีกรอบ” คุณคิมเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำงาน เพื่อเป็นธีมหลักในการคิดกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน BACC ตลอดทั้งปี

‘Borderless’ หรือการลบข้อจำกัดในการแบ่งแยกขอบเขตทั้งทางวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอผลงาน ‘แบบไร้ขอบเขต’ คือคีย์เวิร์ดที่ครอบกิจกรรมและนิทรรศการในปี 2025 นี้

ยกตัวอย่าง นิทรรศการ ‘The Shattered Worlds : Micro Narratives from the Ho Chi Minh Trail to the Great Steppe’ ที่ชั้น 8 เป็นการร่วมมือระหว่าง BACC กับ Jim Thompson Art Center เพื่อสำรวจและร่วมรำลึกถึงภูมิหลังของสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แต่ถึงอย่างนั้น การวางคีย์เวิร์ดก็ไม่ใช่การวางปีต่อปี คุณคิมบอกกับเราว่า กว่าจะได้คีย์เวิร์ดที่ใช้แต่ละปีต้องมีการวางแผนล่วงหน้าถึง 2 – 3 ปีเลยทีเดียว โดยกระบวนการทั้งหมดจะเกิดขึ้นจากการระดมสมองร่วมกันของทีม BACC รวมไปถึงการรีเสิร์ชเทรนด์และสถานการณ์โลกในช่วงนั้นๆ

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

เมื่อได้คีย์เวิร์ดที่แข็งแรงแล้ว ทุกอย่างจึงจะดำเนินตามแผนการไปเรื่อยๆ จนออกมาเป็นกิจกรรมต่างๆ และนิทรรศการที่เราเห็น โดยเริ่มตั้งแต่การติดต่อศิลปิน เลือกชิ้นงานจัดแสดง จัดการเรื่องการขนส่ง และอื่นๆ อีกมากมาย

ขั้นตอนที่เราอยากพูดถึงเป็นพิเศษคือ การนำชิ้นงานเข้ามาจัดแสดง เพราะเป็นขั้นตอนที่จำเป็นต้องมีการดีไซน์พื้นที่ให้เหมาะสม เนื่องจากแต่ละนิทรรศการต่างมีความต้องการให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป การดีไซน์พื้นที่โดยผู้เชี่ยวชาญจึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยตอบโจทย์ตรงนี้

“​​ในระบบนิเวศของโลกศิลปะ คนทำงานด้านนี้ยังมีจำนวนน้อยอยู่ เพราะจำเป็นต้องใช้ทักษะเฉพาะทางในการจัดการ” คุณคิมแชร์ถึงสถานการณ์คนทำงานศิลปะที่ส่งผลต่อแวดวงศิลปะในประเทศไทยให้เราฟัง

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

บทสนทนาระหว่างการเดินทัวร์หอศิลปกรุงเทพฯ ยังคงดำเนินไปเรื่อยๆ หลังจากที่เดินสำรวจนิทรรศการชั้นบนสุดกันเรียบร้อยแล้ว ระหว่างทางเราก็พบผู้คนผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่ศิลปะขนาดใหญ่แห่งนี้อยู่ตามรายทางมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือแม้กระทั่งพนักงานทำความสะอาด ทำให้เราสงสัยถึงรูปแบบการทำงาน หน้าที่ภายในองค์กร และแนวทางการบริหารจัดการทีมโดยผู้อำนวยการหอศิลปกรุงเทพฯ อย่างคุณคิม

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“เหมือนเรากำลังจัดการศิลปินกว่าห้าสิบชีวิตทุกวัน” คุณคิมสรุปการทำงานในประโยคสั้นๆ ด้วยเสียงหัวเราะ

เธอเล่าเสริมว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำของทีม และทุกคนต่างเป็นคนทำงานสร้างสรรค์ที่มีนิสัยใจคอและวิธีการคิดที่แตกต่างกันออกไป การรวมตัวของคนลักษณะนี้ในหนึ่งออฟฟิศจึงเป็นชาเลนจ์ของเธอไม่น้อยเลยทีเดียว

