เช้าวันใหม่อันสดใสของคนกรุงเทพฯ จำนวนไม่น้อยได้ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับเพียงเพราะการขึ้นโดยสารรถไฟฟ้าสาธารณะ
สำหรับหลายๆ คน ระบบขนส่งมวลชนเป็นทางเลือกเดียวในการเดินทาง ซึ่งหากจะให้พูดว่าเป็นการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และราคาเหมาะสม ก็คงจะพูดกันได้อย่างไม่เต็มปาก นี่ยังไม่รวมไปถึงความยากลำบากในการพยายามใช้บริการระบบเหล่านั้นในชั่วโมงเร่งด่วน ที่ก่อนจะเดินทางไปถึงหน้าประตูออฟฟิศอันเป็นที่รัก พลังงานอันน้อยนิดของพวกเราก็ได้ถูกสูบสิ้นออกไปโดยขั้นตอนอันซับซ้อนของการโดยสารรถไฟฟ้าสาธารณะทั้งหลาย ตั้งแต่ยังไม่เข้าแถวซื้อบัตรด้วยซ้ำ ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็เป็นปัญหา Top Hit ของหลายประเทศบนโลกเช่นกัน ในยุคสมัยที่ชีวิตของมนุษย์รวมศูนย์เข้าสู่เมืองใหญ่ การเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่ไม่ว่ายังไงก็เลี่ยงไม่ได้ และความแออัดก็เป็นข้อเสียตามธรรมชาติของระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภท โชคดีตรงที่ว่าเราสามารถใช้ประเทศเหล่านั้นเป็น Case Study ที่ดีในการแก้ปัญหาได้ หลากวิธีการสร้างสรรค์ที่เคยเกิดขึ้นอาจนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านเราเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้โดยสารได้
แน่นอนว่าวิธีเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาวที่ดี แต่ก็เป็นการทำให้การใช้เวลาโดยสารไปกับระบบขนส่งมวลชนในปัจจุบันเป็นไปได้อย่างราบรื่น และน่าจะเป็นการเริ่มต้นวันที่ดีกว่าการเบียดเสียดไปกับคนทั้งเมืองในขบวนรถไฟที่เต็มไปด้วยโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารในร้านสะดวกซื้อแน่นอน
1. Art on Track The World’s Largest Mobile art Gallery
Art on Track เป็นโปรเจกต์ศิลปะที่เริ่มต้นโดยนักศึกษาจาก School of Art Institute of Chicago เมื่อปี 2008 ด้วยไอเดียเริ่มต้นที่จะมองหาพื้นที่ใหม่ๆ ในการแสดงงานของศิลปินในพื้นที่และเหล่านักศึกษาศิลปะ ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นก็คือภายในตัวโบกี้ของรถไฟใต้ดินที่ชาวเมืองคุ้นเคยกันดี Art on Track จะทำการเฟ้นเลือกกลุ่มศิลปินเข้ามา Bomb โบกี้รถไฟ และแปลงโฉมมันใหม่ให้กลายเป็นนิทรรศการเคลื่อนที่ขนาดย่อม การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นการสร้างความพิเศษให้กับวันธรรมดาๆ ที่ดี และเป็นการนำศิลปะที่บางครั้งถูกมองว่าเป็นของสูง ดูยาก ให้ออกนอกขอบเขตของพิพิธภัณฑ์ และกลับมาสู่ความเป็นสากลที่ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ที่น่ายกนิ้วให้อีกอย่างก็คือ โปรเจกต์นี้ไม่เสียค่าสมัคร ใครๆ ก็สามารถสมัครเป็นศิลปินที่จะทำงานในโปรเจกต์ Art on Track ได้ทั้งนั้น ไม่เกี่ยงว่าต้องเป็นศิลปินหรือนักศึกษาที่ School of Art Institute เท่านั้น ด้วยเจตนาของโครงการที่ต้องการจะผลักดันและสนับสนุนศิลปินทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นมือสมัครเล่นหรือ Big Name ก็ลองส่งงานเข้ามาเสนอกันได้
ซึ่งเส้นทางการเดินรถของ Gallery เคลื่อนที่นี้ก็จะเป็นแบบ Loop กลับสถานีต้น เพื่อให้ผู้โดยสารได้เปลี่ยนขบวน และ Hopping ไปต่อที่อีกขบวนหนึ่งๆ ได้เลย
2. Else where
นอกเหนือไปจากสงครามโฆษณาที่แข่งกันแยงตาผู้โดยสารผ่านจอ LED และสื่อสิ่งพิมพ์ในป้ายกล่องไฟ
บางครั้งเราก็จะพบเห็นพื้นที่เปล่าโล่งภายในบริเวณสถานีรถไฟและระบบขนส่งมวลชนทั้งหลาย ซึ่งจริงๆ แล้วพื้นที่ว่างเหล่านี้ควรจะทำให้เรารู้สึกปลอดโปร่ง เหมือนเป็นจุดพักสายตาให้กับผู้โดยสาร แต่ทำไมมันกลับสร้างความรู้สึกอึดอัดสายตาให้กับเราแทน?