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“ปัจจุบัน BACC มีแผนกในองค์กรอยู่ประมาณเจ็ดถึงแปดฝ่าย โดยเน้นไปที่ฝั่งของเนื้อหาคือ ฝ่ายครีเอทีฟ ฝ่ายนิทรรศการ ฝ่ายการศึกษา ฝ่ายการแสดงหรือมัลติ-ดิซิพลินารี่ อาร์ต และฝั่งของฝ่ายปฏิบัติการ” คุณคิมอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับเบื้องหลังการดำเนินการหอศิลปกรุงเทพฯ

บุคลากรส่วนใหญ่ของ BACC จะเป็นฝ่ายปฏิบัติการ เนื่องด้วยรูปแบบของพื้นที่ที่เป็นสาธารณะและมีจุดประสงค์เพื่อการเรียนรู้ ทำให้มีความจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่จำนวนมากทั้งในส่วนต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชมที่มาใช้บริการ

“ทาง BACC ให้ความสำคัญมากกับการเทรนในฝ่ายที่ต้องพูดคุยกับคนดูโดยตรง เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์หรือเจ้าหน้าที่นำชม” คุณคิมบอกกับเรา

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

เพราะให้ความสำคัญกับ ‘คนทำงาน’ เจ้าหน้าที่นำชมจึงเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ทาง BACC เล็งเห็นความสำคัญถึงขนาดมีการว่าจ้างตำแหน่งนี้เป็นพนักงานประจำนิทรรศการ และแต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการเทรนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่างจากพื้นที่ศิลปะอื่นที่มักเป็นงานอาสาสมัครชั่วคราว

ทั้งนี้ก็เพราะตัวคุณคิมมองว่า หน้าที่นำชมเป็นทั้งจุดเริ่มต้นแรกสำหรับผู้ชมที่มาดูงาน และเป็นก้าวแรกของคนที่อยากเข้ามาทำงานในโลกศิลปะ

เพราะเจ้าหน้าที่นำชมแต่ละคนต้องร่วมงานกับคิวเรเตอร์ที่จัดทำนิทรรศการนั้นๆ เพื่อเลือกเอาข้อมูลและรายละเอียดของงานมาสรุป และใช้ในการให้ข้อมูลและตอบคำถามกับผู้ชม ซึ่งคุณคิมบอกกับเราว่า ทักษะที่สำคัญของการเป็นเจ้าหน้าที่นำชมคือการสามารถสรุปเนื้อหาและอธิบายข้อมูลให้เหมาะสมกับผู้ชมในแต่ละวัยได้

“สำหรับบางนิทรรศการที่เนื้อหาซับซ้อนมาก แต่ผู้เข้าชมเป็นเด็กปฐมวัย สิ่งที่เจ้าหน้าที่นำชมต้องทำคือการอธิบายให้เด็กกลุ่มนั้นเข้าใจในชิ้นงานนั้นๆ และขณะเดียวกันสาระสำคัญของนิทรรศการต้องครบถ้วนด้วย” คุณคิมกล่าว

One day with BACC Bangkok Art and Culture Centre ศูนย์ศิลปะสะท้อนภาพสังคม พื้นที่สาธารณะ

‘คุณป้อง’ หัวหน้าเจ้าหน้าที่นำชมของหอศิลปกรุงเทพฯ ที่ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่นำชมและดูแลนิทรรศการมาเป็นเวลาหลายปีบอกกับเราว่า การเป็นผู้ให้ข้อมูลผลงานนั้นเป็นงานบริการที่น่าสนใจ และทำให้เขาได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย

อีกทั้งการจะนำชมผลงานได้จำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลงานศิลปะ เช่น แรงบันดาลใจของศิลปิน กระบวนการลงมือทำงาน หรือแม้แต่บริบทแวดล้อมที่ศิลปินหยิบยกมาสร้างสรรค์ผลงาน หลังจากนั้นจึงสรุปและเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้ง่ายที่สุด

“ในตอนนี้ หอศิลปกรุงเทพฯ มีทีมเจ้าหน้าที่นำชมและดูแลนิทรรศการด้วยกันทั้งหมดห้าคนที่ผ่านการเทรนมาอย่างดี คอยต้อนรับและให้บริการผู้ชมหรือคณะเยี่ยมชมจากหน่วยงานต่างๆ ในแต่ละนิทรรศการ ซึ่งมีคณะเยี่ยมชมสนใจจองใช้บริการนำชมตลอดทุกสัปดาห์” คุณป้องตอบด้วยความรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้ผู้ชมได้เข้าใจผลงานศิลปะมากขึ้น

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

นอกจากการให้ความสำคัญกับหน้าที่นำชมแล้ว BACC ยังมีเครื่องมืออื่นๆ ประกอบการชมนิทรรศการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชมด้วย เช่น ใบงานหรือกิจกรรม ที่ระหว่างดูนิทรรศการจะทำให้เรารู้สึกเหมือนเล่นเกมไปพร้อมกับการเดินดูงานศิลปะ

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

หลังจากที่ได้แวะเข้า-ออกชั้นนิทรรศการหลัก รวมถึงพูดคุยกับคุณคิมและคุณป้อง หัวหน้าเจ้าหน้าที่นำชมมาประมาณหนึ่งแล้ว ก็ทำให้เรามองเห็นภาพรวมในการจัดนิทรรศการของหอศิลปกรุงเทพฯ แห่งนี้ชัดเจนขึ้น

เราจึงขยับมาพูดคุยถึงหลักการคัดเลือกงานที่จะเป็นนิทรรศการหลักของ BACC ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นความตั้งใจและวิสัยทัศน์ของคุณคิมและทีมหอศิลปกรุงเทพฯ ที่อยากสร้างโปรแกรมนิทรรศการให้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อสร้างการรับรู้แก่คนนอกว่า BACC ทำอะไร ภายใต้ 4 ร่ม ได้แก่

‘Early Years Project (EYP)’ โครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินรุ่นใหม่ เพื่อสนับสนุนโอกาสในการแสดงออกและพัฒนาศักยภาพของศิลปินรุ่นใหม่

ถัดมาคือ ‘งานมาสเตอร์ซีรีส์’ ชื่อเรียกกันเองจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการทำงาน เป็นนิทรรศการที่พูดถึงศิลปินอาวุโสผู้มีอิทธิพลในวงการศิลปะไทย

อย่างเมื่อ 2 ปีที่แล้ว BACC จัดนิทรรศการ ‘Womanifesto’ ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มศิลปินหญิงที่ต่อสู้เพื่อยืนหยัดในสิทธิเสรีภาพของตนในการทำงานศิลปะตั้งแต่ช่วงยุค 90 ด้วยความตั้งใจที่จะผลักดันเรื่องความหลากหลายในวงการศิลปะ และทำให้ภาพการต่อสู้ของคนเหล่านี้ชัดเจนขึ้น

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

ร่มที่สามคือ ‘นิทรรศการที่เกิดขึ้นจากโครงการร่วมมือต่างประเทศ’ ที่จะร่วมสร้างบทสนทนาในประเด็นระดับโลก

ยกตัวอย่าง ในปี 2024 ที่ BACC ได้จัดแสดง ‘Photography Never Lies – ภาพถ่ายไม่โกหก’ ซึ่งท้าทายความเชื่อที่มีต่อภาพถ่าย สะท้อนผ่านเทคนิค และมุมมองของศิลปินไทยและต่างชาติ

และร่มสุดท้ายกับ ‘นิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสังคม’ อย่าง 2 ปีที่แล้วที่หยิบเอาประเด็น Aging Society มานำเสนอผ่านนิทรรศการ ‘สูงวัย…ขยาย(ความ)’ สอดคล้องกับช่วงที่ไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“ในฐานะของศูนย์ศิลปะ เราควรทำอะไรแบบนี้และต้องกล้าทำอะไรแบบนี้ เพราะหน้าที่ของเราคือต้องเป็นคนนำเสนอ แต่เราจะเสนออย่างไรให้มันสมเหตุสมผล” เธอแสดงจุดยืนเมื่อเราถามถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่มีทั้งบวกและลบอย่างรุนแรงจากคนในวงกว้างกับบางนิทรรศการที่ BACC จัด