Else where เป็นนิทรรศการถาวรโดยศิลปินชาวชิลี Tania Ruiz ที่จัดตั้งอยู่ภายในสถานี Malmö ประเทศสวีเดน ภายใต้การร่วมมือกับ Swedish National Public Art Council ที่มีเจตนาแรกเริ่มที่จะกำจัดและลดหลั่นความรุงรังเกะกะสายตาของเหล่าโฆษณาในสถานีออก และแทนที่มันด้วยงานศิลปะ
Else where แปลแบบตรงๆ ว่า สถานที่อื่น ลักษณะของงานเป็นงานวิดีโอที่ถูกฉายลงไปบนกำแพงฝั่งตรงข้ามของชานชาลา จุดสิ้นสุดสายตาของผู้โดยสารทุกคน ทำหน้าที่เปรียบเสมือนหน้าต่างจำลอง ที่เปลี่ยนกำแพงคอนกรีตทึบตันแน่นหนาให้กลายเป็น ‘สถานที่อื่น’ ที่สร้างความปลอดโปร่งทางทัศนะมากกว่า ผู้โดยสารที่กำลังรอรถไฟจะถูกทำให้ลืมมิติเวลาของตนเองไปชั่วขณะ และด้วยลักษณะของเฟรมภาพจะทำให้รู้สึกเหมือนกับกำลังโดยสารอยู่ในรถไฟขบวนยักษ์ขบวนหนึ่ง ซึ่งกำลังนำพาพวกเขาไปสู่ที่อื่นๆ บนโลก
พอรู้ตัวอีกทีขบวนรถไฟจริงก็ชะลอความเร็ว และจอดลงตรงหน้า
3. Subway Therapy
การแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดเห็นในที่สาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมากในสังคมปัจจุบันที่ต่างคนต่างโฟกัสไปเพียงชีวิตของตน ทำให้พื้นที่ในการแสดงออกในปัจจุบันของคนเราโยกย้ายไปอยู่ในหน้าจอแทน พวกเราต่างอัปเดตชีวิตของตนเพื่อแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ และคนรอบข้างผ่านสังคมออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่าสะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และคงทนถาวรมากกว่า แต่การโพสต์สถานะ หรืออัปโหลด Story รายวันลง Facebook จะสามารถทดแทนการแสดงออกทางความรู้สึกแบบดั้งเดิมได้จริงๆ หรือ?
Subway Therapy เป็นโปรเจกต์ของศิลปินอเมริกัน Matthew Levee Chavez เดิมทีงานของเขาเป็นการตั้งโต๊ะรับฟังปัญหาหนักอกของคนเมือง คล้ายกับเป็นกลุ่มบำบัด Theraphy แต่เป็นการฟังแบบตัวต่อตัวแทน ซึ่งเรื่องราวก็มาน่าสนใจขึ้นเมื่อปีที่แล้วที่ Donald Trump ชนะศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี Levee ก็เริ่มเข้าใจว่าลำพังการตั้งโต๊ะรับฟังปัญหาไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดีพอในการให้คนทั่วไปได้มีพื้นที่ในการแสดงออกถึงความทุกข์และความรู้สึกในใจเขาเสียแล้ว
Levee เริ่มต้นแจก Post-it ให้กับผู้โดยสารที่สถานีเจ้าประจำของเขา เพื่อให้พวกเขาได้ระบายความรู้สึกของตัวเองออกมาเป็นข้อความ รูปภาพ หรือ Quote คำพูดต่างๆ แปะรวมกันเป็น Wall ซึ่ง Levee จะรวบรวมไว้เป็นรายวัน ก่อนจะเคลียร์กำแพงให้โล่งเพื่อรอรับ Post-it สำหรับวันต่อๆ ไป
ผลก็คือ มีคนมาแสดงความคิดเห็นอย่างล้นทะลัก มี Post-it กว่า 12,000 แผ่นที่ถูกโพสต์ขึ้นหน้า Wall ในวันนั้น ทำให้ Levee ต้องย้ายและขยายพื้นที่ไปยังสถานีที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางกว่าเพื่อรองรับจำนวนคน
Subway Therapy ไม่ได้จบลงแค่เป็น Pop-up Art Event ทั่วไป แต่มันได้พัฒนากลายเป็น Culture ของการแสดงออกร่วมกันของคนเมืองแบบหนึ่งของชาวนิวยอร์กจนถึงปัจจุบัน
Photo via elle decoration Thailand
มาดูที่ฝั่งเมืองไทยกันบ้าง เมื่อต้นปีที่แล้วเราได้มีโอกาสเห็นพื้นที่สาธารณะสุดคูลซึ่งดูแทบไม่เหมือนเมืองไทยที่สถานี พื้นที่ว่างบริเวณสถานีที่เราคุ้นเคยถูกแทนที่ด้วยผืนเสื่อ เก้าอี้ Beanbag สี Earth tone อ่อนนุ่ม และเหล่าพืชพรรณไม้ประดับซึ่งดูน่ารักแบบบ้านๆ และเข้ากับสถานีหัวลำโพงอย่างมาก ซึ่งโปรเจกต์นี้เป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปนิก 59 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกรรมาธิการสถาปนิกชุมชนและสมาคมสถาปนิกสยาม ที่ต้องชื่นชมและยกย่องจริงๆ แม้จะเป็นไอเดียที่ง่าย แต่กลับได้ผลตอบรับที่น่าสนใจมากๆ ยิ่งโดยเฉพาะในแผ่นดินที่ Interactive Art เติบโตได้ยากอย่างไทยแลนด์
ลักษณะของงานง่ายมาก คือปูเสื่อจำนวน 40 ผืน ภายในพื้นที่ 144 ตารางเมตร และวาง Beanbag กับต้นไม้ลงไปในพื้นที่ว่างสำหรับนั่งรอที่สถานีหัวลำโพง /จบ ซึ่งหากลองพิจารณาดีๆ แล้ว งานประเภทนี้ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องการพยายามเรียนรู้ ตีความ ทำความเข้าใจกับผู้ปฏิสัมพันธ์เลย และสื่อสารได้ดีกับคนไทยมากๆ เป็นการชู Function แบบตีเข่าไปตรงๆ เลยว่า นี่แหละ เจตนาของผู้สร้าง เชิญมาพักผ่อนที่ตรงนี้ ง่ายมาก ไทยมาก งดงามมาก
สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Public Transit Lounge หรือการทดลองใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน จากการทดลองพบว่าชาวไทย ชาวต่างชาติ หรือแม้แต่กลุ่มคนไร้บ้าน ได้ตบเท้ามาเข้าร่วมใช้งานล้นหลามกว่าที่คาดไว้มาก ส่วนหนึ่งเพราะความชาญฉลาดในการเลือกใช้ ‘เสื่อ’ และการออกแบบพื้นที่ให้ดูกันเอง น่านั่ง และเข้ากันได้ดีกับบริบทพื้นที่ ทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี
น่าเสียดายที่พื้นที่ดังกล่าวมีระยะเวลาทดลองเพียงหนึ่งสัปดาห์ (27 ก.พ. – 6 มี.ค. 2559) เท่านั้น แต่ก็นับเป็นการโยนหินถามทางที่น่าสนใจมากๆ สำหรับโครงการ เราคาดหวังว่าจะได้เห็นพื้นที่สาธารณะจากแนวความคิดแบบนี้ในที่อื่นๆ ในกรุงเทพมหานครเช่นกัน
BTS Wrap
เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่น่ายินดีของประเทศไทย และสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการรถ BTS เป็นประจำ เมื่อ พีท-ประณิธาน พรประภา เจ้าของบริษัทระดมทุน Asiola ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนสงครามโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS ของเรา ด้วยการเปลี่ยน Wrap Sticker ที่หุ้มรถไฟฟ้า จากบิ๊กแบรนด์ทั้งหลายที่แข่งกันจับจองพื้นที่ให้กลายเป็น Canvas สำหรับงานศิลปะ และที่ท้าทายคือ เขาตั้งใจจะทำมันด้วยการ ‘ระดมทุน’ เพราะว่าการระดมทุนทำนั้นเป็นขั้นตอนที่เน้นย้ำกลับไปถึงความต้องการของคนหมู่มากในสังคมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสภาพแวดล้อม
ด้วยระยะเวลา 4 เดือน โครงการนี้ก็ได้ผู้ร่วมระดมทุนครบตามเป้าที่วางไว้ และได้เลือกใช้งาน “อุเบกขา : การเชื่อมต่อของจักรวาล” หรือ ‘Universal Connections by Spiritual Fractal’ ของศิลปินไทยชื่อดังระดับโลก คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่พูดถึงการตระหนักรู้ตัวตน เป็นการนำผู้โดยสารออกจากจอสมาร์ตโฟนเบื้องหน้า กลับเข้ามารับรู้ถึงการดำเนินอยู่ของปัจจุบันขณะ เพียงการนำโฆษณาออกไปก็ทำให้เกิดความสงบขึ้นอย่างน่าประหลาด ทำให้รถไฟฟ้าขบวนนี้เป็นขบวนที่พิเศษมากๆ นับเป็นโชคดีของคนที่มีโอกาสได้ขึ้นไปในช่วงที่รถคันนี้วิ่งให้บริการ
วิธีการดังที่กล่าวไป แน่นอนว่าห่างไกลลิบลับกับ ‘การแก้ปัญหา’ ต่อให้บ้านเราเคยมีงานสร้างสรรค์เหล่านั้นตามที่กล่าวไปทุกข้อ ก็ยังไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ แต่นอกเหนือไปจากการเน้นย้ำให้เห็นถึงปัญหาที่ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบ แม้เราจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่ๆ อย่างความยากลำบากในการเดินทาง หรือการทำให้จราจรลื่นไหลได้ด้วยตัวเอง แต่สิ่งที่เราคนเมืองด้วยกันสามารถทำได้ก็คือการพยายามสร้างประสบการณ์ที่ดีร่วมกันในฐานะผู้โดยสาร และทำให้การเดินทางที่ยากลำบากในแต่ละวันเป็นไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังถือว่าเป็นความหวังที่คุ้มค่า