คุณคิมยังบอกกับเราอีกว่า เธอต้องการบทสนทนาแบบนี้ในไทย และมันถึงเวลาแล้วที่ต้องคุยกัน เมื่อทั่วโลกพูดถึงเรื่องอะไร เราก็ควรหยอดความคิดของเราเข้าไปด้วยเหมือนกัน

บทบาทของ BACC ในฐานะพื้นที่สาธารณะ

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

ระหว่างที่เดินทัวร์ BACC สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นอย่างชัดเจนคือ จำนวนเด็กวัยรุ่นที่แวะเวียนมาถ่ายรูปบริเวณบันไดวนหรือพื้นที่หอศิลปกรุงเทพฯ กันตลอดทั้งวัน

“ในฐานะหัวเรือใหญ่ของที่นี่ คุณคิมคิดยังไงกับเรื่องนี้” เราถาม

“เรื่องการมาถ่ายรูปกัน เรายินดีมาก และการถ่ายรูปไม่ใช่สิ่งที่ห้ามกันได้ ดังนั้นทาง BACC เลยเสนอทางแก้ไขด้วยการทำแคมเปญเพื่อแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสมในการดูงานศิลปะโดยไม่รบกวนคนอื่น” คุณคิมบอกด้วยความเข้าใจ

เพราะนอกจาก BACC จะทำหน้าที่เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่คือการเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่ต้อนรับคนให้เข้ามาใช้บริการได้อย่างหลากหลาย จึงไม่แปลกที่จะมีคนเข้ามาใช้งานพื้นที่แห่งนี้ทุกรูปแบบ บ้างมาถ่ายรูป บ้างแวะเดินพักผ่อนระหว่างวัน

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“BACC เป็นพื้นที่สาธารณะ เราเลยมองว่าทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้ามาใช้บริการขอเพียงคนที่เข้ามาใช้งานอยู่ภายใต้กฎการใช้สถานที่ก็เพียงพอ” คุณคิมเน้นย้ำถึงหัวใจหลักของที่นี่ ขอเพียงคนที่เข้ามาใช้งานอยู่ภายใต้กฎการใช้สถานที่ก็เพียงพอ

อีกอย่างด้วยรูปแบบและสิ่งอำนวยความสะดวกในตึกที่มีทั้งร้านค้า แกลเลอรีหลัก และแกลเลอรีย่อย ทำให้ BACC เป็นศูนย์ศิลปะที่เปิดกว้างในการใช้งานแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ทั่วไป

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

และสิ่งที่การันตีคำพูดของคุณคิมได้เป็นอย่างดีคือ ‘โซน artHUB’ ที่เราจะได้เห็นภาพอันหลากหลายของคนที่เข้ามาใช้บริการชัดเจนขึ้น เนื่องจากบริเวณนี้มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร และร้านขายของเปิดให้บริการ

เราถือโอกาสนี้แวะเข้าไปพูดคุยกับ ‘พี่ต้อม’ ผู้เป็นศิลปินวาดภาพเหมือนที่นั่งวาดภาพอยู่ที่นี่กว่า 10 ปีแล้วสักหน่อย

พี่ต้อมบอกว่า ปกติแล้วการมา BACC ของเขาคือการมาทำงาน แต่ในบางคราก็จะใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดพบปะเพื่อนฝูงเนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง

นอกจากนั้น พี่ต้อมยังเสริมว่า การได้เข้ามาดูงานศิลปะทุกวันช่วยให้ตนมองโลกอย่างอ่อนโยนมากขึ้น “อยากให้ทุกคนมาซึมซับกลิ่นอายศิลปะกัน ที่นี่เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้หายใจ เป็นสนามพักผ่อนที่มีความรู้ด้วย”

happening shop

“เราชอบชั้นเก้าที่เป็นหลังคา มีแสงธรรมชาติส่องเข้ามา ข้างบนจะมีความสงบกว่า”
“เราชอบชั้นด้านบน เพราะนิทรรศการเปลี่ยนใหม่ตลอด”

สองพนักงานประจำ happening shop ซีเลกต์ช็อปที่อยู่คู่หอศิลปกรุงเทพฯ มานานได้แชร์ให้เราฟังถึงมุมโปรดที่พวกเธอชอบไปเดินเล่นพักผ่อนเมื่อว่างเว้นจากการทำงาน หรือกระทั่งในเวลาที่ต้องการเคลียร์สมอง

ร้านหนังสืออิสระ Bookmoby

“เราชอบที่มีการเปลี่ยนงานศิลปะอยู่เรื่อยๆ ทำให้เราได้เห็นงานศิลปะใหม่ๆ มากขึ้น หรือการเปิดรับให้นักศึกษามาแสดงงานของตัวเอง เป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือศิลปินหน้าใหม่ไปด้วย พอทางหอศิลปกรุงเทพฯ มีนิทรรศการใหม่ๆ คนก็มาเที่ยวมากขึ้น และมาแวะซื้อหนังสือด้วย”

อีกหนึ่งเสียงของ ‘สตางค์’ ผู้จัดการร้านหนังสืออิสระ Bookmoby ที่บอกเล่าถึงประโยชน์ในการมีพื้นที่สาธารณะอย่างหอศิลปกรุงเทพฯ

คุยกับคนมาก็เยอะ ได้รู้เรื่องราวเบื้องหลังมาก็ไม่น้อย แต่มาทัวร์ภายใต้ซีรีส์ MUSEUM-IN-SIGHT ทั้งที จะเดินแค่ในหอศิลปกรุงเทพฯ คงไม่อินไซต์พอ

วันนี้เราเลยจบการทัวร์กันที่บริเวณด้านหลังชั้น 1 ที่ถ้าไม่มีใครบอกเราคงไม่รู้ว่าตรงนี้เป็นจุดพักผ่อนของคนทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน BACC เอาต์ซอร์สที่เข้ามาติดตั้งงาน หรือแม้แต่ตัวศิลปินทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ที่ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่พูดคุยจิปาถะ พบปะ และแลกเปลี่ยนความคิดกัน

แถมไม่ไกลกันนั้นยังเป็นที่ตั้งของลิฟต์ขนาดยักษ์ที่ใช้เป็นตัวกลางสำหรับขนส่งงานศิลปะไปยังบริเวณจัดงานนิทรรศการหลักชั้น 7, 8 และ 9 อีกด้วย

และที่ต้องใช้ลิฟต์ที่ใหญ่กว่าปกติหลายเท่าก็เพราะชิ้นงานศิลปะที่จัดแสดงใน BACC นั้นมีขนาดใหญ่ และบางชิ้นอาจแตกหักง่าย การมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นนั่นเอง

Bangkok Art and Culture Centre BACC หอศิลปกรุงเทพฯ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พิพิธภัณฑ์ MUSEUM-IN-SIGHTเพ่งพิศพิพิธภัณฑ์ Museum STAR

“ไม่ว่าจะมองในมุมไหน BACC ก็เป็นพื้นที่เปิด สามารถมาใช้เวลานานเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ว่าจะมาในฐานะผู้ชมงาน ผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรืออยากมาเป็นพนักงาน ทาง BACC ก็ยินดีต้อนรับ” คุณคิมกล่าวกับเรา

ก่อนแยกย้ายเธอทิ้งท้ายอีกนิดว่า อยากให้เวลาที่ทุกคนต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หาพื้นที่อ่านหนังสือทั้งวัน อยากแฮงเอาต์พบปะผู้คน หรือเสริมสร้างแรงบันดาลใจ ก็อยากให้นึกถึง BACC ด้วย

One day with BACC Bangkok Art and Culture Centre ศูนย์ศิลปะสะท้อนภาพสังคม พื้นที่สาธารณะ

มาสยามคราวหน้า อย่าลืมแวะมาที่นี่กันนะ


‘MUSEUM-IN-SIGHT เพ่งพิศพิพิธภัณฑ์’ คือซีรีส์บทสัมภาษณ์ในคอลัมน์ One Day With… จาก Urban Creature ที่จะพาไปสำรวจพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับรางวัล Museum STAR ว่า กว่าจะมาเป็นแหล่งเรียนรู้ติดดาวให้เราเข้าชม มีอินไซต์อะไรที่คนเข้าชมอย่างเราๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนบ้าง

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.